โลกแห่งความเร็ว ของ คุณปฐม อินทโรดม กรรมการผู้จัดการ บมจ. เออาร์ไอพี (ARIP) ผู้จัดงานคอมมาร์ท


 หนุ่มวัยกลางคนที่บุคลิกแสนจะอบอุ่น มีตำแหน่งรั้งท้ายถึงผู้บริหารบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่แก่นอันแท้จริงของเขาชื่นชอบเทคโนโลยี ไอที และความเร็วเป็นชีวิตจิตใจ วันนี้จะมาเล่าเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจให้เราฟังเกี่ยวกับ “ผู้ชายกับความเร็ว”


คุณปฐม อินทโรดม หรือคุณต้น ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บมจ. เออาร์ไอพี (ARIP) ที่หลายคนรู้จักชื่อของบริษัทนี้ในฐานะผู้จัดงานคอมพิวเตอร์คอมมาร์ทที่จัดต่อเนื่องมายาวนานที่สุดของประเทศกว่า 12 ปี แต่แท้จริง ARIP ยังทำงานอื่นอีกหลากหลาย ทั้งด้านสื่อที่ผลิตหนังสือ “คอมพิวเตอร์ทูเดย์” หนังสือคอมพิวเตอร์ที่ขายดีที่สุดในประเทศอย่างแพร่หลาย นักเรียนนักศึกษาชอบอ่านกันมาก “นิตยสารคอมมาร์ท” ชื่อเดียวกับชื่องาน หรือ “นิตยสาร Business+” หรือเดิมคือหนังสือพิมพ์บิสิเนสดอทคอม ซึ่งพอมีดอทคอม คนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องคอมพิวเตอร์ จึงเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นนิตยสารที่ว่าด้วยเรื่องการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ค่อนข้างครอบคลุม มีสื่อโทรทัศน์ซึ่งตอนนี้จับมือทำรายการกับคุณจอห์น รัตนเวโรจน์ (จอห์น นูโว) ทางช่อง 5 และยังมีออนไลน์ www.thaimail.com ซึ่งทำมา 12 ปีเช่นกัน หรือ www.arip.co.th ที่เป็นเว็บไซต์ข่าวไอทีอันดับ 1 ของไทย

คุณต้นเล่าว่า “ต้องยกให้อานิสงส์ที่ ARIP จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้รูปแบบการบริหารงานขึ้นอยู่กับระบบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ดังนั้นงานจึงดำเนินไปได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงรูปแบบการทำงาน ก็ไม่ค่อยได้เข้าออฟฟิศ เวลาจะหมดไปกับการประชุม เพราะปัจจุบันเป็นกรรมการและที่ปรึกษาให้กับองค์กรหลายแห่ง ถ้าเข้าออฟฟิศส่วนใหญ่ก็จะตามงาน หรือประชุมทีมงาน ซึ่งจะจัดสรรว่าแต่ละวันจะคุยกับแผนกไหน หรือมีประเด็นเร่งด่วนมาก็ประชุมเป็นครั้งๆ ไป หลักๆ จะหนักไปทางระดมสมอง แต่ทุกอย่างค่อนข้างเดินไปได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว”  

เรื่องในวัยเรียน
“ผมเรียนมาด้านไอที และทำงานด้านไอทีมาตลอด ถือว่าค่อนข้างโชคดีมาก เพราะถ้าย้อนไปซัก 20 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ยังค่อนข้างใหม่ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีแรงบันดาลใจไม่เหมือนกัน ผมได้แรงบันดาลใจจากน้าชายท่านหนึ่ง ท่านจะมีอะไรใหม่ๆ มาจุดประกายให้เราเสมอ ความชอบทุกวันนี้ เช่น เรื่องถ่ายภาพ ก็ได้แรงบันดาลใจจากท่าน และไม่ใช่ให้แค่แรงบันดาลใจ ท่านเห็นว่าผมชอบถ่ายภาพ ท่านก็ยกกล้องถ่ายรูปให้ มาปัจจุบันก็ยังชอบถ่ายภาพอยู่ ยังติดตามกล้องใหม่ๆ เลนส์ใหม่ๆ และเทคโนโลยีของกล้องตลอด รวมถึงคอมพิวเตอร์ ก็ได้แรงบันดาลใจจากท่านเหมือนกัน ซึ่งแต่ก่อนราคาจะแพงมากเกือบแสนบาท ประเทศไทยยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายเป็นเรื่องเป็นราว ซื้อมาก็ต้องประกอบกันเอง พอท่านเห็นว่าเราสนใจ สุดท้ายก็ยกเครื่องให้อีก ถือเป็นบุญของเรา (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็ศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง”

“ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ผมเป็นรุ่นแรกของโรงเรียนที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นโรงเรียนที่ทันสมัยมาก แต่ทุกวันนี้ยังมีบางโรงเรียนที่ขาดแคลน เวลาไปทำกิจกรรมมอบศูนย์การเรียนรู้ ก็มีการสร้างห้องคอมพิวเตอร์ให้ด้วย หลายโรงเรียนที่ไปจะพบว่าที่เราสร้างให้เป็นห้องคอมพิวเตอร์ห้องแรกของโรงเรียนพวกเขาเลย เท่ากับเรานำหน้าเด็กเหล่านี้มากว่า 20-30 ปี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ ก็เลยเรียนด้านนี้มาจนจบปริญญาตรี และปริญญาโท จบมาก็ทำงานด้านนี้ เริ่มจากฝ่ายคอมพิวเตอร์ เทรนนิ่งในเครือสหวิริยาโอเอ (ปัจจุบันคือ SVOA)”


การเรียนด้านไอทีให้อะไรกับชีวิต
“คนที่ชอบเรียนสายนี้ส่วนใหญ่จะเหมือนกันคือชอบการแก้ปัญหา ไม่ได้มองปัญหาเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่มองเป็นเรื่องท้าทาย อยากแก้ อยากจัดการปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่คนเรียนสายไอที ทำงานสายไอที จะไม่ค่อยอยากออกจากโลกไอที จะมีจำนวนหนึ่งก็ชอบทำงานด้าน System Engineer บางคนก็เลือกที่จะทำงานด้านบริหาร อย่างลูกน้องผมก็จะไม่เชื่อว่าผมทำสายเทคนิคมาก่อน ซ่อมคอมพ์ แก้ระบบ เพราะการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ มันจะแก้ได้เสมอไม่ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น การไล่แก้ปัญหาจะทำให้ทราบในที่สุดว่าตรงไหนเสีย พอแก้ตรงจุดก็เสร็จ อย่างมากก็ใช้เวลา 2 วัน ซึ่งวันที่เลือกจะทำงานด้านบริหาร คิดก่อนแล้วว่าต้องเจองานด้านใดบ้าง การเงิน บัญชี สองเรื่องนี้พอไหว แต่ “การบริหารบุคคล” กลับยากกว่า คนนี้มีปัญหาแบบนี้ แก้เสร็จ อีกคนก็มีปัญหาอีก แต่จะเอาวิธีการแก้ปัญหาที่แก้กับคนเดิมมาใช้ก็ไม่ได้ มันจะยุ่ง หลายคนจึงถอดใจกับงานบริหาร หันกลับไปทำด้านเทคนิคต่อไป แต่ส่วนตัวมองว่าพออายุ 30 ปี มันถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่สายเทคนิคต่อไปแล้วจะไม่ดีก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคไป เพราะพอเราสั่งสมประสบการณ์มากๆ เข้า เราก็จะมีคุณค่ากับองค์กรในอีกรูปแบบหนึ่ง”

งานคอมมาร์ทเริ่มต้นมายังไง
“การจัดงานผ่านมาหลายยุค ย้อนไป 12 ปีที่แล้ว แวดวงไอทีเมืองไทยก็มีงานลักษณะนี้หลายงานต่อเนื่องมา ซึ่งตอนที่จัดคอมมาร์ทก็เป็นอีกทีมหนึ่งดูแล เพราะตอนนั้นผมยังทำหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทยอยู่ ซึ่งทีมแต่เดิมโจทย์คือต้องจัดงานที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยยุคแรกจัดที่เสรีเซ็นเตอร์ (หรือพาราไดซ์ พาร์คในขณะนี้) และต้องการเพียงให้มีพื้นที่ให้ทำจัดกิจกรรมสำหรับขนาดเล็ก-กลาง ซี่งผ่านอุปสรรคมาเยอะ เพียงแต่ว่าเราอาศัยความต่าง เดิมคนจัดงานก็คือคนจัดงาน คนขายพื้นที่ก็ทำหน้าที่ขาย ไม่ได้ใส่ใจว่าคนมางานจะได้อะไร คนมาออกร้านจะได้อะไร  แต่พอยุคของผม ผมเป็นคนทำหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ผมรู้ว่าคนอ่านอยากเห็นอะไร ในขณะเดียวกันผมก็รู้ว่าคนที่เขามาโชว์เค้าอยากโชว์อะไร บางคนก็อยากขาย”
ยุคแรกของคอมมาร์ท

“สมัยก่อน ใครจะมาซื้อคอมพ์ จะไม่มาคนเดียว มักพาเพื่อนที่เป็นกูรูด้านไอทีมาด้วย เพราะบางครั้งเราจะเจอคำถามว่า RAM แบบไหน สเปค RAM เป็นยังไง ความเร็วกี่แมคกาเฮิร์ซ เมนบอร์ดเป็นยังไง CPU อะไร Harddisk ความจุเท่าไหร่ ความเร็วรอบเท่าไหร่ สมัยก่อนผมจึงถูกเพื่อนตามประจำ และแต่ก่อนไม่ได้ซื้อได้เป็นเครื่องเลย ต้องซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเอง พอเราไปทุกปี เราเริ่มสังเกตพฤติกรรมผู้ซื้อว่าบางคนมาและไม่รู้ข้อมูลและไม่มีเพื่อนมาด้วย เขาก็ต้องการคำแนะนำ เราเลยตั้งโต๊ะใช้ชื่อว่า Buyer Guide Corner ให้คำแนะนำการซื้อเครื่องให้ตรงกับความต้องการ บริการนี้ก็เลยกลายเป็นจุดต่าง แล้วคู่ค้าก็ชอบที่เรามีความแปลกใหม่ และนั่นคือยุคแรกของงานคอมมาร์ท 
 

ยุคคอมมาร์ทเติบโต

ยุคต่อมาคือเป็นยุคที่ต้องเติบโต และถูกบีบบังคับให้ต้องเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด ซึ่งผมเข้ามาดูช่วงนี้ที่งานคอมมาร์ทจะจัดเล็กๆ ต่อไปไม่ได้ จะเหมือนกับงานอื่นๆ ไม่ได้ ต้องมีความต่าง แตกต่างคืออะไร หนึ่ง ที่นี่เป็นพาร์มแอเรีย เราต้องจัดให้เต็มพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ที่ศูนย์สิริกิติ์ใหญ่มาก 20,000 ตารางเมตร คือคิดว่าจะทำยังไงจะขายหมด แต่มาถึงวันนี้ เรากลับมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สนใจออกบูธ”
 

มองเทรนด์ในด้านไอทีอย่างไร
“ทุกวันนี้ไอทีเป็นไลฟ์สไตล์ ผมนับหมดทั้งสมาร์ทโฟน แท๊บเล็ค คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค อะไรก็ตาม มันมีเรื่องของสัดส่วนของอารมณ์และเหตุผลอยู่ โดยที่เหตุผลจะมีสัดส่วนเป็น 70% อารมณ์มีอยู่แค่ 30% เหตุผลคืออะไร สเปค ซื้อไปคุ้มค่าแค่ไหน ราคา ความคุ้มค่าเป็นยังไง อารมณ์คืออะไร รูปร่างสวยไหม ยี่ห้ออะไร มาปัจจุบันคงพอเห็นภาพ มันกลับกัน ตอนนี้อารมณ์ 70% ซื้อเครื่อง เราจะเอาเครื่องรุ่นนี้เพราะมันสวย ทุกวันนี้สังเกตได้ ไม่มีใครอยากซื้อเครื่องเพราะ CPU หรือ RAM เจ๋ง ยกเว้นนักเล่นเกมส์เพราะเค้าต้องใช้ ถ้าคนทั่วไปไม่มีเรื่องนี้ ฉันซื้อเพราะเป็น Apple เป็น MAC Book ซื้อเพราะดีไซน์ เพราะแบรนด์ บาง เบา พกสะดวก นี่คืออารมณ์ไม่ใช่เหตุผล ซื้อเพราะว่าสเปคเดี๋ยวนี้น้อยลง เพราะฉะนั้นสินค้าไอทีมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราโดยไม่รู้ตัว และกลายเป็นสินค้าที่เรียกว่าไอที ไลฟ์สไตล์ เหล่านี้มันแฝงอยู่กับเราโดยไม่รู้ตัว และก็เปลี่ยนรูปแบบในการทำงานของเราไปทีละน้อยๆ และเราก็มาฝังตัวเองกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นๆ”


 
ชอบความเร็ว ชอบมอเตอร์ไซด์ เพราะ อิสระ และ เปิดโลกให้เรา
“คือพื้นฐานผู้ชายจำนวนหนึ่งจะชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกอยู่แล้ว เช่น เครื่องบินเล็ก หรือมอเตอร์ไซค์ ต่างกันที่มันเป็นพาหนะที่พาเราไปไหนมาไหนได้ เปิดโลกให้เรา เวลาขับรถยนต์ไปเที่ยวก็จะได้อารมณ์หนึ่ง แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง ได้สัมผัสสิ่งรอบข้าง ได้ล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์ล้มนี่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนขี่รถ ก็มีเพื่อนฝูงคอยช่วยกันหอบหิ้วไป ถ้าหนักหน่อยก็จับส่งโรงพยาบาล ขี่ไปต่อได้ก็ไป ส่วนตัวไม่เคยเจออุบัติเหตุรุนแรง เพียงแต่ต้องรู้จักข้อจำกัดของตัวเองมันจะช่วยเซฟตัวเองได้ระดับหนึ่ง แรงสุดก็ไหล่ร้าว เคยขี่เร็วสุดก็ 198 (เข็มบนจีพีเอส) แต่จริงๆ เข็มในรถขึ้นไป 210 แล้ว แต่นานๆ ที (ยิ้ม)”

ดูคาติ (Ducati) พาหนะคู่ใจ
“ดูคาติเป็นเสน่ห์ของอิตาเลียน มันก็เป็นส่วนผสมของเหตุผลและอารมณ์ที่ดี อารมณ์คือดีไซน์ เรื่องเส้น เอกลักษณ์ของรถดูคาติจะมีเส้นเฟรมด้านข้างที่ดูแล้วรู้ว่านี่คือดูคาติ ซึ่งบางรุ่นทำเป็นเฟรมสีแดงให้เห็นชัดเลย นอกจากนี้ยังมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ เพราะเป็นต้นตำรับของรถที่เรียกว่าคลัทช์แห้ง รถปกติจะเป็น คลัทช์เปียก คือมีน้ำมันช่วยหล่อลื่นเป็นตัวช่วยในการจับเกียร์และกลไกต่างๆ แต่ดูคาติใช้คลัทช์แห้ง เสียงรถจะดังชึ่ง ชึ่ง ชึ่ง นั่นแหละ แต่ดูคาติรุ่นใหม่บางรุ่นก็มีทั้งคลัทช์เปียกและคลัทช์แห้ง แต่แห้งดูแลยากกว่าต้องเข้าศูนย์บ่อยๆ เปียกดูแลง่าย แต่แห้งประสิทธิภาพการทำงานดีกว่า คือดูคาติมีเอกลักษณ์ทั้งเรื่องเครื่องยนต์กลไก และดีไซน์ ก็เป็นจุดที่ลงตัวดี”

เริ่มต้นขี่มอเตอร์ไซค์
“เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนก็ขี่ไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง ขี่ไปไกลๆ แต่ปัจจุบันอายุมากขึ้น ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง รถใหญ่มันไม่เหมือนแต่ก่อน คือแต่ก่อนจะไปไหนก็มีแค่หมวกกันน็อคใบหนึ่งก็ไปได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีอุปกรณ์เสริมมากขึ้น ต้องใส่ใจเรื่องเซฟตี้มากขึ้น เมื่อก่อนขี่ไปแม่ฮ่องสอนได้ โค้งสมัยนั้นยังไม่ลาดยางยังเป็นลูกรังอยู่ ล้มก็ไม่ค่อยเจ็บ เพราะมันไถลไป สนุกดี ก็ขี่ไปเที่ยวตั้งแต่สมัยเรียน เพียงแต่ไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง ลึกๆ ชอบหลากหลาย อยากลองอะไรหลายอย่าง เดี๋ยวนี้อย่างมากก็ไปปีละครั้งสองครั้ง ไม่บ่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ขี่เที่ยวแถบรอบนอก ใกล้ๆ เช่น สุพรรณบุรี”

ไลฟ์สไตล์ในการแต่งรถ
“คนชอบมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ชอบแต่งรถทุกคน เปลี่ยนหมด ท่อ คลัทช์ บางคันเปลี่ยนระบบเบรค ดูคาติดีหน่อยระบบเบรคสุดยอดอยู่แล้วใช้แบบอย่างดี แต่บางทีดีอยู่แล้วก็ชอบที่จะเปลี่ยนให้ดียิ่ง ปัจจุบันมี 2 คัน รุ่นที่ใช้คือมอนสเตอร์ อีกรุ่นคือ 848 สีแดง ใช้สลับกันกับน้องชาย มอนสเตอร์จะเป็นแบบเปลือย (Naked) คือมอเตอร์ไซค์ที่โดดเด่นของดูคาติ เรียกว่าซุปเปอร์ไบท์ ก็คือรถแข่งนั่นเอง แต่รถแข่งมันต้องก้มมากเวลาขี่ พอเอามาขี่ในเมืองหรือออกไปนอกเมืองเลยไม่ไหว เมื่อย ต้องมีถอดแฟริ่งที่หุ้มตัวถังออก มันจะเป็นพลาสติกที่หุ้มตัวถัง ดูลู่ลม แต่พอถอดแฟริ่งออกเค้าก็จะเรียก Naked แฮนด์จะสูงขึ้นมานิดนึ่งให้ขี่ในเมืองได้สบายขึ้น  พูดง่ายๆ ว่ามันเป็นเป็ด คือมอเตอร์ไซค์หลักๆ ในตลาดก็มีซุปเปอร์ไบท์ คันใหญ่ก็คือฮาร์เล่ย์ คันที่อยู่ตรงกลางคือ Naked เป็นเป็ดขี่เร็วก็ได้ แต่เร็วสู้ซุปเปอร์ไบท์ไม่ได้”
 

เรื่องเซฟตี้สำคัญมาก
“สำคัญมากอันดับแรกๆ เลย เริ่มจากเสื้อแรกสุดที่ขาดไม่ได้ และถุงมือมีเกราะกันกระแทก ใช้งานได้งาน เสื้ออยู่ได้เป็น 10 ปี หมวกกันน็อคควรเลือกเบาๆ และทน เลือกยี่ห้อมาตรฐาน เช่น โชเอะ (SHOEi) อาราอิ (Arai) ที่ผมใช้เป็นชาร์ค (SHARK) ที่ชอบเพราะว่าปรับใช้แบบเต็มใบก็ได้ครึ่งใบก็ได้ ซึ่งเมื่อก่อนมีชาร์คยี่ห้อเดียว เดี๋ยวนี้มีหลายยี่ห้อ แต่อาจไม่เบา ซึ่งพวกนี้ต้องเลือกให้ดีเพราะราคาแพง แต่มันคืออุปกรณ์ป้องกันชีวิต ควรเลือกที่เรามั่นใจว่าปกป้องเราได้ ยิ่งถ้าขี่รถเร็วๆ เรียกว่าซื้อความสบายใจ อย่างถุงมือราคาก็ประมาณ 4 – 5 พันบาท”

การขี่รถมอเตอร์ไซค์ได้สมาธิ
เมื่อต้องใช้ความเร็ว ไม่ต้องถึง 100, 200 แค่ 80 ก็ต้องมีสมาธิแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์ยังไม่น่าห่วง แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์เผลอไผลปุ๊บไปเลย และความที่มอเตอร์ไซค์มันเล็ก มันก็จะมีอะไรวอกแวกได้ง่าย เพราะฉะนั้นจึงได้สมาธิค่อนข้างดี นอกจากกินลมชมวิว อย่างตอนที่เกิดอุบัติเหตุ แวบแรกคิดถึงคิดถึงหน้าลูกก่อนเลย ซึ่งมี 2 คน ชาย 1 หญิง 1 ลูกชายเริ่มสนใจเรื่องรถบ้างแล้ว จองรถคันนี้ที่ใช้อยู่แล้ว” 

ถ้าลูกขอขับเป็นกีฬาแบบเป็นเรื่องเป็นราว
เล่นกีฬาหลายอย่างที่ดูแล้วค่อนข้างเสี่ยง อย่างกีฬายิงปีนก็ชอบ ลูกๆก็ขอเล่นบ้าง แต่ผมว่ามอร์เตอร์ไซด์ถ้าเทียบกับยิงปืนแล้วเสี่ยงน้อยกว่า รถล้ม บางครั้งอาจแค่ขาเจ็บ อย่างมากก็ขาหัก แต่ถ้าปืนพลาด นี่คือตาย แต่ประเด็นที่จะพูดก็คือ กิจกรรมที่เราชอบค่อนข้างเสี่ยง และ ลูกๆก็เริ่มจะชอบเหมือนเรา  ข้อนี้เรามีแนวคิดว่า เราจะตัดคำว่าห่วงออกไป เพราะถ้าห่วงเราจะเอามันออกจากบ้าน เอามันออกจากชีวิตเรา ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะฉะนั้นก็คือถ้าเราจะให้ลูกเล่นอะไร เราต้องสอนเขาให้รู้จักอย่างลึกซึ้งก่อน มอเตอร์ไซค์ หลักการทรงตัวคืออะไร การประคองรถคือยังไง ถ้าล้มทำยังไง สอนเขาก่อนเลย หลังจากนั้น “วางใจ” ต้องปล่อยเขานะ ตอนนี้พูดได้ แต่เอาเข้าจริงไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่ไม่ควรต่อต้านเขา ต้องไปกับเขา กับลูกเราต้องคลุกคลีกับเขา ลูกติดอะไรเราต้องไปคลุกคลีกับเขา ลูกติดเกมส์เล่นเกมส์ด้วย ไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าทำไมเขาติด แล้วหนึ่งอย่างคือ เขาจะรู้สึกว่าเราอยู่กับเขาไม่ไปไหน”

เสน่ห์ของการขี่รถมอเตอร์ไซค์
“จะบอกความเร็วก็ไม่เชิง เพราะบางทีก็ช้า ก็เพลินไปอีกแบบหนึ่ง เพลินในแง่ที่ว่า เป้าหมายเรามันไม่ใช่ปลายทาง ความสนุกมันไม่อยู่ที่ปลายทาง ระหว่างทางมันให้อะไรเรา ได้เยอะ ขี่มอเตอร์ไซค์ในตอนที่เรามีสมาธิ จะเห็นอะไรที่ชัดเจนกว่าตอนขับรถยนต์ ขับรถยนต์ใจเราจะไปถึงปลายทาง สมมติไปทะเล สิ่งที่นึกถึงคือโรงแรม ชายหาด ขี่มอเตอร์ไซค์เราจะเห็นรอบข้างว่ามีอะไรบ้าง และเราจะรู้ว่าตรงนี้ก็มีอะไรที่น่าสนใจนะ มีอะไรที่แบบมีกลิ่นอายของความสดชื่นแปลกใหม่ อยู่ตรงมุมนี้ได้สัมผัสอะไรที่มากกว่าหลากหลายกว่า ขับรถยนต์เราก็นั่งอยู่ในห้องแอร์และก็ขับไปเรื่อยๆ ถึงจุดหมายก็ลง การปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบข้างมันไม่มี มอเตอร์ไซค์คล่องตัวกว่า ง่ายกว่า แต่ปัจจุบันใช้รถยนต์เป็นหลัก เพราะเวลาไปงานหรือพบผู้ใหญ่ จะใส่ชุดเดียวกับชุดขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้ เพราะมอเตอร์ไซค์มีชุดโพรเทคทีฟที่เป็นกางเกงเฉพาะ แต่ให้เอามาใส่ขี่มาในเมืองแบบนี้จะร้อน เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ต้องใส่ยีนส์”

การดูแลรถเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ไปทริปต่างจังหวัด 
“เราต้องรู้จักที่ที่จะไป ผมว่าคนที่ใช้รถหรู เช่น ปอร์เช่ (Porsche) ก็ต้องแพลนว่าจะแวะตรงไหนบ้าง ไม่ใช่เจอร้านถูกใจแล้วจอดรถเลย จอดรถไว้เป็นชั่วโมงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นซุปเปอร์คาร์ก็เช่นกัน เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรถเรา ก็คือต้องมีแพลน จากนี้ไปนี้ ตรงไหนมีที่ให้พัก เราจะแวะตรงไหนได้บ้าง แต่ละที่ต้องเซฟ แต่ถ้าไปเป็นแก๊งค์ไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่ มันมีคนช่วยดูเป็นหูเป็นตา ไปคนเดียวต้องคิดดีๆ บางครั้งระหว่างทริป เจอคนสนใจรถมาคร่อมรถถ่ายรูปเสร็จ จับรถไม่เป็นก็ทำล้ม พอล้มปุ๊บหาย เพราะฉะนั้นถ่ายรูปได้ แต่อย่ามาคร่อมของเขา อันนี้เป็นมารยาทขั้นต้น”

สถานที่ไหนที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปแล้วประทับใจที่สุด
“น่าจะเป็น “ปาย” แต่นานแล้ว ซึ่งใช้เวลาขี่รถไม่นาน ถนนหนทางไม่โหดร้ายเกินไป สมัยนั้นยังไม่ฮิตมาก ยังบริสุทธิ์อยู่ ได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ได้เห็นน้ำใจเพื่อน ไปกันประมาณ 10 คัน และชาวบ้านในยุคนั้นจะไม่เหมือนปัจจุบัน ให้การต้อนรับพวกเราดี ล่าสุดนั่งเครื่องบินไป รู้สึกมันไม่ใช่ธรรมชาติอย่างที่เคยไปมาก่อน 

ประสบการณ์กับเพื่อนร่วมแก๊งค์
“แก๊งค์ปัจจุบันก็ไม่สนุกเหมือนสมัยก่อน ซึ่งจริงๆ เป็นทุกวงการที่เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าเชียร์ค่ายตัวเอง เหมือนเล่นกล้อง ยี่ห้อนี้ก็จับกลุ่มเฉพาะยี่ห้อนั้น แบบนี้ไม่สนุก ง่ายๆ นะ จะบอกว่าฝรั่ง ถ้าเราบอกว่าเราชอบเล่นกล้อง ชอบถ่ายภาพ คำถามแรกที่เขาถาม “คุณถ่ายภาพแนวไหน” แต่ถ้าเป็นคนไทย มักถามว่า “ชอบกล้องยี่ห้อไหน” ซึ่งเหมือนมอเตอร์ไซค์ “คุณใช้รถอะไร” ซึ่งมันเป็นเรื่องรอง “คุณชอบขี่แบบไหน ชอบขี่ในเมือง ในป่า หรือไปต่างจังหวัด” พอมีแบบนี้เยอะ ความสนุกในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันมันก็น้อยลง ผมไม่เคยจะแคร์ ในแก๊งค์มีคาวาซากิ ยามาฮ่า ฮอนด้า ดูคาติ ไทรอัมพ์ เยอะแยะไม่เห็นต้องแคร์ ดีเสียอีกได้ประสบการณ์หลากหลาย ตัวเองถ้ามีโอกาสก็อยากลองไทรอัมพ์ แต่ตอนนี้กลายเป็นค่ายดูคาติไปเฉพาะดูคาติ คาวาซากิไปเฉพาะคาวาซากิ ดูแล้วไม่ค่อยดีเท่าไหร่”

 
รถคันใหม่ในฝัน
“มีเงินก็ซื้อนะ ยุคนี้มันยุคของญี่ปุ่น แม้กระทั่งสปอร์ตเร็วสุดก็เป็นนิสสัน GTR ไม่ใช่ Lamborghini, Ferrari แล้ว และราคาถูกกว่า 3 เท่า เหมือนกับรถมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้ญีปุ่นมาเพราะเทคโนโลยี ญี่ปุ่นจะมีการบาลานซ์ในเรื่อง Price และ Performance ถ้าใช้รถยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันเนี่ยะ เป็นประเทศที่ Over Engineer คือต้นทุนไม่สำคัญ แต่ทำให้ Performance ดีที่สุด ต้องให้ได้แบบนั้น ในขณะที่ญี่ปุ่นเอาต้นทุนมาก่อน ถ้าต้นทุนถูกแล้วค่อยมาหาวิธีพัฒนา Performance ให้มันดี กลับกันกับเยอรมัน เพราะฉะนั้นสังเกตให้ดี รถยุโรปทุกคันค่าดูแลรักษาแพง เพราะเอา Performance มาก่อน แต่ญี่ปุ่นเอาต้นทุนมาก่อน เพราะฉะนั้นต้นทุนปุ๊บ มันสามารถทำให้การสึกหรอน้อย ซึ่งถ้าไปคุยแบบนี้กับค่ายดูคาติ เขาก็จะหาว่าเราไม่จงรักภักดี แต่ในความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

แนวคิดสำหรับคนที่ชอบความเร็วหรือสนใจจะเล่นรถมอเตอร์ไซค์แบบพรีเมี่ยม
“มันเหมือนสิ่งมีชีวิต เราอาจจะเลี้ยงสัตว์ แล้วมองเครื่องยนต์กลไกเป็นสิ่งไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ความเป็นจริง ถ้าคุณคิดว่ามีชีวิตจิตใจ มันจะอยู่กับคุณไปนาน และก็มีความผูกพันกับมัน ถ้าคุณใช้มันเป็นแค่เครื่องยนต์กลไก ก็ไม่ผูกพัน หลายคนใช้แต่ไม่เคยดูแลรักษา พังแล้วค่อยเอาไปซ่อม ก็อยู่กันไม่นาน และเวลาไปไหนมาไหนเราก็ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าดูแลมันใกล้ชิด คิดเสียว่าเป็นเหมือนสุนัขตัวหนึ่ง เราจะรู้ว่าวันนี้สุนัขของเรามันแปลกๆ นะ ขามันเป๋ เอ๊ะ วันนี้ทำไมมีควันขึ้นมา ตรงนี้น่ะ ปกติไม่มี ถ้าเรารู้มากกว่านั้น เช่นผมวันนี้ควันมาก คนชี้กันใหญ่ แต่โอเค เรารู้ว่าน้ำมันเครื่องหยด ไม่มีอะไร เรารู้ไง เรารู้มัน เพราะฉะนั้นเราขี่ เราจะรู้ถึงความผิดปกติ ผิดปกติเพราะอะไร ซีเรียสไหม เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมัน”

ทริปต่อไปที่คิดไว้
“ตอนนี้ไม่คิดเรื่องทริปไกลแล้ว อาจจะเรื่องของวัยส่วนหนึ่ง แต่คิดทริปใกล้ๆ ไว้ แล้วอยากพาลูกไปด้วย อย่างทุกวันนี้ใช้คันนี้เป็นหลัก เพราะตัวมอนสเตอร์ถอดฝาครอบเบาะออกแล้วก็ซ้อนได้ มันจะเป็นเบาะซ่อนอยู่ ซึ่งลูกชอบ แต่ต้องเซฟตี้ให้เขานะ มีหมวกกันน็อคให้เขาแล้ว แต่อุปกรณ์อื่นอาจจะยังไม่มี ก็คืออยากเอาคนที่เรารักไปสัมผัสด้วย”

การขี่รถที่ต้องใช้ความเร็ว ทำให้อารมณ์ร้อนขึ้น….จริงไหม
“ไม่เลย คือถ้าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรถแล้ว เราก็คงไม่เอาอารมณ์ไปลงที่รถ เช่น โกรธเพื่อนมา อยู่ดีๆ เตะหมาตู๊ม! เราไม่ทำ แต่ถ้าเราคิดว่ารถเป็นเครื่องยนต์ ถ้าล้มขึ้นมาเราเจ็บ เขาไม่เจ็บ เราก็จะไม่เอาไปล้ม สำคัญนะ ไม่ใช่เฉพาะรถ ทุกอย่าง เรากลับบ้าน อารมณ์เสียจากงาน ให้ไปลงกับลูกกับเมีย มีสังสรรค์กับเพื่อนแต่เพิ่งทะเลาะกับเจ้านาย เลยเอาอารมณ์ไปลงกับเพื่อน มันไม่ใช่ “ปิดสวิทช์” ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ซึ่งการจัดการที่ดีเป็นเรื่องของแต่ละคน บางคนปิดสวิทช์ไม่เป็น ก็ต้องหาทางระบายอย่างอื่น ซึ่งก็ต้องไปหากิจกรรมของตัวเอง บางคนไประบายกับกีฬา ถ้ากับเหล้าก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เปลือง แต่สรุปทุกคนต้องมีการระบายแต่ดีสุดคือไม่ต้องระบาย ปิดสวิทช์ก็จบ อย่างตัวเองปัจจุบันด้วยวัยทำให้ขับรถช้าลง สมัยวัยรุ่นคึกคะนอง ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็เอาไม่อยู่จริงๆ ตอนนี้ก็ยังมีขับเร็วอยู่ 200 ขึ้น แต่ต้องชัวร์จริงๆ คือถนนโล่ง รถไม่เยอะ แต่ถ้ารถเยอะต้องไปปาดหน้าคนอื่น ไม่ทำ”


ในด้านของครอบครัว ภรรยาเคยห้ามให้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไหม
“ถ้าลูกเราจะใช้ชีวิตอย่างเรา เราต้องมั่นใจว่าเขารู้จักกฎ เราต้องมั่นใจว่าเราสอนเรื่องราวความปลอดภัยให้เขารู้จักเซฟตี้แล้ว เรื่องนี้ก็เหมือนกัน คือเป็นความไว้วางใจว่าเรารู้เรื่อง เรารู้จักดูแลตัวเอง คือถ้ามีอะไรเกิดขึ้นคือ เราเต็มที่แล้ว เรารองรับเต็มที่แล้ว ทั้งหมวก ทั้งเสื้อ ซึ่งวันนี้ก็ต้องฝากมือใหม่ด้วย ตอนนี้มีเยอะ แต่ไม่ค่อยมีอุปกรณ์ป้องกันกันเลย อันนี้น่ากลัว พวกนี้เผลอประมาทไม่ได้”

และนี่คือไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจของผู้บริหารหนุ่ม ที่จัดสรรเวลางานและเวลาส่วนตัวกับกิจกรรมความเร็วที่ชื่นชอบได้อย่างลงตัว


สัมภาษณ์ / เรียบเรียง โดย มาดามเอ๊กซ์

LastUpdate 10/03/2557 16:22:34 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:21 am