ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (18 ต.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 36.38 บาทต่อดอลลาร์



 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ต.ค.66) ที่ระดับ  36.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.37 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.28-36.47 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังคงหนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ส่งผลให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.01% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างตามรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อย่าง BofA ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดกลับยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังสถานการณ์สงครามยังคงมีความไม่แน่นอนจากรายงานการระเบิดของโรงพยาบาลในฉนวนกาซา นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยังถูกกดดันจากการที่ ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนระงับการส่งออกชิพ ไปยังจีน รวมถึง ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน จากรายงานยอดค้าปลีกล่าสุดที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาดไปมาก 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลง -0.10% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปยังไม่ค่อยสดใสนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด (Higher for Longer) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.84% อย่างไรก็ดี แม้ว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ จะผันผวน ทว่า เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ทว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ยังคงช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถทรงตัวใกล้ระดับ 1,937 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อทะลุโซนแนวต้าน 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้หรือไม่ เนื่องจากการปรับตัวขึ้นทะลุโซนดังกล่าวจะสะท้อนว่า ราคาทองคำเริ่มมีแนวโน้มกลับมาเป็นขาขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน (ทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวราว +4.5%y/y ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็เป็นการขยายตัว +1.0%q/q สะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ หลังการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกันยายน ที่ยอดค้าปลีกอาจโตได้ +4.9%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจขยายตัว +4.3%y/y ทั้งนี้ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจโตเพียง +5.2%y/y, YTD กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง (โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI) ก็อาจทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% ต่อไปได้ 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideway ในกรอบที่ไม่ต่างจากวันก่อนหน้ามากนัก ท่ามกลางสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นแรงตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้วันนี้ บอนด์ยีลด์ไทยก็เสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้อาจมีแรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติมได้ ส่วนในฝั่งหุ้น บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงก็อาจกดดันตลาดหุ้นไทยต่อในช่วงนี้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาตามคาด หรือ ดีกว่าคาด ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น เรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินหยวนของจีนทยอยแข็งค่าขึ้น และอาจช่วยหนุนการแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียได้บ้าง โดยเฉพาะค่าเงินบาท ที่ช่วงหลังมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเงินหยวนของจีนบ้าง (Correlation ล่าสุด ราว +50%) ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจส่งกดดันทั้งเงินหยวนของจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชีย อนึ่ง ในเบื้องต้น เราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทยังคงอยู่ในช่วง 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับแรกก็ยังอยู่แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาด 

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.50 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2566 เวลา : 10:18:11

08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 12:17 pm