" Work Life Balance อย่าทำแต่งาน...จนลืมคนที่รัก
ประโยคนี้อยู่ในใจผมเสมอ" กุฎาธาร นาควิโรจน์
ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์
ใครที่เป็นคอละครทีวีหลังข่าวคงจะพอจดจำละครชุดดัง ”สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ฮิตสนั่นทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้กันได้ โดยเฉพาะตอน “คุณชายปวรรุจ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพี่ชายรองของสุภาพบุรุษจุฑาเทพทั้งห้าหรือ ม.ร.ว.ปวรรุจ จุฑาเทพ ที่มีดีกรีเป็นถึงท่านทูตอนาคตไกลของกระทรวงการต่างประเทศต้องไปประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์และได้พบกับท่านหญิงคนรักที่เคยเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่วัยเด็ก นับเป็นตอนที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสบรรยากาศของความรัก ความโรแมนติกท่ามกลางดินแดนที่สวยงามอย่างสวิตเซอร์แลนด์
ละครตอนดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสกับบทบาท “นักการทูต” ที่ดูโก้หรูและมีเกียรติ ซึ่งทำให้คุณผู้หญิงหลายรายฝันหวานอยากจะเป็นภริยาท่านทูต ในขณะที่มีผู้ชายอีกไม่น้อยเหมือนกันที่หวังจะเป็นท่านทูต ซึ่งถือเป็น 1 ในอีกหลายอาชีพซึ่งผู้ชายใฝ่ฝันที่จะก้าวไปให้ถึง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสและทำได้ แต่มีบางคนกลับละทิ้งโอกาสความก้าวหน้าที่จะไต่ระดับถึงตำแหน่งสูงอย่าง “เอกอัคราชทูต” ไปอย่างน่าเสียดาย เขาคนนั้นที่เราจะพูดถึงในวันนี้ คือ คุณกุฎาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ แห่ง บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์ นั่นเอง ที่ก้าวออกจากสายอาชีพราชการมาโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรค้าปลีกภาคเอกชนมากว่า 2 ปี นับจากเดือนพฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม “ชีวิตที่มีความสุขขึ้น” เป็นเครื่องการันตีถึงความสามารถสร้างความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ได้ ไม่แพ้สายงานราชการ
เส้นทางชีวิตของผู้บริหารบิ๊กซีท่านนี้ น่าจะให้แง่คิดและแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตของคนยุคดิจิตอลในปัจจุบันได้เป็นอย่างมาก
นักเรียนระดับหัวกะทิ-ได้ทุนศึกษาต่างแดนถึงปริญาเอก
คุณกุฎาธาร หรือ ดอน หนุ่มนักบริหารไฟแรงวัยเพียง 38 ปี แห่งบิ๊กซีเล่าถึงชื่อเสียงเรียงนามแปลก ๆของตัวเองว่า “กุฎาธาร” เป็นภาษาบาลีแปลว่า “ยอดมนุษย์” คุณปู่เป็นคนตั้งใหญ่ น้องสาวอีก 2 คนมีชื่อว่า กิติรัตน์และกิติทิพย์ จึงได้ชื่อว่าเป็นครอบครัว ก.ไก่ สาเหตุเกิดจากการมองการณ์ไกลของคุณปู่ที่มีประสบการณ์ว่า ชื่อของตัวเองเป็น “ส.เสือ” ตอนรับปริญญาต้องรอนานมาก ดังนั้นการตั้งชื่อ “ก.ไก่” จะได้รับปริญญาก่อน ทำให้ไม่ต้องรอนาน
ส่วนชื่อเล่นว่า “ดอน” ของเขา เป็นชื่อที่ตั้งชื่อตามเมือง “ลอนดอน” ในอังกฤษซึ่งเป็นสถานที่เกิด เพราะคุณพ่อคุณแม่แต่งงานแล้วไปเรียนต่อที่นั่น ก่อนเดินทางกลับเมืองไทยในขณะที่คุณดอนมีอายุได้เพียง 4 ปี
เมื่อมาใช้ชีวิตในไทยคุณพ่อคุณแม่ให้ คุณดอน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียน ก่อนไปต่อชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตปทุมวันและเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.5 สามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ แต่คุณแม่ไม่ให้ไปเรียน โดยต้องการให้เรียนจบชั้นม.6 ก่อน ซึ่งหลังจบม.6 ปรากฏว่า เขาสามารถสอบชิงทุนการศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นทุนที่ให้ไปเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Duke ในรัฐนอร์ธแคโรไลน่าของสหรัฐ
ในช่วงที่เรียนระดับปริญญาตรี คุณดอน ได้เลือกเรียนสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อน แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นด้านบริหารคู่กับการตลาด เพราะคิดว่า การเรียนด้านเศรษฐกิจ ในอนาคตน่าเกี่ยวข้องและช่วยงานกระทรวงต่างประเทศได้มากกว่า ต่อมาได้เรียนปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (Public Policy) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำนโยบายอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ การสื่อสารให้เป็นที่รับทราบและเผยแพร่ และการพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น
เมื่อเรียนปริญญาโทจบแล้ว คุณดอนไม่คิดเรียนต่อถึงระดับปริญญาเอก เพราะมองว่า ต้องเรียนอีกนานถึง 5 ปี และรู้สึกว่าในระยะเวลา 5 ปี เขาน่าจะทำอะไรที่ได้ประสบการณ์มากกว่านั้น จึงมุ่งมั่นทำงานเลยและบอกเรื่องนี้กับคุณแม่ ซึ่งใจจริงท่านอยากให้เรียนต่อ ด้วยอยากเห็นลูกมีความก้าวหน้าเป็นถึงท่านทูตในอนาคต เหมือนหลาย ๆ คนในตระกูล
“ ถือเป็นการตัดสินใจที่ขัดใจคุณแม่อยู่บ้าง เพราะในมุมมองของคุณแม่กลัวว่า ในระยะยาวเราจะก้าวหน้าไม่ทันเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันที่มีประมาณ 10 คนและเรียนต่อปริญญาเอกกันทั้งหมด แต่ได้บอกย้ำกับท่านว่า เราตัดสินใจดีแล้วและอยากจะทำงาน โดยจะทำให้คุณแม่เห็นให้ได้ว่า ผมจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้คนอื่น ๆ “
เก็บเกี่ยวประสบการณ์กระทรวงต่างประเทศ
จากนั้นไม่นานคุณดอนได้ก้าวสู่ชีวิตการทำงานรับราชการในกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศในไทย โดยในสมัยนั้นได้เป็นผู้ช่วย คุณกอบศักดิ์ ชุติกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นนักการทูตที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถสูง โดยคุณดอนต้องเรียนรู้ภาระหน้าที่รับผิดชอบที่หนักอึ้งพอสมควร
“ภายในหน่วยงานมีกองต่าง ๆ 4 กอง ทั้งดูเรื่องการเจรจา ความตกลงระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเจรจาทางเศรษฐกิจในกรอบสหประชาชาติ(UN) กรอบเอเปค(APEC) กลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มคาบสมุทรอินเดียและกลุ่มแปซิฟิก การส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กองสนับสนุนธุรกิจไทยให้ไปดำเนินการในต่างประเทศ การจับคู่ค้าขายกับประเทศต่าง ๆ การช่วยเหลือภาคเอกชนในการทำธุรกิจหรือค้าขายกับต่างชาติได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการสนเทศเศรษฐกิจหรือให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งงานเหล่านี้มาอยู่ที่ผม โดยต้องมาสรุป วิเคราะห์และติดตามประเด็นต่าง ๆ ก่อนส่งให้อธิบดี นอกจากนี้ยังมีงานเตรียมประเด็น ร่างสุนทรพจน์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจให้กับผู้บริหารกระทรวงฯ ทำให้ได้เรียนรู้เห็นภาพกว้างเกี่ยวกับเศรษฐกิจ”
คุณดอนยังเปิดเผยด้วยว่า การมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วย ผู้ติดตามอธิบดีกอบศักดิ์ยังช่วยให้ได้ความรู้หลายอย่าง เนื่องจากท่านเป็นนักการทูตที่มากความสามารถ เป็นคนที่ต้องให้สัมภาษณ์บ่อย ๆ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการพูด ที่จะต้องพูดให้กระชับ ต้องละเอียดและต้องตรงจุดในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ข้อมูลต้องแม่น ต้องเตรียมข้อมูลให้ครอบคลุมหลายอย่างเผื่อไว้หากมีการสอบถาม รวมถึงการมีบุคลิกที่ดีและการพูดในที่สาธารณะ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เคยเรียนไปแล้วในสมัยเรียนปริญญาโท
จากนิวยอร์กถึงแอฟริกาใต้
หลังทำงานได้ 2 ปี ทางกระทรวงฯส่งไปประจำ คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐต่ออีก 5 ปี ซึ่งหน่วยงานใหม่เปรียบเสมือนสถานทูตไทยที่อยู่ในองค์การสหประชาชาติ(UN) มีหน้าที่เป็นผู้แทนประเทศไทยในการไปหารือในด้านต่าง ๆ ร่วมกับผู้นำของประเทศอื่นอีก 190 ประเทศในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้ เพื่อกำหนดข้อมติ นโยบายหรือแนวทางออกมาเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติใช้ โดยเป็นการพูดคุยกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย งบประมาณ การบริหาร การปรับปรุงการบริหารของยูเอ็นและความมั่นคง ดูว่าใครมีความเห็นเป็นอย่างไรและทำเป็นแนวทางออกมา
นอกจากนี้ยังมีอีกงานหนึ่งที่คุณดอนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบได้แก่ การดูแลผู้ใหญ่และพระบรมวงค์ศานุวงศ์ที่เสด็จไปเกือบทุกเดือน ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดมาก
“ต้องนึกกันเป็นรายนาทีไปเลยว่า นาทีนี้ท่านจะลงรถประตูไหน จะต้องเจออะไรบ้าง ทำหน้าที่ตรงนี้ ทำให้มีความละเอียดรอบคอบ คิดอะไรเผื่อไว้ตลอด รู้จักแก้ปัญหาล่วงหน้า เช่น การไปประชุมต้องถึงเวลานี้ ถ้ารถติดจะทำอย่างไร”
ภาระหน้าที่ต่อจากนครนิวยอร์ก คือ การกลับมาประจำอยู่กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เมืองไทย ซึ่งต้องดูแลงานหลายด้าน ทั้งการเสริมสร้างโอกาสของธุรกิจไทยในประเทศต่าง ๆ ย่านตะวันออกกลาง เอเชียใต้และแอฟริกา รวมถึงการดูแลพี่น้องไทยที่เป็นชุมชนมุสลิม เรื่องภาคใต้และการทำข้อตกลงกับองค์กรอิสลามโลก (OIC) โดยบริษัทที่เคยดูแล อาทิ บริษัท ปตท.สผ.ที่ไปลงทุนในที่ต่าง ๆ เช่น อิหร่าน แอฟริกา อินเดียและบังกลาเทศ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เขาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ทำอยู่ที่กรมเอเชียใต้ฯเป็นเวลา 2 ปี จากนั้นกระทรวงฯได้ส่งคุณดอนไปประจำที่แอฟริกาใต้ต่อ โดยมีภารกิจเน้นไปที่ดูแลธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีและปูนซีเมนต์ไทย รวมถึงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย
“สิ่งที่ผมของานท่านทูตทำ จะพยายามทำงานแปลกใหม่ด้านอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ ทำให้ได้ทักษะหลายอย่าง เช่น การทำงานที่กระทรวงฯ ได้ทำงานด้านสุนทรพจน์ ข้อมูลเศรษฐกิจ การเจรจาทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นงานด้านวิชาการ ที่นิวยอร์กเหมือนได้ทำหน้าที่พูดแทนประเทศไทย ได้ทักษะการเจรจา ต่อรอง เป็นนโยบายที่ขอมาทางกระทรวงฯและนำเสนอเข้าไป นอกจากนี้ยังได้ทำด้านโลจิสติกส์ ที่ช่วยให้มองทุกอย่างอย่างรอบด้าน เมื่อกลับมาไทยก็เป็นปัญหามุสลิม สำหรับแอฟริกาใต้เป็นเสมือนประตูสู่เศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น โมแซมบิค แทนซาเนีย ที่หลายคนไม่เคยไป เพราะมีทรัพยากรมากมาย จึงขอท่านทูตทำประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวบ้าง โดยจัดงานเทศกาลไทย พารายการทีวี รายการท่องเที่ยวที่โน่นมาเมืองไทย ตั้งเป้าให้เพิ่มนักท่องเที่ยวไปไทยให้ได้อย่างน้อย 10% ในปีเดียว ผลปรากฏว่า ประสบความสำเร็จ ทำแล้วปีแรกได้เพิ่มมากกว่า 27% มีการขยายงบประมาณขยายงานเพิ่ม”
น้องหมา “DUKIE” จุดเปลี่ยนชีวิต กลับมาตุภูมิถาวร
คุณดอนสนุกสนานเพลิดเพลินในการทำงาน มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนได้เลื่อนขั้นเป็นระดับซี 7 เป็นคนแรกของรุ่น หลังจากอยู่แอฟริกาใต้เป็นเวลาล่วงเลย 3 ปี ได้เกิดเหตุที่นำไปสู่ “จุดเปลี่ยน” ในชีวิตของ การเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำให้เขาต้องมุ่งหน้ากลับบ้านและกลับมาอยู่เมืองไทยอย่าง”ถาวร”
จุดเปลี่ยนของชีวิต มีที่มาจากน้องหมาคู่ชีพของเขานั่นเอง ซึ่งเป็นน้องหมาพันธุ์ลาบราดอร์สีขาวนวล เพศผู้ มีชื่อว่า “DUKIE” ชื่อเหมือนมหาวิทยาลัย DUKE ที่เคยเรียนป่วยหนักและต้องจากไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว
คุณดอนเล่าว่า “ซื้อเจ้า DUKIE ในช่วงที่เรียนอยู่นิวยอร์ก ในวันที่กำลังเศร้า ผิดหวังเนื่องจากเถียงกับแฟนที่ปัจจุบันเป็นภรรยา คือ คุณจุฑาทิพย์ นาควิโรจน์ โดยในขณะนั้นภรรยาที่คบหาดูใจกันสมัยเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เรียนจบไปก่อนและกลับไปทำงานที่เมืองไทยเป็นบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง เขามีปัญหาโทรบอกว่า วันนี้นายบ่นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาอึดอัด ตอนนั้นผมยังประสบการณ์น้อยก็บอกเขาไปว่า ก็พูดกับเขาซี ชนไปเลย ภรรยาผมก็บอกว่า ผมไม่เข้าใจ เขาพูดไม่ได้ ทำให้กลายเป็นผมกับเขาทะเลาะไม่เข้าใจกันเรื่องงาน และเขาได้บอกกับผมว่า “งั้นเราอยู่ห่าง ๆ กันสักพักก็แล้วกัน” ผมก็น้อยอกน้อยใจ งอน เลยไปเดินตลาดเจอเจ้า DUKIE นั่งตาแป๋ว เลยซื้อมา ตัวละ 1 หมื่นบาท นอนคุยกันทุกวัน บอกเสียใจจังเลยเขาบอกเลิกเรา แต่มันเป็นหมาน่ารัก ตาที่เขามองเรา แสดงให้เห็นว่า เขารักเรา”
เจ้าDUKIE เป็นน้องหมาที่คุณดอนหอบหิ้วไปไหนมาไหนด้วยตลอดไม่ว่าจะไปประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ นิวยอร์กและแอฟริกาใต้ โดยอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานถึง 12 ปี
คุณดอนเล่าต่อว่า ตอนอยู่แอฟริกาใต้ อยู่กับเจ้า DUKIE 2 คน ซึ่งชีวิตประจำวันของคุณดอนมีงานที่ต้องทำมาก ทำงานเลิกดึก กลับบ้านดึก ไม่ต่างจากที่อยู่ในที่อื่น ๆ ดังเช่นที่นิวยอร์ก ต้องทำถึงเที่ยงคืนถึงตี 1 มีประชุมทั้งวัน เสร็จแล้วต้องเขียนรายงานกลับมาทางกรุงเทพเพื่อดูว่า จะต้องคุยอะไรเพิ่ม ยิ่งเวลามีผู้ใหญ่มายิ่งงานหนัก จากเหตุดังกล่าวจึงไม่มีเวลาดูแลเจ้า DUKIE นัก จนหลังจากทำงานเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวได้ตามเป้าแล้ว จึงเริ่มมีเวลาว่าง เลยมีเวลาดูแลเจ้า DUKIE และสังเกตพบว่า พุงป่อง เลยพาไปหาหมอพบว่า มันมีภาวะหัวใจอ่อนแรง เต้นได้ไม่ดีเลยทำให้อวัยวะภายในตับ ไต รวนและหมอบอกว่า มันจะมีเวลาอยู่ได้นานเพียง 3 เดือนเท่านั้น ทำให้ตกใจและเสียใจมาก
“ก่อนหน้านี้เริ่มสังเกตเห็นความผิดปรกติอยู่บ้าง เพราะเวลากลับจากทำงานประมาณ 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืน มันจะมารอที่ประตู ยืนกระดิกหาง แต่บางวันกลับมาไม่เห็นเขา ก็จะเดินไปดูพบว่า มันนอนอยู่นิ่งเหมือนตาย ทำให้ใจหายเคยคิดว่า เขาตาย แต่ไม่ได้คิดอะไรจนกระทั่งพาไปหาหมอ ซึ่งหมอบอกว่า หากดูแลเขาและพบเร็วกว่านี้จะอยู่ได้นานกว่านี้ ก็เลยรู้สึกเสียใจ เพราะเขารักเรา อยู่กับเรามาตั้งนาน แต่เราไม่ได้ดูแลเขาเลย ไม่เห็นค่าหรือสนุกสนานกับเขา มัวแต่ทำงาน พอถึงเวลาที่เราจะดูแลเขา ก็สายไปเสียแล้ว”
เพื่อเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ดูแลเจ้า DUKIE คุณดอนเลยขอท่านทูตว่า งานประสบความสำเร็จแล้ว จะขอเบาลงหน่อยเพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่กับเจ้า DUKIE จากนั้นได้ปรับตัว โดยไปทำงานสายขึ้นประมาณ 9 โมงและกลับเร็วขึ้นจาก 5 ทุ่มเป็นประมาณ 6 โมงเย็นถึง 1 ทุ่มเพื่อมาเล่นกับมัน ในเวลาที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
“หมอบอกว่า จะเอาอย่างไร มียาที่จะช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ แต่อาจมีผลกระทบต่อตับและไต ที่อาจทำให้พลิกไปเมื่อไหร่ก็ได้ หรือจะปล่อยให้ทรงตัวและปล่อยให้เขาไปเอง ก็เลยบอกหมอว่า ขอให้มันได้ใช้ชีวิตเต็มที่แบบที่เคยเป็น เพราะเป็นหมาที่ค่อนข้างแอคทีฟ ชอบว่ายน้ำ ที่บ้านมีสระน้ำแต่ผมไม่ได้เล่น มีแต่หมาลงไปตลอด ชอบกิน กระโดด วิ่งเล่น หลังจากนั้นได้ยามาให้กินและปล่อยให้มันใช้ชีวิตวิ่งเล่นทุกอย่าง ในช่วงเวลา 3 เดือนระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม เขาดีขึ้นจนกลายเป็นเหมือนหมาไม่ป่วยไปเลย จากหมาที่ไม่มีแรงก็วิ่งเล่น ทำอะไรได้ทุกอย่าง
จนอยู่มาวันหนึ่งภรรยาหรือแฟนในขณะนั้นมาเยี่ยมและเตรียมตัวกลับ กำลังเก็บของอยู่บนห้องชั้น 2 เจ้า DUKIE ขึ้นไปหา ซึ่งโดยปรกติมันจะไม่ขึ้นไปเพราะกลัวความสูง แต่มันขึ้นไปและช่วยแพ็คกระเป๋า โดยเอามือจับโน่น จับนี่เหมือนช่วย หลังจากแฟนกลับไปได้ประมาณ 2 วัน เจ้า DUKIE ก็ป่วยหนักจนต้องนอนอยู่กับที่ ซึ่งเป็นไปตามที่หมอเคยบอกว่า ยาช่วยได้แต่จะมีผลต่อตับและไต จึงให้หมอมาดู หมอบอกว่าจะตัดสินใจอย่างไร ให้หมอฉีดยาให้และปล่อยให้เขาไปไหม ซึ่งสุดท้ายยอมปล่อยให้เขาไปในวันที่ 7 โดยตัดสินใจบอกคุณพ่อคุณแม่ บอกน้อง แฟนและคุยกับเขาก่อน และให้คุณหมอฉีดยาเพื่อให้จากไปอย่างสงบ”
การจากไปของเจ้า DUKIE สร้างความเสียใจแก่คุณดอนเป็นอย่างมาก โดยกล่าวว่า “เป็นความผูกพันที่อยู่ด้วยกันมาถึง 12 ปี โดยที่ผ่านมาไม่ได้ให้เวลาเขาอย่างเต็มที่ ทำงานมาถึงบ้านเล่นกับเขาเพียง 2 นาทีก็เข้าบ้าน ในขณะที่เขารอเรามาทั้งวัน ทำให้เริ่มคิดได้ว่า ชีวิตเรานี้กำลังทำอะไรอยู่ ทำงานอยู่กระทรวงต่างประเทศดูดี อนาคตดี ทำให้แม่ได้เห็นแล้วว่า เรียนแค่ปริญญาโทก็สามารถไปได้เร็ว ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้ความฝันที่แม่อยากเห็นลูกไปเร็วในกระทรวงฯได้แล้ว ผมทำงานก้าวหน้ากว่าคนอื่น ๆ ได้ซี 6-7 คนแรกของรุ่น
หากทำงานต่อไปก็เจริญก้าวหน้าด้วยดี ไปเร็วกว่าคนที่จบปริญญาเอก แต่คงต้องทำงานอยู่ในต่างประเทศ อนาคตสามารถทำนายได้ว่า เราจะไปที่ไหนและเราจะทำได้ดีด้วย โอกาสที่จะได้เป็นทูตมีแน่ แต่ทุกปีเราคงต้องอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้อยู่กับแฟน ไม่ได้เจอใคร เพื่อนแต่งงานก็ไม่ได้ไป เพื่อนมีลูกก็ไม่ได้เห็น
เลยคิดย้อนกลับไปว่า ชีวิตเรากำลังจะเหมือนตอนช่วงอยู่กับเจ้า DUKIE หากไปมุ่งมั่นทำงานเพื่อพยายามให้เป็นทูตให้เร็วที่สุด แต่เกิดวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่เกิดปุบปับเสียไปเลย ท่านจะมาดีใจกับเราไหมที่เราได้เป็นทูตและเราจะเสียใจไหมที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้อยู่กับท่าน กลับมาเมืองไทยก็ได้อยู่เพียงปีละ 1 เดือน ซึ่งต้องแบ่งเวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่บ้าง แฟนบ้าง เพียงคนละอาทิตย์ ซึ่ง 1 อาทิตย์ใน 1 ปี ถือว่าน้อยมากสำหรับเวลาที่จะอยู่กับคนที่เรารัก จึงคิดกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวร“
ก้าวสู่สายงานบริหารภาคเอกชน“บิ๊กC”
เมื่อคิดตัดสินใจแล้วว่า จะกลับบ้าน มาอยู่ที่เมืองไทย คุณดอนได้คิดต่อไปอีกว่า หากกลับไปอยู่กระทรวงฯที่กรุงเทพฯ การทำงานจะเป็นงานประจำ ไม่ได้ทำอะไรเหมือนในต่างประเทศ ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันที่ได้แสดงความสามารถให้ผู้ใหญ่เห็น เลยคิดมองหางานในบริษัทเอกชนทำ
“การทำงานกับเอกชนเป็นสิ่งที่คิดมาตั้งแต่เด็กแล้วเพราะคุณพ่อก็ทำธุรกิจส่วนตัว โดยคุณพ่อทำอยู่บริษัทที่ปรึกษา เดิมคุณพ่อเป็นวิศวกรแล้วออกมาทำบริษัทสยามกลการก่อน จากนั้นมาทำโรงงานพลาสติกของตัวเอง พอใกล้เกษียณแล้วก็ปล่อยโรงงานไป แล้วมาทำที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ทำด้านไอที ด้านโลจิสติก แต่ทำเป็นงานอดิเรก เรื่องธุรกิจก็เป็นสิ่งที่เราสนใจก็เลยลองดู แต่ไม่ได้บอกใคร บอกแฟนคนเดียว เพราะคุณพ่อท่านล้มเลิกความตั้งใจนานแล้วว่า ผมจะมาช่วยงาน ตั้งแต่ได้ทุนจากกระทรวงต่างประเทศ เพราะท่านคิดว่า เราคงต้องรับราชการ”
คุณดอนเล่าว่า การหางานในแวดวงเอกชนทำได้โดใช้วิธีหางานผ่านบริษัทรับจ้างจัดหางานหรือ Head Hunter เนื่องจากอยู่แต่ในหน่วยงานราชการเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเพราะไม่รู้ว่า เอกชน ภาคธุรกิจเขาทำอะไร รวมถึงไม่แน่ใจว่า ความรู้ความสามารถของตนจากภาครัฐที่มีอยู่จะนำมาใช้ได้หรือไม่ เช่น ความละเอียดในการร่างข้อมติ การร่างเพื่อเตรียมพูดในที่สาธารณะ ซึ่งต่อมามีที่หนึ่งส่งข้อมูลว่าที่ บิ๊กซีหรือบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีตำแหน่งว่างคือ ด้านสื่อสารองค์กร พร้อมทำรายการมาให้ดูว่า ต้องทำงานอะไรบ้าง เช่น ต้องติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชนซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคย เคยทำในแอฟริกาใต้และที่กรมเศรษฐกิจ งานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility -CSR) อีกงานที่เคยทำในภาครัฐพอสมควรและงานความสัมพันธ์กับภาครัฐ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของตนจึงคิดว่าเป็นโอกาสดีตรงกับเราจึงได้สมัครในตำแหน่งนี้ไป 4-5 ที่และมีตอบรับมา 3 ที่ จึงเปรียบเทียบกันและพบว่า บิ๊กซี ดูเหมือนจะตรงกับตนเองมากที่สุดและได้เข้าไปทำงานในปี 2554 ช่วงเดือนพฤษภาคมโดยมี คุณจริยา จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดเป็นเจ้านาย
หลังคุณดอนเข้าทำงานที่ใหม่ได้ไม่นานก็มีโอกาสได้โชว์ฝีมือในการบริหารจัดการ เมื่อไทยประสบวิกฤตน้ำท่วมใหญ่พอดีในเดือนสิงหาคม ประจวบกับคุณจริยากำลังย้ายกลับ ไปเครือเซ็นทรัลพอดีเพื่อไปทำด้านการตลาดที่เวียดนาม ทำให้คุณดอนเหมือนต้องกระโดดเข้ามารับผิดชอบงานอย่างเต็มตัว เหมือน“วิกฤต บังคับให้วีรบุรุษได้แจ้งเกิด”
“ตอนแรกหวั่นอยู่เหมือนกันเพราะเราใหม่กับองค์กรภาคธุรกิจ แต่อีกด้านก็มองว่า วิกฤตเป็นโอกาส ที่จะทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เราสามารถควบคุมงานใหญ่ ๆ ได้ ตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์กับพี่ ๆ สื่อมวลชน เพราะต้องตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการขาดแคลน ความเพียงพอของสินค้า
นอกจากนั้นบิ๊กซีไม่เคยมองมาก่อนว่า ความสัมพันธ์กับภาครัฐสามารถช่วยได้ เช่น ช่วงน้ำท่วม น้ำดื่มขาด จึงติดต่อไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยติดต่อเรื่องน้ำ หาน้ำจากแหล่งในประเทศ เพราะน้ำในประเทศขาดเนื่องจากไม่มีขวดที่จะใส่ จึงติดต่อไปยังสถานทูตมาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อให้ช่วยหาซัพพลายเออร์น้ำมาให้และให้ฝ่ายจัดซื้อไปคุย จากนั้นเราได้เข้าไปคุยกับทาง อย.ว่า เดิมนำของเข้ามาต้องใช้เวลานาน แต่ตอนนี้เป็นเรื่องปากท้องประชาชนจึงขอให้เร่งเรื่องนิดหนึ่ง ทำให้บิ๊กซีมีน้ำจากต่างประเทศมาขายได้ภายใน 2 อาทิตย์”
การบริหารงานจัดการในขณะนั้น คุณดอนยังให้ติดต่อประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเพื่อนำของและพนักงานไปยังสาขาที่ถูกน้ำท่วมปิดล้อม เนื่องจากไม่ได้ปิด เพราะตระหนักดีว่า ประชาชนต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้คิดเรื่องการขายของเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนด้วย เพราะนอกจากนำสินค้าเข้าไปแล้ว ยังรวมถึงถุงยังชีพไปด้วย ทำให้บิ๊กซีเป็นที่รวมถุงยังชีพ ส่วนการเปิดสาขาในที่สูงทำให้เป็นประโยชน์ช่วยให้ประชาชนนำรถไปจอดได้ การอนุญาตให้ประชาชนที่บ้านโดนน้ำท่วม นำเต้นท์มาตั้งบริเวณรอบบิ๊กซีได้ มีการติดต่อขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขให้มีหมอมาคอยดูแลความเจ็บป่วยของประชาชน
“หลังวิกฤตน้ำท่วมผ่านไป ผู้ใหญ่ได้เริ่มมองเห็นแล้วว่า เราสามารถคุมงานใหญ่ได้ จึงสนับสนุนให้ขยายทีมมาเป็น 8 คนจาก 3 คนเพราะเดิมเวลาทำงานใหญ่ต้องหยุดงานส่วนอื่นเพื่อมาทำงานใหญ่ เวลานี้มีครบทุกทางแล้วจึงพยายามให้เดินไปพร้อม ๆ กัน ทั้งด้าน PR CSR และความสัมพันธ์กับภาครัฐ “
คุณดอนกล่าวว่า ความสำเร็จในการทำงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยทำงานในกระทรวงฯมาใช้ เช่น การทำงานที่นิวยอร์กช่วยในเรื่องคิดให้ละเอียด มองให้รอบคอบ การใช้คำและความหมายที่เหมาะสม เพื่อสื่อสารให้ตรงไม่ให้ผิดไป การดูแลพี่น้องมุสลิมที่เคยทำที่กรมเอเชียใต้ก็ได้นำมาใช้ เช่น การไปเปิดสาขาที่ปัตตานีและสตูล ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เลย เช่น เทศกาลรอมฎอน พิธีฮัจน์คืออะไร แคชเชียร์ต้องแยกฮาลาล หรือไม่
นอกเหนือจากนั้นยังต้องสร้างความสัมพันธ์ของชาวพุทธและมุสลิม โดยใช้วิธีสื่อสารว่า การไปตั้งสาขาบิ๊กซีที่นั่นเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน ไม่ได้มาเพื่อเอาผลประโยชน์หรือด้วยมีจุดประสงค์ไม่ดี ขอโอกาสให้ได้อยู่ตรงนี้และช่วยกันพัฒนาชุมชน จึงมีการทำกิจกรรม CSR หรือชุมชนสัมพันธ์กับพี่น้องมุสลิมและชาวพุทธมาตลอด
สร้างสังคมผู้พิการ-ไม่พิการในองค์กร
นอกจากจัดกิจกรรมกับประชาชนทั่วไปแล้ว คุณดอนได้นำเสนอให้บิ๊กซีจัดกิจกรรมสำหรับคนพิการด้วย โดยกิจกรรมที่เพิ่งจัดไปคือ การจัดวิ่งเพื่อผู้พิการสายตาเลือนลาง โดยคุณดอนเปิดเผยอย่างภาคภูมิใจว่า ในขณะนี้บิ๊กซีถือเป็นห้างค้าปลีกห้างแรกและห้างเดียวในไทยที่มีผู้พิการตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดคือ อัตราส่วน 100: 1 คน โดยตอนนี้มีพนักงาน 24,000 คน ซึ่งตามเกณฑ์ต้องมีผู้พิการ 240 คน แต่บิ๊กซีมีสูงถึง 312 คน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมา 27% ถ้าต่ำกว่าต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ คือ ค่าแรง 300 บาท x จำนวนวัน(365)
“การทำงานที่ฝ่ายบริหารบิ๊กซีเน้นคือ ต้องเข้าใจดูว่าผู้พิการมีศักยภาพและความสามารถด้านไหนเพื่อนำมาผสมผสานกัน เช่น ผู้พิการทางหู ไม่ได้ยิน พูดไม่ได้ แต่อวัยวะครบ 32 เคลื่อนไหวได้ปรกติ ก็ให้ไปเรียงของขึ้นชั้นวางและอื่น ๆ เขาทำได้ ถ้าพิการทางการเคลื่อนไหว นั่งรถเข็น ก็ให้ทำงานแบบนั่งโต๊ะ เช่น พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ ตรวจรับสินค้าและทำเบอเกอรี เป็นต้น เมื่อนำคนมารวมกับงานที่ตรงกันแล้วจะทำให้เขาแสดงศักยภาพออกมาได้
ผู้บริหารของบิ๊กซีเชื่อว่า สิ่งที่ผู้พิการต้องการไม่ใช่ความสงสาร แต่เป็นเรื่องของโอกาสเพื่อให้เขาได้แสดงว่าเขาสามารถทำงานได้เหมือนคนที่ไม่พิการทั่วไป เมื่อทำได้ตามปรกติทำให้เขาจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ที่ไม่พิการด้วย ซึ่งมีหลาย ๆ แห่งที่พนักงานซึ่งไม่พิการเกิดความรู้สึกแบ่งแยกว่า บริษัทรับคนพิการเข้ามาเพียงเพราะให้สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ต้องเสียค่าปรับหรือเพื่อให้เป็นแต้มต่อสักอย่างหนึ่ง แต่ของเราพอเขาทำงานได้เหมือนกันเลยทำให้เกิดสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อยู่เป็นครอบครัวได้ เช่น มีครั้งหนึ่งที่พนักงานที่ไม่พิการรวบรวมเงินเพื่อซื้อรถเข็นให้เพื่อนร่วมงานที่พิการเพราะคันเก่าหนัก การพบรักระหว่างผู้พิการและไม่พิการ ที่สุโขทัยที่เคยเป็นนักกีฬายกน้ำหนักมาก่อนและเกิดเป็นอัมพาตท่อนล่างอย่างกระทันหันก็จะเอารถเข็นเชื่อมกับมอเตอร์ไซด์และขับรถมาทำงาน ก็มีการจัดที่จอดรถให้เป็นพิเศษหน้าสาขา เรียกว่าได้ที่จอดรถดีกว่าผู้บริหารเสียอีก เพราะเขาอยู่กันคล้ายเป็นครอบครัวเดียวกัน
ส่วนสาขาที่ระยองมีผู้พิการทางหู 8-9 คน ขับมอเตอร์ไซด์มาทำงาน จึงมีการจัดเวลาให้เข้างานกะเช้ากว่าปรกติเพื่อจะได้เลิกเร็วกว่าปรกติประมาณ 3 โมงเย็นทำให้เวลากลับบ้านไม่ต้องเจอกับความวุ่นวายของจราจร ขับสวนทางมาหรือไม่ได้ยินเสียงแตร เพิ่มความปลอดภัยในการขับรถกลับบ้าน จะเห็นได้ว่า มีเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้พิการที่นอกเหนือจากการทำงาน”
ผู้บริหารจากอดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศยังเปิดเผยต่อว่า ที่บิ๊กซีมีพนักงานผู้พิการอยู่ทุกสาขาทั่วประเทศประมาณ 2 คนต่อสาขา โดยครึ่งหนึ่งหรือราว 50% เป็นผู้พิการทางหู อีกเกือบครึ่งเป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว นอกเหนือจากนี้เป็นผู้พิการทางสายตาและด้านสติปัญญา แต่มีอยู่ครบ 7 ประเภทและขณะนี้บิ๊กซีมีแนวคิดที่จะเพิ่มสัดส่วนผู้พิการให้ถึงอัตราส่วน 50 : 1 หรือใน 100 คน จะมีผู้พิการ 2 คนภายในปีหน้า ซึ่งจะทำให้บิ๊กซีกลายเป็นห้างค้าปลีกรายแรกของเมืองไทยที่สามารถทำได้ โดยได้ทำบันทึกความเข้าใจกับทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว
การทำงานด้านผู้พิการ นับเป็นการนำประสบการณ์สมัยที่คุณดอนเคยทำเรื่องผู้พิการตอนอยู่ที่ยูเอ็นมาใช้ได้เลย
“ผมเลยเชื่อว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรามันมีเหตุผลของมัน ถ้าเราให้เวลาหรือเรามองมันจริง ๆ สักวันเราจะรู้ว่า สิ่งที่เราเคยเรียนรู้ เคยเจอเคยผ่านมาก่อน สุดท้ายเราสามารถหยิบมันมาใช้ในแต่ละวันได้ ทุก ๆ วันที่เราเจออะไรมาถ้าเรามองดี ๆ เราจะรู้ว่า มันเกิดขึ้นกับทุก ๆ คน ถ้าเราตั้งใจมองให้เห็น จะรู้ว่า เราเรียนรู้อะไรจากชีวิตเยอะ บางทีเรามองข้ามมันไป”
“Work - life balance” อย่าทำแต่งาน..จนลืมคนที่รัก
อย่างไรก็ดีแม้เรื่องงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเรื่องครอบครัวและการให้เวลากับตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างกัน ซึ่งคุณดอนจะเน้นในเรื่องนี้มาก หลังจากมีประสบการณ์เสียใจกับเจ้า DUKIE มาแล้ว
“เรื่องของ “Work -life balance” เป็นเรื่องที่เน้นกับทีมมาตลอดว่า บางช่วงเราทำงานหนักได้ แต่ต้องมีบางช่วงที่เราเอาให้เวลาให้กับครอบครัว เอาเวลาไปใช้ในสิ่งที่เราอยากทำบ้าง ตอบโจทย์ตัวเองบ้าง นั่งสมาธิหรือทำอะไร ถ้าเราอยู่กับตัวเราทุกวันและพยายามมองให้เห็นและเรียนรู้ว่า แต่ละวันเราเจออะไรและมันบอกอะไรกับเรา เราก็จะมีความสุขกับชีวิตในแต่ละวันของเรา”
คุณดอนกล่าวว่า “กรณีของ DUKIE เตือนให้คิดว่า มีอะไรอีกกี่อย่างที่เราลืมไป หลังจากมาทำงานที่บิ๊กซี ชีวิตของผมเปลี่ยนไป เมื่อแต่งงานชีวิตยิ่งเปลี่ยนไป โดยได้แต่งงานหลังมาทำที่บิ๊กซีได้ไม่นานในปี 2554 หลังแต่งงานภรรยาลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เตรียมทำหน้าที่แม่เพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยที่จะเกิดมาในอนาคต ซึ่งหลังแต่งงานไป 1 เดือนยังไม่ตั้งท้อง จึงไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากหรือที่เรียกกันว่า ทำกิฟต์ (GIFT) ทำครั้งแรกสามารถตั้งท้องได้สำเร็จ แต่อยู่ได้เพียง 12 สัปดาห์ตัวอ่อนหยุดเจริญเติบโตไป หลังจากนั้นไม่ได้ทำต่ออีก เพราะรู้สึกว่าเครียดเกินไปและต้องพยายามมาก โดยในท้องแรกภรรยาของผมแทบจะไม่เดินเพราะกลัวว่าจะหลุด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องล้มเหลวจริง ๆ จึงคิดว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติดีกว่าและคิดจะไปเที่ยวกันที่เกาะมัลดิฟ แต่ปรากฏว่า ภรรยาตรวจพบว่าท้องอีกจึงยกเลิกและไม่ได้ไป แต่ต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อปรากฏว่า หยุดเจริญเติบโตไปอีก มัลดีฟไม่ได้ไป ลูกก็ไม่มี
หลังจากนั้นเริ่มรู้สึกว่า เป็นเรื่องของดวงแล้วที่จะมีลูก ถ้าจะมาก็มา พยายามทำชีวิตให้สนุกสนาน ทริปมัลดิฟที่เคยระงับไปก็รื้อฟื้นเพื่อจะไปใหม่ ซึ่งก่อนจะไปเหมือนมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจอีก เพราะภรรยาตรวจพบว่า ตั้งท้องใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้เลื่อนการเดินทางแล้ว เพราะคราวที่แล้วเลื่อนแล้วก็ไม่ได้ลูก คราวนี้เลยคิดว่า ลูกอาจจะอยากไปเที่ยวด้วย เลยไปและท่องเที่ยวดำน้ำกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ เมื่อลูกคลอดออกมาปรากฏว่า เป็นเด็กอารมณ์ดี ร่างกายแข็งแรง ร่าเริง เวลานี้อายุมากกว่า 10 เดือนแล้วมีชื่อว่า ดีเจ เป็นชื่อของผมกับภรรยาผสมกัน”
หลังมีลูกแล้วทำให้คุณดอนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังขึ้น หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ผาดโผนต่าง ๆ โดยกล่าวว่า “ปรกติเป็นคนไม่เคยกลัวตาย เพราะได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่แล้ว ไม่มีห่วง แต่พอมีลูกความรู้สึกเปลี่ยนไป งดขับรถเร็ว 200-210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กีฬาบันจี้จั๊มที่เคยเล่นก็ไม่ทำ ไปตรวจสุขภาพ 2 ครั้งต่อปี เพราะคิดว่า ลูกยังต้องโตอีกนานและไม่ได้จ้างพี่เลี้ยง เพราะมีความเห็นเหมือนกันกับภรรยาว่า คนที่จะดูแลเขาที่ดีที่สุดได้แก่ พ่อแม่”
นอกจากนี้คุณดอนยังสอนและยึดแนวทางที่ให้ลูกใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท แต่ไม่บังคับหรือกำหนดกฎระเบียบมากมาย “เขาจะเรียนเก่งหรือไม่แล้วแต่เขา ให้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่บังคับให้ทำ แต่ให้รู้จักคิดเป็นด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันตัวของเขาเองที่ดีที่สุด เพราะเห็นมาหลายแบบมาก จากเพื่อน ๆที่มีบางคนพ่อแม่เข้มงวดแล้วได้ดีก็มี หรือพ่อแม่เข้มงวด พอไปเมืองนอกแล้วปล่อยก็เสียคนไปเลย หรือพ่อแม่ปล่อยแล้วเละไปเลย หรือพ่อแม่ปล่อยแล้วเก่งไปเลยก็มี ทุกอย่างอยู่ที่เด็กถ้าสอนให้เขาคิดเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการศึกษาที่เมืองไทยด้วย ที่สอนแต่ท่องจำสูตร แต่ไม่คิดถึงรากที่มา ว่าสูตรนี้มาอย่างไร ทำไม่ได้ ฝรั่งสอนให้คิดแบบนี้ ทำให้เกิดการคิดพัฒนาใหม่ ๆ”
ในด้านของภรรยาจะเข้มงวดในการดำเนินชีวิตมากกว่า เนื่องจากมีพื้นฐานเป็นคนที่มีความตั้งใจสูง และเป็นระเบียบ จึงทำให้เป็นคนเรียนเก่ง โดยก่อนจะไปศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐเคยเป็นนิสิตเหรียญทองด้านเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน เวลามีลูกจึงตั้งใจมาก ทุ่มเท ทำอาหารให้ทาน อ่านนิทานให้ฟัง จนบางครั้งเครียดเกินไปว่า ตนเลี้ยงลูกดีหรือไม่
“ผมได้แนวคิดจากเขามาใช้เหมือนกันเพราะเดิมเป็นคนเรื่อย ๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ภรรยาทำให้ผมต้องเข้มงวดเรื่องการตรงต่อเวลา ซึ่งจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่เราก็พยายามนำส่วนของเราไปให้เขาบ้าง เช่น ปล่อยให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บ้าง ไม่เครียดเหมือนภรรยา ลูกอาจจะอยากกินขนมมากกว่าข้าว เวลาผมเลี้ยงลูกในสมัยที่เพิ่งหัดนั่งได้ใหม่ ๆ เคยปล่อยให้ลูกหัวโขก ภรรยาว่า ก็เลยบอกว่า ต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ว่า ขอบเตียงแข็ง แต่หลัง ๆ ไม่ทำลูกหัวโขกแล้ว ภรรยาผมทำมากกว่า..(หัวเราะ)
“ถ้าแม่ไม่บังคับให้ไปเรียนที่สหรัฐก็คงไม่ได้เจอกัน โดยตอนม.5 ถ้าผมไปเรียนวิศวะตามที่สอบเอนทรานซ์ได้ ก็คงจะไม่ได้เจอกัน เป็นแฟนกันนาน 14 ปีกว่าจะได้แต่งงาน ผมว่า การที่คนเราจะอยู่ด้วยกันได้ ต้องทำความรู้จักกัน สิ่งที่ทำให้คิดว่าภรรยาคือ คนที่ใช่ คือ ในวันที่เราเจอเรื่องแย่ ๆ เขายังอยู่กับเรา แสดงว่า เขาอยู่กับเราได้ รับเรื่องแย่ ๆ ได้
เมื่อมีเวลาก็ไปเที่ยวกัน ผมไปตีกอล์ฟบ้าง พบปะกับเพื่อน ๆ บ้างซึ่งมีตลอด รับประทานอาหารร่วมกัน ยามเครียดจากการทำงานก็ทำสมาธิก่อนนอนบ้าง จะช่วยได้มาก ทำมาตั้งแต่ ม.6 แล้ว ”
‘Lucky in Love , Lucky in Game , Lucky in life’
โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า ชีวิตของคุณกุฎาธารในขณะนี้ประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทั้งเรื่องงาน โดยได้ทำงานในองค์กรใหญ่ระดับนานาชาติ มีบุคลากรหลายเชื้อชาติและเป็นองค์กรที่เปิดกว้างยอมรับความแปลกใหม่ ยอมรับความคิดเห็นของพนักงานมาก ให้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ถ้ามีเหตุผลและผ่านการกลั่นกรองแล้ว
ซึ่งในการทำงานคุณดอนจะทำอย่างเต็มที่และไม่ลืมที่จะเก็บรายละเอียดประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยยึดคติประจำใจคือ “เอาใจไปใส่ในงาน ทำให้เต็มที่ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะไม่เสียใจ ”
ความสำเร็จในชีวิตคู่ มีภรรยาและลูกที่น่ารัก
ที่สำคัญ ยังได้ทำหน้าที่ดูแลคุณพ่อคุณแม่เพื่อทดแทนคุณ ตามครรลองของการเป็นลูกที่ดีแล้ว
นับเป็นเป็นชีวิตที่เพียบพร้อม ชนิดที่หลายคนต้องแอบอิจฉากันเลยทีเดียว…กุฎาธาร นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซนเตอร์
ขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ : ร้านพอลลาเนอร์การ์เด้น
โดย คุณกานต์พิชชา คงสมบัติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดนมร์ค จำกัด
ผู้นำเข้าเบียร์พอลลาเนอร์
"
ข่าวเด่น