ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 ก.พ.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 ก.พ.67) ที่ระดับ  35.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.85 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.80-35.98 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการ (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ อย่างไรก็ดี รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน กอปรกับภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และทำให้เงินบาทยังคงไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์  
 
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อนแรง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ นำโดย Nvidia +16.4%, Amazon +3.6% หลัง Nvidia รายงานผลกำไรและคาดการณ์ผลกำไรที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อแนวโน้มการเติบโตของหุ้นในธีม AI โดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นแรง +2.96% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.11% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.82% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นในธีม AI อาทิ ASML +5.1% หลัง Nvidia รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาดและพลิกกลับมาอยู่ในระดับ 50 จุด 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตามการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นในธีม AI ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง (ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน กันยายน และธันวาคม) ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้มีปัจจัยหนุนให้ปรับตัวขึ้นต่อมากนัก และยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.30% ทั้งนี้ เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังมุมมองของผู้เล่นในตลาดนั้นเหมือนกับสิ่งที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน ก็ทำให้ เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้และเผชิญการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-104.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี  รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งในช่วงโซนราคาดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่บ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีและยูโรโซน โดย IFO (Business Climate Survey) ในเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเฟด (เดือนมิถุนายน) ได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินยูโร (EUR) ได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังไม่เปลี่ยนมุมมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่านั้นแผ่วลง โดยเฉพาะหลังมุมมองการลดดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาดนั้น ได้สอดคล้องกับ Dot Plot ของเฟดล่าสุด ทำให้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ก็อาจจำกัดลง (Limited Upsides for USD) ทว่าด้วยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน ทิศทางของราคาทองคำ รวมถึงสกุลเงินเอเชียสำคัญ อย่าง เงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควร หากทั้งราคาทองคำ เงินหยวนจีน และเงินเยน ย่อตัวลงบ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียเพิ่มเติม ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็อาจได้รับอานิสงส์จากภาพดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด และเรายังคงประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง) 

ในเชิงเทคนิคัล เงินบาทได้ส่งสัญญาณทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะหากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวต้านยังคงเป็นช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาในช่วงนี้ 

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.05 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.พ. 2567 เวลา : 10:35:58

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 11:16 am