ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (30 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นมาก ที่ระดับ 35.38 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.38 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.38-35.60 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังได้ปรับลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ (Long USD) ลงบ้าง ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ และนอกเหนือจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจพิจารณาขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้อาจออกมาสดใสและสะท้อนการเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Microsoft +1.4% (ประกาศผลการดำเนินงานคืนนี้) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.12% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.76%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.21% หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ทั้งเฟดและ ECB จะมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ได้ (ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ประเมินการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2) ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้ช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่ได้รายงานผลประกอบการที่สดใสก่อนหน้า อาทิ SAP +1.3%, ASML +1.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +0.9% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่เคยประเมินไว้ ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการปรับสถานะถือครองบอนด์ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาสดใส อย่างในช่วงก่อนหน้า หรือ เฟดมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้เร็ว ตามการกลับไปเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมีนาคมอีกครั้งของบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยการปรับสถานะดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.08% อย่างไรก็ดี เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  (บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตั้งแต่ 4.20% ขึ้นไป ถือว่า มี Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถรีบาวด์ขึ้นและทรงตัวแถวโซน 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งการรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้ 
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยูโรโซน ทั้ง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB 

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Microsoft และ Alphabet โดยในช่วงนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลงจริง ตามที่เราได้ประเมินไว้ (ซึ่งเราได้ Call Short-term Peak ของเงินบาทแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา) ทว่า เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับแรกแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งจะกลายมาเป็นโซนแนวต้าน) ทำให้เรามองว่า ในช่วงนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ ทดสอบโซนแนวรับถัดไป 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งต้องรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ในสหรัฐฯ รวมถึงรอลุ้นว่า นักลงทุนต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยได้ต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด (ขายทำกำไรและลดสถานะ Long USD)

ทั้งนี้ เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด และยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง 

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.25-35.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ม.ค. 2567 เวลา : 10:31:44

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 11:17 pm