“ผมขับรถเร็วเมื่อจำเป็น” คือคติของ คุณอนุวัชร อินทรภูวศักดิ์ Deputy Managing Director – Autohaus Bavaria Company (ABC) ซึ่งบริหารรถ 4 แบรนด์หรู เบรนเล่ ปอร์เช่ จาร์กัว และดูคาติ นอกจากนี้ยังมี INT (อินท์) คอมมูนิตี้มอลล์อีกหนึ่งแห่งที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นธุรกิจคนละแบบแต่เชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว เพราะเวลาคนที่จะมาคอมมูนิตี้มอลล์ก็แวะมาดูรถได้ คนที่มาดูรถก็สามารถที่จะไปนั่งกินอะไรที่คอมมูนิตี้มอลล์ได้ ถือเป็นแนวคิดแบบรอบด้านจริงๆ ดังนั้น จึงไม่ควรพลาดที่จะรู้จักหนุ่มคนนี้
ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ และวัยเรียน
คุณอนุวัชร เล่าว่า เรียนมัธยมที่สาธิตประสานมิตร จนถึง ม.6 แต่เอนทรานซ์ติดตอน ม.5 คณะศิลปศาสตร์ จิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบจิตวิทยาก็ไปทำ Shipping ซึ่งเป็นกิจการของที่บ้านก่อน 2 ปี จากนั้นก็อยากพัก เลยไปเรียนปริญญาโทใบแรก คือ บริหารธุรกิจ MBA มหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์ ระหว่างเรียนที่บ้านก็ไม่ยอมให้ลาออกจากงาน ก็เลยไปเรียนอีกใบเป็นรัฐศาสตร์ สรุปมีปริญญาโท 2 ใบ ช่วงนั้นก็เลยได้ออกจากงาน Shipping แต่พอออกมาอยู่เฉยได้ไม่นานก็ต้องมองหางานหาเงินเพราะที่บ้านไม่ได้ให้เงินแล้ว แล้วตอนนั้น BMW Thailand กำลังเข้ามาในประเทศพอดี ที่บ้านก็ไปซื้อกิจการมาบริหาร ช่วงนั้นก็เลยไปสมัครงานเป็นเสมียนในกลุ่มนี้ พอได้ทำปุ๊ป ปรากฏว่าวันหนึ่งมีโทรศัพท์สายหนึ่งเข้ามาแล้วไม่มีคนรับสาย เลยรับให้ ซึ่งปรากฎว่าเป็นลูกค้าจะโทรมาซื้อรถ คุยไปคุยมาก็เลยขายรถได้ 2 คัน นับเป็นความโชคดีมาก และหลังจากโทรศัพท์สายนั้น ผู้บริหารหนุ่มเลยไม่ได้ออกจากวงการรถอีกเลย โดยเริ่มจากเสมียนมาเป็นเซลล์ จากเซลล์เป็นผู้จัดการ
หลังจากนั้นพอเราทำมาถึงจุดหนึ่ง ก็มาทำ ABC ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เน้นทำในตลาดพรีเมี่ยม แต่ว่ามากว่านั่นหมายถึง ปกติในช่วงทีผ่านมามีคนนำเข้าอิสระรถอยู่เยอะจริงๆ เราสามารถทำได้ทุกแบรนด์เหมือนกัน เหมือนคนอื่นเขาทำ แต่เราเลือกที่จะทำ Focus Brand มากกว่า ด้วยกลยุทธ์ Customer Oriented คือต้องรู้จริง สามารถที่จะเซอร์วิสลูกค้าได้จริงในรถที่เรามี ไม่งั้นเราจะไม่ทำเลย ยกตัวอย่าง ถ้าตอนนี้ผมไปเอารถเฟอรารี่เข้ามา แต่ถึงเวลาเราไม่มีความรู้ในการที่จะบำรุงรักษารถจริงๆ สมมติผมรู้จักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คนรวยกลุ่มนี้ขายรถให้ที่ผ่านมาทุกคัน ทุกคนแฮปปี้กันมาตลอด ถึงเวลาจริงๆ เราขายรถคันหนึ่งที่เราเซอร์วิสไม่ได้ออกไป เซอร์วิสไม่ได้ แล้วผมก็บอกให้ไปหาอู่ที่เซอร์วิสได้ทำเอาแล้วกัน หรือผมอาจจะลองทำแบบงูๆ ปลาๆ ดู คนซื้อรถราคาขนาดนี้ ก็ไม่มีใครแฮปปี้ พอลูกค้าพวกนี้ไม่แฮปปี้เนี่ยะ นอกจากที่เราจะขายต่อเนื่องไม่ได้แล้ว อาจจะยิ่งเสียลูกคค้าในกลุ่มเดียวกันนี้ออกไปอีกมากกว่า เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่เรามองจึงค่อนข้างเป็น Long Term มากกว่า คือ เรายอมรับว่าไลน์การทำของเรา เราทำรถยนต์แค่ 3 แบรนด์ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนอีนๆ แมสกว่าเยอะ แต่เราทำในสิ่งที่เรารู้จริง รถทุกคันที่ ABC ขาย เราสามารถเซอร์วิสได้ เราถึงทำ
ย้อนไปตอนขายรถได้คันแรก
ตอนนั้นอายุ 21 ปี กำลังจะจบปริญญาโท และเริ่มทำงานจริงๆ คือ 19 เพราะจบปริญญาตรีเร็ว แล้วไปทำ Shipping 2 ปี ก่อนออกไปเรียนประมาณปีหนึ่ง แล้วก็ทำงานนี้ ซึ่งช่วงที่ขายรถได้ มันก็ตื่นเต้นดี เพราะใน ความคิดผมตอนนั้น ให้ผมซื้อรถคันละ 2 – 3 ล้าน รู้สึกว่าเอื้อมไม่ถึง รู้สึกว่าไม่มีเงิน คือแบบไม่มีทางซื้อได้ และคนที่ซื้อได้ต้องเป็นคนที่แบบเก่งจังเลย เพราะพอเราได้มีโอกาส ที่สำคัญที่สุดได้มีโอกาสรู้จักคนกลุ่มนี้ ทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น เพราะคนพวกนี้เก่ง ข้อดีของการทำงานคือได้เจอกับลูกค้าที่มีกำลังซื้อขนาดนี้ มักไม่ใช่คนธรรมดา
แสดงว่าจะพูดได้ว่าการขายครั้งนั้นจบที่เราคนเดียว
ใช่ครับ ก็ชวนลูกค้าเข้ามา แต่คงเป็นที่ลูกค้าก็มีความพร้อมที่จะซื้อด้วย ซึ่งก็นานเหมือนกันกว่าจะการขายจะจบ ก็เหนื่อย แต่โชคดีตรงที่ว่าพวกเขาชอบเรา เขาก็เลยแนะนำให้เพื่อนและญาติอีก มันก็เลยขายต่อเนื่อง 2 – 3 คันในช่วงนั้น กรรมการผู้จัดการตอนนั้นเห็นว่าเราก็พอมีแววอยู่เหมือนกันนี่นา ไม่ใช่เป็นแค่เสมียนทำเอกสารที่ทำเป็นแต่ตารางประกันภัย ใบราคา หรือเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เซลล์เพียงอย่างเดียว
แล้วจากวันนั้น เราต้องเรียนรู้งานเพิ่มเติมยังไงบ้าง
สำคัญมากครับ เพราะการทำธุรกิจรถยนต์เป็นธุรกิจที่มี detail ในรถเยอะมาก คือผมมีโอกาสหลังจากที่จบปริญญาโท 2 ใบ ผมมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศชื่อ Europium Business School เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์โดยเฉพาะปีหนึ่ง พอไปเห็นที่นั่น เรารู้เลยว่าคนที่นั่นมีโอกาส คือความรู้ของเขาในเรื่องรถนี้เยอะจริงๆ อย่างคนไทยจะขายของ มักจะขายในรื่องของแบรนด์ เช่น รถเบนซ์นำเสนอกันแค่ว่านี่เป็นเบนซ์นะ รุ่นใหม่นะ แต่จริงๆ แล้วในรายละเอียดของรถแต่ละคันจะมีจุดแข็งของแต่ละรุ่น และถ้าคนขายมีความรู้จริงๆ ผู้ซื้อจะมีความเข้าใจในแบรนด์มากขึ้น และมีโอกาสในการตัดสินใจเลือกรถที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้นที่ถามว่าจะต้องค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เราอย่างลึก และก็สามารถเทียบกับคู่แข่งได้ด้วย ยกเว้นจะขายแบบสมัยก่อน เอาแค่บอกรุ่นนี้มาแล้ว เอาไหม ไม่ต้องบอกว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้าง เพราะซื้ออยู่แล้ว และอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก เราเป็นผู้ชาย ถ้าไม่รู้จริงเรื่องรถ เวลาขายรถจะไม่เหมือนผู้หญิง เพราะผู้หญิงอาจบอก “ขอโทษนะคะ คันนี้นั่งแล้วดูดีจัง แต่ละเอียดขอแจ้งทีหลังนะคะ” ผู้ชายทำไม่ได้ ซึ่งผู้ชายจำเป็นต้องรู้จริง ก็สอนลูกน้องที่เป็นผู้ชายว่า “ถ้าเลือกจะขายรถแล้ว ต้องรู้จริง ไม่งั้นคนเขาจะดูถูกได้”
พูดถึงคู่แข่งในธุรกิจ
เอาจริงๆ เยอะ ในตลาดพรีเมียมมันค่อนข้างเล็กก็คงมีคู่แข่งอยู่แล้ว แบรนด์ไหนพรีเมียมก็เป็นคู่แข่งเรา แต่ว่าจุดแข็งของเราก็มี คือเราอย่างที่บอกว่า ตอนนี้มีการนำเข้าอิสระรถ ซึ่งขายรถแบบไม่สนใจว่าจะบริการยังไง ซึ่งเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราทำแบบ Focus Brand ทั้งหมด และทั้งหมดที่เราทำนี้สามารถซ่อมได้ รถเสียมายังไงก็ตามเราสามารถทำเรื่องบริการได้หมด ผมเชื่อว่างานขายมันเริ่มต้นจากบริการหลังการขายมากกว่า คือถ้าบริการหลังการขายดี เราดูแลเค้าได้ เวลาเค้าเกิดปัญหา เค้าคิดถึงเรามากกว่าการที่แบบตอนแรกๆ ใครๆ ก็ทำได้ตอนขายรถ ที่เจอกัน มีรถสวยจอดอยู่ “สวัสดีครับพี่ เดี๋ยวผมลดราคาให้” อย่างงั้นอย่างงี้ ขายรถตรงนั้นไม่ยากเลย แต่ที่ยากที่สุดคือการที่ทำให้ เพราะ Life Cycle ของรถ รถไม่ใช่ของที่ไม่เสีย พอเอาไปเดี๋ยวมันเสีย ต้องทำนู่นทำนี่ จดทะเบียน บริการ ขายต่ออีก อะไรแบบนี้ เราพยายามดูแลลูกค้าให้ได้ในทุกๆ ช่วง ภาษามาร์เก็ตติ้งเรียกว่า Moment of Truth เปรียบเหมือนชีวิตแต่งงาน เช่น ช่วงจะไปขอ ขอยังไงให้ประทับใจ พอขอไปแล้วต้องเลี้ยงดูยังไง รักษาความสัมพันธ์อย่างไร ดูแลกันจนถึงตายกันไปข้างหนึ่ง เหมือนครบรอบแต่งงานมีของขวัญให้มั๊ย ถ้าไม่มี ที่ชอบๆ กันอยู่ก็อาจไม่ประทับใจได้ แต่ว่าถ้าถามว่าพอทำไปจุดหนึ่งแล้ว สิ่งที่เห็นคือ จริงๆ มีคนไทยจำนวนมากที่เก่งเรื่องรถยนต์ ยิ่งทำยิ่งสนุก ได้เจอคนพวกนี้ คนเก่งทั้งนั้น
คิดว่ากว่าจะขายรถพรีเมียมได้คันหนึ่งขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
คิดว่าขึ้นอยู่กับเรา ลูกค้าของผมคนหนึ่งซื้อรถไม่ต่ำกว่า 3 คัน ส่วนใหญ่นะ น้อยมากจริงๆ ที่จะเกิดปัญหาที่ไม่แฮปปี้ เพราะคิดว่าเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง เราก็พยายามแก้ปัญหานั้นในทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิด Repeat Customer เพราะตลาดเราพรีเมียมมันเล็ก สิ่งสำคัญอยู่ที่การซื้อซ้ำมากกว่า
มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร
ก็มีไปขับรถออกทริปกับพวกเพื่อนๆ ที่ใช้รถเหมือนกันบ้าง เพราะตอนนี้ก็พยายามจะออกทริปมอเตอร์ไซค์ให้ได้ ตั้งใจว่าจะพยายามเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มกับทีมให้ได้ เพราะมอเตอร์ไซค์ค่อนข้างยากกว่า ต้องมีการเตรียมตัวมากกว่า
ตอนนี้ใช้รถอะไร และส่วนใหญ่ใช้คันไหน เพราะอะไร
มีปอร์เช่ BMW และมอเตอร์ไซค์ดูคาติ ส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซค์ และก็ชอบแต่งรถ ซึ่งจริงๆ อยากจะลองทำธุรกิจเกี่ยวกับตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้กำลังดูอยู่ทั้งรถและมอเตอร์ไซค์ กำลังจะขยายไปพวก Accessories คือตอนนี้ธุรกิจรถยนต์ เราเหมือนผมขายไลฟ์สไตล์มากกว่า อย่างจากัวร์เป็นไลฟ์สไตล์ของผู้บริหาร ปอร์เช่ก็เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ชอบความเร็ว ชอบคุณภาพของสินค้า ส่วนเบรนลี่ก็เป็นอีกตลาดพรีเมียมอีกรายหนึ่ง ดูคาตินี้ก็เป็นไลฟ์สไตล์ชัดๆ เลย ตลาดของดูคาติตอนนี้ขยายมาก จากที่ผมจำได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขายได้ปีละ 12 – 13 คัน ตอนนี้ขายได้เกือบ 2 พันคันแล้วทั่วประเทศ คนไทยปัจจุบันนี้มีความสนใจใน Big Bike มากขึ้น และตอนนี้ก็เป็นธุรกิจที่กำลังจะมาประกอบในประเทศ มีรถ CKD (Completely Knocked Down: รถที่ผลิตภายในประเทศ) พอมาประกอบในประเทศราคามันก็ตกลงมา มีเรื่องภาษีช่วยเข้ามา ตอนนี้รถก็เลยจะถูกลง เริ่มต้นแค่ 390,000 เอง ก็ขายง่าย สูงสุดถึง 2 ล้านก็มีถ้าเป็น Limited Edition จริงๆ
รถมอเตอร์ไซค์ เวลาจะเลือกว่าจะใช้ยี่ห้อไหน ต้องดูอะไรบ้าง
ก็มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 2 สูบ 4 สูบ เครื่องยนต์เยอะมาก มีประเภทตั้งแต่ Sport Duo มี Sport Sport เป็นเหมือนขับทางขรุขระได้ เป็น Touring เค้าเรียกกันแบบนี้ เดินทาง หรือเป็นแบบครุยส์ มอเตอร์ไซค์ต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเองว่าชอบอะไร และถ้าคนที่ชอบแต่งรถ จะมีทั้งแต่งสวย แต่งเครื่อง ได้หมดเลย แต่งเซฟตี้ก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะผมจะแต่งเกี่ยวกับเรื่องที่เน้นความสวย เพราะเรื่องเซฟตี้คันนี้มันมีเกือบทุกอย่างแล้ว
ใช้รถมอเตอร์ไซค์สีอะไรอยู่ และใช้คันไหนมากกว่ากัน
สีแดง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของดูคาติ แต่ที่ใช้ประจำเป็น BMW series 3 Touring ซึ่งเป็นรถที่ใช้ขับไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน
ทริปมอเตอร์ไซค์ที่คิดเอาไว้ว่าจะไปกับเพื่อน จะเป็นแบบไหน
ตั้งใจจะไปแชงกรีล่า ประเทศจีน ซึ่งอันนี้เป็นสุดยอด Destination ของคนขี่มอเตอร์ไ.ซค์ แต่ทักษะของผมตอนนี้ยังไปไม่ได้ ก็พยายามจะลองดูว่าจะทำได้ไหม จะไปฝึกอยู่ ต้องจัดทีมให้มีรถขับตามไปด้วยเผื่อเกิดอุบัติเหตุ เราก็พยายามจะให้มันพร้อมที่สุด เพราะต้องปีนเขาขึ้นทางขรุขระ ซึ่งไม่ได้เป็นทางไปง่ายๆ แต่ถ้ารถยนต์ไปไม่บ่อยอยู่แล้ว เพราะง่ายหน่อย ไปได้หมด ตอนนี้ก็มีไปทานข้าวพัทยา หัวหิน ไปเช้าเย็นกลับ หรือไปเชียงใหม่ ไปอีสาน ก็ไปได้หมด ก็คือใช้เวลาช่วงเสาร์อาทิตย์ ลูกค้าก็เป็นเหมือนเพื่อนๆ กัน ตอนนี้มีกลุ่มรถยนต์ประมาณ 9 คน ส่วนกลุ่มมอเตอร์ไซค์เป็นลูกค้าเสียเยอะ แต่ถ้าเป็นกลุ่มกันจริงๆ ก็มีประมาณ 7 – 8 คน แต่ว่าที่จะไปอาจจะเป็นทริปที่จอยกับลูกค้าด้วย ซึ่งตอนนี้ลูกค้าเราเยอะจริงๆ แต่คิดว่าค่าใช้จ่ายทริปน่าจะประมาณ 20,000 บาทรวมทุกอย่าง ก็คงไปกันง่ายๆ ก็ขี่ไป แต่ต้องพักบ้างเพราะเป็นมอเตอร์ไซค์
จากงานที่ต้องอยู่กับแบรนด์ไฮเอนด์และลูกค้าระดับสูง ชีวิตส่วนตัวจริงๆ เป็นอย่างไร
เป็นคนง่ายๆ ติดดิน ถือว่าโชคดีมากกว่าที่ได้ทำแบรนด์ดี เพราะพวกนี้ไม่จำเป็นต้องหัวสูง ง่ายๆ สบายๆ เพราะเวลาไปทริปก็กินนอนง่ายๆ และผมว่าลูกค้าของผม แม้แต่ปอร์เช่ เบรนเล่ ทุกคนถึงเป็นเศรษฐียังไงก็ตาม ที่ผมรู้จักคนพวกนี้ค่อนข้างน่ารักและติดดินมาก เป็นคนง่ายๆ ดีทุกคน มารยาทดีจริงๆ เขารวยจริงเขาจะไม่คุย บางคนแต่งตัวง่ายๆ ขาสั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงให้ใครเห็น เขาชอบรถเพราะเขาชอบจริงๆ ไม่ได้ขับเพราะสถานะ
ถ้าให้ลองเปรียบรถเหมือนซุปเปอร์สตาร์
ถ้าเป็นดูคาติ มันเป็นอะไรที่ดูสปอร์ตๆ ซึ่งไม่รู้จะถูกหรือเปล่า อาจเปรียบเหมือนเบคแฮม ซึ่งเป็นอะไรที่ Fashionable ด้วย นอกจากที่เขาจะดูดีธรรมดา แล้วก็เป็นอะไรที่สปอร์ต เป็นนักกีฬา แต่ที่สำคัญคือดูดี เป็นอิตาเลียนสไตล์ที่ล้ำด้วยดีไซน์
หลักการบริหารธุรกิจ
หลักการแรกคือ มีบริหารหลังการขายนำ และพยายามคิดถึงลูกค้าตลอด Life Cycle พยายามรักษาลูกค้าไว้ให้มากที่สุด สองคือช่วงราคาของการขายของ เรามีตั้งแต่ราคา 20 - 30 ล้านก็มี ไหลมาถึง 399,000 บาท แถมเราทำ Used Car ด้วย ศูนย์ซ่อมเราก็สามารถซ่อมรถยุโรปอื่นๆ ได้ เราก็มีคาร์แคร์ และตอนนี้ก็อยากทำธุรกิจ Accessories รถและมอเตอร์ไซค์ ซึ่งผมได้ศึกษาเรื่องรถอย่างจริงจัง สิ่งที่น่าทึ่งมากเกี่ยวกับเรื่องรถอย่างหนึ่ง รถเป็นการพูดถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และแสดงให้เห็นเลยว่าจริงๆ แล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่เก่งมาก คือ รถมีวิวัฒนาการมาตลอด เริ่มวิ่งตั้งแต่มี 3 ล้อ ขึ้นมาเป็น 4 ล้อ เริ่มมีโช้ค มีอะไรขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่ง ผมจำได้ผมอายุ 21 เคยคิดว่ารถเนี่ยะมันคงไม่มีทางที่จะมีเทคโนโลยีอะไรได้มากแล้ว แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีประหยัดน้ำมันขึ้น ลดโลกร้อนได้ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถม Performance ก็ยังดีเหมือนเดิมด้วย มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เทคโนโลยีเกียร์ใหม่ๆ ทำให้เปลี่ยนได้เร็วขึ้น มันไม่หยุดจริงๆ เป็นอะไรที่ไดนามิคมากสำหรับธุรกิจรถยนต์ พัฒนาไปเรื่อยๆ และแม้แต่ยักษ์ใหญ่ในอดีต ถ้าไม่พัฒนาตนเอง อย่างรถอเมริกัน มันก็จะค่อยๆ หายไปจากตลาด และก็เกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมาเรื่องยอดขาย และญี่ปุ่นก็ขึ้นมาเป็นต้น มันไดมานิคมาก เราต้องปรับตัวให้ทัน
เทรนด์ธุรกิจรถยนต์อีก 10 ปีข้างหน้า
ผมคิดว่าเทรนด์ก็คงเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน และพลังงานสะอาด ซึ่งก็เอาใจช่วยว่าวันหนึ่งอยากเห็นค่ายสปอร์ตเหล่านี้สามารถที่จะเอาน้ำเปล่าเติมเข้าไปสกัดออกมาเป็นไฮโดรเจน ซึ่งมันทำได้จริงๆ บางที่ทำแล้ว แต่อาจมีผลเรื่องความปลอดภัยถึงยังไม่ปล่อยออกมา หรือใช้แบบรถไฟฟ้าก็ได้ แต่ว่าเรื่องพวกนี้มันก็คงจะต้องเป็นการพัฒนา ไม่ใช่แค่บริษัทรถอย่างเดียว คงเป็นทั่วโลกต้อง Support พร้อมๆ กัน เช่น ปัจจุบันรถต้องเติมน้ำมัน ถ้าวันหนึ่งมีรถไฟฟ้าออกมา ประสิทธิภาพดีมาก แต่ไม่รู้ว่าจะไปชาร์จแบตที่ไหน จะไปเติมไฟที่ไหน มันก็ต้องมีปั๊มไฟฟ้าเกิดขึ้นด้วย มันต้องมีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยพวกนี้เกิดขึ้นด้วย ถ้าทำได้พร้อมๆ ก็เป็นเรื่องดี ดังนั้น เทรนด์ต้องไปเรื่องอีโคแน่นอน ทั้งประหยัดน้ำมัน ทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็อีกอันหนึ่งที่จะเป็นเทรนด์ในความคิดผมก็คือ ตลาดที่จะขยายคือตลาดพรีเมี่ยม แล้วก็ตลาดแมสเท่านั้น พรีเมี่ยมคือต้องมีจุดขาย มีข้อเด่นยังไงแล้วก็ขายได้ในมาร์จิ้นที่ค่อนข้างสูง ราคาแพง กับอีกฝั่งก็ต้องเป็นแมสแบบโดนใจคนไปเลย เหตุผลเพราะว่าใครก็ตามที่ติดอยู่ตรงกลางเนี่ยะ จะพรีเมี่ยมก็ไม่พรีเมี่ยม จะแมสก็ไม่แมส มันจะตายหมดเลยในตลาด มันจะสกรีน Player อยู่แค่นั้น
มองว่าเรื่องของ Demand, Supply ในขณะที่โลกก็เปลี่ยน คนก็เปลี่ยน การผลิตที่ดูจะง่ายขึ้น ของจะถูกลดระดับให้เข้าถึงรถพรีเมี่ยมได้มากขึ้นหรือไม่
มีโอกาสครับ เอาเรื่องเทคโนโลยีก่อน แต่ก่อนระบบ keyless มีเฉพาะรถพรีเมี่ยม ปัจจุบันรถแมสก็มี คือเทคโนโลยีจะถูกลง แต่ทีนี้กลุ่มคนพรีเมี่ยมก็คงต้องขยับไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ Performance ความสวยงาม เทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไปไม่แน่อาจจะมีมือออกมานวดเลยก็ได้ หรือต่อไปอาจจะมีระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง คือรถยนต์ฉลาดพอที่จะพาคนขับไปในที่ที่ตัวเองต้องการได้ ก็มีโอกาส
การรับคนทำงานเรื่องเซอร์วิส เลือกยังไง
คนที่เซอร์วิสคือต้องมีประสบการณ์ และต้องมีการส่งไปเทสต์ ไปอบรม และอย่างที่บอก เราใช้หลักโฟกัสแบรนด์ เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องเซอร์วิสเป็นสำคัญ ถ้าเราทำหลายแบรนด์รวมอยู่ในโชว์รูมเดียวกัน แล้วเราเซอร์วิสได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เราแจ้งลูกค้าไปว่าเราสามารถซ่อมได้หมด ยกตัวอย่างที่เพื่อนๆ ไปซื้อจากที่อื่น บางทีรถเสียบอกซ่อมไม่ได้ในเมืองไทย ต้องส่งไปซ่อมสิงคโปร์ ซ่อมเสร็จใส่เรือกลับมา ถึงเวลาเสียอีก ต้องส่งกลับไปสิงคโปร์อีก ค่าใช้จ่ายก็สูง คือปกติซื้อไปแล้ว เวลารถเสียควรจะต้องมาซ่อมที่อู่ได้ เพราะการส่งไปต่างประเทศ ซ่อมผิดซ่อมถูกมาก็ลำบาก คือง่ายๆ ถ้าไม่มีเซอร์วิสก็ไม่ควรซื้อ ไม่ว่ารถจะดีขนาดไหน ซึ่งตรงนี้เรามีประสบการณ์มากว่า 11 ปีแล้ว
คติประจำใจในการทำงาน
คติของผมคือ Give more than take ก็คือเราให้ก่อน เป็นคติที่ที่บ้านสอนมา คนจะอยู่กับเรา รักเรา เราต้องรู้จักให้ เพราะคนส่วนใหญ่ก็อยากจะได้อะไรก่อนอยู่แล้ว และถ้าเรารู้จักให้ก่อน เราให้คนนี้ 60 เราได้ 40 คนอาจจะมองว่าเราซื่อบื้อจัง อาจจะมีคนบอกว่ามาทำธุรกิจกับคนนี้ซิ ไม่ต้องทำอะไรเลยได้ตั้ง 60 เค้าได้แค่ 40 แต่ทีนี้ถ้าสองคนมาคุยกับผม ผมได้เท่าไหร่แล้ว จาก 40 + 40 เป็น 80 คือผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการที่ทุกคนต้อง win win คือเราควรมีน้ำใจที่จะ “ให้” ก่อนที่จะ “รับ” แต่ก็ต้องดูคนที่เราจะให้ด้วยเหมือนกันว่าเป็นยังไง แต่ปกติก็จะ win win คือ Give more than take ก่อนในช่วงแรก ยิ่งธุรกิจรถยนต์ พนักงานที่ทำงานถือว่าสำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่เป็นหัวใจที่จะทำบริษัทสามารถที่จะดึงลูกค้า retention กลับมาอยู่ได้ จริงๆ พนักงานไม่ใช่แค่ customer satisfaction ที่เราต้องดู มันต้องเป็นดู Employee satisfaction ด้วยเหมือนกัน
ปัจจุบันมีพนักงานกี่คน และมีแรงจูงใจอะไรที่ทำให้พนักงานอยู่กับเรานานๆ อย่างไร
ทั้งหมดก่อนมีประมาณ 50 คน ถ้ารวมทุกธุรกิจเข้าด้วยกัน ของเราเป็นไฮบรีด อยู่แบบมีกฎเกณฑ์การวางแผนการทำงาน ไม่ได้เป็นธุรกิจแบบอาเสี่ยมาทำเอง นึกจะทำอะไรก็ทำแบบนั้น ทุกอย่างมี function มี Role มีหน้าที่ของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่ใหญ่มากๆ จนกระทั่งแบบว่าจะเข้าพบ CEO ต้องใช้เวลานัดพบก่อนเป็นวัน คือคิดว่าผสมผสานกันมากกว่า คืองานทุกอย่างก็ต้องมีการวางแผน ขณะเดียวกันถ้ามีอะไรก็ปรึกษาได้ตลอดเวลา เหมือนเป็นครอบครัวกันไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วการทำงานสไตล์ครอบครัว Asian way นี้ไม่ผิดนะ เราอย่าไปทำให้เหมือน Western หมด ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมเรา ดูแห้งไป
เวลาทำงานได้ใช้สิ่งที่เรียนมาบ้างหรือไม่
ได้ใช้บ้าง แต่จริงๆ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นข้อดีหรือไม่ดี ได้ใช้หมด เพราะว่าทั้งจิตวิทยา บริหารธุรกิจ และรัฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ผสมผสาน interactive เกี่ยวข้องกันหมด สามารถใช้ในงานบริหารได้หมด แล้วแต่ว่าจะใช้ในแง่มุมไหน อยู่ที่เราจะหยิบขึ้นมาใช้มากกว่า
ในเรื่องไลฟ์สไตล์นอกจากไปเที่ยวกับเพื่อน ทำอะไรอีกบ้าง และมองเรื่องการมีครอบครัวอย่างไร
ยังไม่ได้ทำอะไร ส่วนเรื่องครอบครัวที่บ้านก็อยากให้มี แต่ผมคิดว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่แต่งงานช้ากว่าแต่ก่อน เพราะมีโอกาสที่จะเลือกที่เหมาะสมกับตัวเรา เพราะถ้าจะมีทั้งทีอยากจะเจอคนที่แบบตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วอยากอยู่ด้วย ถ้าไม่เจอแบบนี้ อยู่คนเดียวก็อยู่ได้ อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น สมัยก่อนคนคิดว่าต้องแต่งงานถึงจะเริ่มต้นชีวิต แต่ผมเชื่อว่าทุกวันนี้เราก็มีชีวิตที่มีความสุขอยู่แล้ว คือถ้ามีคนที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้นได้ก็โอเค แต่ถ้าไม่ได้มากขึ้น ไม่รู้จะแต่งทำไมเหมือนกัน
การดูแลแฟน กับการดูแลรถ เหมือนและต่างกันอย่างไร
มีส่วนคล้ายกัน ต่างกันอย่างเดียวก็คือว่าแฟนเป็นสิ่งมีชีวิต ความต้องการบางทีมันจะถูกซ่อนอยู่ แต่รถจะตรงไปตรงมา คือต้องการเซอร์วิส ถ้าเรารู้ว่าต้องการอะไร มันจะเป็นขั้นตอนของมัน ขอให้ละเอียดอ่อนพอ แต่ว่าคนจะมากกว่านั้น แม้แต่ว่าขั้นตอนในการ maintain ปกติแล้วจีบกันต้องทำยังงี้ ซึ่งอาจจะครบถ้วนแล้ว แต่อาจจะมีน้อยใจกันเพราะว่าเราละเลยเรื่องนี้เรื่องนั้น ก็คือง่ายๆ สิ่งมีชีวิตก็ต้องให้ความละเอียดมากกว่า แต่ที่แน่นอนคือ ถ้าเราใส่ใจ Outcome ไม่ว่าจะคนหรือรถก็ตาม มันก็จะดีกับเรา มันก็คือ the be there สำหรับเรา
ความสนใจด้านกีฬา
แต่ก่อนเด็กๆ เล่นเทควันโด และเตะฟุตบอล แต่โชคร้ายที่เอ็นเข่าฉีก ทำให้เล่นกีฬาประเภทนี้ไม่ค่อยได้เหมือนเดิม แต่ก็พยายาม พอดีที่คอมมูนิตี้ มอลล์ มีพวกออกกำลังกาย พวกมวยมาเปิด ก็คิดว่าจะกลับไปเล่นอีกครั้ง แต่ปัจจุบันก็เล่นฟิตเนสอยู่แล้วที่คอนโด
พูดถึงธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์
ตั้งอยู่พระราม 3 ระหว่างซอย 38 กับ 40 ข้างโชว์รูมรถเลย ร้านค้ากำลังทยอยเปิด อยู่บนพื้นที่ 4 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 10,000 ตร.ม. พื้นที่ขาย 6,000 ตร.ม. ก็เป็นคอมมูนิตี้แห่งแรกและแห่งเดียวของถนนเส้นพระราม 3 ซึ่งก่อนที่จะเปิดที่นี้เราใช้เวลาศึกษากว่า 2 ปี ทั้งเรื่องประชากร income, household income ว่าคนแถวนั้นอยากได้อะไร จนกว่าเราจะมั่นใจเราถึงเปิด ระยะยาวคิดว่าร้านค้าที่จะมาเปิดกับเราก็ไปได้ดีพอสมควร ซึ่งอยากได้แบรนด์ที่ดีๆ ที่คนแถวนั้นอยากได้ อย่างพวกร้านอาหารซีฟู้ด ร้านอาหารที่เน้นครอบครัวมากๆ เพราะคนแถวนั้นจะเป็นสไตล์ครอบครัว ที่เหลือก็ทยอยเปิดอยู่
กลยุทธ์ของเราคือ เราพยายามเอาร้านค้าทั้งหมดที่เป็นมืออาชีพ และแตกต่างจากห้าง สรุปเลยคือ แข่งกับห้างใหญ่โดยสร้างความแตกต่าง ถ้าเรามีร้านค้าที่เหมือนกับในห้าง ลูกค้าก็ไปห้างดีกว่า เพราะฉะนั้นปัจจัยหลักมี 2 อย่างคือ Convenience เดินทางง่าย จอดรถสะดวก อยู่ใกล้คอมมูนิตี้ คนแถวนั้นมาทำกิจกรรมด้วยกัน และอีกอันคือ Difference ate ร้านค้าของเรามักจะไม่มีอยู่ในห้างเลย และเป็นร้านค้าที่ Unique มาก เช่น ร้านขนม After You ร้านปิ้งย่าง Yuu ร้านญี่ปุ่นก็ร้านคัสตาร์ด ซึ่งอาจแตกต่างกับร้านของ ZEN ของ Fuji แต่เป็นแบรนด์ที่แยกออกมา
มองแทรนด์ของคอมมูนิตี้อย่างไร เพราะปัจจุบันมีเยอะมาก
คิดว่าเทรนด์ก็คงขยายต่อไป เพราะก็มีคนอยากทำ อยากมีคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นคนเฉพาะที่ทำการบ้านมาอย่างดีเท่านั้น เพราะเป็นธุรกิจที่ยากมาก และยากที่สุดเท่าที่ทำธุรกิจมา เพราะนอกจากคู่แข่งแล้ว คือเรากำลังเล่นกับความชอบของคน ไลฟ์สไตล์ของคน คือบางคนอาจจะชอบกินแบบนี้ แต่พอผ่านไป 2 – 3 ปี อาจจะไม่ชอบแล้ว อาจจะเบื่อ แต่ร้านค้าไม่ได้เปลี่ยนได้เหมือนรถ รถจะมีรุ่นใหม่ๆ ออกมา ไม่ชอบก็มีรุ่นใหม่ออกมา แต่นี่ทำยังไงถึงจะรองรับความต้องการของคนท้องถิ่นได้ตลอดเวลา เพราะความต้องการและเทรนด์มันเปลี่ยนได้เรื่อยๆ
การที่ต้องเกี่ยวข้องกับรถและความเร็วให้อะไรกับตัวเองบ้าง
ผมขับรถเร็วเมื่อจำเป็น ความจำเป็นของผมคือ ถ้าผมรีบจะไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะเมื่อไหร่ที่รีบ มันจะมาพร้อมกับความผิดพลาด ถ้าเกิดอยากจะขับรถเร็ว จะขับตอนอารมณ์ดี ถ้าอารมณ์เสีย จะไม่ขับรถเร็ว เพราะว่าถ้าหากว่าเมื่อไหร่ก็ตาม เราไม่ concentrate โอกาสผิดพลาดก็มีสูง และเมื่อเกิดขึ้นมันไม่ใช่เสียหายแค่ทรัพย์สิน มันอาจจะเป็นชีวิตด้วย
“ขับเร็วใครๆ ก็ขับได้ แต่ขับเร็วแล้วให้ปลอดภัย ไม่ใช่ทุกคนทำได้” และนี่คือคำทิ้งท้ายของผู้บริหารรุ่นใหม่คนนี้
สัมภาษณ์ / เรียบเรียง โดย มาดามเอ๊กซ์
ข่าวเด่น