อรภัทร รังษีวงศ์ ผอ.อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร เครดิตบูโร


“ผู้หญิงรักดีในกรอบตัวจริง” ชีวิตขอทำงาน- ทำดีทุกๆ วัน
 

มีคำกล่าวที่ว่า“มนุษย์เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำหรือเลือกที่เป็นได้” สะท้อนว่า การเติบโตเป็นคนดีของสังคมและชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถตัดสินได้จากจุดกำเนิด

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การหล่อหลอม อบรมสั่งสอนจากบุพการีหรือผู้มีพระคุณ มีส่วนเอื้อให้บุคคล “มีโอกาสมากกว่า” หรือ “มีแนวโน้มมากกว่า” ที่จะเป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิตได้

อย่างน้อยก็สามารถพบเห็นได้จากกรณีของ“Perfect Woman” อย่าง คุณอรภัทร รังสีวงศ์ หรือ “คุณอร” ผู้หญิงจิตใจดี ทำงานเก่ง อนาคตไกล ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร แห่งบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

เหตุผลที่ต้องยกย่องให้คุณอรเป็น “Perfect Woman” เพราะเธอถือกำเนิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งบิดา มารดาที่ทุ่มเทความรัก การใส่ใจเลี้ยงดู อบรมและให้ทั้งการศึกษาแก่ลูก ๆ ได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้คุณอร เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เป็นกุลสตรีที่สมบูรณ์พร้อม หรือเป็น “ผู้หญิงรักดีในกรอบตัวจริง” เลยทีเดียว
อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงที่มีความคิดและจิตใจดี ใฝ่เรียน รู้จักวางแผนชีวิตและการเงินเพื่อนำพาความมั่นคงสู่ชีวิตและครอบครัว

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเอซีนิวส์มีโอกาสได้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงชีวิตส่วนตัวของคุณอร ทำให้ได้รู้ถึงชีวิตหลากหลายแง่มุมของเธอ ที่มีภาพลักษณ์คล้ายคุณหนูรักสวยรักงาม แต่แท้จริงแล้ว เธอเป็นคุณหนูที่ติดดินจริงๆ และเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อยสมกับเป็นหญิงไทยอีกคนหนึ่ง แม้จะผ่านการร่ำเรียนในต่างแดนมาก็ตาม


ถือกำเนิดในครอบครัวนักธุรกิจอัญมณี ติดดิน

คุณอรได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า เป็นคนกรุงเทพมหานครแต่กำเนิด โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียง 2 คน น้องชายวัยห่างกันเพียง 1 ปีเท่านั้น

คุณพ่อเป็นชาวกรุงเทพฯ แต่คุณแม่เป็นสาวอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เดิมคุณพ่อทำธุรกิจยาที่ได้สืบทอดมาจากรุ่นคุณปู่ที่มาจากเมืองจีน ทำธุรกิจยาสามัญในย่านสีลม แต่ต่อมาคุณพ่อหันมาทำธุรกิจอัญมณี ขายเพชรพลอยหรือจิวเวลรี่ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านรับผิดชอบดูแลลูกๆ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคุณพ่อได้เลิกธุรกิจอัญมณีไป เนื่องจากต้องการปรับเปลี่ยนชีวิตจากที่อยู่ในเขตเมืองไปอยู่แถวชานเมืองแทน โดยย้ายไปอยู่บริเวณใกล้สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นย่านชานเมืองที่ไม่แออัด ผู้คนพลุกพล่านเหมือนย่านธุรกิจแถวสีลม 

ด้วยความที่เป็นครอบครัวลูกผสมระหว่างคนเมืองและคนต่างจังหวัด คุณอร จึงได้รับการเลี้ยงดูแบบผสมผสาน อยู่กับคุณพ่อจะเหมือนคุณหนู แต่คุณแม่ซึ่งเป็นผู้หญิงทำงานที่ต้องดูแลครอบครัวค่อนข้างเข้มงวด และจะสอนให้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ติดดิน อยู่ในกรอบและในสายตาของผู้ใหญ่ตลอด จึงทำให้ลูกๆ สามารถที่จะปรับตัวเข้าสังคมก็ได้หรือมีชีวิตที่เรียบง่ายก็ได้

ขณะเดียวกันยังเน้นการเป็นคนดีของสังคมและการให้ความสำคัญกับการศึกษา อีกทั้งให้อิสระทางความคิด สอนให้รู้จักคิด วางแผนการใช้ชีวิต ซึ่งช่วยส่งผลดีในช่วงชีวิตต่อมาของคุณอรภัทรนั่นเอง

“เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของลูกๆ มากจึงพยายามส่งเสริมให้เรียนได้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณแม่จะสอนให้รู้จักวางแผน ให้รู้จักช่วยตัวเอง รู้จักความลำบาก โดยพาขึ้นรถเมล์ตลอด ไม่ได้ให้นั่งรถยนต์หรือแท็กซี่ นอกจากนั้นด้านการขัดเกลาจิตใจ  คุณพ่อ-คุณแม่ มักจะพาเข้าวัดเสมอ ท่านต้องการให้เข้าใกล้พุทธศาสนา” คุณอรกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การที่ท่านสอนให้รู้จักออมเงิน โดยคุณแม่จะมีกลยุทธ์ในการจูงใจ คือ ท่านบอกว่าหากใครสอบได้คะแนนดี ท่านจะให้รางวัลเป็นขวัญถุง จริงๆแล้วท่านต้องการให้เราออมเงิน อรก็เลยเก็บเงินแข่งกับน้องชาย ซึ่งตอนหลังอรก็ใช้เงินนั้นซื้อเครื่องประดับจากคุณแม่ ส่วนน้องชายจะเช่าพระจากคุณแม่  นี่ก็เป็นวิธีสอนของท่านอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งพวกเราก็ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือเบื่อ แต่กลับสนุกเสียอีก


คุณอรเล่าต่ออีกว่า “แม้แต่เรื่องการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ คุณแม่ยังยินยอมให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยให้ลองได้เลย ซึ่งเมื่อได้ลองแล้วก็ไม่ชอบ” ทั้งสองพี่น้องจึงไม่ได้ข้องแวะกับอบายมุขเหล่านี้ ส่วนสถานบันเทิงยามค่ำคืน คุณแม่ของคุณอรก็พาไปดูสถานที่จริง แต่ก็รู้สึกว่าไม่สนุกเลยเธอไม่นิยมไปสถานที่ดังกล่าวเช่นกัน


เมื่อคุณอรไปเรียนยังมีโอกาสพบกลุ่มเพื่อนที่ดี อยู่ในกลุ่มเด็กเรียน มาจากครอบครัวที่เข้มงวดเหมือนกัน ไม่ชอบสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน กลับบ้านดึกไม่ได้ ถือเป็นความโชคดีอีกด้านของเธอ เพราะเพื่อนๆ ก็มีอิทธิพลต่อชีวิตได้อีกทางหนึ่ง



ศึกษาโรงเรียนเอกชนชั้นนำตลอด


ชีวิตในวัยเด็ก คุณพ่อ-คุณแม่จะเป็นผู้วางแผนการเรียนของลูก ๆ เป็นอย่างดี โดยคุณอรภัทรเล่าว่า ในขณะนั้นมีโรงเรียนใกล้บ้านที่สามารถเลือกเรียนได้ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์และโรงเรียนผดุงดรุณี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน เปิดสอนที่ซอยประมวญ ถนนสีลม (อยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย)

ต่อมาคุณพ่อคุณแม่เลือกให้เรียนที่โรงเรียนผดุงดรุณีเนื่องจากได้วางแผนไว้ว่า ให้น้องชายเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพื่อจะได้ไปโรงเรียนด้วยกันนั่นเอง ซึ่งเป็นการวางแผนให้น้องชายมีหน้าที่ดูแลพี่สาวไปด้วยในตัว คุณอรจึงมีน้องชายคอยไปส่งโรงเรียนในตอนเช้าและรับกลับในตอนเย็นตั้งแต่เล็กจนโต

คุณอรเข้าเรียนที่ผดุงดรุณีตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.3 จากนั้นไปต่อระดับเตรียมอุดมศึกษา(ม.4-ม.6) ที่โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ (ตั้งอยู่ที่ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน) ในสาขาวิทย์-คณิต

ระดับปริญญาตรีเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค (ABAC) ศึกษาด้านบริหารธุรกิจบัณฑิต โดยเลือกเรียนสาขาการเงินและการธนาคาร เนื่องจากคุณอรมองว่า เป็นความท้าทาย เพราะในขณะนั้นยังมีคนเรียนไม่มากนักและเชื่อว่าหากจบออกมาจะได้งานแน่นอน ซึ่งก็เป็นความจริง โดยหลังจบออกมาได้เข้าทำงานที่บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เจ้าของกิจการค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัสในตำแหน่ง Management trainee หรือผู้จัดการฝึกหัด

ต่อมาได้ไปเรียนระดับปริญญาโทต่อในสหรัฐอเมริกา หลังเลือกอยู่หลายเมืองในที่ก็สุดลงเอยที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเธอให้เหตุผลว่า บอสตันเป็นเมืองที่ปลอดภัย เป็นเมืองของนักศึกษาและมีการผสมผสานระหว่างสหรัฐและยุโรป ซึ่งเลือกเรียนด้านศิลปศาสตร์การบริหารมหาบัณฑิต สาขาการวางแผนนโยบายองค์กร (Master of Science in Administrative Studies Organizational Policy )

 

อยู่ต่างแดนได้เรียนรู้-วางแผนใช้ชีวิตสุดคุ้ม

คุณอรเล่าถึงชีวิตวัยเรียนว่า การใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ต้องห่างไกลคุณพ่อแม่ แต่ทำให้ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ทั้งเรียนรู้การต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันยังให้ความรู้สึกถึงการมีอิสรภาพที่ชัดเจนว่า เราสามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ ไม่ต้องให้เขาห่วงหรือกังวัลใจ ทำให้กล้าตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังได้เปิดโลกกว้าง ได้เรียนรู้ต่างวัฒนธรรมและรู้จักเพื่อนๆหลากหลายเชื้อชาติอีกด้วย

ขณะเดียวกันเธอตระหนักดีว่า การศึกษาในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คุณอรพยายามวางแผนการใช้เงินและการใช้ชีวิตอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถเรียนจบได้ภายใน 10 เดือน ซึ่งจะได้ไม่ต้องรบกวนคุณพ่อคุณแม่มากนัก การเป็นนักวางแผนของเธอนี้ได้มาจากการอบรมสั่งสอนของคุณพ่อ-คุณแม่

คุณอรแจกแจงให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า เธอได้ค้นพบวิธีที่จะช่วยให้เรียนจบได้เร็ว โดยจะต้องลงเรียนในช่วงปิดภาคฤดูร้อนหรือซัมเมอร์ไปด้วย จึงมีการวางแผนลงวิชาเรียนที่มีทั้งสิ้น 10 วิชา แบบ 4-5-1 เพื่อให้สามารถจบได้ในเวลาที่ตั้งเป้าไว้ แต่ผู้จะมีสิทธิ์ลงเรียน 5 วิชาได้จะต้องมีผลการเรียนในเทอมแรกไม่ต่ำกว่า 3.8 โดยในเทอมที่ 1 เธอได้มุมานะเรียนจนได้เกรดราว 3.9 เพื่อจะได้นำไปใช้อ้างอิงเพื่อขอลงเรียน 5 วิชาในเทอมที่ 2 และทำให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าเราทำได้ จากนั้นลงอีก 1 วิชาในช่วงซัมเมอร์ ซึ่งสุดท้ายสามารถทำได้สำเร็จสมดังความตั้งใจ 

ส่วนในด้านที่พัก คุณอรได้มีการวางแผนเช่นกัน โดยไปอยู่หอพักร่วมกับเพื่อนนักศึกษาต่างชาติ (shared bed room) แทนการไปเช่าอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมหรูหราราคาแพง ซึ่งต้องมีการสัมภาษณ์ก่อนว่าจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้หรือไม่โดยเพื่อนมีทั้งชาวญี่ปุ่นและจีน อีกทั้งหอพักยังใกล้มหาวิทยาลัยมาก

 นอกจากค่าหอพักไม่แพงช่วยประหยัดเงินไปได้มากแล้ว ยังได้ฝึกใช้ภาษาอีกด้วย 


ชีวิตในต่างแดนของคุณอรเป็นไปอย่างมีรสชาติ แม้ต้องมุ่งมั่นคร่ำเคร่งกับการเรียน แต่ไม่วายที่จะร่วมทำกิจกรรมและแสวงหากำไรให้ชีวิตเมื่อมีโอกาส โดยเธอจะร่วมทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย โดยเข้าร่วมการแสดงในงาน Southeast Asian Night ของนักศึกษากลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แต่สิ่งที่เน้นมากกว่าเห็นจะเป็นเรื่อง “ท่องเที่ยว” โดยในทุกวันหยุดคุณอรและกลุ่มเพื่อนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวไปในเมืองและรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐฯ หวังให้คุ้มค่าสมกับที่ได้มาอยู่แล้ว ซึ่งเธอเองคิดว่า คงจะไม่กลับไปสหรัฐฯแล้วหลังเรียนจบและกลับบ้าน โดยใช้เงินออมที่เหลือจากการใช้จ่ายอย่างประหยัดในขณะที่เรียนและเงินเก็บในสมัยเรียนปริญญาตรี


เธอเคยเที่ยวสหรัฐฯกับครอบครัวมาก่อน โดยไปอลาสก้าก่อนที่จะไปเรียน จากนั้นไปเที่ยวฮาวายตอนคุณพ่อคุณแม่มาส่งเรียนปริญญาโท ตามด้วยไปซานฟรานซิสโก ซีแอตเทิลในรัฐวอชิงตัน และเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดา ไปสอบโทเฟลที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีและเรียนภาษาที่บอสตัน ก่อนจะสอบได้ผ่านหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยบอสตัน นอกจากนี้ยังไปท่องเที่ยวตามเมืองที่มีเพื่อนๆ ไปเรียนอยู่


เมื่อมีเวลาว่างจะเที่ยวตลอด เพราะไม่คิดว่าจะกลับไปสหรัฐฯ อีก จึงเที่ยวให้คุ้มกับที่มาอยู่ เธอมาแล้วเกือบทุกรัฐ ยกเว้น 2 รัฐคือ มิชิแกนและออริกอน เท่านั้น ”
 

แผนดี ลุยหาประสบการณ์หลังเรียนจบ


คุณอรเพลิดเพลินกับชีวิตวัยเรียนต่างแดนได้ไม่นานก็เรียนจบใน 10 เดือนตามที่วางแผนไว้ โดยเรียนจบในช่วงเดือนมิถุนายน 2540 แต่ต้องรอรับปริญญาไปอีกประมาณ 7-8 เดือน คุณอรภัทรจึงได้ทำเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน (work permit)เพื่อหาประสบการณ์ก่อนเป็นเวลา 1 ปีและไม่รบกวนเงินคุณพ่อคุณแม่แล้ว ซึ่งคุณอรภัทรเปิดเผยว่า เพื่อหวังสร้างความภูมิใจให้แก่ท่านทั้งสอง ที่มักเล่าให้คนอื่นฟังเสมอว่า ลูกเรียนจบแล้ว ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่แล้ว

ในช่วงที่รองานเธอได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยบอสตันก่อน เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนนักศึกษาใหม่และแคชเชียร์โรงอาหาร (Canteen) แต่เธอยังมีน้ำใจช่วยพี่ๆ ทำงานหน้าที่อื่นๆด้วยอย่างขยันขันแข็ง เช่น ดูแลทำความสะอาดโรงอาหาร จากเหตุดังกล่าวทำให้เป็นที่รักใคร่ ได้รับความเมตตาจากเพื่อนๆ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย

ทำให้เธอสามารถประหยัดค่าอาหารไปได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะมีอาหาร เป็นข้าวกล่องมื้อกลางวันให้ มิหนำซ้ำเธอยังหอบหิ้วอาหารที่ขายไม่หมดในตอนเย็นไปเผื่อแผ่เพื่อนที่หอพัก ทั้งที่เป็นรูมเมทและเพื่อนๆ คนไทยได้อีก

นอกจากนี้คุณอรยังเคยมีประสบการณ์ไปทำงานถ่ายแบบโปสเตอร์แทนเพื่อนร่วมห้องด้วย ซึ่งเป็นโปสเตอร์ชวนชมวาฬ (Whale Watching) ที่ต้องการนางแบบหน้าตาเอเชียและได้ค่าตอบแทนมา 100 ดอลลาร์ ดีใจมาก เพราะเพื่อนไม่ได้บอกว่าจะได้ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ดีทีเดียว

ต่อมาคุณอรภัทรก็ได้งานประจำทำสมความตั้งใจ เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการที่บริษัท นิวบาลานซ์ แอทลีท ชู จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้าและอุปกรณ์การกีฬาชั้นนำ แต่ยังไม่ทิ้งงานที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย ยังคงทำคู่กันไป ซึ่งหมายความว่า เธอทำทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นหญิงเหล็กขยันทำงานจริงๆ

หลังจากนั้นยังได้งานใหม่ที่ US Trust Bank อีกแห่ง ในตำแหน่ง Bank Teller ซึ่งเป็นพนักงานประจำเคาท์เตอร์ ทำได้ประมาณ 4 เดือน ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับบ้านเนื่องจากใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงส่วนหนึ่ง รวมถึงกลับมาอยู่กับครอบครัวเนื่องจากน้องชายบวชได้ 1 พรรษาแล้วมีแผนที่จะบวชแบบไม่มีกำหนดสึก คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่กันตามลำพัง

แต่ก่อนที่เธอจะกลับบ้าน มีเหตุการณ์ที่น้องชายลาสิกขา ครอบครัวจึงพยายามผลักดันให้เข้าเรียนระดับปริญญาโทต่อ โดยคุณอรภัทรช่วยรับผิดชอบแทนคุณพ่อคุณแม่เบื้องต้นด้วยการนำเงินเก็บที่ได้จากการทำงานแบ่งให้น้องชายเรียนส่วนหนึ่ง เพราะอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนั้นสูงถึง 55 บาท

อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับซื้อรถในการทำงานที่เมืองไทย ซึ่งต่อมาน้องชายได้เรียนที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในขณะที่เธอได้มุ่งหน้ากลับสู่เมืองไทย
 

 
กลับไทยการงานรุ่งใต้รั้ว กบข.

หลังกลับมาไทยในปี 2541 คุณอรภัทรแทบไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเนิ่นนานนัก โดยได้วางแผนรักษาผิวพรรณก่อนเป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากระหว่างอยู่บอสตันแพ้น้ำ จากนั้นได้เดินหน้าสมัครงานหลากหลายช่องทาง ทั้งสมัครทางอินเทอร์เน็ตและสมัครด้วยตัวเอง ซึ่งสมัครไปหลายที่ เช่น ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายชั้นนำ เป็นต้น

ซึ่งปรากฏว่า บริษัทเบเคอร์นัดสัมภาษณ์ก่อนและคุณอรภัทรได้เข้าทำงานเป็นที่แรกในบริษัทนี้ โดยทำงานเป็นเวลา 2 ปี ในตำแหน่งผู้ประสานงานจดทะเบียนการค้าระหว่างประเทศ (Overseas Registration and Enforcement Coordinator) ซึ่งการทำงานที่แรกนี้ทำให้เธอได้รับโอกาสดีๆ จากคุณสุภรัตน์ อัลภาชน์ และ หม่อมหลวงศศิวิมล เกษมศรี ผู้บังคับบัญชา และได้มีโอกาสรู้จักนักกฎหมายมือดีๆ หลายท่าน

ต่อมาคุณอรภัทรคิดว่าศักยภาพของตนเองสามารถทำอะไรได้มากกว่างานปัจจุบันรวมถึงความก้าวหน้าในชีวิตทำงานเป็นเรื่องสำคัญ พอดีทางกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดรับสมัครงานด้วยจึงมาสมัคร  ซึ่งต่อมาได้เข้าทำงานกับฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์โดยอยู่ในส่วนของประสานงานและกิจกรรมพิเศษ ต้องเดินทางไปเพิ่มพูนความรู้แก่เหล่าสมาชิก กบข.ทั่วประเทศ ยังช่วยทำงานด้านสื่อมวลชนสัมพันธ์ ตลอดจนงานอื่นๆ ร่วมด้วย

“การทำงานที่ กบข. สอดคล้องกับความชอบเดินทางของตัวเองด้วย เพราะต้องเดินทางไปให้ความรู้แก่สมาชิก กบข.ทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะครบทั่วประเทศ จึงต้องมีการวางแผนการเดินทางไปจังหวัดที่ใกล้เคียงกัน เพราะ 1 ครั้งต้องไปราว 3 จังหวัด เดินทาง 1 ครั้ง/เดือนจะได้ประมาณ 3-4 จังหวัด”

คุณอรภัทรเล่าว่า ได้ทำงานอยู่ที่ กบข. นานถึง 10 ปี ซึ่งอยู่ได้นานเพราะเนื้องานที่ทำสนุกและมีความสุขในการทำงาน ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมดี ทีมงานดี โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาที่ดี ถือเป็นผู้มีพระคุณช่วยสอนงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ ทำให้ได้สะสมประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ผู้มีพระคุณท่านนี้ได้แก่ คุณอมฤดา สุวรรณจินดา ผู้ช่วยเลขาธิการสายสมาชิกสัมพันธ์และกิจกรรมสาธารณะ กบข. เปรียบเสมือนแพทย์ผ่าตัดคลอดผู้ให้กำเนิดชีวิตการงาน 

ในระหว่างทำงานที่ กบข. คุณอรภัทรมีผลงานโดดเด่นหลายอย่าง จึงทำให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ ผลงานเด่นที่เจ้าตัวภูมิใจ เช่น ในปี 2546 มีส่วนร่วมในผลงานด้านประชาสัมพันธ์ดีเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการประชาสัมพันธ์ โดยได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงินให้แก่องค์กร

ปี 2550 มีส่วนร่วมในการจัดทำชุดหนังสือและดีวีดีในชื่อ “ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2493-2548” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ด้วยการเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส พุทธศักราช 2493-2548 จำนวนทั้งสิ้น 2,142 องค์  นำไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในซึ่งนับได้ว่าชุดหนังสือนี้เปี่ยมด้วยคุณค่าสูงสุดแห่งปีมหามงคล 2550

"สำหรับชุดหนังสือนี้ นับเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติไทยในแต่ละปีไว้อย่างชัดเจน รวมถึงพระปรีชาสามารถในทุกด้านที่พระองค์ท่านได้พระราชทานให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า อาทิ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา แพทย์ สมาคม องค์กรการกุศล นักกีฬา นักดนตรี รวมไปถึงสื่อมวลชนทุกประเภท ซึ่งประชาชนไทยสมควรอย่างยิ่งที่ควรจะได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองให้ใช้ชีวิตในรูปแบบ “พอสมควร” ในทุกโอกาส หรือแม้แต่ในทุกสถานการณ์ของบ้านเมือง
นับเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทุกคน"

คุณอรภัทรได้รับการปรับตำแหน่งในทุก 2 ปีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับก่อนที่จะย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่คือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ กบข.

“ทำงานที่ กบข. ถือเป็นความภูมิใจเพราะได้ทำงานกับข้าราชการ ข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการเป็นผู้เสียสละ การทำงานตรงนี้จึงเหมือนช่วยเหลือสังคมประเทศได้ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากที่เรียนมา ได้เจอคนดีๆ เจอสิ่งแวดล้อมที่ดี”

และในระหว่างทำงานที่ กบข. คุณอรภัทรยังขยันหาความรู้ใส่ตัวเพิ่มอีก โดยไปศึกษาคว้าใบปริญญาโทอีกใบที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สาขาการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต


บ้านหลังใหม่ "เครดิตบูโร" อบอุ่นไม่แพ้กัน

สำหรับบ้านหลังใหม่ที่คุณอรภัทรอยู่มากระทั่งปัจจุบันคือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (นับแต่ 1 พ.ย.-ปัจจุบัน) ซึ่งการต้องจาก กบข. ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากพอสมควร แต่คุณอรภัทรบอกว่า เธอได้พิจาราณาจากหลายอย่าง โดยมองว่าเป็นโอกาสเพราะมีคนของ กบข. ที่รู้จักคุ้นเคยกันไปอยู่บ้างแล้ว
การเห็นโอกาสความก้าวหน้าเรื่องงานที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของตนเองและยังถือเป็นการท้าทายความสามารถที่จะช่วยฟื้นภาพลักษณ์องค์กรให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมองในแง่ของการเป็นหน่วยงานที่มีความมั่นคง มีชื่อเสียงและค่าตอบแทนที่เป็นที่พอใจ

และแล้วก็ไม่ผิดหวัง ชีวิตการทำงานที่บ้านหลังใหม่ "เครดิตบูโร" ของคุณอรภัทรดำเนินไปด้วยดี มีผู้มีพระคุณอีกท่านหนึ่งที่เปิดโอกาสและแนะนำการทำงานที่นอกเหนือจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เปรียบเสมือนแพทย์ช่วยปั๊มหัวใจให้คุณอรภัทรมีชีวิตใหม่ ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ และเติบโตในหน้าที่การงานได้ต่อไป ซึ่งได้แก่ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ของเครดิตบูโร

เมื่อบวกกับความสามารถส่วนตัวที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณอรภัทรมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร,ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กรและปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร

“อยู่ที่เครดิตบูโรมาประมาณ 3 ปีกว่าแล้ว ได้รับความเมตตา มีความสุขในการทำงานและจะทำให้ดีที่สุดทุกๆ วัน”

สำหรับผลงานที่คุณอรภัทรภูมิใจมากระหว่างที่ทำงานในเครดิตบูโร เนื่องจากเครดิตบูโรดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเท่าเทียมในโอกาสของการได้รับพิจารณาสินเชื่อ และปกป้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูล ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการขยายฐานสมาชิกเครดิตบูโรที่มีข้อมูลด้านสินเชื่อครบถ้วนสมบูรณ์ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม

การมีส่วนร่วมในการขยายช่องทางการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเครดิตและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยมีวินัยทางการเงินผ่านทุกช่องทางและเครือข่ายของตนเอง การมีส่วนร่วมทำให้ภาพลักษณ์ของเครดิตบูโรสามารถเข้าถึงได้และเป็นมิตรกับประชาชน

 

"ผลงานทรงคุณค่า-คุณภาพ-คุณธรรม" ช่วยปูทางสู่ความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามความสำเร็จไม่ได้ได้มาง่ายๆ ซึ่งในกรณีของคุณอรภัทรนั้นเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้นั้นมาจากการสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคมโดยการสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังต้องยึดมั่นในคุณธรรมด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งส่วนรวมและส่วนตัว และยังเชื่อมั่นในการทำความดีว่า จะนำสิ่งดีๆ กลับมาให้ เหมือนที่เขาว่า คนดีตกน้ำไม้ไหล ตกไฟไม่ไหม้

"ความสำเร็จทั้งหมด ถือเป็นความภูมิใจ เพราะทำให้คุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวมีความภูมิใจ มีความสุข ในขณะที่เนื้องานที่ทำยังเป็นการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติด้วย เพราะทำให้คนไทยมีวินัยทางการเงิน จึงเปรียบเสมือนเป็นน็อตตัวเล็ก ๆ ที่ทำให้ส่วนอื่น ๆ สมบูรณ์ ทำให้มีความสุขและภูมิใจที่จะทำ"


เนื้อคู่แล้วแต่พรหมลิขิต-ขอท่องเที่ยว มีความสุขกับครอบครัว

ได้รู้จักชีวิตและผลงานของผู้หญิงทำงานเก่ง จิตใจดีคนนี้ไปมากแล้ว มาดูชีวิตรักส่วนตัวของเธอบ้าง ซึ่งคุณอรภัทรก็ไม่ต่างจากผู้หญิงทำงานอีกหลายคนที่ปัจจุบันยังโสดสนิท แต่ไม่ได้กังวล เพราะเธอเชื่อในพรหมลิขิต คู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน

“เชื่อในพรหมลิขิต ถ้าเจอคนที่ใช่ สิ่งนั้นจะบอกเราเอง ไม่คาดหวัง และไม่ได้ปิดกั้น ไม่มีก็ไม่เป็นไร หากคนที่ครองคู่และอยู่ด้วยกันน่าจะเป็นผู้ที่มีความคล้ายคลึง ที่รักครอบครัวเหมือนกัน เชื่อว่า คนที่จะอยู่ด้วยกันได้จะต้องมีศรัทธา ศีลและการให้ที่เสมอกัน ”

ดังนั้นในยามว่างจากการทำงาน เวลาส่วนใหญ่จึงเป็นการใช้ชีวิตของคุณอรจึงอยู่กับครอบครัวและใช้เวลาท่องเที่ยวเป็นหลักดังเดิม โดยจะพาครอบครัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง
 

สะสมแม็กเน็ตมากมาย

ด้วยความที่เป็นคนรักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจนี่เอง ทำให้คุณอรภัทรมีของสะสมประเภทแม็กเน็ตอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากซื้อตามสถานที่ที่ไปเยือน ซึ่งได้ซื้อเป็นของฝากมิตรสหายและเพื่อนร่วมงานเพราะเป็นของชิ้นเล็กๆ และราคาไม่แพงมากซึ่งแสดงถึงความใส่ใจที่เราให้คนรอบข้างได้ด้วย อีกทั้งเมื่อใครก็ตามที่ไปท่องเที่ยวก็จะซื้อมาฝากเพื่อแสดงว่าเขาคิดถึงเรา มันเป็นใส่ใจกันในความรู้สึกซึ่งกันและกัน


วิกฤติคุณพ่อป่วย ช่วยตระหนัก “ชีวิตต้องวางแผน-ออมเงิน”

แม้ชีวิตของคุณอรภัทรดูเหมือนราบรื่น สมบูรณ์พร้อม แต่เธอเล่าให้ฟังว่า มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ถือเป็นวิกฤติสำคัญของครอบครัว นั่นคือ เหตุการณ์ที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) ชนิดเฉียบพลัน ในปี 2553 โดยเป็นโรคที่มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดขาว เป็นภาวะที่มีตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้นในไขกระดูก ซึ่งรบกวนการสร้างเม็ดเลือด ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดลดลง นำไปสู่ภาวะซีดเพลีย ติดเชื้อง่ายและเลือดออกง่าย

สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ยังไม่ทราบอย่างชัดเจน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้นเช่น โรคพันธุกรรมบางชนิด กัมมันตภาพรังสี ยาและสารเคมีบางชนิด การติดเชื้อไวรัสบางตัว การสูบบุหรี่ เป็นต้น

คุณอรภัทรเล่าว่า หลังพบว่าคุณพ่อป่วยได้พาไปตรวจหลายที่เพื่อให้แน่ใจ ซึ่งคุณหมอบอกว่า จากสถิติที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคนี้จะอยู่ได้ไม่ถึง 1 ปี แต่อย่างไรก็ดีเธอและครอบครัวได้ช่วยกันพาคุณพ่อรักษาอย่างเต็มที่จนสามารถอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน

คุณอรได้เปิดเผยแนวทางการรักษาเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและครอบครัวอื่นๆ ด้วย ว่า นอกจากรักษาคุณพ่อทางแพทย์ที่ต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันที่มีราคาแพงแล้ว เธอและน้องพยายามที่จะยื้อชีวิตคุณพ่อไว้ให้นานที่สุด โดยยังพาคุณพ่อเข้าหาพระพุทธศาสนา ด้วยการพาไปอินเดีย พาไปชมพิพิธภัณฑ์ที่นิวเดลี เยี่ยมชมเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นที่ปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าและไปเมืองพุทคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถือเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดใน 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา การพาไปศรีลังกา รวมถึงการไปทำบุญทุกโอกาสที่มีอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากนั้นอาการของคุณพ่อมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่า เกิดจากจิตใจที่มีความสุข สงบและกำลังใจจากครอบครัว ผสมผสานกับยาของคุณหมอ

คุณอรเล่าว่า “คุณพ่ออยู่มาจนถึงปัจจุบันรวม 3 ปีกว่าแล้ว ถือเป็นมหัศจรรย์ของชีวิต หลังจากที่คุณหมอบอกว่า ตามสถิติแล้วจะอยู่ได้ไม่ถึงปี นอกจากนี้วิกฤติที่เกิดขึ้นยังทำให้ได้รู้อีกว่า คุณพ่อรักลูกและครอบครัวมาก ได้รู้ว่า ครอบครัวอยู่กับเราและใครเอื้ออาทรกับเรา คุณพ่อห่วงบอกให้เราไปตรวจเลือด แต่คุณหมอบอกว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะบุคคล ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม


นอกจากนี้คุณพ่อยังห่วงเรื่องค่ายาที่ราคาแพงมาก

สิ่งสำคัญอีกอย่างของวิกฤติครั้งนี้คือ ทำให้เรารู้ว่า จากเดิมที่ได้เรียนรู้ว่าการออมเงินเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้วนั้นทำให้ต้องออมให้มากกว่าเดิม ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและแบ่งสัดส่วนการใช้เงินให้ดี ซึ่งโชคดีที่เราเป็นคนออมเงินอยู่แล้ว จึงสามารถทั้งดูแลท่านได้ในฐานะลูกที่ดีได้ ถึงแม้ว่าท่านมีเงินพื้นฐานของท่านอยู่แล้วก็ตาม และยังใช้เงินกับชีวิตส่วนตัวและเผื่อแผ่ใปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้มีความสุขเต็มที่ได้อีกด้วย ”

ทำดีทุกๆ วันเพื่อตัวเอง ครอบครัว สังคม

นอกเหนือจากนี้คุณอรภัทรยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขว่า นอกจากการออมแล้ว เธอยังยึดหลักของ “จิตดี คิดดี ทำดี ชีวิตมีสุข” เป็นการทำความดีทุกๆ วัน ทำประโยชน์ให้ตัวเอง ครอบครัว สังคม รู้จักปรับ คิดและทำในสิ่งที่ดีๆ เพราะเชื่อมั่นในการทำความดีว่า ถ้าเราทำกรรมดี เราจะได้รับในสิ่งที่ดี ทำให้เราเจอแต่สิ่งที่ดีๆ

ปัจจุบันคุณอรภัทรยังมีความสุขในการทำงานและเปิดเผยว่า คงจะทำไปเรื่อยๆ จนเกษียณที่อายุ 60 ปี เพราะงานที่ทำอยู่ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมไปด้วย

"อยากทำงานที่คืนประโยชน์ให้กับสังคม ให้ความรู้โดยอิงกับการเดินทางซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชอบและไม่กระทบเวลาของครอบครัว”

โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้หญิงคนนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านการศึกษา การงานก้าวไกล สามารถก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงได้ในตอนอายุยังน้อยและยังทำหน้าที่ของลูกที่ดี ดูแลครอบครัวให้คุณพ่อ-คุณแม่ภูมิใจได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
 

ความสำเร็จเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี เพียบพร้อม มีคุณพ่อคุณแม่ที่ใส่ใจ ผสมผสานกับตัวตนของคุณอรภัทรเองที่ "รักดี" และเลือกนำพาชีวิตก้าวเดินได้ด้วยตนเองและทำได้ดีเสียด้วย
สมกับเป็น "Perfect Woman" จริงๆ

LastUpdate 15/05/2557 10:39:15 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 10:18 am