มณีแดงด้วยแรงใส่ใจ พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต
สร้างความแตกต่าง กับแบรนด์แห่งความสุข

“พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์”    

 

 

“ความสุข” คืออะไร ? ถ้าจะให้พูดถึงความสุขของแต่ละคน ก็มีความแตกต่างหลากหลายมากมายนัก แต่หากจะให้นิยามความหมายในทางจิตวิทยา เราก็อาจให้คำนิยามได้ว่า “ความสุขเกิดจากการประเมินความชอบ ความพึงพอใจของตนว่ามีมากแค่ไหน เมื่อเรามีความสุข นั้นหมายความว่าเราชอบ หรือพึงพอใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ นั่นเอง”

แล้วการสร้างความสุข เราจะเริ่มต้นได้อย่างไร ? ในวันนี้เราอาจจะไม่ได้พูดถึงการสร้างความสุขโดยตรง แต่เราจะมาพูดคุยกับ คุณตุ๊ก "พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์" รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บริษัทของคนหัวคิดทันสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของแบรนด์ที่มอบความสุขให้กับคนไทยมายาวนานกว่า 61 ปี กับการตั้งเป้าหมายให้เป็นแบรนด์ในดวงใจของคนไทยทุกๆคน 

 
ชีวิตและแง่คิดในการทำงานของคุณตุ๊กนั้นน่าสนใจมาก โดยจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นคน “ชอบถ่ายภาพ” โดยที่ไม่ได้เรียนด้าน “นิเทศศาสตร์” มาก่อน แต่ได้เลือกเรียน “อักษรศาสตร์” จากสาเหตุที่ว่าไม่เก่งคณิตศาสตร์ เลยขอเลือกเรียนในทางที่เรียนได้ก่อน คุณตุ๊กจึงได้จบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะไปเรียนต่อทางด้านการสื่อสารมวลชน (mass communication) ที่ Fairfield University,Connecticut ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
 “หลังจากจบปริญญาตรี อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้สมัครงานกับสมัครเรียนไปพร้อมกัน พอได้งานก่อน
ก็ทำงานที่เมืองไทยประกันชีวิตไป 8 เดือน และปรากฏว่าปริญญาโทที่สมัครไว้เขารับ ก็เลยไปเรียนปริญญาโท 2 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำที่เมืองไทยประกันชีวิตต่อ ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงที่จะไปเรียนปริญญาโท ผู้ใหญ่ที่บริษัทฯ ก็บอกว่ายังไม่มีใครทำงานด้านประชาสัมพันธ์ หรือ  PR  เลย เขาก็ส่งเสริมบอกให้ไปเรียนสิ ก็เลยไปเรียนมา โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว พอได้ทำงานด้านนี้เลยรู้สึกว่าไปกันได้”

นอกจากคุณตุ๊กจะเป็นคนชอบถ่ายภาพแล้ว คุณตุ๊กยังชอบดูคอนเสิร์ต ชอบทำอาหาร เอนเตอร์เทนต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับเธอ และหากพูดถึงการถ่ายภาพแล้วก็ต้องเรียกได้ว่าเข้าขั้น“โปร”เลยทีเดียว เพราะคุณตุ๊กได้เลือกใช้กล้อง SLR (Single Lens Reflex) ซึ่งเป็นกล้องตัวใหญ่เปลี่ยนเลนส์ได้ แทนที่จะเลือกใช้กล้อง Compact  ขนาดเล็ก มาใช้ในการถ่ายภาพ
 
“ไลฟ์สไตล์ของพี่ก็จะเป็นคนชอบถ่ายภาพ ชอบดูคอนเสิร์ต เอนเตอร์เทน ชอบทำกับข้าว เวลามีเวลาว่างพักผ่อน ก็ชอบไปปราณบุรี พอได้ทำกับข้าวก็จะชอบทดลองทำอาหารพร้อมกับคนในครอบครัว ทำให้รู้ว่าครอบครัวเราชอบอะไร? หรือหากมีโอกาสก็ไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะเราจะได้หลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งไปเลย เวลาไปก็กล้องคนละตัว เสื้อยืดกางเกงยีนส์ เพราะเวลาถ่ายภาพต้องคลุกเยอะ พอไปในสถานที่ใหม่ๆก็จะได้เห็นภาพ เห็นมุมมองที่แปลกไป เห็นเส้น Graphic ฯลฯ ก็จะทำให้เรามีความสุข และที่ชอบใช้กล้อง SLR ของ Nikon เพราะกล้อง Compact ใช้ไม่ทันใจเท่าไหร่ (หัวเราะ)”
 
 
ก็ถือได้ว่า กิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของคุณตุ๊ก สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของแบรนด์แห่งความสุขได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจสงสัยว่า จุดเริ่มต้นในการได้มาทำงานที่ “เมืองไทยประกันชีวิต” นั้น เริ่มมาจากความชอบรึเปล่า? คุณตุ๊กเลยให้คำตอบกับเราว่า
 
“จุดเริ่มต้นของการทำงานจริงๆ คือ ที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน (หัวเราะ) เพราะเมื่อก่อนมีเพื่อนทำอยู่ แล้ววันหนึ่งขับรถไปกินข้าวกัน เพื่อนก็ถามว่าที่นี่รับสมัครงาน อยากทำไหม? ก็เลยลองสมัครทำ ในตอนแรกทำงานอยู่ฝ่ายธุรการ อยู่สารบัญ ก็ได้ใช้ทักษะการเขียนของอักษรฯมาบ้าง ใจจริงแล้วชอบงานด้าน PR มากกว่า แต่ที่ไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ตอนเรียนปริญญาตรี เพราะว่าตกเลข จะให้เลือกนิเทศฯไปมันก็ไม่ติด ก็เลยเรียนอักษรฯดีกว่า แล้วพอไปเรียนเมืองนอกก็ต้องใช้เลข ได้ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ อะไรแบบนี้ เลยรู้สึกว่าเป็นตัวเองมากขึ้น มันแฮปปี้กว่าเยอะ”
 
ไม่น่าเชื่อว่าจากการที่สถานที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ผู้หญิงเก่งรอบด้านท่านนี้ ได้มาทำงานอยู่กับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตยาวนานถึง 20 กว่าปี นอกจากนี้ คุณตุ๊กได้ยังได้เล่าถึงงานในส่วนที่รับผิดชอบให้เราได้ฟังอีกว่า
 
“งานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านสื่อสารองค์กร คอยดูแลภาพลักษณ์องค์กร ดูกิจกรรมเพื่อสังคม ดูแลสปอนเซอร์ สนับสนุนอีเว้นท์ต่างๆ และการผลิตงานโฆษณา รวมถึงมีงานที่ผู้ใหญ่มอบหมายไว้ คือการเป็น Corporate Service ดังนั้นเมื่อใครจะเอาแบรนด์ไปใช้ หรือใครจะทำโฆษณาก็จะต้องมาผ่านการตรวจสอบจากพี่ก่อนเสมอ พี่จึงเปรียบเสมือนเป็นประตูด่านอีกประตูหนึ่ง ในการรักษามาตรฐานให้แบรนด์นี้มีคุณภาพอยู่ตลอด”
 
งานเยอะขนาดนี้ คุณผู้อ่านคิดเหมือนเราไหมว่า กว่าที่คุณตุ๊กจะประสบความสำเร็จมาได้ขนาดนี้ ก็คงจะเหนื่อยและหนักน่าดู ซึ่งเราก็จะได้ทราบจากปากคุณตุ๊กแล้วครับว่า อะไรคือจุดที่ทำให้คุณตุ๊กประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
 
 
“จุดที่ประสบความสำเร็จได้ เกิดขึ้นเพราะความที่เราเป็นคนโชคดี และได้นโยบายดีๆ จากเจ้านายที่มีวิสัยทัศน์ รวมถึงให้โอกาสพนักงานได้แสดงออก ได้แสดงฝีมือ และให้แง่คิดต่างๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงาน จนเราพัฒนาขึ้น และเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นปีที่คุณสาระ ล่ำซำ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ ก็ได้บอกกับเราว่า ต้อง “รีแบรนด์” ก็เลยถามว่า แล้วทำอะไรละ? ทำโฆษณาเหรอ? คุณสาระก็เลยบอกว่า มันมากกว่านั้น จนนายก็ต้องมานั่งอธิบายให้เราฟังว่าต้องทำยังไง และคนที่เริ่มทำรีแบรนด์ให้เรา คือ คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ก็ได้บอกกับเราว่า โลโก้เมืองไทยประกันชีวิต ความหมายดีอยู่แล้ว ส่วนชื่อก็ดีอยู่แล้ว อยู่มา 50ปี ดังนั้นอย่าไปเปลี่ยน ไม่จำเป็น ก็เลยใช้เรื่องสีเข้ามา โดยเริ่มต้นมาจากสีของพระอาทิตย์ในยามเช้า จึงได้เป็นสีบานเย็น ทุกคนจะได้ตื่นขึ้นมาพบความสุข 
 
 
หลังจากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนทั้งเสื้อผ้า สูท กางเกง ฯลฯ เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ โดยตอนนั้นได้ให้ห้องเสื้อเมตตา ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในสมัยนั้น ตัดสูทและออกแบบชุดให้กับพนักงาน เพราะฉะนั้นก็จะทำให้พนักงานเกิดความภูมิใจ หลังจากนั้นก็เริ่มมีเป็นเสื้อโปโล แต่ปัญหาก็เกิดที่ว่าพอเป็นสีบานเย็นแล้วผู้ชายรับไม่ได้ เราก็เลยค่อยๆปรับไปทีละนิด จากเป็นเสื้อสีดำมีโลโก้สีบานเย็น เราก็ปรับมาเป็นสีดำบ้าง แล้วก็มาน้ำเงินบ้าง จนตอนหลังผู้ชายก็ใส่สีบานเย็นอย่างไม่รู้สึกแปลกอะไร จนกระแสสินค้าของเราทั้งหมดเกิดขึ้นรอบๆ บริษัท ทุกที่ก็จะมีเสื้อ กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ พอมาถึงวันที่จะแถลงข่างเรื่องแบรนด์ดิ้ง ทุกคนก็นึกว่างานแต่งงาน เพราะทั้งห้องเป็นสีบานเย็น (หัวเราะ) แล้วของทุกอย่างในงานก็จะเป็นสีชมพู ทุกคนก็ถามว่า คิดได้ไง? (หัวเราะ)”
 
 
ชีวิติเริ่มต้นการทำงานอย่างเต็มที่ของคุณตุ๊ก ได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2531 หลังจากกลับมาจากเรียนปริญญาโทเสร็จ บังเอิญทางเมืองไทยประกันชีวิตได้สร้างหอประชุมขึ้นในปีนั้นพอดี ในตอนนั้นเองคุณตุ๊กจึงได้คิดที่จะนำกิจกรรม การแสดง ดนตรี เล่นละครหลายๆอย่างมาลง ทำให้คนได้รู้จักเมืองไทยประกันชีวิตมากขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่คุณตุ๊กได้ทำให้กับเมืองไทยประกันชีวิต และน่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ คุณตุ๊กยังได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากต่างแดน แล้วนำมาใช้ในการทำงานให้กับแบรนด์ของตัวเองด้วยอีกว่า 
 
“ตอนเราอยู่เมืองนอกก็ได้เห็นว่าในเรื่อง Direct Mail มันได้ผล ก็เลยได้เริ่มทำ Database ของแขกหอประชุม ก็ส่งไปเชิญมีกิจกรรมโน่นนี่นั่น มันก็เกิดความผูกพัน ทำให้รู้สึกว่าได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่างในชีวิตมาประกอบในงาน”  
 
เมื่อพูดถึงการแข่งขันทางด้านธุรกิจในทุกๆด้าน สูตรสำเร็จในการทำให้ประสบความสำเร็จนั้น ล้วนแล้วแต่จะต้องเกี่ยวข้องกับการทำให้แบรนด์เป็นที่น่าสนใจ น่าดึงดูด หรือสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ โดยในส่วนของบริษัท“เมืองไทยประกันชีวิต”เอง ก็ได้เลือกที่จะ “สร้างความแตกต่าง” เช่นกัน และแบรนด์นี้เขามีแนวทางในการสร้างความแตกต่างอย่างไร ? คุณตุ๊กได้มาไขปริศนาให้กับเราว่า
 
“การทำประกัน เบี้ยประกันทุกคนเท่ากันหมด เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ แต่ความแตกต่างของเมืองไทยประกันชีวิตกับแบรนด์อื่นๆ คือ สิทธิพิเศษของลูกค้า ในการที่จะรับส่วนลด การดูโชว์ดูคอนเสิร์ต แต่งหน้า ทำกับข้าว จัดทริปท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณหาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ คุณต้องมาเป็นสมาชิกเมืองไทยประกันชิวิต เป็นลูกค้าเมืองไทยสไมล์คลับ เพราะสิ่งเหล่านี้มันตอบโจทย์กับที่คุณต้องการ คือ ความสุข และรอยยิ้ม ซึ่งในช่วงที่เมืองไทยคิดหาความแตกต่าง จึงได้เริ่มมีเมืองไทยสไมล์คลับ ก็ได้เริ่มไปเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมต่างๆ งานแรกก็เริ่มที่ดิสนีย์ออนไอซ์ เมื่อเราได้เริ่มจากของยาก มันก็จะทำให้เราดีลกับใครก็ง่ายไปหมด การทำอีเว้นท์ก็จะเริ่มเป็นสปอนเซอร์กิจกรรมที่มีกลุ่มสนใจต่างๆมากขึ้น ตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราคือคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นความหลากหลายจึงต้องมากขึ้น”
 
 
สิ่งหนึ่งในการที่จะทำให้แบรนด์แต่ละแบรนด์นั้น มีความน่าเชื่อถือ และอยู่ได้นาน จะต้องมี “การรักษาคุณภาพหรือมาตรฐาน” ซึ่งคุณตุ๊กบอกกับเราว่า ที่เมืองไทยประกันชีวิตจะต้องมีการตรวจสอบ โลโก้ การใช้สี อยู่ตลอดเวลา เพราะคุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี เคยสอนไว้ว่า “การรักษามาตรฐาน ก็เหมือนเส้นตรง ที่ถึงแม้ว่าองศามันจะเพี้ยน แต่เราก็ยังจะต้องรักษาเส้นตรงเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีคนคอยตรวจ มีการออกจดหมายเตือนเป็นระยะๆ ไม่งั้นมันจะผิดเพี้ยนได้”
 
 
นอกจากนี้แล้ว คุณตุ๊กมีคติดีๆ ที่ใช้ในการทำงานอยูเสมอๆ คือ “การทำงานเราจะไม่แข่งกับใคร ขอให้เราแข่งกับตัวเราเอง วันนี้ทำแล้วเราก็มาคุยกัน แต่วันต่อไปเราก็ทำให้ดีขึ้น เพราะบางครั้งในการที่เราได้กำลังใจ ได้รางวัล มันก็คือสุดยอดของเราแล้ว และเวลาที่เราตั้งใจทำแข่งกับตัวเองเราจะไม่ท้อถอย แต่ถ้าเราไปแข่งกับคนอื่นก็จะเกิดความเครียด โกรธ เกลียด อิจฉา ซึ่งมันจะทำร้ายความคิดสร้างสรรค์ของเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่า ทำแบบนี้ดี ทำแบบนี้ไม่ดีอย่างนี้ ก็มาทำใหม่ให้ดีขึ้น มันก็จะทำให้เราพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า”
 
ได้แง่คิดดีๆในการทำงานไปแล้วหลายอย่าง ทั้งการมองในแง่บวก ไม่คิดร้ายต่อใคร แล้วสิ่งดีๆจะกลับมาหาที่ตัวเรา นอกจากนี้ คุณตุ๊กก็ยังมีปรัชญาในการใช้ชีวิตอีกเช่นกัน คือ “การคิดดี เขียนดี พูดดี ทำดี แล้วก็จะไม่ทำร้าย ไม่ทำอะไรใคร  ก็จะสามารถทำให้เราอยู่บนโลกได้อย่างเข้าใจคนมากขึ้น รู้จักให้อภัยคนอื่น รู้จักเป็นผู้ให้และแบ่งปัน”แค่ได้ฟังปรัชญาในการใช้ชีวิตของคุณตุ๊กแล้ว ถือได้ว่าสมกับการที่เมืองไทยประกันชีวิตเป็นแบรนด์แห่งความสุข จริงๆ เลย
 
 
หลังจากที่ได้ฟังแนวคิด ของคุณตุ๊กไปแล้ว ก็อยากที่จะให้คุณตุ๊กช่วยแนะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือวัยรุ่นนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การทำงานในลักษณะสายงานแบบคุณตุ๊กว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ? ซึ่งคุณตุ๊กก็ได้ให้คำตอบว่า 
 
“อยากให้เริ่มตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ตอนเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย ต้องเตรียมให้พร้อมที่สุด จะทำยังไงให้คุณเป็น Shining Star ทำยังไงก็ได้ให้คนเขาเลือกคุณ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องทำเป็นทุกอย่าง ขับรถให้เป็น ทำคอมพิวเตอร์ให้เก่ง แล้วเวลามีกิจกรรม นิทรรศการ มีสัมมนา อันไหนเข้าฟรีก็ต้องเข้าไปฟัง หรือเราพอจะมีตังค์เข้าเราก็เข้า เพราะเราต้องเรียนรู้ให้เยอะที่สุด เพื่อเวลาคุณมาทำงาน คุณจะได้แตกต่างจากคนอื่น
 
แต่สิ่งที่สำคัญ คือ สิ่งที่ได้บอกลูกของเรา และบอกกับลูกน้องทุกคนว่า “จะเก่ง ให้เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วย ถ้าเก่งแต่ไม่ดีนี่ อย่าเป็น” และวิธีการอย่างหนึ่งที่อยากให้การศึกษาไทยมี คือ การฝึกความคิด บางทีเราคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น ก็อปปี้เป็นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงอยากให้หัดคิดให้ครบมากที่สุด แล้วค่อยเอาไปคุย เพราะทุกอย่างมีเหตุมีผล 
 
ในเรื่องของการทำงานเมื่อทำผิดอย่าปิด ผิดก็ให้บอก จะได้ช่วยๆ กันแก้ มันจะได้ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น รวมถึงความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญ และรู้จักพูดให้เป็น “สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ เสียใจ” ตรงนี้ คือ สปิริตที่ได้จากนาย
 
ความดีทำได้รอบตัว ได้ตลอดเวลา เป็นคนเก่ง และเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต สำคัญ ก็อยากจะฝากไว้ เพราะสังคมตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ ความเร็วมันเข้ามา ทำให้คนเรามีความอดทนต่ำ คนที่เป็นหัวหน้าต้องรู้จักเสียสละ รู้จักที่จะดูแลคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเรา  ไม่ใช่วันๆ ฉันอยู่ของฉัน อย่ามายุ่งกับฉัน เราก็จะใช้วิธีการคำว่าเป็นพี่เป็นน้องกันดีกว่า เพราะใช้คำว่าเจ้านายมันจะดูห่างเหิน ให้แคร์ ให้ห่วงใยกัน ถามไถ่ อย่าเอาแต่งาน ถามความเป็นอยู่ ไม่ใช่ลูกน้องนั่งหน้าตก เพราะเราใช้หัวปักหัวปำ ไม่เคยถามว่าชีวิตเป็นอย่างไร บางทีแบบนี้มันไม่ได้หรอก”
 
 
และเมื่อถามถึงว่าอนาคตอยากที่จะเห็นเมืองไทยประกันชีวิตเป็นอย่างไร คุณตุ๊กบอกว่า “อยากให้เมืองไทยประกันชีวิต เป็นแบรนด์ในดวงใจของคนไทยทุกคน อยากให้มองเห็นเราเป็นแบรนด์แห่งความสุขและรอยยิ้ม สำหรับคนไทย”
 
คำตอบที่คุณตุ๊กได้ทิ้งท้ายให้กับเรา สมกับเป็นทัศนคติของ “รองกรรมการผู้จัดการ” ที่มากความสามารถจริงๆซึ่งหลังจากที่เราได้สัมภาษณ์พี่ตุ๊กไป ก็ทำให้เราได้เห็นแง่คิด มุมมองดีๆ ในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการทำงาน พร้อมทั้งยังได้คำแนะนำดีๆ ที่มอบให้กับน้องๆ นักศึกษา ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เราเชื่อว่าคุณตุ๊กจะยังคงยืนหยัด พัฒนาองค์กรอย่างไม่ย้อท้อ และในอนาคตเราคงจะได้เห็นกิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเมืองไทยประกันชีวิต รวมถึงคุณตุ๊ก"พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์" ผู้ที่ได้มอบกิจกรรมสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคนไทยนับล้านคน 
 
 

 


LastUpdate 10/03/2557 16:59:10 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 11:12 am