ลมหายใจที่เปี่ยมพลัง กับพลังชีวิตที่สมดุล วิลัสณา พูนพัฒน์พิบูลย์ ผู้ทำบิสซิเนส แพลน ให้กับบริษัทบัตรกรุงไทย
วิลัสณา พูนพัฒน์พิบูลย์
ลมหายใจที่เปี่ยมพลัง กับพลังชีวิตที่สมดุล


ถึงแม้ว่าชีวิตของทุกคนในโลกนี้ล้วนมีความแตกต่างกัน
หากแต่ว่าในความแตกต่างนั้นก็ยังมีความเหมือน 
ความเหมือนที่ตั้งอยู่บนฐานความแตกต่างของมนุษย์เราข้อหนึ่งก็คืออุปสรรค
และแน่นอนว่าอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของเรา คือการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง 
เพราะฉะนั้นกายและใจของเรานั้น จึงต้องพร้อมเสมอสำหรับการเริ่มต้นค้นหาสิ่งใหม่ๆ
และพร้อมเสมอที่จะเดินหน้าออกไปใช้ชีวิตได้อย่างไม่กลัวว่าจะต้องเจอการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก
และสำคัญที่สุด เราต้องให้โอกาสตัวเองได้ฟังเสียงก้อนเนื้อเล็กๆของเราที่เรียกว่าหัวใจนั้นว่า....ไหวหรือเปล่า?
เพราะว่าเมื่อเราได้เจอความพลิกผันที่เกิดขึ้น 
เราเองจะต้องยอมรับและใช้ชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้

เหมือนกับคุณตาว – วิลัสณา พูนพัฒน์พิบูลย์
กรรมการผู้จัดการบริษัท วิลัสณา แอนด์ คอมพานี จำกัด
ชึ่งเป็นแขกรับเชิญของเราในวันนี้
คุณตาวบอกกับเราว่าเรื่องราวของเธอนั้นมีจุดพลิกผันอย่างน่าสนุก 
แบบที่เค้าเรียกว่า "Life with a Twist" เลยทีเดียว


เรามีนัดกับคุณตาวในเช้าวันหนึ่ง 
บนออฟฟิศบิลดิ้งสุดเก๋ในละแวกถนนสุขุมวิท
ถนนที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการประกอบธุรกิจที่ทุกคนรู้จักกันดี

คุณตาวเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า
ตัวเองเป็นลูกสาวคนเดียว 
เป็นคนสุดท้องของพี่น้องทั้งหมดสามคน
เริ่มเรียนที่โรงเรียนสาธิตฯ เกษตร แต่ทว่าข้ามฟากมาจากบางเขน
เพื่อมาเรียนต่อชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตฯ ปทุมวัน

"จากนั้นตาวก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมค่ะ" 
คุณตาวบอกกับเรา

"ทุกอย่างมีจุดพลิกผันในชีวิตค่ะ" คุณตาวบอกกับเราอย่างนั้น

 "เพราะว่าจริงๆ ตัวเองอยากเป็นหมอ ชอบเรียนวิชาชีวะฯ
   ช่วงนั้นก็มีกระแสอยู่อย่างหนึ่งคือทำไมเรียนเก่ง  แล้วต้องเป็นหมอ"

 คุณตาวบอกกับเราต่อไปว่า
"แต่ว่าตัวเองเรียนที่เตรียมฯ แค่ ม.4 แล้วสอบเทียบ ม.6 ได้
 จากนั้นก็สอบติดที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง"

"สอบติดคณะอะไรคะ" เราถาม
 "ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวะคอมพิวเตอร์ค่ะ
  เนื่องจากสอบได้ตั้งแต่ ม.4 ทำให้เป็นน้องเล็กสุดในคณะฯ"  คุณตาวบอกกับเรา

"จริงๆ แล้วตอนแรกคิดว่าจะเรียนหมอนะคะ
 ปีหน้าจะเอ็นใหม่อีกที แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ แล้วก็ชอบ 
 เลยเรียนจนจบ ไม่ไปไหน
 ตอนนั้นคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้าตัวเองเรียนไปถึง ม.5 คงสอบเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์แน่ๆ"


เมื่อคุณตาวจบมาแล้ว
ก็เริ่มทำงานที่บริษัท ไอบีเอ็ม ในตำแหน่งผู้ดูแลระบบหรือSystem Engineer
แต่พอทำงานได้สองปี ก็ได้ทุนฟูลไบรท์ไปเรียนต่อในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา

ฟูลไบรท์เป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา
ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย 
โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติผู้ที่รับทุนฟูลไบรท์จะทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรม
เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างสองประเทศ อันเป็นเป้าหมายหลักของโครงการฟูลไบรท์อีกด้วย

คุณตาวบอกกับเราว่า
"สิ่งที่ทำให้ฟูลไบรท์โดดเด่นกว่าโครงการแลกเปลี่ยนอีกหลายโครงการ
คือเป็นทุนที่ไม่มีพันธะผูกพันและผู้ที่รับทุนฟูลไบรท์จะเป็นที่ยอมรับของแวดวงต่างๆ ทั่วโลก
โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสรู้จักกับชาวฟูลไบรท์อื่นๆ ทั่วโลก
เพราะจะมีการประชุมและชุมนุมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ

ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้รับทุนมีโอกาสเดินทางไปร่วมกิจกรรมในรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาแล้ว
ยังทำให้เครือข่ายของผู้รับทุนฟูลไบรท์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศเดียว และทุนประเภทเดียวนั่นเอง"

คุณตาวเรียนอยู่ที่นั่นสองปี
ในสาขา Engineering และ Engineering Management

"เพราะว่าที่นี่เรียนปริญญาโท ปีเดียวไงคะ
 ตาวเลยได้เรียนสองสาขา
 เพราะว่าตั้งใจจะไปเรียนต่อสาขาวิศวฯอย่างเดียว"   คุณตาวบอกกับเราด้วยสายตามุ่งมั่น

"ตาวชอบสแตนฟอร์ด เพราะว่าบรรยากาศมันเอื้ออำนวยต่อการเรียนมาก 
 เราเรียนแบบไม่ได้เรียน ส่วนใหญ่คือนั่งเถียงกันในห้อง
 เอาองค์ความรู้ของแต่ละคนมาแชร์กันมากกว่าที่จะมานั่งจดเลคเชอร์กันในห้อง ชึ่งสนุกมากค่ะ" 

คุณตาวเล่าต่อไปอีกว่า

"ตาวเรียนเรื่องเน็ตเวิร์ก เพราะว่าสนใจ 
เริ่มจากตอนทำซีเนียร์โปรเจ็ค ก็ทำเรื่องนี้ 
แล้วตอนเรียนเค้าก็ให้เขียนในใบสมัครว่าเราอยากเรียนอะไร
ตาวก็เขียนลงไปว่าอยากเรียนเน็ตเวิร์ก"

 พอพูดมาถึงตรงนี้คุณตาวได้เปรียบเทียบให้เราฟังไว้อย่างน่าสนใจว่า

"อย่างที่ไทย เค้าเรียนแค่เอาซอฟท์แวร์มาอิมพลีเมนท์ 
  คือเอามาทำให้เกิดประโยชน์ในงานเท่านั้น
  แต่ที่นั่นเค้าจะเริ่มตั้งแต่วิธีคิด ชึ่งมันเริ่มต้นจากแก่นของความคิดที่บริสุทธิ์จริงๆ
  รวมถึงการเอา Device ต่างๆ มาประกอบการเป็นเน็ตเวิร์ก ภายใต้แพลทฟอร์มเดียวกัน
  คือเค้าสอนให้เราเป็นผู้สร้างมากกว่าที่จะเป็นผู้ใช้น่ะค่ะ"


หลังจากจบการศึกษา ด้วยความคิดที่่ไม่เคยหยุดนิ่ง
คุณตาวเลยอยากทำอะไรที่แตกต่างบ้าง

"จบกลับมาตาวมาเป็นซีเนียร์ แอสโซซิเอท
 ที่บริษัท Boston Consulting Group
 ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจค่ะ"

"คุณตาวทำที่นี่กี่ปีคะ"เราถาม
 "ห้าปีค่ะ " คุณตาวบอกเรา
 "Project Manager เป็นตำแหน่งสุดท้ายของตาวที่นี่ก่อนย้ายที่ทำงาน"


และแล้วชีวิตก็ถึงคราวพลิกผันอีกครั้ง
คุณตาวไปดูแลเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ 
หรือว่า Business Strategy ให้กับบริษัททรู


"คนที่จบสายวิทย์มักจะมีหลักความคิดที่โลจิกมากๆ
  คือมีตรรกะมีเหตุผลในการตัดสินใจค่อนข้างมาก 
 เชื่อไหมคะว่าตอนที่ตาวยังทำงานอยู่ที่ บอสตัน คอนซัลติ้งฯ
 ทั้งทีมมี 15 คน เป็นเอ็นจิเนียร์ซะ 14 คน"  คุณตาวบอกกับเราอย่างยิ้มๆ

"อาจจะเป็นเพราะมีระบบความคิดที่เป็นขั้นตอนก็ได้นะคะ
  ทำให้วิศวกรผันตัวเองไปทำงานด้านนี้มากขึ้น" คุณตาวบอก 

"จากนั้นตาวก็มาเปิดบริษัทเองค่ะ
 ชื่อบริษัท วิลัสณา แอนด์ คอมพานี จำกัด ค่ะ"
 
"ชื่อเพราะจังนะคะ" เราบอกกับคุณตาว
 
  (หัวเราะ) "อ๋อ ตาวใช้ชื่อของตัวเองนี่แหละค่ะเป็นชื่อบริษัท" คุณตาวยิ้มตาเป็นประกาย
 
   "ปีนี้เข้าปีที่แปดแล้วค่ะ 
   ตาวได้มีโอกาสทำ บิสซิเนส แพลน ให้กับบริษัทบัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ถือว่าเป็นเกียรติมากที่ทางผู้บริหารได้ให้ความไว้วางใจ"

จากความพลิกผันของชีวิตของคุณตาวในวันนั้น
มาถึงความมั่นคงของคุณตาวในวันนี้
คุณตาวเผยกับเราว่าลึกๆ ในใจนั้นอยากเขียนซอฟท์แวร์ขึ้นมาซักตัวหนึ่ง

"จริงๆแล้วตอนเรียนก็ไม่ได้คิดนะคะ" คุณตาวบอกกับเรา 
"แต่ว่าพอเริ่มทำงานไป ความคิดนี้มันก็เกิดขึ้นมา
 มีเพื่อนของตาวหลายคนที่สแตนฟอร์ดประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีพันล้านในเวลาชั่วพริบตา"
 

"แล้วตัวคุณตาวเองอยากทำแอพพลิเคชั่นอะไรคะ" เราถามต่อ 
"ตาวอยากทำให้ธุรกิจไทย ประมาณ SME ไทย 
 มีโครงการต่างๆ โน่น นี่ นั่น แต่ก็ไปไม่ถึงจุดหมายซะที
 สิ่งหนึ่งที่ตาวเห็นคือเรื่องของภาษาที่เป็นกำแพงหลัก 
 รองลงมาคือเรื่องเทคโนโลยีที่เรายังลงไปไม่ถึง
 ซึ่งน่าเป็นห่วงมากค่ะ" คุณตาวบอกกับเราอย่างนั้น

"เรายังมีกำแพงภาษาอยู่พอสมควร 
ไม่ว่าเรื่องคน หรือเรื่องภาษา เราควรก้าวไปด้วยกันทั้งวิธีคิด กับวิธีทำ เพราะว่าคนไทยจริงๆ แล้วก็ไม่อยากจะพูดภาษาอังกฤษซักเท่าไหร่"

คุณตาวเล่าให้เราฟังต่อไปว่า

"คนไทยยังไม่มีดีมานด์ ก็เลยไม่ทำให้เป็นแสตนดาร์ดหรือมาตรฐานเดียวกัน เพราะว่าถ้าเราไม่มีแสตนดาร์ด ดีมานด์ก็ไม่มา พอไม่มีดีมานด์หรืออุปสงค์ เราก็จะไม่มีคนกลาง ไม่มีเงินลงทุนในเรื่องต่างๆ เหล่านั้น"

คุณตาวเล่าให้เราฟังว่าตัวเองนั้นก็มีความสนใจในเรื่องของอี-คอมเมิร์ซ อยู่ไม่น้อย
แต่ว่าถ้าจะมาเริ่มทำอะไรในตอนนี้ในขณะที่คนอื่นเขาไปไกลแล้ว ถือว่าช้ามากๆ

"เพื่อนตาวทำเว็บอี-คอมเมิร์ซ ชื่อ อาลีบาบา
ซึ่งถือว่าเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประสบความสำเร็จมาก
ส่วนหนึ่งมาจากจุดแข็งของจีนเรื่องการปกครอง 
เราอาจจะเห็นว่าอินฟราสตรักเจอร์ หรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนั้นรัฐลงทุนให้
แต่พอมาถึงเรื่องการค้านั้น เอกชนเป็นคนลุยเอง 
คนจีนมีเซนส์ในการขายของที่ดีที่สุดในโลก"

Alibaba.com คือเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือบางคนเรียกว่าเว็บไซต์ B2B นั่นเอง 
เว็บไซต์ Alibaba ถือเป็นเว็บไซต์สัญชาติจีนที่ได้รับมาตรฐานสากลที่คนทั่วโลกยอมรับ 

เราถามคุณตาวว่าถามว่า Alibaba ทำอะไรได้บ้าง 
คำตอบที่ได้คือเนื่องจากอาลีบาบาประกาศตัวเองเป็นเว็บไซต์ขายส่ง 
ดังนั้นการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ต้องมีจำนวนยอดสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
แต่เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกได้ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง 
มหาอำนาจเก่าอย่างอเมริกาก็ถดถอยลง ยุโรปก็ยังไม่แน่ใจในศักยภาพของตนเอง
 
"ตอนนี้อาลีบาบาเปรียบเสมือนห้างแพลตตินั่ม ประตูน้ำบ้านเราดีๆ นี่เองค่ะ 
 เพราะว่าจากยอดการสั่งซื้อขั้นต่ำ 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ลดเหลือ 50 ดอลล่าร์สหรัฐ ก็สั่งได้แล้วค่ะ
 แต่อาจจะต้องมีเทคนิคในการต่อรองเจรจาบ้าง"    คุณตาวบอกเราอย่างอารมณ์ดี

"ในเมื่อสเกลมันใหญ่ขนาดนั้นแล้ว
 คนไทยจะไปลงทุนทำแบบนั้นก็เสียเวลาเปล่าค่ะ" 

นอกจากนี้คุณตาวยังได้เล่าให้เราฟังถึงจุดแข็งของประเทศจีนให้เราฟังว่า

"จริงอยู่ที่ต้นทุนของประเทศจีนอาจจะไม่ถูกมากเหมือนเมื่อก่อน  
 คุณภาพบางทีก็ยังสู้ไทยกับเวียดนามไม่ได้เลย 
 แต่จุดที่แข็งที่สุดของจีนคือเรื่องวัตถุดิบ
เราสามารถหาทุกอย่างได้หมด นี่คือจุดแข็งของจีนค่ะ"

"อย่างนี้แล้วเราควรจะไปอยู่ตรงไหนดีคะ" เราถามคุณตาวกลับด้วยความอยากรู้

"ประเทศไทยต้องปรับปรุง ปรับตัว 
เพราะว่าเรามีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ
 จะเป็นโออีเอ็มอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว
ประเทศเราไม่ค่อยจะโฟกัสตัวเองในเรื่องเจ้าของเทคโนโลยีซักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะยังไม่พร้อม ในเรื่องวิจัย และพัฒนาก็ได้ ซึ่งงบประมาณตรงนี้สูงมากๆ" คุณตาวกล่าวกลับเราอย่างเป็นห่วง

"อีกเรื่องหนึ่งที่ตาวกำลังให้ความสนใจอยู่คือเรื่องการศึกษาค่ะ"
 คุณตาวกล่าวเสริมให้เราฟังว่า

"ตาวอยากทำแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์ของเมืองไทย 
เพราะว่าที่ผ่านมาบ้านเราทำแล็บแบบผ่านๆ
ทั้งๆ ที่การทำแล็บนั้นสำคัญมาก เพราะว่าจะช่วยให้เราเข้าใจในบริบทต่างๆ ได้เป็นดี
จริงๆ แล้วการทำแล็บมันก็คือเลิร์นนิ่ง บาย ดูอิ้ง นั่นเองค่ะ"
การใช้สมองในส่วนนี้ถือว่ายากที่สุดเหมือนกัน
 การทำแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ หรือ
ซีมูเลชั่นก็ยังไม่เท่าไหร่"

"สรุปว่าคนไทยยังขาดความคิดต่อยอดทางนี้ใช่ไหมคะ" เราถามคุณตาว 

"ใช่ค่ะ ตาวว่าถ้าทำโรงเรียนส่งเสริมการเรียนรู้ 
โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง อย่างที่หลายๆ โรงเรียนกำลังทำอยู่ตอนนี้มันดีมาก
 การให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
  แต่ว่าน่าเสียดายเหลือเกินที่เรายังไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้เท่าที่ควร "

คุณตาวกล่าวกับเราอีกว่า

"ระบบแบบท่องจำไม่ใช่ว่าไม่ดีนะคะ เพราะว่าที่เมืองนอกเขาก็มี 
 แต่เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าความใส่ใจของครูของที่เมืองนอกนั้นจะมากกว่าบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด
ระบบการศึกษาของไทยทำให้ครูขี้เกียจมากเกินไป
เราเอาครูมาใช้มากเกินไป จนมองข้ามที่มาที่ไปของกระบวนความคิดทั้งหมด...ซึ่งน่าตกใจมาก"  คุณตาวบอกกับเรา 

"อาจจะเป็นอย่างที่หลายคนพูดไว้หรือเปล่าคะ
 ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของบ้านเรามันน้อยลงไปจนน่าใจหาย"  เรากล่าวเสริมเมื่อคุณตาวพูดจบ

"ตาวเห็นด้วยนะคะ ประเทศไทยไม่ส่งเสริมเรื่องแข่งขันต่างๆ อย่างจริงจัง
 เมื่อความสามารถในการแข่งขันของเราลดน้อยลงสวนทางกับความแข็งแกร่งของเพื่อนบ้าน
 ทำให้การพัฒนาประเทศมันลุ่มๆ ดอนๆ ขาดๆ เกินๆ อย่างที่เห็น
 อีกอย่างหนึ่งในโลกแห่งการแข่งขัน พอมาเจอชีวิตก็ลำบากมากกว่าหลายเท่านัก
ถ้าเราไม่เตรียมตัว เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะลำบากมาก" คุณตาวกล่าวกับเราในที่สุด
 
"นอกจากนั้นคนไทยยังขาด คริติเคิล แมส นะคะ 
เราเก่งเรื่องแข่ง แต่ไม่มีคนต่อยอดให้
ถ้าเป็นเมืองนอกนี่จะมีอินเวสเตอร์ ที่พร้อมจะลงทุนให้
เมืองนอกมีแบบนี้ แต่เศร้ามากไทยแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้"

คริติเคิล แมส ที่คุณตาวกล่าว คือ เครือข่ายความสัมพันธ์ 
หมายถึง รูปแบบของมิตรภาพ การให้คำแนะนำ การสื่อสาร 
หรือการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ระหว่างคน ในสังคมใดสังคมหนึ่ง

คุณตาวเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวของ คริติเคิล แมส เรื่องหนึ่ง
ที่ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจให้เราฟังว่า
"ตาวเคยอ่านเจอบทความบทหนึ่งที่เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทดลองทางพฤติกรรมมวลชนของสัตว์สังคมว่า 
อะไรทำให้เกิด หรือเมื่อไรจะเกิด
ชื่อตอน ลิงกับข้าวโพดหวาน "

 "เรื่องราวเป็นอย่างไรคะ" เราถามคุณตาว

คุณตาวเล่าว่า

"เมื่อสี่สิบปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ไปที่เกาะโคชิมา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะที่มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก 
การทดลองเริ่มขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์นำเม็ดข้าวโพดหวานไปหว่านไว้บนพื้นทราย
พอเจอของโปรดอย่างนี้ ฝูงลิงก็พากันมาเก็บเม็ดข้าวโพดกินกันอย่างเอร็ดอร่อย
จุดน่าสนใจอยู่ตรงที่นักวิทยาศาสตร์จะหว่านเม็ดข้าวโพดไว้บริเวณที่มีทรายเท่านั้น 
เพื่อให้เม็ดข้าวโพดเปรอะเปื้อนทราย เวลาจะกินแต่ละที ลิงก็ต้องคอยเอามือ
ปัดออก หรือไม่ก็ต้องคอยบ้วนทรายออก
แล้วก็มีลิงอยู่ตัวหนึ่งอายุประมาณหนึ่งขวบที่ไม่ทำอย่างตัวอื่น ทุกครั้งที่เจ้าลิงน้อยเก็บเม็ดข้าวโพดที่เปื้อนทรายได้ มันจะนำไปล้างน้ำที่
ลำธารใกล้ๆ ก่อนแล้วจึงนำมากิน ไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัด"

"นักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตาดูพฤติกรรมของลิงทั้งฝูงต่อไปว่าจะมีลิงตัวไหนเอาอย่างบ้าง 
แล้วพวกเขาก็เริ่มเห็นพี่น้องและเพื่อนลิงตัวน้อยๆ บางตัวเริ่มทำตาม ที่ลิงทั้งฝูงไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำอย่างเจ้าลิงน้อยนั้น
นักวิทยาศาสตร์ต่างก็วิเคราะห์กันว่า อาจเป็นเพราะวิธีนี้มันก็ไม่ถึงกับเห็นได้ชัดว่า
ดีกว่าวิธีเก่า นั่นคือถึงแม้จะไม่ต้องบ้วนไม่ต้องปัดทรายออกจากข้าวโพด 
แต่ก็ต้องเสียเวลาเดินไปยังลำธารอยู่ดี

พอเวลาผ่านไปหลายเดือน
มีลิงเพิ่มเพียงวันละตัวสองตัวเท่านั้นที่เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างข้าวโพด 
แล้วก็ไม่ใช่ว่าลิงทั้งฝูงจะไม่เห็นวิธีที่เจ้าลิงน้อยกับเพื่อนๆ ทำนะคะ....เห็นนะคะแต่ไม่ทำตาม

การทดลองดำเนินไปอย่างนี้อยู่เป็นปี 
นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเอาเม็ดข้าวโพดไปหว่านไว้บริเวณที่มีทรายทุกวันไม่มีขาด 
ฝูงลิงก็ยังคงมาเก็บข้าวโพดกินอย่างสม่ำเสมอ 
และถ้ามองด้วยสายตาก็สามารถแบ่งลิงออกเป็นสองกลุ่ม 
คือกลุ่มที่ล้างเม็ดข้าวโพด กับกลุ่มที่ไม่ล้าง
 แม้ปริมาณลิงที่ล้างข้าวโพดจะเพิ่มจำนวนขึ้นจนเริ่ม
ใกล้เคียงกับพวกที่ไม่ล้าง แต่ลิงที่เหลือก็ยังสมัครใจที่จะกินข้าวโพดด้วยวิธีเดิมๆ

แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจก็เกิดขึ้น
มันเกิดขึ้นภายในวันเดียว โดยไม่รู้จะอธิบายด้วยตรรกะง่ายๆ อย่างไรดี
เช้าวันนั้นมีลิงวัยรุ่นตัวหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมไปล้างเม็ดข้าวโพดอย่างเจ้าลิงน้อยเข้า
แล้วบ่ายวันนั้นลิงทั้งฝูงก็เปลี่ยนพฤติกรรมมาล้างเม็ดข้าวโพดกันหมด

นักวิทยาศาสตร์สงสัยทันทีว่าเจ้าลิงตัวที่เปลี่ยนพฤติกรรมในเช้านั้น มันมีความสำคัญขนาดไหนกัน
หลังจากที่ดูจากบันทึกและตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่ามันก็เป็นแค่ลิงธรรมดาตัวหนึ่ง
ไม่ได้เป็นจ่าฝูงหรือเป็นลิงที่แข็งแรงดุร้ายกว่าตัวอื่นอย่างใด"

"แล้วมันเกิดอะไรขึ้นเหรอคะ" เรานึกภาพพลางถามต่อ

"เคยไหมคะที่เพื่อนฝูงหกเจ็ดคนหาร้านอาหารจะไปกินกัน
 แรกๆ ก็ถกเถียงว่าร้านเจ๊หนิงบ้าง ร้านอาแป๊ะบ้าง 
 เถียงกันอยู่สักพักแล้วก็มีคนหนึ่งที่ไม่ได้คิดว่าจะไปกินร้านไหน
 เลยพูดขึ้นว่าไปกินเจ๊หนิงดีกว่า แล้วจู่ๆ ทุกคน
ก็กลายเป็นเปลี่ยนมาเทใจให้กับร้านเจ๊หนิงกันหมด
ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเสียงของคนหมู่มากแต่อย่างใด" คุณตาวบอกเรา

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Critical Mass : how one thing leads another ที่เขียนโดย ฟิลิป บอล  
ในเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ฟิลิป บอล สามารถอธิบายพฤติกรรมของการเลือกตั้งที่ชนะถล่มทลายได้
ว่ามาจากอะไร ให้ความเห็นว่าลักษณะของการเลือกและการตัดสินใจลงคะแนนเสียง
ให้พรรคใดและใครนั้นไม่ได้มาจากเหตุผลอย่างเดียว 
เพราะถึงจุดหนึ่งเวลาที่ใกล้วันเลือกตั้ง คนจะหยุดคิด หยุดวิเคราะห์ 
แต่จะดูกระแสคนหมู่มากว่าจะไปทางไหน
แล้วก็กระโจนตามกันไป ซึ่งเขาจะเรียกว่า มวลวิกฤต หรือ Critical Mass นั่นเอง

แล้วคุณตาวก็ยกตัวอย่างให้เราเห็นง่ายๆ อีกข้อหนึ่งว่า

"ประเทศอินเดียก็เคยใช้กระบวนยุทธ์มวลวิกฤตเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงด้านไอทีในประเทศของตน
ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาทำได้ผล 
เห็นผู้คนยากจนขนาดนั้น แต่บางเมืองอย่างบังกาลอร์นี่ถือเป็นมหานครแห่งไอทีโลกเลย
เป็นเพราะว่ารัฐบาลเขาเน้นการเชื่อมต่อ ระหว่างประชาชนกับอินเตอร์เน็ต 
โดยตั้งเป้าไว้ที่การเชื่อมต่อ 100 ล้านจุดภายในห้าปี 
และสำหรับคนที่ไม่มีปัญญาจะให้รัฐมาเชื่อมต่อที่บ้าน 
ก็สามารถที่จะเข้ามาเชื่อมต่ออย่างเป็นครั้งเป็นคราวได้ 
ตามไอทีคีออส (IT Kiosks) รอบๆ เมือง 
เพราะว่าอินเดียฝันจะพัฒนาประเทศให้เป็นมหาอำนาจทางไอทีของโลก (Global IT Superpower) ภายในห้าปีข้างหน้าให้ได้ 

สิ่งต่างๆ เหล่านั้นล้วนเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลประเทศอินเดีย
เป็นวาระแห่งชาติที่จะเข้าถึงผู้คนตามทฤษฎีมวลวิกฤต 
นั่นคือเมื่อคนชั้นกลางของประเทศบริโภคไอทีเป็นอาหารหลักจนเป็นกระแสแล้ว ผู้คนทั้งประเทศก็จะเทใจเทชีวิตมาทางเดียวกันเอง"

คุณตาวอธิบายให้เราฟังแบบใช้ภาษาง่ายแต่เห็นภาพได้ชัดเจนเหลือเกิน

 "ดูคุณตาวจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือนะคะ" เราถามคนตาว

" ใช่ค่ะ ตาวชอบอ่านนวนิยายของเจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ค่ะ" คุณตาวบอกเรา 

หากว่าใครเป็นแฟนนิยายแนวหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ
คงคุ้นเคยกับเจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ นักเขียนมือทองเบสท์เซลเลอร์ชาวอังกฤษคนนี้
อาร์เชอร์ทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่าย สนุก และตื่นเต้นตลอดเวลา
นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นที่เป็นจุดขายของเขาเลยคือมีการสร้างพล็อตเรื่องแบบหักมุมชนิดที่ว่าคาดเดาไม่ถูกเลยจริงๆ

นอกจากนั้นคุณตาวยังบอกกับเราต่อไปอีกด้วยว่าเธอชอบหนังสืออีกเล่มหนึ่ง
เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาก

"ตาวชอบเรื่อง Ender's Game ค่ะ
Ender's Game เป็นหนึ่งในนิยายวิทยาศาสตร์ไม่กี่เรื่องที่ชนะรางวัลทั้งฮิวโก้และเนบิวลา
การที่นิยายเรื่องหนึ่งจะสามารถชนะรางวัลที่มีเกียรติยิ่งทั้งสองรางวัลคือฮิวโก้และเนบิวลา
หมายความว่าได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากทั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงและนักอ่านเอง
เพราะว่าทั้งสองรางวัลเป็นรางวัลประจำปีที่แฟนๆ และตัวนักเขียนเองโหวตให้กับงานวรรณกรรมนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบนะคะ"

Ender's Game เขียนโดย นักเขียนชาวอเมริกันชื่อ Orson Scott Card
ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า "เกมพลิกโลก"  
เป็นเรื่องของเด็กอัจฉริยะที่ชื่อ Ender ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนโรงเรียนนายทหาร
เพื่อสร้างผู้บัญชาการสำหรับสงครามกับมนุษย์ต่างดาว
ในโรงเรียน Ender ต้องฝึกกับเกมจำลองนานาชนิดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามจริง
จากโครงเรื่องย่อดูเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิสดาร
แต่จริงๆ แล้ว Ender's Gameนั้นจะแฝงมุมมองเกี่ยวกับเรื่องชีวิต และปรัชญาที่ดีเยี่ยมไปด้วย
แกนหลักของเรื่องไม่ได้อยู่ที่การทำสงคราม แต่กลับเป็นการปรับตัวเข้ากับชีวิตทหารของ Ender เอง
เนื่องจากว่าเขาเก่งมากเลยโดนแกล้ง โดนหมั่นไส้อยู่เสมอ
Ender จะต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับจากลูกน้อง การตามหลอกหลอนจากศัตรูในอดีต  
และค้นหาว่าเป้าหมายชีวิตจริงๆ ของเขาคืออะไรกันแน่
เมื่อปมหลักของเรื่องที่เป็นดราม่ามารวมกับฉากหลังที่เป็นโลกอนาคตไซไฟชั้นดี
บวกกับการเล่าเรื่องแบบหักมุมเด็ดขาด ก็ไม่น่าแปลกใจที่ Ender's Game ได้รางวัลทั้งฮิวโก้และเนบิวลา

เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงานคุณตาวบอกกับเราว่า เธอชอบท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ กับครอบครัว
หรือไม่ถ้าอยู่บ้านก็จะดูซีรีย์เรื่องโปรดของคุณตาวคือ 24Hrs.
และการพักผ่อนที่ดีที่สุดของเธอก็คือการนั่งสมาธิ

"ตาวเป็นคนเรียลรีสติก ไม่หลอกตัวเอง 
ทำงานและใช้ชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ 
มองปัญหาทั้งสองด้าน ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เข้าใจหลายๆ มุมของคน 
ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจจะเป็นบ้าง แบบไม่ได้ไม่ได้ ไม่ได้ต้องได้อะไรแบบนี้นะคะ
การนั่งสมาธิจึงเป็นการรู้ทันความรู้สึกและกิเลสของตัวเองได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นยังเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ จุดพลังทางความคิดที่ดีมากนะคะ    
เมื่อเรามีความสงบ ความสว่างก็จะเกิด คุณตาวบอกกับเราก่อนจากกันในวันนั้น

ในปรัชญาของจีนนั้นเชื่อกันว่า ธรรมชาติทุกอย่างมีหยินกับ หยางอยู่ในตัวเพื่อให้เกิดความสมดุล
และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้นในหยินย่อมมีหยางเป็นส่วนประกอบ และในหยางก็ย่อมมีหยินร่วมอยู่ด้วยเสมอ 

หยินเปรียบได้กับผู้หญิง และความอ่อนโยน 
ส่วนหยางก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกันกับหยิน 
ได้แก่ ผู้ชาย ความร้อน ความเข้มแข็ง ความแข็งแกร่ง ความสว่าง 
ในทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกของเรานี้จึงล้วนต่างประกอบด้วยหยินและหยางด้วยกันทั้งสิ้น
จนเราสามารถกล่าวได้ว่าการประกอบรวมกันเข้าอย่างลงตัว
ของทั้งสองสิ่งนี้ เป็นเหมือนดั่งพลังแห่งชีวิตและจักรวาลนั่นเอง

และถ้าหากใครคนหนึ่งคนใดมีพลังชีวิตที่สมบูรณ์
มีหยินและหยางที่เอื้อประโยชน์กัน
ก็ย่อมทำให้ชีวิตประสบความสุข ความเจริญรุ่งเรือง จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง 
ดังเช่นกับชีวิตของ คุณตาว วิลัสณา วันนี้ในวัยที่ยังไม่ถึงสี่สิบดี
จากความพลิกผันของชีวิตที่ผ่านมา 
ด้วยโอกาสที่มาพร้อมกับอุปสรรค ด้วยพลังชีวิตที่สมดุลย์ พลังใจที่แข็งแกร่ง 
และด้วยความอ่อนโยนที่ผสนผสานกันอย่างลงตัว
ทำให้เธอสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้หญิงเก่งของสังคมไทยอีกคนหนึ่งได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

LastUpdate 10/03/2557 17:18:00 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
18-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 18, 2024, 9:09 am