แม่ทัพ PR แห่ง S&P แม่ศรีแห่ง 'บ้านศิลาอ่อน'

มณีสุดา ศิลาอ่อน

"แม่ทัพ PR แห่ง S&P

แม่ศรีแห่ง “บ้านศิลาอ่อน”

 
สำนวน “เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง” สะท้อนความแข็งแกร่งของหญิงไทยมาตั้งแต่โบราณ แม้ว่าหญิงไทยคงไม่ต้องไปออกรบเหมือนเช่นอดีต แต่ปัจจุบัน นอกจากหน้าที่เลี้ยงดูฟูมฟักลูกน้อยให้เติบใหญ่เป็นคนดีของสังคม ผู้หญิงเราส่วนใหญ่ยังต้องช่วยแบ่งเบาภาระของผู้เป็นสามี ด้วยการออกไปทำงานช่วยหาเงินจุนเจือครอบครัวอีกแรง
 
ด้วยตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และลูกค้าสัมพันธ์ของ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท “มณีสุดา ศิลาอ่อน” หรือ “พี่เอ็ม” ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างมากมาย แต่ในฐานะคุณแม่ลูกสามและสะใภ้ “ศิลาอ่อน” หน้าที่ดูแลลูกๆ และสามี “คุณกำธร ศิลาอ่อน” ก็หาได้มีจุดบกพร่องแต่อย่างใด
หลายคนอาจสงสัยว่า เธอทำหน้าที่ในบทบาททั้ง 2 ด้านของเธอให้ “ไม่พร่อง” ได้อย่างไร วันนี้ คุณมณีสุดาได้นำเคล็ด (ไม่) ลับมาบอกกล่าวกับทีมงาน AC News  
 
บทบาทแม่ทัพหญิงด้านพีอาร์แห่ง S&P 
 
นับจากวันแรกที่พี่เอ็มก้าวเข้ามาดูแลงานพีอาร์ให้กับ S&P มาถึงวันนี้ นับเป็นเวลาเกือบ 6 ปี แต่จริงแล้วๆ เธอเข้ามาทำงานในบริษัทของคุณแม่สามีตั้งแต่ 8 ปีก่อน โดยช่วง 2 ปีแรก เธอเข้ามาดูแลเรื่องการเงินและการลงทุน ซึ่งเป็นสายงานที่เธอถนัดและทำมาตลอดกว่า 10 ปีของชีวิตวัยทำงานของเธอก่อนหน้าที่จะมาอยู่ที่ S&P  
 
ชีวิตทำงานของพี่เอ็มเริ่มต้นหลังจากเรียนจบเอกการเงินและการธนาคาร จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเข้าทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ “ทิสโก้” เป็นแห่งแรก คงเป็นบุพเพสันนิวาส เพราะการทำงานที่นี่ทำให้พี่เอ็มได้พบรักกับคุณกำธร จากนั้นทั้งคู่จึงไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Boston University 
 
กลับจากอเมริกา พี่เอ็มเข้าทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงเป็นแห่งแรก จากนั้นเธอก็วนเวียนทำงานอยู่ในแวดวงการเงินและการธนาคารตามที่ได้ร่ำเรียนมาโดยตลอด เป็นเวลาร่วม 10 ปี ซึ่งสถานที่ทำงานด้านการเงินแห่งสุดท้าย ที่เธอมีโอกาสร่วมงานด้วยคือ ฝ่ายตราสารหนี้ ของธนาคาร HSBC โดยย้ายไปจาก ABN Amro  
 
“ตอนอยู่แบงก์ฝรั่งก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้ทำงานเป็นระบบ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และก็ได้รู้ว่าเขาลงทุนกับคนมาก ทุกปีเขาจะให้เราไปเทรนที่เมืองนอก” พี่เอ็มเล่าว่า ประสบการณ์ในสายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องของการคิดต้นทุน การวางแผน และการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นสิ่งที่เธอได้นำมาประยุกต์ใช้กับงานพีอาร์ 
 
ด้วยตำแหน่งงานที่ต้องรับผิดชอบใน HSBC ค่อนข้างเป็นงานที่หนักและเครียด พอพี่เอ็มตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง คุณภัทรา ในฐานะคุณแม่สามี จึงขอร้องให้เธอออกลาออกจาก HSBC และมาทำงานด้านการเงินที่ S&P ซึ่งลักษณะงานไม่หนักและไม่เครียดเหมือนเท่าที่เดิม  
 
 
“อยู่ S&P ช่วง 2 ปีแรก ก็ดูแลด้านการเงิน การลงทุน การเปิดร้าน การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน คือยังได้ทำงานตามที่เรียนมา จนกระทั่งพี่ที่เคยทำงานด้านพีอาร์เกษียณอายุพอดี คุณน้าก็มองว่า เราน่าจะพอทำได้ ตอนนั้นก็บอกไปว่า แต่เราไม่ได้เรียนมา ท่านถามว่ามีใจอยากทำหรือเปล่า เราก็คิดว่า น่าจะถึงเวลาเริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็เลยลองเปลี่ยนฟีลด์ดู” พี่เอ็มเล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตการทำงาน 
 
หลังจากเข้ามางานด้านพีอาร์ใหม่ พี่เอ็มยอมรับว่า เธอต้องขอคำแนะนำจากทีมพีอาร์ที่มีอยู่เดิม และอาศัยลูกทีมเหล่านี้เป็นผู้ฝึกสอนงานไปในตัว นอกจากนี้ เธอยังไปเข้าคอร์สอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับงานพีอาร์อีกหลายคอร์ส เพียงเพื่อจะเรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วงานพีอาร์นั้นต้องทำอะไรบ้าง 
 
“จริงๆ แล้ว พี่ว่า งานพีอาร์มันต้องใช้จิตวิญญาณด้วย ต้องอาศัยความจริงใจด้วย และที่สำคัญคือ ต้องชอบและรักงานตรงนี้ด้วย ถึงจะทำให้เราสามารถทำงานนี้ได้ดีและอยู่ตรงนี้ได้นาน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันจะช่วยให้เราผ่านพ้นทุกสถานการณ์มาได้ด้วยดี” พี่เอ็มเล่าเคล็ดลับในสายงานพีอาร์ที่เธอเรียนรู้มา 5 ปีกว่า
 
ขอบข่ายงานพีอาร์ที่พี่เอ็มต้องดูแล ประกอบด้วยงานประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย ทั้งข่าวสารความเคลื่อนไหวและกิจกรรมขององค์กร ตลอดจนข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภาพลักษณ์องค์กร และงานด้านลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงการดูแลระบบสมาชิกทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูลจากระบบสมาชิกของ S&P Joy Card พบว่า S&P มีสมาชิกมากกว่า 2 แสนราย นั่นคือจำนวนลูกค้าที่เธอต้องหมั่นจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์อันดีกับพวกเขาเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ
 
นอกจากนี้ ยังมีอีกงานที่สำคัญมากสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน คือ งานด้านกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดย S&P มีโครงการเพื่อสังคมหลากหลายโครงการ อาทิ S&P Kitchen for Kids โครงการปรับปรุงสุขลักษณะในห้องครัวและสร้างแหล่งวัตถุดิบให้กับโรงเรียนด้อยโอกาส ซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ในต่างจังหวัด โดยจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ปีละ 2 โรงเรียน และโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น
 
 
“ช่วงแรกที่มารับงานพีอาร์ เราก็ต้องขอคำแนะนำจากทีมพีอาร์ที่มีอยู่เดิม และก็มีไปเทคคอร์สด้วย เพื่อจะได้รู้ว่างานพีอาร์ต้องทำอะไรบ้าง แต่จริงๆ พี่ว่า มันต้องใช้จิตวิญญาณด้วย ถ้าเราชอบและรักงานตรงนี้ ก็น่าจะทำงานนี้ได้ ซึ่งนี่ก็ทำให้เราผ่านพ้นทุกสถานการณ์มาได้ด้วยดี” 
 
สำหรับสถานการณ์ที่ถือว่าเป็นกรณีที่หนักหนาสำหรับงานพีอาร์ พี่เอ็มยกตัวอย่างกรณีที่ลูกค้าทานอาหารแล้วเกิดอาการแพ้อาหาร และกรณีที่ลูกค้าแจ้งว่าพบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความผิดของใคร และไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สิ่งแรกที่พีอาร์ต้องทำคือ การให้เกียรติลูกค้า และหลังจากนั้นก็ต้องรีบจัดการให้เรื่องดังกล่าวจบลงด้วยความรู้สึกที่ดีของลูกค้าเสมอ
 
ปัจจุบัน พี่เอ็มมีความรับผิดชอบใหม่ล่าสุดที่เพิ่มเข้ามา คือ งานพีอาร์ทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) และสื่อออนไลน์ อันเป็นความจำเป็นที่พีอาร์สาววัย 40 ปีเช่นเธอ จำต้องเรียนรู้ ปรับตัว และปรับกลยุทธ์ ให้ทันกับกระแสสังคมในโลกออนไลน์ และเพราะตระหนักดีว่าข่าวร้ายในโลกออนไลน์นั้นรุนแรงและลุกลามรวดเร็วเพียงไร เธอจึงจัดตั้งทีมสำหรับติดตามคำติชมของทางสื่อออนไลน์ขึ้นโดยเฉพาะ 
 
“แม้จะไม่ถนัดด้านสังคมออนไลน์ แต่ด้วยความที่สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในกระแส เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ก็ต้องบอกตัวเองว่า เราต้องเริ่มก้าวแรก ทุกคนต้องมีวันเริ่มต้น ถ้าเราไม่เริ่มเรียนรู้เสียแต่วันนี้ ก็จะไม่มีวันข้างหน้า”  นี่คือคำพูดที่พี่เอ็มใช้กระตุ้นตัวเองให้เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ในวัยที่ขึ้นต้นเข้าสู่หลัก 4 ไปแล้ว 
 
เมื่อเทียบกับงานสายการเงิน พี่เอ็มมองว่า งานพีอาร์ดูมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่ก็เป็นงานที่หยุดนิ่งไม่ได้ พีอาร์ต้องตื่นตัวและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่บริษัทจะได้วิ่งนำคู่แข่งอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าต้องทำงานทุกวันวันละ 24 ชั่วโมง 
 
สำหรับ กุญแจแห่งความสำเร็จของงานพีอาร์ พี่เอ็มเชื่อว่า หัวใจอยู่ที่ทีมงานที่มีความพร้อมสำหรับการทำงานในทุกโหมดในแต่ละวัน เนื่องจากงานพีอาร์เป็นงานที่มีความหลากหลายมากในทุกๆ วัน  ปัจจุบัน ทีมงานของพี่เอ็มมีไม่ถึง 10 คน ประกอบด้วย ลูกทีมที่ดูแลงานด้านพีอาร์ 3 คน ด้าน CRM 5 คน และด้านสื่อออนไลน์อีก 1 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดกิจการทั้งหมดของ S&P คงต้องยอมรับว่าเป็นนี่เป็นทีมงาน “เล็กพริกขี้หนู” มากๆ
 
“พูดจริงๆ เหนื่อยนะ เพราะเราวิ่งกันทุกวัน พอมีร้านเปิดใหม่ก็ต้องทำพีอาร์ ต้องบอกว่าตรงนี้ทำไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ก็บอกน้องว่าตรงนี้เราจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพราะพี่เชื่อว่าโอกาสที่เราจะได้ทำงานหลากหลายอย่างนี้ มันถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต” 
 
พี่เอ็มยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเสน่ห์สำคัญของงานพีอาร์ คือ ความสุขที่ได้จากการทำงาน เพราะนอกจากเนื้องานจะเปิดโอกาสให้ได้ทำกิจกรรมสนุกๆ แล้ว งานพีอาร์ยังเปิดโอกาสให้เธอได้ทำบุญในรูปแบบของการกระทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ต่างๆ  
 
“เหตุการณ์ที่ประทับใจมาก คือ S&P ร่วมกับมูลนิธิสถาบันมะเร็ง เราจะมอบเค้กให้กับผู้ป่วยที่มีวันเกิดที่อยู่ที่นั่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยยากไร้ และอยู่ในระยะสุดท้าย บางคนเกิดมาทั้งชีวิต ไม่เคยทานเค้กเลย นี่จึงเป็นเค้กวันเกิดก้อนแรกและอาจเป็นก้อนสุดท้ายของหลายคน บางคนได้เค้กก็ร้องไห้ พยาบาลก็ร้องไห้ด้วย เราก็เลยเข้าใจว่า จริงๆ มันไม่ใช่แค่เค้ก แต่มันเหมือนเราให้ความสำคัญเขา เพราะคนเหล่านี้หลายคน เขาไม่มีใครจริงๆ” พี่เอ็มเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
 
ยังมีอีกเหตุการณ์ที่พี่เอ็มจำได้ดีที่มูลนิธิคนตาบอด เนื่องจากทุกปีใหม่ S&P จะนำเค้กไปมอบให้กับน้องๆ ที่ตาบอดในมูลนิธิ ภาพที่ทำให้เธอต้องร้องไห้ทุกครั้ง คือภาพที่น้องๆ เหล่านั้นพยายามสูดดมกลิ่นของเค้ก พร้อมกับร้องเพลงประสานเสียงเพื่อขอบคุณพวกเธอและบริษัท
 
“มันเป็นความตื้นตันทุกครั้งที่เราได้ไปเจอคนที่ลำบากกว่าเรา แล้วได้ทำอะไรให้พวกเขา นั่นคือส่วนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดีจังที่ได้มาทำงานตรงนี้” พี่เอ็มกล่าวพร้อมกับสรุปว่า ณ วันนี้ เธอยังสนุกและมีความสุขกับตรงนี้อยู่ จึงยังไม่คิดจะเปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่น
 
บทบาทศรีสะใภ้แห่งครอบครัวศิลาอ่อน
 
 
คุณมณีสุดาและคุณกำธรมีลูกด้วยกัน 3 คน โดยลูกสาวคนโตอายุ 11 ปี ลูกชายคนกลางอายุ 9 ปี และลูกสาวคนสุดท้องอายุ 7 ปี   
นอกจากที่พี่เอ็มจะยกวันเสาร์และวันอาทิตย์ให้เป็นวันของครอบครัว ช่วงบ่ายของทุกวันทำงาน เธอจะมีหน้าที่ไปรับลูกจากโรงเรียน จากนั้นก็อยู่อ่านหนังสือและทำการบ้านกับลูก ยกเว้นกรณีที่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด หน้าที่เหล่านี้จึงตกเป็นของผู้เป็นพ่อ แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็จะคอยโทรสอบถามเรื่องเรียนกับลูกๆ ทุกครั้ง
 
พี่เอ็มเล่าถึงข้อดีของการไปรับลูกเอง คือ การได้พบปะกับอาจารย์และผู้ปกครองท่านอื่น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เธอได้สอบถามเรื่องการเรียนของลูกกับคุณครู และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการเลี้ยงกับผู้ปกครองของเด็กคนอื่น แต่สิ่งที่เธอเห็นว่าสำคัญที่สุดคือ ความรู้สึกของลูกเวลาที่ได้เห็นคุณแม่มารับด้วยตัวเอง
 
นอกจากนี้ พี่เอ็มยังมักหาเวลาปลีกตัวไปร่วมโครงการ “คุณแม่อาสา” เพื่อเข้าไปสอนในสิ่งที่คุณแม่แต่ละคนถนัด ให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียนของลูก โดยที่ผ่านมา เธอเคยไปสอนทำอาหารและไปช่วยสอนอ่านหนังสือภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาแตร์เดอี ซึ่งลูกสาวทั้ง 2 คนเรียนอยู่ 
 
ส่วนข้อดีของการกลับมาอ่านหนังสือกับลูก คือการที่คุณแม่จะได้รู้ว่าลูกเรียนอะไรบ้าง และยังเป็นโอกาสที่คุณแม่จะได้สอนลูก สำหรับลูกเล็กๆ บ่อยครั้งที่พี่เอ็มสละเวลาก่อนนอนทำโน้ตย่อให้ลูกๆ ได้ทบทวนบทเรียนอีกด้วย 
 
สำหรับวันเสาร์และวันอาทิตย์ ครอบครัวของพี่เอ็มจะมีกิจกรรมร่วมกันในหลายรูปแบบ เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ดูหนัง ทำงานประดิษฐ์ศิลปะ ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การทำอาหารให้ลูกทานด้วยตัวเอง และเมื่อไรที่มีโอกาส เธอก็จะพยายามพาลูกๆ ไปต่างจังหวัด เพื่อให้ลูกๆ ได้เจอกับสิ่งใหม่ๆ และได้รับอากาศดีๆ 
 
ด้วยความที่เป็นคุณแม่ขี้กังวล พี่เอ็มมักดูแลลูกๆ ในทุกเรื่อง แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ใช่คุณแม่ที่คอยประคบประหงมลูกๆ บวกกับความเป็นคุณแม่เจ้าระเบียบตัวยง เธอจึงตั้งกฎกติกากับลูกๆ โดยประยุกต์มาจากโปรแกรมสะสมแต้มของบัตร S&P Joy Card 
 
“กติกาของบ้านเราคือ ถ้าลูกคนไหนทำดีก็จะได้ดาวเพิ่ม พอสะสมดาวได้ตามที่กำหนดก็สามารถไปเลือกของที่ชอบได้ เช่น ดาว 3 ดวงอาจจะได้เท่ากับเงิน 100 บาท คือจริงๆ เราแค่อยากให้เขารู้ว่าทุกอย่างไม่ได้มาง่ายๆ ไม่อยากให้เขาซื้อของเล่นพร่ำเพรื่อ” พี่เอ็มเล่าด้วยรอยยิ้ม 
 
นอกจากกุศโลบายดังกล่าว ยังมีอีกเรื่องที่พี่เอ็มให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมักจะพูดกับลูกทั้ง 3 คน เป็นประจำ คือเรื่องการเรียน  
“สิ่งที่พี่พูดกับเขาคือ หนูต้องเรียน เพราะแม่เชื่อว่าความรู้คือสิ่งที่ติดตัวหนูไปจนตาย แต่ถ้าไม่เรียน ไม่ฉลาด ไม่ทันคน วันนึงเงินที่มีอยู่ก็อาจจะมีคนมาหลอกเอาไปจนหมดก็ได้ แม่ขอ ณ วันนี้ หนูมีเวลาไม่กี่ปีที่ต้องตั้งใจเรียน ขอให้เต็มที่ ทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด แล้วโตขึ้นหนูจะเป็นอะไรก็เป็นได้”
 
นอกจากนี้ สำหรับลูกแต่ละคน ก็มีเรื่องที่ต้องคอยพร่ำสอนแตกต่างกันไป พี่เอ็มยกตัวอย่าง ลูกสาวคนโตที่เป็นเด็กเรียนดี แต่ไม่ชอบทำกิจกรรม เธอบอกลูกว่า “คนเรียนเก่งไม่ใช่คนทำงานเก่งเสมอไป อย่างเวลาที่แม่เลือกพี่ที่จะมาทำงานกับแม่ เลือกพี่ที่เขาเก่งวิชาการได้ แต่เรื่องกิจกรรมอื่นก็ต้องสมบูรณ์ด้วย ดังนั้น ถึงหนูจะอาย แต่หนูก็ต้องทำ จะเลือกไปเล่นกีฬาหรือเข้าวงดุริยางค์ก็ได้”
 
มาถึงวันนี้ พี่เอ็มได้ยินข่าวดีจากลูกสาวคนโต แล้วเธอเลือกแล้วว่า จะเข้าวงดุริยางค์ และจำเป็นต้องเข้าซ้อมอาทิตย์ละ 3 วันหลังเลิกเรียน แม้ว่าการตัดสินใจของลูกจะทำให้เธอจัดการเวลาในการไปรับลูกทั้ง 3 คน ยากขึ้น แต่เธอก็มีความสุขบนความลำบากครั้งนี้   
 
พี่เอ็มเล่าว่า สำหรับครอบครัวของเธอ การที่เธอได้เปลี่ยนมาทำงานในสายพีอาร์ นับเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะบ่อยครั้งที่เธอได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ด้อยโอกาสที่เธอได้พบเจอให้ลูกฟัง และหลายๆ ครั้งที่ลูกของเธอได้มีโอกาสไปเรียนรู้และทำสิ่งดีๆ ให้กับผู้ด้อยโอกาสด้วยตัวเองผ่านกิจกรรม CSR ของบริษัท 
 
“เราก็จะเอาประสบการณ์ขณะนั้นบอกลูกๆ ว่า ณ วันนี้ลูกโตมามีโอกาสดีกว่าคนอื่นในหลายๆ เรื่อง เวลาหนูไปต่างจังหวัด เห็นไหมว่ามีเด็กบางคนอยากเรียนก็ไม่ได้เรียน แม้แต่อาหารพวกเขาก็เลือกทานไม่ได้ บางคนไม่มีอาหารทานเหลือเฟืออย่างเรา เราก็อาศัยโอกาสนี้สอนให้เขาตักอาหารแต่พอดี บางทีไปจัดกิจกรรมกับคนพิการ เราก็จะบอกลูกว่า หนูเกิดมาครบอาการ 32 ฉะนั้นหนูก็ต้องทำดี ต้องมีทาน ศีล ภาวนา ต้องทำสามอย่างให้ครบ” 
 
เรื่องเหล่านี้ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่เชื่อว่า เด็กๆ จะเข้าใจ แต่พี่เอ็มยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่พร่ำสอนทั้งที่ไม่คิดว่าเด็กจะเชื่อหรือจะเข้าใจเหล่านั้น จะซึมซับอยู่ในหัวใจและความคิดอันบริสุทธิ์ของเด็กๆ  
 
 
“เหตุการณ์ที่ประทับใจมาก คือ ปกติ เราจะพาลูกขึ้นรถไฟฟ้าก็จะเห็นขอทานนั่งอยู่ แล้วเผอิญวันนั้นรีบมาก อยู่ๆ ลูกก็เรียกแม่ๆ ขอเงินหน่อย เพราะเขาจะให้คุณยายขอทาน ถึงจะรีบแต่ลูกจะทำความดีเราก็ต้องให้ แล้วก็ให้ลูกทุกคน ทุกคนก็ให้เงินขอทาน เสร็จลูกคนกลางก็บอกว่า “ขอให้คุณยายมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนนะครับ” พอได้ฟังอย่างนี้เราก็อึ้งเลย มันกินใจมาก มันเหมือนว่าสิ่งที่เราสอน เขาจำได้และเขาก็ทำ”  
 
แม้งานจะเหนื่อยและยุ่งเพียงไร พี่เอ็มยอมรับว่า ทุกวันนี้ เธอให้ความสำคัญกับครอบครัวในสัดส่วนที่ไม่แพ้กัน และพยายามจะหาเวลาให้กับครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ ให้มากที่สุด เพราะเธอเชื่อว่า ลูกจะอยู่และสนิทกับพ่อแม่ได้แค่ช่วงหนึ่งของชีวิต พอเริ่มเป็นวัยรุ่น พวกเขาจะไม่สนิทกับพ่อแม่อีกแล้ว และที่สำคัญคือ ช่วงแรกของชีวิตสำคัญต่อลูกมาก เพราะหมายถึงพัฒนาการทั้งทางปัญญา อารมณ์ และทางสังคม 
 
ทั้งนี้ พี่เอ็มมีปรัชญาง่ายๆ ในการทำหน้าที่ทั้ง 2 บทบาทให้สมบูรณ์ ได้แก่ “พยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุด” โดยเธอมองว่า เพราะเมื่อ “วันนี้” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว มันก็คือ “อดีต” และอดีตคือสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว แต่หากได้ทำวันนี้ให้ดีที่สุดแล้ว “อนาคต” ที่รออยู่ก็จะดีไปเอง
 
“พี่เชื่อว่า เราเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง ถ้าเรามีโอกาสทำให้ลูก หรือมีโอกาสทำให้คนอื่น เราก็ควรทำให้ดีที่สุด และเมื่อเราเชื่อว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว มันคงดีกว่านี้ไม่ได้ อะไรที่เกิดหลังจากนั้นเราก็ปล่อยวางได้แล้ว เพราะถือว่าเราได้พยายามทำเต็มศักยภาพของเราแล้ว”  
 
พี่เอ็มยอมรับว่า เท่าที่ผ่านมา ยังมีสิ่งเดียวที่เธอยังไม่ได้ทำให้ดีที่สุด นั่นคือ การดูแลสุขภาพของตัวเอง วันนี้ เธอบกพร่องในเรื่องของการจัดสรรเวลาสำหรับการออกกำลังและการพักผ่อนของสำหรับตัวเอง  
 
“ถ้าเลือกได้ ก็จะเปลี่ยนตัวเอง ให้เวลาดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะถ้าวันนึง เราป่วยแล้วเป็นอะไรไป ใครจะเลี้ยงลูก วันนี้เราก็เลยคิดว่า ต้องบาลานซ์ทั้ง 3 ส่วนในชีวิต คือ งาน ครอบครัว และสุขภาพตัวเอง” พี่เอ็มกล่าว พร้อมกับบอกว่า ในส่วนของการดูแลตัวเอง เธออยู่ในช่วงเริ่มต้น 
 
พี่เอ็มบอกว่า จากนี้ เธอจะพยายามทำหน้าที่ดูแลตัวเองให้ “ไม่พร่อง” เพื่อที่ชีวิตทั้ง 3 ด้านของเธอจะสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับ “ไอดอล” ของผู้หญิงแกร่งของเธอ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ คุณแม่สามี “คุณภัทรา ศิลาอ่อน” นั่นเอง

 


LastUpdate 15/08/2555 16:44:59 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:08 am