เพราะภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐในปี 1992 ทำให้ “ชาลี ชุตาภา”กรรมการผู้จัดการ บริษัท PrimeLink ตัดสินใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย หลังจากเรียนจบจาก “wharton school of The university of Pennsylvania” ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชนที่เก่าแก่เป็นอันดับที่ 2 ในประเทศอเมริกา ในสาขาบัญชีและการเงิน
คุณชาลี บอกว่า ทั้งคุณพ่อ และคุณแม่เป็นหมอ แต่ไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนหมอ เพราะอาชีพหมอลำบาก หาเงินยาก เพราะคนไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้หันมาเรียนสาขาบัญชีและการเงิน เมื่อกลับมาเมืองไทยก็เริ่มงานที่ลีเวอร์บราเดอร์(ในปัจจุบันคือ ยูนิลิเวอร์ ) รับผิดชอบดูแลบริหารบัญชีของบริษัท ดูแลผลกำไร โดยใช้มาตรฐานเดียวกับบริษัทชั้นนำระดับโลก
เมื่อทำงานได้ 4 ปี ก็คิดว่าจะกลับไปเรียนต่อที่อเมริกา เพราะครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ พี่น้อง อยู่ที่อเมริกาทั้งครอบครัว แต่ในช่วงนั้นคุณ วิโรจน์ ภู่ตระกูล ซึ่งเป็นประธานบริษัทเกษียณอายุ และกลุ่มบริษัทบุญรอด กลุ่มเซ็นทรัลตระกูลจิราธิวัฒน์ ชวนคุณวิโรจน์ไปช่วยงาน ซึ่งคุณวิโรจน์ก็ตัดสินใจไปร่วมงานกับกลุ่มบุญรอด เพื่อแก้ปัญหาว่ากลุ่มบุญรอดขายน้ำดื่มสิงห์ดีมาก แต่มีกำไรน้อย คุณวิโรจน์จึงชวนคุณชาลีไปร่วมงานด้วย
การเข้าร่วมงานกับคุณวิโรจน์และกลุ่มบุญรอด คุณชาลีไม่ได้ทำงานในสายงานที่เรียนมาโดยตรง คือสายบัญชีและการเงิน แต่ได้รับมอบหมายให้ดูแลระบบไอที ซึ่งต้องดูงานในภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งการทำงานด้านไอทีไม่ใช่ปัญหา เพราะคุ้นเคยกับไอที มาตั้งแต่เด็ก เพราะเกิดและโตที่อเมริกา จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณชาลี เพราะการเรียนการสอนที่อเมริกา สอนเรื่องไอทีให้นักเรียน นักศึกษา สำหรับการทำงานด้วย นั่นคือ จุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้น สู่แวดวงไอที และเป็นเจ้าของบริษัทในที่สุด
ช่วงแรกของการทำงาน ยอมรับว่า ท้าทายมาก เพราะเป็นอะไรที่ใหม่มาก ทั้งระบบไอที และธุรกิจเครื่องดื่ม โดยคุณวิโรจน์ ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เหมาะกับธุรกิจของบุญรอดคือ ตั้งบริษัทบุญรอด เอเชีย จำกัด ขึ้นมา เพื่อดูแล ขายน้ำดื่มสิงห์และน้ำผลไม้โดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงนั้นบริษัท บุญรอด เอเชีย ประสบความสำเร็จอย่างสูง ขายดีมาก มียอดขายเติบโตขึ้น แต่ระบบไอทีไม่รองรับ คุณชาลีจึงตัดสินใจเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจไอที เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มบริษัท บุญรอด ซึ่งมีลูกค้ารายแรกคือ บริษัทบุญรอด เอเชียนั่นเอง ซึ่งทั้งบริษัท และบริษัท บุญรอด เอเชีย สามารถเดินหน้าไปได้อย่างดี สร้างยอดขายและผลกำไรให้บุญรอดมากขึ้น
เมื่อคุณวิโรจน์เสียชีวิต กลุ่มบุญรอดตัดสินใจยุบทิ้งบริษัท บุญรอด เอเชีย คุณชาลี ได้รับการติดต่อให้เข้าไปช่วยทำแผนและวางระบบไอที ให้กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งวางระบบให้เซ็นทรัลเทรดดิ้ง เมื่อ 10 ปีก่อน โดยในช่วงนั้น ได้ชวนคนของยูนิลิเวอร์ซึ่งเคยทำงานเข้าขากันมาช่วยงานด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เก่งและเชี่ยวชาญเรื่อง ซัพพลาย เชน ซึ่งมีการทำงานร่วมกันเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่วางแผนผลิต วิจัย การจัดการระบบทั้งโรงงาน เริ่มตั้งแต่ คำนวณการใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิต กระบวนการผลิต ขั้นตอนการขนส่งสินค้าให้ถึงมือตัวแทนจำหน่ายและถึงมือผู้บริโภค
การทำธุรกิจไม่ได้หยุดนิ่งแค่ลูกค้ากลุ่มเซ็นทรัลเท่านั้น แต่เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่และพี่ชายของคุณชาลี ล้วนเป็นหมอ ที่อยู่ที่อเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ดีและทันสมัย จึงนำงานด้านรักษาพยาบาลเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล คุณชาลี จึงมีแนวคิดนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยเพื่อใช้ในการรักษาคนไข้
โดยได้ทำงานร่วมกับ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยการนำระบบไอทีมาใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการคนไข้ ชื่อ “CIS System” เป็นระบบการรักษาพยาบาลคนไข้แยกเป็นแผนก เช่น แผนกโรคหัวใจ โรคกระดูก แผนกทันตกรรม เป็นต้น โดยระบบ CISจะดูแลคนไข้เฉพาะโรค ช่วยให้การตรวจรักษาถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
ในช่วงนั้นธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจโรงพยาบาลโดยมีเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาค แต่ขาดความรู้และเทคโนโลยี สำหรับการรักษาพยาบาลและดูแลคนไข้ บริษัทจึงทุ่มเทและลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก แต่ในขณะนั้น รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลถูกปฏิวัติ ทำให้โครงการต่างๆถูกยกเลิก ธุรกิจเราจึงสะดุดเล็กน้อย ทำให้ต้องปรับการดำเนินธุรกิจใหม่ นำเข้าเครื่องมือเฉพาะที่สำคัญและมีความต้องการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจเริ่มดีขึ้นมีโอกาสจะขยายธุรกิจได้อีก คุณชาลีจึงเริ่มมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยจากอเมริกา โดยความร่วมมือจากพี่ชายซึ่งเป็นหมออยู่ที่อเมริกา ซึ่งทุกวันพี่ชายจะคลุกคลีกับการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
ล่าสุดได้นำเทคโนโลยีใหม่เป็นการผ่าตัดโรคหัวใจ โดยไม่ต้องเปิดอกมาใช้ โดยการใช้กล้องช่วยผ่าตัด ซึ่งบริษัทจะนำเข้าเครื่องมือเข้ามาและให้ผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาถ่ายทอดความรู้และการใช้เทคโนโลยีให้กับทีมแพทย์ไทย ในปัจจุบันโรงพยาบาลรามาก็ใช้เครื่องมือที่บริษัทนำเข้ามาใช้ในการผ่าตัดโรคหัวใจ
ขณะที่โรงพยาบาลศิริราช ใช้เครื่องมือสำหรับโรคที่เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น การรักษาโรคเนื้องอกในผู้หญิง หรือการที่มีเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ทำให้คนไข้ไม่ต้องผ่าตัด ใช้วิธีส่องกล้องรักษาและหยุดเลือดได้
รวมถึงการรักษาโรคกระเพาะ ที่รักษาโดยไม่ต้องส่องกล้อง วางยาสลบ โดยใช้วิธีกลืนแคปซูล ที่มีฮาร์ดไดร์ฟ ลงไปเพื่อบันทึกข้อมูลให้แพทย์อ่าน ช่วยให้การรักษาง่ายขึ้นและเพิ่มทางเลือกให้กับคนไข้
และนี่คือเรื่องราวชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ “ชาลี ชุตาภา” ที่นำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงด้านไอที เข้ามาใช้ในการรักษาโรคร้ายให้กับผู้ป่วยในเมืองไทย
ข่าวเด่น