ทนายความหญิงแกร่ง แห่ง ILCT
มัลลิกา มาร์การิต้า
ทนายความหญิงแกร่ง แห่ง ILCT 
 

มีคำกล่าวไว้ว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนา วิชาชีพแพทย์จะเป็นที่ต้องการถูกเรียกหามากที่สุด ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาวิศวกรจะเป็นกลุ่มคนที่สังคมต้องการ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ กระทั่งเมื่อประเทศเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปจนถึงระดับหนึ่ง ทนายความจะกลายเป็นวิชาชีพที่น่าจับตามองและผู้คนเริ่มมองหาเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนเอง เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่โลกธุรกิจเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก หลากบริษัทหลายผู้คนเริ่มหันมาทำการค้าข้ามประเทศกันมากขึ้น ทนายความที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายธุรกิจก็ยิ่งทวีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

สืบเนื่องจากวิชาชีพทนายความถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมในการรักษาความเป็นธรรม ตลอดจนเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมรักษากฎหมาย

ตามความเชื่อของคนจีนโบราณ อาชีพทนายถือเป็น 1 ในอาชีพ 9 ประเภทที่คนจีนโบราณถือว่าต้องอาถรรพ์ โดยเชื่อกันว่า หากใครประกอบอาชีพเหล่านี้ก็จะพบเจอกับอาถรรพ์ต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้สมองอย่างหนัก และเป็นอาชีพที่อาจทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

อย่างไรก็ดี นายมารุต บุนนาค ทนายความผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศไทยที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ทนายความเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพอันมีเกียรติ”

วันนี้ “AC News” ขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจของวิชาชีพทนายความ ผ่านมุมมองของทนายความหญิงแกร่งคนเก่ง ผู้คร่ำหวอดในวงการทนายความมานานกว่า 17 ปี คุณมัลลิกา มาร์การิต้า ทนายความหุ้นส่วน (Partner) แห่ง บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด (International Legal Counselors Thailand Ltd.) หรือที่เป็นที่รู้จักกัน
ในนาม ILCT
 

ILCT ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 46 ปี โดยผู้เริ่มก่อตั้งท่านแรกเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งเริ่มจัดตั้งบริษัทตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในครั้งนั้นเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ธุรกิจของต่างชาติที่ต้องการจะเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยใช้ประเทศไทยเป็นสำนักงาน

สำหรับงานของคุณมัลลิกาจะเป็นลักษณะของงานให้คำปรึกษาแนะนำให้แก่บริษัทลูกความ ซึ่งมีทั้งสิ้นเกือบ 200 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย  โดยหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของเธอ คือ การให้คำแนะนำและคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งองค์กรที่เหมาะสมต่อลักษณะธุรกิจของลูกค้าไปจนถึงการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้านั้นดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นไปอย่างถูกต้องภายใต้กฎหมายของประเทศไทย รวมตลอดถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของธุรกิจนั้นๆ

ลูกความของ ILCT เรียกได้ว่า มีอยู่แทบทุกประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่ดูแลโดยตรงคือ กลุ่มธุรกิจประเภทโรงงาน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น

“ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าจะมีทั้งที่เป็น Developer ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมทุนกับนักลงทุนชาวต่างชาติทำโครงการห้องชุดและ villa ตากอากาศ  ส่วนลูกความที่เป็น Buyer จะเป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาซื้อห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม งานพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นงานที่ท้าทาย เนื่องจากต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนในทุกๆ ด้าน ประกอบกับประสบการณ์ของตนที่ได้ได้เรียนรู้จาก “นาย” ที่ “เก่ง” ในงานด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก คือ นายเนติพงษ์ วิจิตรเวชการ (ปัจจุบันได้ออกไปตั้งสำนักงานเอง)
 

“หน้าที่เราคือ เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้ลูกความทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เนื่องจากชาวต่างชาติจะถูกจำกัดสิทธิในด้านต่างๆ หลายประการ  ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องหาวิธีให้เขาสามารถลงทุนในประเทศได้ตามกฎหมาย ซึ่งบางครั้งมีทั้งกฎหมายหลักและกฎหมายพิเศษเข้ามาใช้บังคับ เราก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ

ทนายความหญิงยังเล่าว่า ความผิดพลาดจากคำแนะนำที่ให้ลูกความในบางโครงการอาจหมายถึงมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท ฉะนั้นความยากของวิชาชีพนี้จึงอยู่ที่ความรับผิดชอบที่สูงมาก แม้ว่าบริษัทกฎหมายแทบทุกแห่งจะมีการทำประกันความผิดพลาดทางวิชาชีพของทนายความ (Professional Liability) เอาไว้แล้วก็ตาม

“ความผิดพลาดบางอย่างก็อาจจะไม่ได้มาจากเรา แต่เป็นนโยบายภาครัฐหรือกฎหมายที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน หรือกรณีเอกสารปลอม เช่น โฉนด  กรณีเช่นนี้ นอกจากเราจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว บางทีเราก็ต้องระบุเงื่อนไขเป็นหมายเหตุสงวนไว้ด้วย ทุกครั้งที่มีการให้ Legal Opinion กับลูกความ”

กล่าวได้ว่า เส้นทางวิชาชีพทนายความของคุณมัลลิกา เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในวัยเพียง 17 ปี ด้วยเหตุที่เธอพลาดหวังจากคณะนิเทศศาสตร์ที่เลือกไว้ในอันดับ 1 มาสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะที่เลือกไว้เป็นอันดับ 2 นั้นคือ คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ก้าวแรกอาจเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจนัก แต่เธอคิดได้ว่า ในเมื่อต้องศึกษาทางด้านนี้ไปจนจบปริญญาตรี เธอก็ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพียงไม่นานจากที่เคยต้องใช้ความพยายามเพื่อทำตัวเองให้รักในวิชาชีพกฎหมายเริ่มเปลี่ยนเป็นความสนุกกับวิชาที่ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีสุดท้ายของการศึกษาของเธอ
 

ด้วยความชอบทางด้านกฎหมายธุรกิจเป็นพิเศษ ในปีที่ 4 ของระดับปริญญาตรี คุณมัลลิกาจึงเลือกเรียกสาขานี้ และหลังจากศึกษาจบปริญญาตรีในปี 2533 เธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทสาขา International Legal Studies ณ Washington College of Law; the American University

“ถามว่าเอามาใช้ได้ไหม กฎหมายของไทยกับที่อเมริกาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราเอามาปรับใช้ได้คือ วิธีปฏิบัติ การตีความ วัฒนธรรมในการทำงานหรือการสื่อสาร เทคนิคการเจรจา และที่อเมริกาจะมีกรณีศึกษาหรือ case study ให้เรียนรู้มาก  นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้แนวการศึกษาและวิธีปฏิบัติของนักเรียนชาติอื่น และที่สำคัญ ยังได้ภาษาอังกฤษในภาษากฎหมายมาใช้”

อาชีพทนายความในประเทศอเมริกาถือว่าเป็นวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูง ขณะที่การเข้าศึกษา Law School ถือเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนสูงและมีการแข่งขันกันอย่างมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับเรียกได้ว่า 
“ยิ่งกว่าคุ้มค่า” เพราะทนายเก่งๆ ในอเมริกานั้นเงินเดือนสูงลิบลิ่ว

“ทนายอเมริกันที่ประสบความสำเร็จจะคิดว่า ทำงานหนักไปก่อน 10ปี แล้วพออายุ 35 ปีค่อยแต่งงานมีครอบครัว มีลูก เพราะตอนนั้นจะเริ่มได้ตำแหน่ง “ทนายความหุ้นส่วน” ได้เงินเดือนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทุกวันนี้ พี่ว่า “ทนายคนไทยก็เริ่มเป็นอย่างนั้นแล้ว คือทำงานไประยะหนึ่งจนประสบความสำเร็จ มีตำแหน่งและเงินเดือนที่พอใจแล้วค่อยคิดเรื่องมีครอบครัว”

หลังจากเรียนจบปริญญาโทกลับมาเมืองไทย คุณมัลลิกาเริ่มต้นวิชาชีพทนายความครั้งแรกใน บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด (ILCT)  โดยเริ่มจากการทำหน้าที่ช่วยทนายรุ่นพี่ในการศึกษาค้นคว้า และเตรียมข้อมูลเป็นระยะเวลาหลายปีจนค่อยๆ เลื่อนระดับมาเป็นทนายความระดับอาวุโสที่ให้คำปรึกษาลูกความ คอยตรวจงานรุ่นน้องและเริ่มหาลูกค้าเอง

นับตั้งแต่เข้ามาทำงานวันแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2538 จวบจนทุกวันนี้ เป็นเวลานานถึง 17 ปี ในบริษัท ILCT และในวิชาชีพทนายความ

ทนายความหญิงเก่งได้ให้มุมมองต่อถนนสายวิชาชีพทนายความเส้นนี้ว่า ทุกวันนี้ ทนายที่เก่งแต่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไปได้บนถนนสายนี้ แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังอีกหนึ่งคุณสมบัติที่จำเป็น คือ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและความสามารถในการหาลูกความและรักษาฐานลูกความ

สำหรับคุณมัลลิกา นอกจากอาศัยพลัง “ปากต่อปาก” ของลูกความ ด้วยความเป็นลูกครึ่งไทย-อิตาเลี่ยน สามารถสื่อสารภาษาอิตาเลี่ยนได้จึงมีลูกความและเพื่อนชาวอิตาเลี่ยนแนะนำลูกความมาให้เธอดูแลเป็นจำนวนมาก

คุณมัลลิกายอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจที่ปรึกษาทางกฎหมายมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก เพราะนอกจากจะมีบริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากทนายความคนไทยที่ออกไปเปิดบริษัทเองแล้ว ยังมีแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาเปิดบริษัทกฎหมายในประเทศไทยและว่าจ้างทนายคนไทยเข้าไปทำงานก็มากขึ้น

ส่วนวิธีการคิดค่าวิชาชีพของ ILCT จะเป็นแบบระบบ Time Sheet ซึ่งค่าบริการให้คำปรึกษาจะถูกคิดตามอัตราชั่วโมงของทนายความแต่ละท่านคูณกับอัตรา “ค่าตัว” ของทนายท่านนั้นๆ  สำหรับทนายจบใหม่ ค่าชั่วโมงทำงานเริ่มต้นที่ 800 – 4,000 บาท/ชั่วโมง ไปจนถึงสูงสุดที่ 15,000 บาท/ชั่วโมง สำหรับทนายความหุ้นส่วนระดับอาวุโส

ทั้งนี้ เข็มชั่วโมงทำงานของทนายที่ปรึกษาจะถูกจับเวลาทันที นับตั้งแต่ทนายคนนั้นเริ่มต้นเดินทางออกจากออฟฟิศเพื่อไปประชุมกับลูกความหรือไปว่าความ รวมถึงเริ่มให้คำปรึกษาไม่ว่าจะแบบตัวต่อตัวหรือทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่ผ่านทางโปรแกรมสนทนาต่างๆ
 

“การทำงานกับลูกความที่อยู่ต่างประเทศเวลาต่างกัน เวลากลางคืนของเราคือเวลาทำงานของเขา บางครั้งเราต้องทำงานในเวลากลางคืน  ดังนั้น ถ้าดึกแล้วก็ยังต้องรับโทรศัพท์ เช็คอีเมล์ เพราะถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราต้องตอบกลับลูกค้าโดยเร็วโดยไม่ชักช้า”

สำหรับสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในวิชาชีพของคุณมัลลิกาเธอบอกว่า คือการที่ตนได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากลูกความ ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกความดำเนินไปได้อย่างราบรื่นภายใต้ร่มเงาของกฎหมายไทย

นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งที่ทำให้ทนายสาวคนนี้ภูมิใจในอาชีพนี้อย่างมากนั่นคือ การได้เข้าทำงานที่บริษัท ILCT แห่งนี้และได้ร่วมงานกับ “นายใหญ่” หรือศาสตราจารย์ไชยวัฒน์ บุนนาค ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเธอตลอดมา โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์ การได้รับการยอมรับนับถือในสังคมในฐานะที่ท่านเป็นนักกฎหมายที่เก่งที่สุดของประเทศไทยคนหนึ่ง

“นอกจากงานประจำที่ ILCT แล้วพี่มีร้านอาหารที่เปิดอยู่ที่บ้านชื่อ “Pasta 54” ในซอยทองหล่อ 25 พร้อมกับลงมือทำอาหารและคิดค้นเมนูใหม่ๆ ด้วยตัวเอง บางครั้งเวลาเลิกงานก็กลับไปเข้าครัวทำอาหารถ้าวันไหนมีเพื่อนๆ มาทานอาหารที่ร้าน เป็นคนชอบทำอาหารประเภทพาสต้าทุกชนิด และได้เรียนรู้สูตรจากคุณอาเวลาไปเยี่ยมท่านที่อิตาลีทุกปี”

“ร้านอาหารกับงานทนาย จริงๆ แล้วมันคนละเรื่องกันเลย ใช้ความคิดคนละอย่าง การเข้าครัวทำให้สนุก มันรู้สึกได้ปลดปล่อย แต่งานกฎหมายนั้นเครียดและต้องรับผิดชอบสูงมาก ต้องใช้สมองตลอดเวลา”

จากก้าวแรกบนเส้นทางสายวิชาชีพทนายความ ที่แม้จะเกิดขึ้นอย่างไม่ได้จงใจนัก แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากจากการทำหน้าที่ของการเป็นทนายความที่ปรึกษาตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ คุณมัลลิกากล่าวยืนยันด้วยความภาคภูมิใจว่า ตลอดเวลา 17 ปีที่โลดแล่นบนถนนสายอาชีพนี้ เธอไม่เคยรู้สึกเสียใจเลยสักครั้งที่เลือกเรียนทางด้านนิติศาสตร์ และเลือกทำงานในวิชาชีพอันทรงเกียรติอย่าง “ทนายความ”

LastUpdate 26/10/2555 03:30:18 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:08 am