ชีวิตที่มุ่งมั่นของผู้บริหารหญิงนักวางแผน แห่ง 'เทสโก้ โลตัส'




สลิลลา สีหพันธุ์ จากงานแอร์ไลน์ สู่ ผู้หญิงแถวหน้าในองค์กรค้าปลีกชั้นนำของเมืองไทย "เทสโก้ โลตัส"
 
 
“ภูมิใจที่ได้มาอยู่เทสโก้ โลตัส เพราะได้ทั้งทำงานและทำบุญ ได้ทำงานเพื่อสังคมและชุมชน”
 
 
นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารหญิงคนเก่ง คุณสลิลลา บอกกับเราแม้เธอเพิ่งก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในองค์กรนี้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ปัจจุบันเธอเป็น รองประธานกรรมการ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลึกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส  อะไรทำให้เธอคิดอย่างนั้น เป็นปริศนาที่น่าคิด…
 
 
 
 
จากสาวน้อยสตรีวิทยาสู่สาวหน้าใสในรั้วจามจุรี
 
คุณสลิลลาเล่าว่า ครอบครัวของเธออยู่ที่ลพบุรี คุณพ่อคุณแม่ไปทำธุรกิจที่นั่น ร่ำเรียนโรงเรียนอนุบาลลพบุรี ก่อนมาเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยาในเมืองหลวง โดยเลือกเรียนเอกภาษาเยอรมันเพราะเป็นคนชอบความต่าง ไม่ชอบทำอะไรเหมือนใคร  
สมัยนั้นไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย เพราะเป็นเด็กตั้งใจเรียนมาก เรียนอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหน อาจเพราะเป็นลูกคนโตจึงมีความรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่ได้บังคับ ปล่อยให้รับผิดชอบตัวเองและอยู่กับญาติด้วย ใช้เวลาอ่านหนังสือมากกว่า โดยเช่านิยายมาอ่าน ทำให้ได้เปิดโลกทรรศน์ ใช้เวลาเป็นประโยชน์
จากนั้นสอบเอนทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2532 และได้เลือกเรียนวิชาเอกเยอรมันต่อเนื่อง วิชาโท ภาษาอังกฤษ ก็ยังคงไม่ได้ทำกิจกรรมอีกเหมือนเดิม เลือกเรียนคณะนี้เพราะเห็นว่า มีคะแนนสูง เพราะสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครแนะแนวมากนัก หวังว่า จบออกมาแล้วจะได้มีงานทำและมุ่งมั่นเรียนอย่างเดียว ไม่ทำกิจกรรม เป็นเด็กตั้งใจเรียนมาก ๆ คนอื่นเขาอ่านกัน 1 รอบ เราต้องอ่าน 3 รอบ
 
หลังเรียนจบชั้นปีที่ 4ได้ทุนของภาควิชาภาษาเยอรมันให้ไปฝึกงานที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 3 เดือน 
ได้เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตของชาวเยอรมัน จริง ๆก็ตอนนี้เอง เราได้เรียนรู้ว่า ชีวิตต้องมีการวางแผนมาก ๆได้เรียนรู้ไลฟ์สไตล์ของคนที่นั่นว่าเขามีระเบียบแบบแผนมาก ทุกอย่างต้องมีการวางแผน อย่างเช่น วันอาทิตย์เป็นวันหยุด ร้านค้าจะปิดหมด หากไม่วางแผนไว้จะไม่มีอะไรทาน
 
สิ่งที่ได้จากการไปอยู่ที่นั่น คือ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตโดยไปอยู่สำนักพิมพ์เรียนรู้การทำงาน ช่วยเก็บข้อมูลและ..”ดมซิการ์ฟรี” (หัวเราะ) เพราะคนที่นั่นสูบกันหนักมาก นอกจากนี้ยังได้ฝึกดื่มเบียร์ คนที่นั่นดื่มเบียร์กันมาก น้ำดื่มปรกติเขาดื่มน้ำก็อก ในตู้เย็นไม่มีน้ำ จึงทำให้ดื่มเบียร์เก่ง ไปงานไหนมีฝรั่งเขาถามดื่มอะไรไหม ไม่เอา คนอื่นเขานั่งดื่มไวน์กันสวย ๆ แต่ดิฉันดื่มเบียร์เป็นเหยือก ๆ” 
 
หลังฝึกงานเสร็จแล้วคุณสลิลลาได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ณ มหาวิทยาลัยไอโอวา สาขาการสื่อสารองค์กร นับว่าเป็นอีกครั้งที่เลือกไปเรียนในที่ที่ไม่มีใครไป โดยเธอให้เหตุผลว่า เลือกไปอยู่รัฐไอโอวาเนื่องจากมีคนไทยน้อย ในมหาวิทยาลัยมีไม่ถึง 5 คน  เพราะตั้งใจไปฝึกภาษาจริง ๆ เนื่องจากเคยเห็นคนไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะไปคบกันเอง จึงคิดว่า ต้องบังคับตัวเอง
 
 
 

ชีวิตการทำงานของเธอเริ่มที่งานสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ สถานที่ทำงานแห่งแรกที่ถือว่า เป็นผู้ปลุกปั้นเธอมากับมือเลยทีเดียว
 
เมื่อจบมาแล้วกลับเมืองไทย โชคดีได้เข้าทำงานกับบริษัทที่ดีมีระบบแบบแผนอย่าง สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เป็นเวลา 5 ปี โดยตำแหน่งที่สมัครครั้งแรกคือ ตำแหน่งผู้บริหารฝึกหัด(Management Trainee) ซึ่งได้รับการฝึกฝนเพื่อให้เป็นผู้บริหารจริง ๆ เป็นเวลา 1 ปี โดยวนเวียนทุกแผนกเพื่อเรียนรู้งาน จากนั้นปีที่ 2 ต้องไปเป็นหัวหน้าคน ที่มีลูกน้องมากถึง 30 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์สูงเป็นงานที่ยากมาก เพราะไม่มีความรู้ด้านเทคนิคที่เขามีเลยและทุกคนทำงานมานาน ทำให้เป็นงานที่ท้าทาย แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีทำให้ได้ฝึกเป็นหัวหน้าคนตั้งแต่เด็ก
 
หลังทำงานเป็นเวลา 3 ปี เธอได้มีโอกาสได้ไปประจำที่สำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ 2 ปี ทำด้านการตลาด ได้ทำงานกับคนเก่ง แต่ละคนมีปริญญาคนละ 2-3 ใบ เมื่อทำงานได้ประมาณ 5 ปี จึงอยากเปลี่ยนงานบ้างและได้ย้ายไปอยู่ที่บริษัท DHL บริษัทขนส่งสินค้า ทำงานด้านมาเก็ตติ้ง เหมือนเดิม และมีโอกาสได้มีส่วนร่วมปรับปรุงภาพลักษณ์หรือรีแบรนดิ้งของบริษัทด้วย
 
ต่อมาสิงคโปร์แอร์ไลน์จะตั้งสายการบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ คือ ไทเกอร์ แอร์เวย์ ที่เมืองไทย จึงต้องการให้ คุณสลิลลามาช่วยงาน เธอจึงกลับมาที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ อีกครั้งและมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะได้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานที่การท่าอากาศยานต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่  ภูเก็ต หาดใหญ่ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เธอทำทุกเรื่องตั้งแต่การยื่นทำใบอนุญาตการบิน การเจรจาต่อรองตลาดบินและต่อรองราคาด้านกระจายตลาดจน ไทเกอร์ แอร์เวย์ อยู่ตัวแล้วประมาณ 1 ปี จึงโบกมือลาอีกครั้ง เนื่องจากมองว่า การทำงานของโลว์คอสต์แอร์ไลน์หรือสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่ต้องจ้างพนักงานมากนัก ด้วยทุกอย่างใช้ระบบออนไลน์ ทุกอย่างเป็นการจ้างหน่วยงานภายนอกหรือเอาท์ซอร์ซ 
หลังจากนั้นบ้านแห่งใหม่ได้แก่ ธนาคาร เอชเอสบีซี (HSBC) ซึ่งทำอยู่เกือบ 7 ปี ด้านรีเทล แบงกิ้ง ประชาสัมพันธ์และมาร์เก็ตติ้ง ก่อนย้ายมาอยู่บ้านหลังปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส
 
" ภูมิใจที่ได้มาอยู่ที่นี่ เพราะได้ทั้งทำงานและทำบุญ ได้ทำงานเพื่อสังคมและชุมชน"
นั่นคือสิ่งที่เธอบอกกับเรา แม้เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของ โลตัส ได้เพียง 2 ปี 
 
 
 
 
เธอได้ย้ายค่ายจาก ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น หรือ  ธนาคาร HSBC  มาอยู่บ้านใหม่ เทสโก้  โลตัส หลังจากอยู่มานาน 7 ปี เนื่องจากมีเพื่อนรุ่นพี่รายหนึ่งย้ายมาทำที่นี่ก่อนเลยย้ายบ้าง แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้เธอได้ผ่านสมรภูมิฝึกปรือฝีมือการบริหารมาหลายสำนัก ล้วนเป็นองค์กรชั้นนำ มีระบบที่แข็งแรง มีหนังสือตำราธุรกิจอ้างถึงอยู่เป็นประจำ ทำให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการบริหารมามากมาย แต่ทว่าเมื่อมาอยู่ เทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นธุรกิจขายสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้เธอได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม
 
ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า "เทสโก้ โลตัส" หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า "โลตัส" เป็นอีกชื่อหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มยอดนิยมของผู้บริโภค เพราะ "โลตัส" เป้นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทย มีธุรกิจ 5 หลักใหญ่คือ พลัส มอลล์ , เอ็กซ์ต้า , ไฮเปอร์มาร์เก็ต , ตลาดเทสโก้ และ เอ็กซ์เพรส  มีสาขากว่า 1,000 สาขา มีพนักงานกว่า 45,000 คน ทั่วประเทศ  สำนักงานใหญ่ของ เทสโก้ โลตัส อยู่ที่ประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกชั้นนำของโลกที่มีศูนย์การค้ากว้า 6,500 สาขา ใน 13 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งหมดกว่า 500,000 คน มีกลยุทธในการปรับรูปแบบธุรกิจ ตามไลฟ์สไตล์ของท้องที่นั้นๆ จึงทำให้ได้รับความนิยมในทุกพื้นที่ๆมีสาขาของ โลตัส เปิดให้บริการ 
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นงานที่ท้าทายสำหรับสาวมั่นอย่าง คุณสลิลลา  หน้าที่สำคัญของเธอคือ การดูแลเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กร  โดยรวมถึงการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stake Holders)ทั้งหมด ตั้งแต่ภาพลักษณ์องค์กร การสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง การดูแลภาพลักษณ์ที่ลูกค้าจะมองเทสโก้ โลตัส ว่าเป็นอย่างไร เรื่องของชุมชน เรื่องของสังคมในภาพใหญ่ องค์กรภาครัฐ องค์กรอิสระต่าง ๆ ว่า เทสโก้ โลตัส จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของเขาได้อย่างไร เป็นงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR 
และสุดท้ายที่ต้องสื่อสารด้วยคือ การดูแลพนักงานขององค์กรที่มีอยู่มากกว่า 50,000 คน 1,400 สาขา ซึ่งทำให้เทสโก้ โลตัส ถือเป็นองค์กรระดับต้น ๆ ที่มีการจ้างงานมากที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้ ซึ่งต้องดูแลการสื่อสารให้มีความเข้าใจไปในทางเดียวกัน
 
โดยในการทำงานนั้นคุณสลิลลาบอกกับเราว่า เธอเน้นการทำงานเป็นทีมจะไม่สั่งอย่างเดียว แต่ต้องฟังลูกน้องด้วย เพื่อให้ได้อะไรใหม่ ๆ ต้องฟังซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันต้องจ่ายงานให้ลูกน้องให้เหมาะกับความสามารถของเขา  ไม่กดดันเพราะงานจะไม่เดิน แต่จะใช้วิธีดึงจุดดีมาใช้ แก้ไขจุดด้อย โดยจะหาวิธีแก้ไขให้งานเดินได้ เพราะทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกเรื่อง การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกน้องมีความสุขในการทำงาน ทุกคนมีความสุข การบริหารจะต้องปรับเปลี่ยนทีมตลอดเวลา ดูแลโครงสร้างถ้าไม่ได้ผลก็ต้องปรับ
 
 
ก่อนจะมาทำที่เทสโก้ โลตัส มองภาพลักษณ์องค์กรว่า คงจะขายของเหมือนร้านค้าปลีกทั่วไป ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนหรือลึกซึ้ง พอได้มาสัมผัส ทำงานจริง ๆ แล้วจึงคิดว่า โชคดีแล้วที่ได้มาอยู่ที่นี่ เพราะมีโครงสร้างการบริหารงานที่แข็งแรงมากวิธีการบริหารงานที่สุดยอดในหลาย ๆ เรื่อง เช่น มีการบริหารจัดการภายในร้านที่มีสาขานับพันมากสาขา เรื่องระบบการกระจายสินค้าและการทำการตลาดที่ไม่เป็นรองใคร องค์กรความรู้แน่นมาก
ที่สำคัญยังเป็นองค์กรที่ใส่ใจเรื่องของชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสด้วยนโยบายจริง ๆ  ให้เม็ดเงินไปทำงานจริง ๆ เพราะแม้เราจะเป็นผู้บริหารที่เก่ง แต่ถ้าองค์กรไม่เห็นด้วย ไม่ให้โอกาส…ก็ทำไม่ได้”
 
 “365 วันทำดีเพื่อชุมชน”
คุณสลิลลาเล่าว่า  เทสโก้ โลตัส สนับสนุนให้พนักงานทำงานเป็นอาสาชุมชน เพื่อให้พนักงานทำความดี นับชั่วโมงทำความดี ให้รวมกลุ่มกันทำความดีช่วยเหลือชุมชนว่า 1 ปี ได้เท่าไหร่ เป็นกิจกรรมที่เดิมใช้ชื่อเรียกว่า “ 1 ล้านชั่วโมงทำความดี” ซึ่งเป็นการเก็บชั่วโมงกันเฉย ๆ แต่พอครบล้านแล้วได้เปลี่ยนชื่อกิจกรรมมาเป็น “365 วันทำดีเพื่อชุมชน” เพื่อกระตุ้นให้พนักงานไปทำมากขึ้น โดยมีแบบฟอร์มให้พนักงานกรอกเพื่อบอกว่า  ไปทำอะไรมาบ้าง โดยให้ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เป็นสิ่งที่สร้างความภูมิใจในองค์กรนี้ เพราะเป็นการทำจริง ๆ ไม่ได้พูดแต่ปาก เริ่มทำในปีที่แล้ว 
 
“การทำตรงนี้ยังทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากว่า คนรุ่นใหม่เวลาเขามองหางาน เขาจะเลือกด้วยว่า เป็นองค์กรที่ดีของสังคมหรือไม่ เพราะการได้ทำงานในองค์กรที่ดีช่วยสร้างความภูมิใจแก่พวกเขา ในแง่ขององค์กรก็จะได้ประโยชน์ในการดึงดูดคนที่ดีเข้ามาทำงานด้วย สมัยนี้มีหลายบริษัททำแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยากให้แข่งกันทำสิ่งที่ดีเพื่อสังคม ดีกว่าไม่มีใครทำ”
 
คุณสลิลลากล่าวต่อว่า “การทำงานกับเทสโก้ โลตัส ถือว่าโชคดีเพราะทำงานไป ได้ทำบุญไปด้วย ช่วยทั้งเศรษฐกิจและชุมชน  นอกจากนี้การที่ เทสโก้ โลตัส เป็นองค์กรใหญ่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนโยบายหรือกิจกรรมที่ทำออกไปจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่า องค์กรที่มีขนาดเล็กกว่า โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งทำเรื่องคนพิการซึ่งเป็นโครงการร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เปิดพื้นที่ร้านค้าให้คนพิการมาขาย ที่เรียกว่า ร้านค้าชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการ เพื่อให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเปิดที่แรกที่ เทสโก้ โลตัส สาขาปทุมธานี  เป็นการช่วยที่ทำเป็นนโยบายเลยไม่ใช่ทำฉาบฉวย ช่วยประสานแต่ละหน่วยงาน ทำแล้วเห็นผลจริง
สำหรับร้านค้าชุมชนดังกล่าว มีบริการและสินค้าประกอบไปด้วย การนวดแผนไทย โหราศาสตร์ จัดดอกไม้สด และดอกไม้ประดิษฐ์ สินค้าหัตถกรรม เสื้อผ้า และผ้าไทย ซึ่งผลิตโดยผู้ปกครองเด็กออทิสติกและเด็กออทิสติก 50 ครอบครัว จากชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก จังหวัดปทุมธานี
 
 
กิจกรรมยามว่าง “เก็บน้องหมา” กับคู่ชีวิตที่รู้ใจ  
 
เห็นชีวิตมีแต่งานและงานอย่างนี้ ผู้บริหารหน้าใสท่านนี้ยังปลีกเวลายามว่างที่มีอยู่ไม่มากนักที่ทำให้หลายคนเห็นแล้วต้องอึ้งและทึ่งไปตาม ๆ กัน นั่นคือ การไปเก็บสุนัขจรจัด หรือช่วยเก็บน้องหมาไปส่งยังบ้านที่รับเลี้ยง โดยไปกับคู่ชีวิตที่รู้ใจหรือบ้างก็ไปกับเพื่อน ๆ ร่วมก๊วนใน “ชมรมคนรักหมา” ด้วยกัน และเป็นสปอนเซอร์ช่วยผู้ที่เลี้ยงสุนัขเดือนละ  200 บาท  ส่วนกิจกรรมอื่น ๆเป็นการอ่านหนังสือหรือไปดูหนังกับคู่ชีวิต 
 
“ทำเรื่องน้องหมามานานพอสมควร เนื่องจากสงสาร นอกจากนี้ปู่ย่าตายายสอนมาไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ทานเนื้อสัตว์ สามีก็ช่วยด้วยซึมซับไปจากเรา ดีใจที่ตอนนี้เป็นกระแสสังคม ทำให้มีคนเอื้อเฟื้อช่วยเหลือสัตว์เพิ่มขึ้น เป็นกระแสสังคมที่ดี”
 
 
พร้อมกันนี้ได้เล่าไปถึงคุณสามีที่เป็นคนรู้ใจด้วยว่า มีโอกาสได้พบกันเนื่องจากทำโครงการ CSR ด้วยกันเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่ HSBC โดยทำโครงการห้องสมุดสีเขียว ซึ่งเป็นอาคารประหยัดพลังงานที่ตั้งใจสร้างให้ได้มาตรฐานสากลของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า LEAD ที่ต้องได้ใบประกาศนียบัตรรับรอง จึงต้องจ้างอาจารย์ที่ปรึกษามาช่วยซึ่งได้จ้างอาจารย์ที่ปรึกษาด้านพลังงานจากภาควิชาสถาปัตยกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา ได้ทำงานด้วยกันจนพัฒนามาเป็นคนรู้ใจในที่สุด   
 
“สามีเป็นคนทำงานมากเหมือนกัน จึงเข้าอกเข้าใจกัน มีความคิดเห็นที่ตรงกัน ใช้ชีวิตอยู่เป็นเพื่อนกัน” 
ถือเป็นคู่ชีวิตที่น่ารักอีกคู่หนึ่ง ใช้ชีวิตราบเรียบไม่หวือหวา ซึ่งคุณสลิลลาบอกว่า การใช้ชีวิตของเธอไม่มีอะไรมากมาย เพียงยึดถือคำสอนหลักๆ ไว้ 2-3 เรื่องก็เพียงพอแล้ว ซึ่งได้แก่ การรักษาสติอยู่กับตัว รักษาศีลให้ดี ไม่ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คดโกงใคร ทำบุญทำทานบ้าง สวดมนต์บ้างนิดหน่อย ใช้ชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป  เธอบอกว่าใครจะนำไปเป็นแบบอย่างบ้างก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์
 
และนี่คือ สลิลลา สีหพันธุ์  รองประธานกรรมการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ 
บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด 
ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) เทสโก้ โลตัส 
 
 
ขอขอบคุณ
สถานที่ : ร้านพอลลาเนอร์การ์เด้นท์

LastUpdate 17/09/2556 20:41:49 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:22 am