ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (21 ธ.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 ธ.ค.66) ที่ระดับ  34.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.90 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 34.87-35.01 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน การทยอยย่อตัวลงสู่โซนแนวรับของราคาทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเช่นกัน 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างเทขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี ตั้งแต่หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุด โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia -3.0%, Apple -1.1% นอกจากนี้ การปรับสถานะถือครอง Options ในช่วงใกล้เทศกาลหยุดยาวของผู้เล่นในตลาดก็อาจมีส่วนสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.47% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.19% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษล่าสุด ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ได้เพิ่มความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +1.9% หลังหุ้นกลุ่มดังกล่าวเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ของสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด และช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3.90% ได้ แต่ก็เป็นเพียงการปรับตัวขึ้นชั่วคราว หลังภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือบอนด์ระยะยาว กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงใกล้ระดับ 3.86% ทั้งนี้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาพอสมควร ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเฟด ที่เร็วและลึก พอสมควรและอาจยังไม่สอดคล้องกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดนัก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนตั้งแต่ช่วงบ่ายหลังเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยอ่อนค่าลงตามความหวังการลดดอกเบี้ยของ BOE จากรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ชะลอตัวลงชัดเจน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาดและความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.4 จุด (กรอบ 102.2-102.6 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,044 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำบ้าง เพื่อลุ้นการรีบาวด์ในกรอบ sideway โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยหากยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำและออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวต้านสำคัญ แต่ก็มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าเหนือระดับดังกล่าวไปได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งนอกจากจะหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ยังอาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยได้เช่นกัน เนื่องจากหุ้นไทยได้ทยอยรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควรจากการปรับฐานล่าสุด 

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอคอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นในช่วงนี้ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ในคืนนี้ และอัตราเงินเฟ้อ PCE ในคืนพรุ่งนี้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเผชิญโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน ซึ่งจะช่วยชะลอไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 35.00 บาทไปได้ไกล

ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร หรือนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจติดโซนแนวรับแถว 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2566 เวลา : 11:31:19

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 9:02 am