เพชรดีเป็นศรีแห่งตระกูล ฐิตินันท์ วัธนเวคิน หญิงแกร่งแห่งเกียรตินาคิน
ฐิตินันท์ วัธนเวคิน 
หญิงแกร่งแห่งเกียรตินาคิน
 
 
คนดีย่อมเป็นที่ปรารถนาที่ต้องการในทุกหนทุกแห่งในทุกกิจการ 
และในทุกยุคทุกสมัย คนดีทำให้ครอบครัวเจริญ โรงเรียนเจริญ 
ชุมชนเจริญ สังคมและประเทศชาติเจริญ 
คนดีนั้นเมื่ออยู่ในครอบครัวใด โรงเรียนใดและสังคมใด ครอบครัว 
โรงเรียน และสังคมนั้นๆ ย่อมมีความสุข 
ความกตัญญู คือ คุณสมบัติและสัญลักษณ์ของคนดี 
กตัญญู กับ กตเวที รวมเป็น กตัญญูกตเวที 
ซึ่งเป็นคุณธรรมคู่กันเสมอ เป็นหลักถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของสัตบุรุษ 
คือ คนดี หรือคนในอุดมคตินั่นเอง 
ในสังคมชาวพุทธ คนมีกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นผู้ควรค่าแก่ความรัก เกียรติ ศักดิ์ศรี 
และการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น เพราะได้ปฏิบัติธรรมอันถือเป็นมงคลยิ่ง
ข้อหนึ่ง คือ ความกตัญญู บุคคลย่อมมีชีวิตประสบแต่ความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองนั่นเอง
 
 
วันนี้เรามีนัดกับนักบริหารสตรีท่านหนึ่งที่ดำรงชีวิตที่เรียบง่าย
ท่านบอกกับเราว่าจริงๆท่านเป็นคนธรรมดา ง่ายๆ สบายๆ
ในแวดวงการเงินและการธนาคาร น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก
“ฐิตินันท์ วัธนเวคิน” กรรมการและประธานสายธนบดีธนกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
แต่หลังจากที่เราได้คุยกับท่านแล้วต้องขอสารภาพว่าความธรรมดานั้นไม่ธรรมดาเลยจริงๆค่ะ
 
 
"พี่เรียนที่สาธิตปทุมวัน แล้วก็ไปต่อที่สหรัฐอเมริกาสาขาบริหารรัฐกิจ 
 University of Southern California
อยากทำงานราชการเพราะว่าที่บ้านประกอบธุรกิจกันเยอะแล้ว"

คุณฐิตินันท์ แทนตัวเองว่าพี่

"แต่พอกลับมาเมืองไทย ที่บ้านได้ไปซื้อ Seat Broker หมายเลข 19 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน
ซึ่งตอนนั้นดัชนียังร้อยกว่านิดๆเอง นับว่ายังใหม่มาก"
พี่ฐิเล่าต่ออีกว่า
 
"พี่ชายเห็นกลับมาใหม่ๆเลยชวนไปทำงานที่นั่น
 ก็เลยได้เข้าไปทำในตำแหน่งหาข้อมูล แล้วก็ติดต่อประสานงานลูกค้า
 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ว่าได้ ทำๆไปได้สักพักรู้สึกดี ชอบ 
 ตื่นเต้นดี  เลยคิดว่าจะไปเรียนต่อดีไหม"
 
 
พี่ฐิตินันท์ จึงเข้าเรียนปริญญาโทที่ศศินทร์ ในสาขาบริหารธุกิจ 
จบแล้วก็กลับไปทำงานที่เกียรตินาคินเหมือนเดิม
พี่ฐิเล่าให้เราฟังอย่างออกรสว่า
 
"ทีนี้พอทำไปได้สักพัก องค์กรใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีการระดมเงินฝาก 
ตัวพี่เองเลยมาคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจมาก เลยย้ายไปทำหน้าที่ระดมเงินฝาก
ตอนนั้นยังไม่แยกเงินทุน กับ หลักทรัพย์
องค์กรมีการเติบโตมากขึ้นมีโอกาสเข้าไปอยู่บนกระดาน
เรียกย่อๆว่า เคเค (KK) ก็ค่อยๆพัฒนาการ
แยกเงินทุนกับหลักทรัพย์ออกจากกัน  กลายเป็นบริษัทมหาชน"

นี่คือก้าวแรกที่กล้าของเกียรตินาคิน และหลังจากนั้นไม่นาน
แบงก์ชาติอยากจัดแผนผัง หรือ แลนด์สเคปของสถาบันทางการเงิน
ที่ไหนมีขีดความสามารถที่จะเป็นธนาคารพานิชย์ได้
แถมตอนนั้นมีต้มยำกุ้งปี 40เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เราเองก็ถูกสั่งให้ระงับกิจการชั่วคราว 
จากนั้นมีสองบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไปได้ 
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "เกียรตินาคิน" นั่นเอง
 
 
 
 พี่ฐิเล่าให้เราฟังว่า
 
"ตอนนั้นมันหนักหนาสาหัสสำหรับเรามาก
แต่ละบริษัทมีปัญหาเป็นของตนเอง
แต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องไฟแนนเชียล รัน หรือ ดีโพสิท รัน
นั่นคือประชาชนจำนวนมากแห่มาถอนเงินตัวเอง 

มาปิดบัญชี เก็บเอาเงินสดไว้กับตัวดีกว่า
ทำให้ขาดสภาพคล่อง ที่เรารอดมาได้คือ แก้ไขปัญหาได้เร็ว
เพราะเป็นองค์กรไม่ใหญ่มาก ทำให้คล่องตัวในการทำงาน" 

"ตอนเราถูกตรวจสอบนานมาก หลายขั้นตอน 
แต่ว่าเราไดัรับความกรุณาจากเจ้าหนี้ ยืดหนี้ให้เรา 
ลูกค้ายังไม่ถอนเงิน ทำให้ผ่านมาได้
ตอนนั้นทุกคนสับสนมาก ข่าวลือเยอะ
จะปิดอีกไหม ความมั่นใจขาด มาถอนก่อนกำหนด
แต่ตอนหลังรัฐบาลประกาศคุ้มครองเงินฝากหมด เลยหยุด"
พี่ฐิกล่าว
 
 
 
กลยุทธ์ที่สำคัญอีกหนึ่งกลยุทธ์ของเกียรตินาคินก็คือ
เรียนเชิญลูกค้ามาทำความเข้าใจ อธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น
 
"เริ่มจากห้องประชุมผู้บริหารน่ะค่ะ
 เราอยากให้ความมั่นใจกับลูกค้า
ก็เลยเชิญลูกค้ามารับรู้ความจริง เรามีแผนต่อเนื่องอย่างไร
เพราะว่าจริงๆแล้ว ยังมีหลายที่ ที่ยังสามารถบริหารได้ดี 
แต่มีเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤต การบริหารเลยยาก
เราจึงต้องทำตรงนี้ให้กระจ่าง และตรงไปตรงมาที่สุด"

นอกจากนั้นพี่ฐิยังเล่าให้เราฟังว่า

"เรามีจุดแข็งคือมีลิสซิ่งเป็นสินเชื่อที่สามารถเรียกกลับได้เร็ว 
 เลยทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นในการฟื้นฟูค่ะ"
 พี่ฐิบอกว่า

"วิกฤตินี้หนักมากได้เรียนรู้มาเยอะ
ก่อนต้มยำกุ้งมีสองหน แต่ต้มยำกุ้งนี่หนักหนาสาหัสมาก
ถึงแม้ว่าเราสามารถผ่านมาได้ก็ตาม ก็ต้องบริหารงานให้ดี
ไม่หลงระเริงหรือดีใจ ทำงานด้วยความระมัดระวัง 
ผู้บริหารเองถึงกับลดเงินเดือนตัวเอง และช่วยกันทำงาน 7 วันต่อหนึ่งอาทิตย์ 
ทำให้พนักงานมีกำลังใจมาก"
 
 
 
"เรามีทีมที่ดีมาก เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 
นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องของการทำงานเป็น มีผู้นำที่ดี
เพื่อนพนักงานมั่นใจ ผลประกอบการก็เริ่มดี
ลูกค้าก็เห็นถึงความตั้งใจของเรา
เราได้รับมั่นใจมากขึ้น ผู้ฝากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าแก่
ฝากกันนาน 30 - 40 ปี
พอรัฐบาลคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ลูกค้าก็มั่นใจ เราก็ทำงานง่าย
จนในที่สุดเราก็ได้รับใบอนุญาตให้เป็นธนาคารพาณิชย์
ทั้งๆที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้ด้วยซ้ำค่ะ"

ทางการมีนโยบายจัดระเบียบการเงิน ทำให้ประเภทของแบงก์มีไม่มาก
จุดแข็งของการเป็นธนาคารพาณิชย์ คือ สามารถระดมเงินฝากผ่านสาขาได้ 
เพราะว่าตอนเป็นเงินทุนจะระดมเงินฝากได้จากสำนักงานใหญ่เท่านั้น
ทำให้การระดมทุนค่อนข้างดี

"ถ้าอย่างนั้น DNA ของเกียรตินาคิน หรือ KK คืออะไรคะ" เราถามพี่ฐิกลับไป

"ลูกค้ามองเราว่าใส่ใจ ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ มีสินเชื่อที่ยืดหยุ่น
เรียกว่าตามใจ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินได้ดีกว่าที่อื่นค่ะ"

"เราทำรีเสริซ์มาตลอดเพื่อหาตัวตนที่แท้จริง"
พี่ฐิเล่าให้เราฟัง

"เราพยายามจะช่วยเหลือลูกค้าด้วยความใส่ใจเป็นอย่างดี
 และลูกค้าสามารถไว้วางใจได้แน่นอน"

"ตอนนี้มี 80 สาขา สาขาใน ตจว.เน้นปล่อยสินเชื่อ
กทม.เน้นการบริหารเงินฝาก เริ่มเปิดตัวมากขึ้น 
จะเห็นได้จากการที่เราไปเปิดสาขาย่อย ตามห้างต่างๆ บ้างแล้วค่ะ"

"เรามี product เกือบครบแล้ว มีธนาคาร มีหลักทรัพย์ มีจัดการกองทุน 
ที่ยังไม่มีคือประกัน
แต่เราก็จะค่อยๆสร้างพัฒนาการ ในทางที่เราเชี่ยวชาญมากกว่า
จากขนาดเล็ก มาขนาดกลาง ถ้าเราทำแบบนี้ ค่อยๆโต 
เราก็จะสามารถอยู่ได้"

พี่ฐิสรุปให้เราฟังแบบนี้

"สินเชื่อที่เราเชี่ยวชาญอีกอย่างหนึ่งก็คือเช่าซื้อรถยนต์ หรือ ลิสซิ่ง
เรามีทั้งสินเชื่อเพื่อรถเก่า และรถใหม่ 
นอกจากนั้นเราปล่อยสินเชื่อให้ผู้พัฒนาที่ดินระดับกลาง
ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษามากค่ะ"

"ตอนนี้เรามีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุดในตลาดสำหรับลิสซิ่ง
รถเก่าต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการดูรถ 
รถเก่าไม่ค่อยมีใครให้สินเชื่อ เราจึงมองว่าเป็นโอกาส
เพราะว่าตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก"

เกียรตินาคินจึงเลือกไปอีกทางหนึ่ง
รายใหญ่ต้องการดอกเบี้ยถูก 
ทำให้เกียรตินาคินต้องมุ่งไปที่ระดับกลาง รวมทั้ง SMEs
ซึ่งกลุ่มของผู้พัฒนาที่ดินระดับกลาง
เกียรตินาคินมีผู้ชำนาญการในท้องที่นั้นๆ ให้คำปรึกษาทุกอย่าง

พี่ฐิกล่าวเสริมกับเราอีกด้วยว่า

"ธนาคารต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆพอๆกับลูกค้า
เราต้องให้ข้อมูลได้ทุกทาง 
และเราจะปล่อยเงินกู้จนจบโครงการแน่นอน
ทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการนั้นไม่ล้มแน่
ในขณะเดียวกันเราก็ให้โนว์ฮาวกับเขามากขึ้นด้วย
ทำให้เรามีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้กู้ด้วย
นี้คือความเชี่ยวชาญที่เราพูดมาตลอด
ว่าเรามี และมีดีด้วยค่ะ"

ถ้านับถึงปูชนียบุคคลชาวไทยเชื้อสายฮากกาในประเทศไทย 
โดยวัดจาก "นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ" ของ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย 
ที่มีอาวุโสสูงสุดในปัจจุบันนี้ ต้องยกให้ อากุง  "เกียรติ วัธนเวคิน"  
นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย สมัยปัจจุบัน 
ซึ่งท่านครองตำแหน่งนี้มานานหลายสิบปีแล้ว 
นับตั้งแต่ นายกสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย 
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย 
และตำแหน่งสูงสุดในปัจจุบัน ก็คือ นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย
และอากุงที่ลูกหลานชาวฮากกาในเมืองไทยเรียก
ก็คือคนเดียวกับคุณพ่อของคุณฐิตินันท์ วัธนเวคิน นั่นเอง

พี่ฐิเล่าว่า

"พี่เกิดมาในครอบครัวใหญ่ มีสามคุณแม่    
 มีพี่น้องทั้งหมด 17 คน
 คุณพ่อบอกพี่เสมอว่าพี่น้องต้องรักกัน
 ทำให้ทุกคนโตมาด้วยกัน ด้วยบ้านหลังเดียวกัน
 ที่ถนนนเรศ สี่พระยาค่ะ"
 คุณพ่อ สอนไว้ว่าต้องกตัญญู และซื่อสัตย์
 ที่บ้านเรามีป้ายแขวนไว้เลยว่าต้องกตัญญูและซื่อสัตย์"

"ตอนแรกที่เกิดวิกฤติ คำแรกที่คุณพ่อโทรมาหาเราก็คือ
เงินมาใหม่ได้นะลูก แต่ชื่อเสียงนี่หาไม่ได้
คุณพ่อบอกว่าอย่าทอดทิ้งลูกค้า
ดูแลลูกค้าของพ่อให้ดี
เราต้องเป็นเหมือนตุ๊กตาล้มลุก คือล้มได้
แต่ต้องลุกขึ้นมาตลอด ไม่ใช่ล้มไปเลย
ท่านเดินมาให้กำลังใจพนักงานทุกคน 
สิ่งที่สำคัญสุดในภาวะวิกฤติคือผู้นำ ท่านไม่ทอดทิ้ง"

และนี่คือที่มาของหลักในการประกอบธุรกิจของเกียรตินาคิน นั่นคือ
อย่ารวยคนเดียว เราอยู่ได้ เขาก็ต้องอยู่ได้ แบ่งปันกัน
 
 
พี่ฐิยังเล่าต่อไว้อีกว่า

"อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือ คุณพ่อจะไม่เคยเถียงคุณแม่ของเขาเลย
ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เขาก็จะยิ้ม ถ้าแม่สั่งอะไรก็จะทำ
ให้ความเคารพ และดูแลตลอด เพื่อนๆ คุณพ่อจะพูดถึงความกตัญญู
และความซื่อสัตย์ของท่านเสมอค่ะ"

ท่านเจ้าสัวเกียรติ วัธนเวคิน นั้น เคารพรักอาแม หรือ แม่ของท่านเป็นอย่างยิ่ง 
ความกตัญญูของท่านที่มีต่ออาแม เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกหลานเหลน 
ท่านถือว่า อาแมของท่านเป็นคนใจเด็ด 
หอบท่านกับน้องชายมาตายเอาดาบหน้าที่เมืองไทย 
เลี้ยงดูท่านจนเติบใหญ่และประสบพบกับความสำเร็จสูงสุดในชีวิต 
ท่านได้หล่อรูปอนุสาวรีย์อาแมของท่านเป็นรูปทองเหลือง 
ตั้งเด่นเป็นสง่าภายในอาคารที่พักของท่าน ถ้าแขกคนใดไปเยือน
สิ่งแรกที่เขาจะประสบพบเห็น คืออนุสาวรีย์ของอาผอไท้ 

แม่ของอากุงเกียรติ ซึ่งท่านเซ่นไหว้ของท่านอยู่ทุกวันมิได้ขาด
นับเป็นตัวอย่างของลูกที่มีความกตัญญูต่อบุพการีอย่างมากล้น
และด้วยการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินกิจกรรม
เพื่อสังคมภายใต้ “โครงการพัฒนาคน พัฒนาชาติกับเกียรตินาคิน” 
และก่อตั้งมูลนิธิเกียรตินาคินขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 เพื่อดำเนินกิจกรรม 3 ด้านหลัก คือ
1. ด้านส่งเสริมการศึกษา
2. ด้านพัฒนาจริยธรรมและภูมิคุ้มกันสังคม
3. ด้านบรรเทาทุกข์และสาธารณกุศล

"ที่เกียรตินาคิน เราเชื่อเรื่องคนดีค่ะ" พี่ฐิบอกเรา  
 "เราเลือกมูลนิธิเข้าไปอยู่ในโครงการ 3 ปีเลย เพื่อการต่อเนื่องให้เขาอยู่ได้ค่ะ"

เมื่อเราถามถึงเวลาว่าง พี่ฐิตอบเราว่า
"พี่เริ่มปฎิบัติธรรมมาได้หลายปีแล้ว
 มันเห็นผลกับตัวเองชัดเหลือเกิน"

พี่ฐิเล่าต่อเจือรอยยิ้มว่า

"เปลี่ยนไปเยอะมาก  ทั้งทางด้านจิตใจ พฤติกรรม

"เหมือนได้รื้อผังไม่ดีออกไปจากตัวเอง ทุกคำสอนในพระพุทธศาสนา
ล้วนแต่เป็นแนวทางให้ได้ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นบัณฑิตที่แท้จริง"

ไม่น่าเชื่อสุภาพสตรีตรงหน้าเราจะขึ้นเลขห้าแล้ว
หน้าตาผ่องใส ผิวพรรณที่ดูอ่อนเยาว์ของพี่ฐิ
น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับจาการปฎิบัติธรรมเป็นแน่

"พี่มีสติ มีสมาธิ  ใจนิ่ง
สามารถมองเห็นปัญหาได้ชัด และแก้ปัญหาได้ถูกจุด
และที่สำคัญก็คือพี่เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงค่ะ"

ถึงแม้ปัจจุบันนี้พี่ฐิยังไม่ได้แต่งงาน
แต่พี่ฐิก็มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจมาก
พี่ฐิบอกกับเราว่า

"พี่ก็ไม่ทราบว่า โสดเพราะทำงานหนัก 
หรือว่าทำงานหนักแล้วจึงโสดนะคะ"
 
 
พี่ฐิพูดยิ้มๆ
"พี่อาจจะทำแต่งาน เลยไมได้คิดถึงเรื่องการมีครอบครัว
 บางทีผู้หญิงก็คิดเหมือนกันนะว่า
จะได้ชีวิตคู่อย่างที่เราต้องการหรือเปล่า
ความรักในมุมมองของพี่ 
ต้องเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขถึงจะมีความสุข
ไม่มีการยึดมั่น ถือมั่น แต่ก็ยากมากนะคะ
มีพ่อ-แม่ที่รักเรา แบบไม่มีเงื่อนไขจริงๆ 
เพราะว่าเป็นรักที่บริสุทธิ์"

การได้คุยกับพี่ฐิทำให้เรารู้สึกอบอุ่นระคนอิ่มใจ
อาจจะเป็นเพราะรอยยิ้มที่อบอุ่น
สายตาที่มุ่งมั่น หรือคมความคิดที่เฉียบขาด
แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม เรารู้เลยว่าสุภาพสตรีที่นั่งอยู่ข้างหน้า
เป็นตัวจริงและเสียงจริงในวงการการเงินการธนาคารของบ้านเราอย่างแน่นอน
มันทำให้เรานึกถึงคำว่า "สูงสุด คืนสู่สามัญ"
นี่แหละคือนิยามของคำว่า “โลว์โปรไฟล์ ไฮโปรฟิท” (Low profile, High profit) 
การยกความเป็นตัวเองให้น้อยลง แล้วหันมาทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน
ก่อนจะที่พี่ฐิจะลาเราไป
พี่ฐิได้ฝากความคิดคมๆ ให้กับเราว่า

"ผู้หญิงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาประเทศ
คนไทยโชคดี เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมไทยที่ให้โอกาส
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง
แล้วใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด"

"เลิกเรียกร้องสิทธิ์ ต้องเคียงคู่ไปด้วยกัน 
 เราจับมือรวมใจแสดงพลังของผู้หญิง
เพื่อทำบ้านของเรา เมืองของเรา ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
โลกหมุนด้วยมือของเราค่ะ"
 
 
นอกจากนั้นพี่ฐิยังได้ฝากเรื่องสำคัญทิ้งท้ายไว้ให้เราอีกเรื่องหนึ่งคือ

ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนแห่งมหามงคลสมัย 
ที่ปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
ในวันที่ 12 สิงหาคม ประดุจแม่ของแผ่นดิน และทางราชการได้กำหนด 
เป็น "วันแม่แห่งชาติ" องค์กรสตรีไทยทั่วประเทศได้หารือกันทั้งภาครัฐและเอกชน 
มีความประสงค์ร่วมกันกำหนดให้มีวันสตรีไทยขึ้น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สตรีไทย 
ได้มีโอกาสร่วมกัน กำหนด วันของตนเอง เป็นการผลักดันกระบวนทัศน์ 
ความคิด ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสตรีไทย และภูมิปัญญา ที่เป็นของตนเอง
ให้ผนึกกันก้าวไปในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ 
เพื่อยกระดับสถานภาพชีวิตของสตรีไทย และร่วมกันพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 
ทุกองค์กร จึงกำหนดวันสตรีไทยขึ้น 
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 
พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย

พี่ฐิได้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ที่มีต่อสตรีไทยทุกคนว่า

"ประการแรก พึงทำหน้าที่ "แม่" ให้สมบูรณ์ โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก 
และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน แม่ควรเป็นที่ยึดมั่นของลูก 
เมื่อลูกเกิดปัญหาก็ช่วยแก้ไขด้วยความเมตตา 
และสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสตรีไทยทำเช่นนี้ได้
เด็กไทยก็จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ในสังคมไทย
 
ประการที่สอง พึงทำหน้าที่ของ "แม่บ้าน" ให้ดี โดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่
เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว 
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร
 
ประการที่สาม พึง "รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย" 
ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส 
รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป
 
ประการที่สี่ พึง "ฝึกฝนตนเอง" ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน 
และอดทน มีความประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษาความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง"

พี่ฐิบอกกับเราก่อนเดินออกไปว่า

"พี่เชื่อว่าถ้าหากผู้หญิงไม่ว่าจะชาติไหนก็ตาม ถ้าได้ปฎิบัติตามพระราชกระแสรับสั่งนี้แล้ว
จะส่งผลให้ครอบครัวและประเทศชาติมีความสุข และนำพาไปสู่การพัฒนาองคาพยพอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ"
 

 


LastUpdate 10/03/2557 16:57:44 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:01 am