ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (29 พ.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 พ.ย.66) ที่ระดับ  34.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.93 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก (แกว่งตัวในช่วง 34.67-34.95 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราได้ประเมินไว้ โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ 

ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ อาทิ Tesla +4.5%, Microsoft +1.1% ต่างปรับตัวขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่เริ่มออกมาสนับสนุนแนวโน้มเฟดทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ที่ปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล Thanksgiving ที่จะขยายตัวได้ดี ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.29% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลง -0.30% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Hermes -2.0%, LVMH -1.8% ที่เผชิญการปรับลดเป้าราคาและแนวโน้มผลประกอบการจากบรรดานักวิเคราะห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้   

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนซึ่งออกมาสนับสนุนแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า) ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 4.30% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ความระมัดระวังความเสี่ยงที่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งยังได้ช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 147 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง (Target แรกของ Trade Idea Short USDJPY ที่เรานำเสนอไปก่อนหน้า) โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 102.7 จุด (กรอบ 102.6-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้มากขึ้น ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ซึ่งแม้ว่า เราและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะประเมินว่า กนง. จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% แต่ประเด็นสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของทาง กนง. ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 รวมถึง รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ในระยะสั้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาด โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ดังนั้น ในช่วงระหว่างวัน เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำได้บ้าง 

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม กนง. โดยเราประเมินว่า หาก กนง. เริ่มส่งสัญญาณพร้อมหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อ (หรือ มีมุมมองที่ Hawkish น้อยลง) ก็อาจส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ไทยมีการย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวจะหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ไทย ขณะที่ ในฝั่งหุ้น การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ไทย ก็อาจทำให้ หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น และหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ซึ่งความไม่สอดคล้องของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ (หากเกิดขึ้นได้จริง) ก็อาจทำให้ เงินบาทเริ่มชะลอการแข็งค่าและแกว่งตัว sideway ได้

การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทที่มากกว่าระดับแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ ทำให้ เรามองว่า แนวรับถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเข้าใกล้เป้าสิ้นปีของเราแถว 34.25 บาทต่อดอลลาร์ มากขึ้น) ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ ตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ย. 2566 เวลา : 10:38:26

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 10:53 pm