ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (28 ก.พ.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 ก.พ.67) ที่ระดับ  35.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.84 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ตามที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ต่างออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างเข้าซื้อทองคำในจังหวะดังกล่าวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาท
 
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE พร้อมจับตาสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.17% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.18% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ ASML +1.1% นอกจากนี้ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังได้ช่วยให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ยานยนต์และเหมืองแร่ ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะ Novo Nordisk -1.2% หลังบริษัทยาในสหรัฐฯ ได้รายงานผลการทดลองยาที่สามารถลดน้ำหนักได้ดีและอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของยาจาก Novo Nordisk 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย กอปรกับบรรยากาศโดยรวมในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เริ่มออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังมุมมองของผู้เล่นในตลาดนั้นเหมือนกับสิ่งที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่โดยรวมเงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้และเผชิญการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี  รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งในช่วงโซนราคาดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่บ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ คาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2023 ครั้งที่ 2 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down หลังปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ทยอยแผ่วลง อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในช่วงระหว่างวัน จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน หรือแม้กระทั่งโฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มอาศัยจังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทในการทยอยขายทำกำไรทั้งหุ้นและบอนด์ กดดันให้เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ง่ายนัก หากยังไม่มีปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน 

เรายังคงประเมินว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนและแข็งค่าหลุดแนวรับดังกล่าว ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวในระยะสั้นยังมีไม่มากนัก และอาจต้องรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ รวมถึงรอลุ้นรายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ที่ต้องออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ขณะที่โซนแนวต้านยังคงเป็นช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาในช่วงนี้ 

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.พ. 2567 เวลา : 10:44:30

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 11:17 am