ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (24 ต.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ต.ค.66) ที่ระดับ  36.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.52 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของตลาดการเงินไทย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.28-36.54 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากระดับ 5.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนได้ 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะสงครามยังคงช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้น แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯจะพุ่งขึ้นแรงกว่า +30bps

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ผลการประชุม ECB และรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน พร้อมระวังความผันผวนจากภาวะสงคราม

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
 
? ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่าสถานการณ์สงครามยังมีความไม่แน่นอนและเสี่ยงที่จะบานปลายมากขึ้น ทว่าในสัปดาห์นี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น ผ่านการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ล่าสุด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวกว่า +4.1%q/q, เทียบรายปี (GDPNow โดย Atlanta Fed ประเมิน +5.4%) อย่างไรก็ดี แม้ว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวได้แข็งแกร่ง ทว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในไตรมาส 4 สะท้อนจาก รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม ที่อาจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการ อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงมากขึ้น โดยล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยราว 35% ในต้นปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า (ลดดอกเบี้ยทั้งหมดราว -75bps) และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยในสัปดาห์นี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ 

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนตุลาคมที่จะต่ำกว่าระดับ 50 จุด อย่างต่อเนื่อง และจากภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนที่ไม่สดใสนัก กอปรกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน ทำให้เราประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วที่ระดับ 4.00% (Deposit Facility Rate) ทั้งนี้ ควรจับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในอนาคต

* ฝั่งเอเชีย – ตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนี PMI ของญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์มองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องในภาคการบริการที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการผลิตอาจยังคงหดตัวอยู่ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงสดใส กอปรกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core CPI) ล่าสุด ซึ่งยังคงสูงกว่า 4% อาจเพิ่มโอกาสให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOJ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ BOJ 

* ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกันยายน อาจหดตัวราว -2%y/y ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน รวมถึงภาพเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวอยู่ อย่างไรก็ดี ยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -5.6%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจเกินดุลได้ราว 900 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะยังคงหดตัวอยู่ ทว่า จากผลสำรวจบรรดานักวิเคราะห์ในการประชุม Monetary Policy Forum โดยธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การส่งออกอาจเริ่มทรงตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า   

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า มีแนวโน้มผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจลดลงบ้าง หากบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดนเฉพาะบริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม แต่ตลาดกลับยังไม่ได้ตอบรับในเชิงบวก

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้ความเสี่ยงสงครามยังไม่ได้ลดลงชัดเจน ทว่าเงินดอลลาร์อาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสและแข็งแกร่งกว่าคาด

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่ยังคงร้อนแรงอยู่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ของจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.00-36.75 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.40 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ต.ค. 2566 เวลา : 10:48:06

08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 8:08 pm