ชีวิตการทำงานของแต่ละคนต้องเผชิญสิ่งท้าทายแตกต่างกันไป การรู้จักปรับตัวแสวงหาความรู้และขยันอดทนจะช่วยให้เกิดการยอมรับและมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ แต่ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว คงจะดีไม่น้อยหากเรารู้จักสร้างความสุขจากงานที่ทำ เช่นเดียวกับผู้บริหารไฟแรง อย่าง ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส หรือ “คุณหลุยส์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกย่อๆว่า สผ. คุณหลุยส์ ฟันฝ่าอุปสรรคในการทำงานและยังสร้างผลงานหลายอย่างในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมานาน
“คุณหลุยส์” ได้ไปสัมผัสชีวิตในวงการราชการ เพราะต้องไปเรียนรู้การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยความรู้ความสามารถของตนเองเป็นหลัก และยังร่วมทำผลงานสร้างชื่อให้กับประเทศไทยในด้านการศึกษาอนุรักษ์ “วาฬบรูด้า”รวมถึงร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการังในทะเลอ่าวไทยอีกด้วย
“คุณหลุยส์” ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของ สผ.หลังจากไปนั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ไม่นาน ชีวิตของ “คุณหลุยส์” ไม่ธรรมดาทีเดียว มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ให้ทั้งแง่คิดในการทำงานที่ต้องหนักแน่น ขยันอดทน ใฝ่เรียนรู้และสร้างสรรค์ รวมถึงบทบาทของการเป็นนักอนุรักษ์สมกับเป็นข้าราชการที่คร่ำหวอดอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมายาวนานคนหนึ่ง
เริ่มฉายแววความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่วัยเด็ก
“คุณหลุยส์” เริ่มเล่าถึงชีวิตที่แสนสนุกในวัยที่ยังเป็นเด็กชายให้เราฟังว่า “ฉายแววความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ผมเข้าเรียนชั้นเตรียมอนุบาลในวัย 3 ขวบ พอ 4 ขวบ คุณครูก็ให้ขึ้นชั้นประถมปีที่ 1 ได้แล้ว เพราะตอนนั้นสามารถอ่านออกเขียนได้เร็วล้ำหน้าเพื่อน ๆ เรียนรู้ได้เร็ว สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้หัดเขียนพร้อมพี่ ๆ อีกทั้งมีคุณแม่เป็นครูที่ช่วยฝึกสอนได้ตลอดเวลา” คุณหลุยส์เล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนาน
ชีวิตคุณหลุยส์ในวัยเด็กต้องโยกย้ายไปหลายโรงเรียน ก่อนจะมาจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์เขตบางซื่อใกล้บ้าน เพราะเป็นคนชอบเดินไปโรงเรียน ไม่ชอบไปโรงเรียนไกล ๆและไม่ชอบนั่งรถ คุณหลุยส์เป็นคนเรียนในเกณฑ์ดี แต่ต้องพลาดท่าสอบตกในสมัยชั้นม.ศ. 5 ต้องเรียนซ้ำชั้น ซึ่งคุณหลุยส์เชื่อว่า เกิดจากความประมาทของตัวเองที่คิดว่า สามารถทำวิชาสายวิทยาศาสตร์ได้ดี น่าจะผ่าน แต่ลืมไปว่าเขาไม่ชอบวิชาที่ต้องท่องจำอย่างประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทำให้จำไม่ได้
“ผมคิดว่า ผลจากการสอบตกในครั้งนั้น มีข้อดีในแง่ที่เป็นบทเรียนทำให้เรามานั่งคิดว่า เรียนไม่ดี สอบไม่ผ่านมีสาเหตุจากอะไร จะแก้ไขอย่างไรและต้องขยันเพิ่มขึ้น เพราะคุณพ่อบอกว่า ถ้าสอบตกอีกจะให้ไปเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งที่มหาราชกับลุง ซึ่งในที่สุดก็สามารถสอบผ่านไปได้
หลังจากจบม.ศ.5 ออกมาแล้ว ในตอนแรกยังไม่ตกลงใจว่าจะเรียนอะไรต่อ คุณแม่ คือ คุณกาญจนา จิณณวาโส ได้แนะนำให้เรียนต่อครู ผมจึงไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาและสอบผ่านเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้เรียนเพราะในวันที่ไปสอบสัมภาษณ์ได้นั่งคุยกับเพื่อนๆ และถามใจตัวเองดูว่า จะเป็นครูจริง ๆ หรือ สุดท้ายก็ตัดสินใจชวนกันไปดื่มแทนและกลับบ้านสรุปก็เลยไม่ได้เป็นครู” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี
คุณหลุยส์เริ่มเล่าต่อว่า “ ต่อมาผมได้ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและได้พยายามเลือกคณะที่โดนใจมากที่สุด โดย คุณพ่อ คือคุณนิยม จิณณวาโส แนะให้เรียนคณะนิติศาสตร์ แต่เพราะความไม่ชอบท่องจำ จึงไม่เลือก จากนั้นได้นำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมาดูและพบว่า มีเพียง 2 คณะที่น่าจะเลือกเรียนได้ คือ คณะวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์มีด้านสถิติที่พอเรียนได้และคิดว่าไม่ลำบากกับตัวเอง แต่พอถึงวันไปสมัครจริง ผมได้ตกลงเลือกเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์แทน และคิดว่า เลือกไม่ผิด เพราะคณะเศรษฐศาสตร์มีวิชาคณิตศาสตร์และสถิติประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้เรียนได้สบาย ผมจบโดยใช้เวลา 3 ปีครึ่ง ถ้าไม่ติดวิชาภาษาอังกฤษ ก็จะสามารถจบได้ในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น โดยใช้เวลาเรียนในช่วงปี 2518-2521 ครับ”
จับงานเอกชนก่อนเข้าสู่เส้นทางราชการ
ชีวิตในช่วงหลังจบปริญญาตรีของคุณหลุยส์ ก็น่าสนใจทีเดียว โดยเขาเล่าว่า “ ความจริงแล้วผมอยากจะเรียนต่อ แต่คิดหางานทำก่อนดีกว่า เพราะจบจากมหาวิทยาลัยเปิดออกมาเป็นรุ่นแรก ๆ ในยุคนั้นหางานค่อนข้างยาก ภาคเอกชนไม่ค่อยเต็มใจอ้าแขนรับ เพื่อนๆ ที่จบเศรษฐศาสตร์ในรุ่นเดียวกันกับผมจึงมุ่งไปสอบเข้าทำงานในภาคราชการมากกว่า
ผมเริ่มต้นการทำงานที่บริษัทเอกชนก่อน ซึ่งเป็นการได้งานโดยบังเอิญ เนื่องจากไปหาเพื่อนหลังจากพลาดหวังไปสมัครเป็นนักข่าวที่บริษัทผลิตหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งแต่ไม่ได้ จึงแวะไปหาเพื่อนที่ทำงาน เมื่อไปถึงปรากฏว่า เพื่อนบอกว่า บริษัทของเขากำลังรับพนักงานอยู่ จึงสมัครและเขาสัมภาษณ์เลย แต่ทำได้ประมาณ 3 เดือน เริ่มรู้สึกว่า ไม่เหมาะกับตนเอง เพราะรู้สึกกดดัน ต้องรับผิดชอบเรื่องยอดขายและรับผิดชอบลูกค้า ต่อมาจึงไปสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของส่วนราชการในช่วงต้นปี 2522 โดยสอบได้ในตำแหน่งวิทยากรตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่เรียกกันว่า สภาพัฒน์ โดยได้รับเงินเดือนเพียง 1,750 บาท
เมื่อได้ทำงานที่นี่ ผมเริ่มชอบ เพราะที่สภาพัฒน์มีบุคลากรที่เรียนจบมาสายเศรษฐกิจเป็นหลักและได้เริ่มต้นเรียนรู้งานใหม่ ชิ้นหนึ่งที่ได้ประสบการณ์มากมาย เช่น ได้ทำงานฐานข้อมูลระดับหมู่บ้านชนบทไทย ซึ่งเป็นรากฐานของการวางแผนพัฒนาชนบทไทย เก็บรวบรวมข้อมูล (ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5) เป็นแนวทางการพัฒนาชนบทแนวใหม่ กล่าวคือ เปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ จากที่ไปคิดแทนเขาว่า เขาอยากได้อะไร คิดว่าเขาขาดอะไร มาเป็นไปคุยกับประชาชนจริงๆ ว่า จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร เพราะความต้องการไม่เหมือนกัน
ตอนแรกคุณหลุยส์คิดว่า จะไม่ออกจากสภาพัฒน์ แต่ต่อมาไปสอบบรรจุเป็นราชการได้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการสหกรณ์ภายในประเทศ โดยเป็นรุ่นแรกที่มีตำแหน่งเป็นนักวิชาการสหกรณ์ 3 ซึ่งพอสอบบรรจุได้เขาเรียกไปสัมภาษณ์เพื่อให้ไปอบรม
คุณหลุยส์เล่าว่า “เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่จะไปอยู่ประจำจังหวัดต่างๆ ผมกับเพื่อนอีกคนได้ไปอยู่สำนักงานที่เรียกว่า หน่วยสหกรณ์นิคม กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่สีชมพู หน่วยไม่มีเพราะเป็นหน่วยตั้งใหม่ ต้องไปเช่าห้องแถวอยู่เป็นสำนักงานชั่วคราว พอถึงวันหยุดเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่เป็นคนในพื้นที่กลับบ้านหมด ผมอยู่ไกลถึงกรุงเทพฯเลยไม่ได้กลับ ต้องเฝ้าห้องแถว เตร็ดเตร่อยู่แถวนั้น
สำหรับภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบในขณะนั้น ผมมีหน้าที่จัดสรรเกษตรกรลงแปลงที่ดินเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ที่มีอยู่ทั้งหมด 3-4 หมื่นไร่ในโครงการ เกษตรกรจะได้ประมาณคนละ 30-35 ไร่ ส่วนเกณฑ์ในการคัดเลือกจะมีการประกาศที่อำเภอก่อนว่า เกษตรกรในพื้นที่ที่จะมาเข้าร่วมโครงการต้องมาแจ้งความจำนงก่อน ซึ่งจะมีการพิสูจน์ทั้งผู้ที่มีที่ดินอยู่แล้ว มีที่ดินจับจองหรือไม่มีที่ดิน แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่
การทำงานที่หน่วยสหกรณ์นิคมฯ เหมือนทำไปเรื่อยๆ และเริ่มรู้สึกว่า วิธีการทำงานน่าจะปรับใหม่ แต่ เนื่องจากหน่วยงานที่ทำเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงต้องปล่อยเลยตามเลย”
วันหนึ่งผมได้มีโอกาสมาเที่ยวกรุงเทพฯ ในงานปริญญาของเพื่อนรุ่นน้อง ครานั้นเริ่มเกิดความรู้สึกแล้วว่า คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง คุยเรื่องอะไรกัน รู้สึกเหมือนตนเองล้าหลัง การรับรู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ก็ล่าช้ากว่าเขา ที่ต่างจังหวัดประมาณ 5 โมงเย็นก็ปิดบ้านกันหมดแล้ว จึงต้องบอกกับตัวเองว่า คงต้องหาทางกลับมาอยู่กรุงเทพฯใหม่อีกครั้งเสียแล้ว จะอยู่ที่นี่ต่อไปคงจะไม่ก้าวหน้า หลังจากทำงานอยู่ที่กาญจนดิษฐ์ได้ประมาณ 2 ปีเศษ”
ต่อมาเมื่อมีโอกาส คุณหลุยส์จึงไปคุยกับเพื่อนที่สภาพัฒน์ โชคดีประจวบเหมาะกับมีตำแหน่งงานว่างพอดีและเคยทำงานอยู่ที่หน่วยงานนี้มาก่อน จึงทำให้ง่ายต่อการรับโอนกลับมาทำงานที่หน่วยงานเดิม เพียงแต่ไปอยู่กองอื่นเท่านั้น โดยไปอยู่ที่กองประชากรและกำลังคนของสภาพัฒน์ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 3
จุดเปลี่ยน”สภาพัฒน์”เสมือน “ตักศิลา”แหล่งความรู้
คุณหลุยส์เล่าว่า เมื่อกลับมาที่สภาพัฒน์ ตรงจุดนี้เองที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต เนื่องจาก“สภาพัฒน์” เปรียบได้กับสำนัก “ตักศิลา” เพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นแหล่งรวมบุคลากรที่ดี มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงทำให้คุณหลุยส์ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองผ่านการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดจนวิธีคิดว่า เขาวางระบบการคิดอย่างไร ประกอบกับการลุยงาน สู้งานและการไฝ่รู้ของคุณหลุยส์เอง ทำให้เขาสามารถเรียนรู้การกระบวนการทำงานต่าง ๆได้อย่างเป็นระบบ
“เข้าใจว่า สิ่งที่ผู้บริหารเขาให้เราไปทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ เหมือนเรารู้จิ๊กซอว์เป็นชิ้น ๆ แต่การมาเชื่อมต่อกันเป็นความรู้ที่เรายังขาด จึงต้องเรียนรู้ พอทำทุกอย่างเอง จึงทำให้เราได้เปรียบคนอื่น ได้รู้กระบวนการทั้งหมด เช่น การจัดประชุมสัมมนาระดับชาติ อย่างการประชุมระดมแนวความคิดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ในขณะนั้นแม้เพิ่งอยู่ในระดับซี 4 แต่ผมสามารถทำได้หมดทุกระบบ ตั้งแต่งานเอกสาร เอกสารประกอบการประชุม การเชิญ การจดบันทึกประชุม และการเชิญนายกรัฐมนตรี เราสามารถทำได้หมด เมื่อมาเป็นหัวหน้างานเอง จึงสามารถทำงานได้ทุกขั้นตอน แผนคน แผนเงิน และตัวแผน สามารถมอบหมายงานให้คนอื่นได้ สามารถติดตามได้ ได้เรียนรู้การเขียนข่าว เขียนบทความป้อนให้นักข่าว
สิ่งที่ได้เรียนรู้ในตอนนั้น คือ ถ้าเรามีโอกาสทำงานกับผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ เราขวนขวายหาความรู้ มีโอกาสไปนั่งฟัง และคิดตาม รู้สึกว่า ข้อสรุปความคิดเห็นในการประชุม เขาคิดเหมือนเรา หรือเราคิดเหมือนคนอื่น จะช่วยให้เราเกิดความเชื่อมั่นได้”
มุ่งศึกษาต่อปริญญาโท-ปริญญาเอก เพื่อความก้าวหน้า
หลังจากที่ตำแหน่งของคุณหลุยส์ขยับขึ้นมาที่ระดับซี 5 ทำให้เริ่มรู้สึกว่า วุฒิปริญญาตรีมีโอกาสเติบโตได้น้อยลง จำเป็นต้องเรียนต่อปริญญาโท ขณะที่หัวหน้าฝ่ายก็ได้ให้การสนับสนุน ผลักดันให้บุคลากรทุกคนไปศึกษาหาความก้าวหน้าเพิ่ม คุณหลุยส์เองต้องพลาดโอกาสเรียนหลายครั้ง ตอนแรกคิดไปเรียนต่อที่ฟิลิปินส์ เพราะมีผู้แนะนำว่า มีค่าใช้จ่ายไม่แพง แต่ต่อมาแนะให้เรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT เป็นสถาบันการศึกษานานาชาติในประเทศดีกว่า อยู่ที่รังสิต ซึ่งคุณหลุยส์ได้ไปสมัครตามคำแนะนำ และปรากฏว่า ทางมหาวิทยาลัยตกลงรับแล้ว แต่ไม่มีทุนให้ บังเอิญทางสภาพัฒน์ในขณะนั้นมีทุนของธนาคารโลกให้ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาพอดี แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นทุนเรียนในประเทศ คุณหลุยส์จึงยื่นเรื่องขอทุนใหม่ และได้ทุนเรียนในประเทศสมความตั้งใจ ถือเป็นความโชคดีได้ทุนเรียนในปี 2528 สาขาวางแผนพัฒนาชนบท
คุณหลุยส์เล่าต่อว่า ตอนเรียนแรก ๆ มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษอยู่บ้าง เพราะที่ AIT เรียนเป็นภาษาอังกฤษ เรียนรู้เรื่อง แต่ทักษะการเขียนไม่มั่นใจ แต่หลังจากผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน ก็สามารถปรับตัวได้ดี
หลังเรียนจบปริญญาโท คุณหลุยส์ได้กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมต่อเป็นเวลา 2 ปี ต่อมาสภาพัฒน์มีนโยบายพัฒนาบุคลากร เพื่อส่งคนไปเรียนปริญญาเอกจำนวน 10 คน ซึ่งหลังจากนั้นยังมีงบประมาณเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่งที่สามารถส่งคนไปเรียนได้อีก 5 ทุน คุณหลุยส์จึงได้รับเลือกให้ได้รับทุนด้วยในรอบที่ 2 นี้ โดยต้องไปสอบภาษาอังกฤษก่อน หลังผ่านแล้วจึงสามารถสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ตามใจชอบ แต่ต้องเรียนสาขาตามที่สภาพัฒน์ต้องการ ส่วนคุณหลุยส์เลือกเรียนสาขาเศรษฐศาสตร์แรงงาน ที่ University of Notre Dame ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนโรมันคาทอลิก ในเมืองนอเตอร์เดม รัฐอินดีแอนา ของสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่เลือกเรียนที่นี่ เพราะอาจารย์ของคุณหลุยส์เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรีเรียนอยู่ที่นี่เช่นกัน
การเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา มีวิธีการเรียนแตกต่างกันไป บางมหาวิทยาลัยเน้นนำทฤษฎีไปปฏิบัติ แต่มหาวิทยาลัยที่คุณหลุยส์เรียน เน้นเรื่องทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ผู้เรียนจบส่วนใหญ่มักออกไปเป็นอาจารย์ คุณหลุยส์เรียนจบเร็วเกินคาด โดยมีรายงานเผยแพร่ว่า นักศึกษาต่างชาติที่เรียนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน ได้ใช้เวลาเรียนเฉลี่ยนาน 6 ปี แต่ปรากฏว่า คุณหลุยส์ใช้เวลาเรียนประมาณ 4 ปี 2 เดือน เท่านั้น( มกราคม 2532- พฤษภาคม 2536)
หลังจากเรียนจบปริญญาเอกมาแล้ว คุณหลุยส์ได้กลับไปทำงานที่สภาพัฒน์ ในตำแหน่งเดิม คือ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน 5
มีโอกาสเป็นสต๊าฟ ฝ่ายการเมืองระดับชาติ
คุณหลุยส์เล่าว่า “ที่สภาพัฒน์ในยุคที่ผมอยู่นั้น คนที่เรียนจบระดับปริญญาเอกกลับมา มักถูกส่งไปเรียนรู้การทำงานกับฝ่ายการเมือง เพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ โดยมองว่า การที่จะให้คนเรียนปริญญาเอกได้เรียนรู้ระบบกลไกที่ดี การบริหารระดับสูง จะต้องไปฝึกงานกับรองนายกรัฐมนตรี ไปเป็นสต๊าฟงานด้านวิชาการหรือคณะทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง ซึ่งต้องหมุนเวียนกันไปคนละ 2-3 เดือน
“ตอนแรกไม่มีวี่แววว่าจะโดน หลังจากกลับจากจบ ปริญญาเอกมาเป็นเวลา 6 เดือน จนวันดีคืนดี อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า งานเยอะ ต้องการคนไปช่วย ผู้บริหารจึงส่งผมไปช่วยงาน ในขณะนั้นช่วงเช้าผมต้องไปทำเนียบรัฐบาล ช่วงบ่ายค่อยเข้าสภาพัฒน์ โดยมีหน้าที่เขียนคำกล่าวสุนทรพจน์ให้กับท่าน ทำความเห็นและประกาศวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี
ต่อมาคุณชวน ต้องการให้ติดตามไปราชการในต่างจังหวัดด้วย จึงออกตัวว่าไม่เหมาะ ต้องขอแจ้งผู้บริหารก่อน ซึ่งต่อมาได้ให้ผู้เชี่ยวชาญระดับ 8 ไปช่วยงานแทน เราก็กลับมาทำหน้าที่เดิมหลังยุบสภา
ตอนนั้นคิดว่า เราจะเติบโตได้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพัฒน์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง แต่ข้อดีที่ได้จากการทำงานนี้ คือ ถือเป็นประสบการณ์ ได้ไปฝึกทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองระดับชาติ แต่ข้อเสียคือ ทำให้เหมือนถูกมองว่า เป็นคนของพรรคการเมือง ทั้งที่พรรคการเมืองไม่ได้ให้คุณให้โทษต่อหน้าที่การงานของผม เพราะการทำงานต้องทำด้วยตนเอง”
ไปประจำอยู่ 5 กรมของกระทรวงทรัพย์ฯ
หลังผ่านประสบการณ์กับฝ่ายการเมืองแล้ว คุณหลุยส์ได้มีโอกาสโชว์ผลงานหลังไปร่ำเรียนวิชาระดับปริญญาเอกมา ด้วยการเสนอจัดระบบแรงงานพม่า
“ผู้บริหารถามว่า ไปเรียนปริญญาเอกจบมา ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานด้านการวางแผน เป็นมันสมองให้กับรัฐบาล ลองไปคิดนโยบายใหม่ ๆมา ผมจึงเสนอการจัดระบบแรงงานพม่า ที่สมัยก่อนลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ทำจนมีการเสนอเป็นนโยบาย ทำเป็นระบบนำเข้า ระบบติดตาม และทำเป็นกระบวนการวางแผนพัฒนาฝีมือแรงงาน”
หลังจากทำงานไปได้ประมาณปีเศษ คุณหลุยส์ได้สอบเลื่อนขั้นเป็นซี 6 ราวปี 2538 และหลังนั้นประมาณ 3 เดือน ก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ได้รับตำแหน่งเป็นรักษาการผู้อำนวยการกองประชากรระดับ 7 ทำได้ประมาณ 1 ปี ก็ได้ขยับไปเป็น ผู้อำนวยการกองโครงการเศรษฐกิจระดับ 8
กล่าวได้ว่า หลังจบปริญญาเอก ได้เลื่อนขั้นถึง 3 ครั้ง ในเวลาประมาณ 2 ปี หลังจากติดอยู่ที่ระดับซี 5 นานถึง 9 ปี
ระหว่างที่เป็นผู้อำนวยการกองโครงการเศรษฐกิจระดับ 8 คุณหลุยส์ต้องมีหน้าที่ดูแลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก รวมถึงด้านชลประทาน นอกจากนี้ยังต้องดูแลรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯและสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น องค์การตลาดเพื่อการเกษตร ฟาร์มโคนม และกองทุนสังเคราะห์สวนยาง เป็นต้น โดยต้องคอยดูแลติดตามการใช้จ่ายเงิน งบลงทุน การตั้งงบประมาณ และการอนุมัติงบต่าง ๆ ทำในตำแหน่งนี้นานประมาณ 6 ปี
ต่อมา คุณหลุยส์ ได้ตำแหน่งใหม่ไปเป็น ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับ 9 ซึ่งเป็นช่วงกับที่มีการตั้งกระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพอดี และได้ย้ายไปนั่งตำแหน่ง รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ต้องดูแลงานหลายด้าน อยู่ได้ 1 ปี จากนั้นปี 2548 ได้ขึ้นเป็น รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ต่อมามีการปฏิวัติในปี2549 คุณหลุยส์ได้โยกย้ายไปอยู่ในหลายหน่วยงาน โดยไปเป็น เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปี 2550 ได้นั่งตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งขณะนั้นถือว่า เป็นอธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 50 ปี ก่อนจะย้ายไปเป็น อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และย้ายไปเป็น อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยทำงานอยู่ที่ละประมาณ 1 ปี
ปี 2554 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ คุณหลุยส์ก็ได้ย้ายรอบใหม่ไปเป็น อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ประมาณ 8 เดือน
ปี 2555 ไปรับตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนก้าวเป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ รวมเวลาทำงานประมาณ 2 ปี
ปี2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งให้เป็น รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมาเป็น เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในปัจจุบัน
เห็นตำแหน่งต่าง ๆแล้ว คงต้องบอกว่า ชีวิตการทำงานราชการของคุณหลุยส์โลดโผนพอสมควร เพราะไปอยู่เกือบครบทุกหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หรือไปอยู่มาแล้ว 5 กรม สำหรับหน่วยงานที่ยังไมได้ไปอยู่คือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี และกรมควบคุมมลพิษ
ตำแหน่งใหม่ “เลขาธิการ สผ.”รอบ 2 งานเยอะ ต้องคุณภาพสูงกว่ามาตรฐาน
คุณหลุยส์กล่าวถึงตำแหน่งใหม่ที่ได้รับล่าสุดค่อนข้างหนักอึ้งทีเดียว โดย เลขาธิการ สผ.มีหน้าที่หลักในการจัดทำนโยบาย แผน มาตรการ และกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกลางตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองสัตยาบันไว้ในหลายๆ เรื่อง
นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการผู้ชำนาญการอีก 9 คณะ ที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมและประมวลความเห็นในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการภาครัฐและเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม แหล่งน้ำ และเหมืองแร่
“สิ่งที่เป็นปัญหาหรือสิ่งที่ยากในการทำงานมีหลายอย่าง เช่น งานเยอะ ปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในขณะที่มีเจ้าหน้าที่จำนวนเท่าเดิมโดยเฉพาะงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”
ส่วนด้านนโยบาย มีงานสำคัญที่ต้องทำหลายอย่าง อาทิ การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่ต้องได้รับการผลักดันจากระดับนโยบาย หากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความเข้าใจในมุมกว้าง คิดว่า สิ่งที่ตนเองคิด คือ แนวทางที่ถูกต้อง โดยไม่ฟังความเห็นในมุมกว้าง แบบหลากหลาย ก็จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการผลักดันงานด้านนโยบายที่มีความเร่งด่วนให้บังเกิดผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ คุณหลุยส์ได้สรุปสั้น ๆ ว่า เรื่องที่ต้องการจะทำในฐานะ เลขาธิการ สผ. คือ หน่วยงานขาดผู้บริหารมาเกือบ 1 ปี ทำให้ระบบการทำงานได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องมาปรับปรุงงานด้านการวิเคราะห์ การจัดทำนโยบาย ขวัญกำลังใจ ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร แก้ไขกฎหมายและพัฒนาศักยภาพบุคลากรอีกครั้ง เพราะในช่วงที่มาทำหน้าที่ เลขาธิการ สผ. ในช่วงปี 2549-2551 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงาน จนเป็น 1 ใน 3 ของส่วนราชการในประเทศไทย ที่เคยได้รับรางวัลจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ในด้านการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐมาแล้ว
รางวัลด้านการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐจาก ก.พ.ดังกล่าว ถือเป็นผลงานที่สำคัญเมื่อครั้งที่คุณหลุยส์อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ สผ.(1) ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างขององค์กรให้มีภารกิจสอดคล้องกับงานที่ได้รับมอบหมาย สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในด้านการวิเคราะห์ กำกับ ติดตาม จัดทำนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่ากับบทบาทของสภาพัฒน์เลยทีเดียว
“การทำงานในช่วงที่ผ่านมากับปัจจุบันไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก เพราะภารกิจที่กำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายมีมากขึ้น ต้องเร่งรัดปรับปรุงคุณภาพของงานให้ได้ดี และสูงกว่ามาตรฐานที่เคยปฏิบัติมา”
สำหรับภารกิจอย่างหนึ่งที่เพิ่งทำไปหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ได้ไม่นาน คือ ในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จัดแถลงและชี้แจงมติของคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้อนุมัติโครงการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตรที่ 42-47 ในรอยต่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดย การขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร จะช่วยยกระดับความปลอดภัยบนถนน และเป็นโอกาสในการสร้างแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า ที่ข้ามไปมาระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขตอุทยานแห่งชาติทับลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการก่อสร้างทางยกระดับและอุโมงค์ให้รถลอดผ่านเป็นช่วงๆ และพัฒนาพื้นที่บนอุโมงค์ให้เป็นป่า เพื่อสัตว์ป่าสามารถข้ามไปมาระหว่างป่าได้
ซึ่งรูปแบบอุโมงค์และทางยกระดับ เพื่อใช้เป็นทางเดินสัตว์เชื่อมระหว่างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน นี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า และยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในจุดอันตรายคอขวดทั้งสองจุดบนถนน 304
โครงการดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า “การพัฒนาสามารถดำเนินไปพร้อมกับการอนุรักษ์ได้” ซึ่งคุณหลุยส์เห็นด้วยว่า สามารถทำคู่ไปด้วยกันได้ และมีหลายงานของเขาที่ทำด้วยแนวคิดนี้
“ร่วมฟื้นปะการัง-ศึกษาวาฬบรูด้า-พยูน-โลมา”ประทับใจ
โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า คุณหลุยส์อยู่มาแล้วหลายหน่วยงาน เชื่อแน่ว่า เขาต้องมีช่วงเวลาที่ประทับใจอยู่บ้าง ซึ่งในเรื่องนี้คุณหลุยส์เล่าว่า สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือ ตอนสมัยไปทำงานที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีนักวิชาการเก่งๆ จำนวนมาก และจบระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ในขณะที่คุณหลุยส์จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ จึงถือเป็นงานที่ท้าทายและกังวลว่าจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
คุณหลุยส์เล่าว่า “เมื่อผมไปทำงานวันแรก ต้องรับงานเรื่อง “ปะการังฟอกขาว” ซึ่งต้องไปให้นโยบายและเปิดงาน ผมได้นั่งอ่านข้อมูลด้านปะการังจนเข้าใจแล้ว และใช้วิธีท้าทายเจ้าหน้าที่ เพื่อหวังสร้างแรงผลักดันในการทำงานจนนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด คือตอนไปเปิดสัมมนา ผมก็ไปท้าทายเขาว่า ที่สัมมนามาเป็นเวลา 3 วัน ได้ข้อยุติไหมว่า จะเอาไปทำอะไร หรือแค่มาบ่น ๆ น้ำลายแตกฟอง กินกาแฟแล้วก็กลับบ้าน ผมว่า เอายังนี้ไหม คิดมาให้ผม แนวคิด มุมมองเป็นอย่างไร และการทำแนวคิดให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เดี๋ยวผมจัดการเอง เป็นหน้าที่ผม แต่ในขณะนั้นไม่ได้รับความเชื่อถือ ต่อจากนั้นก็ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาเจ้าหน้าที่ และปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานใหม่”
คุณหลุยส์เล่าว่า เดิมการฟื้นฟูปะการังที่นักวิชาการทำกัน คือ ใช้วิธีเด็ดกิ่งปะการัง ย้ายที่เอาไปปลูก จนในปี 2553 เกิดปะการังฟอกขาวทั้งอ่าวไทยและในอันดามันตายหมด จาก 75% เหลือ 25% จึงบอกว่า พวกคุณทำผิดตั้งแต่ต้น คุณเก็บจากแหล่งธรรมชาติมา คุณต้องมาทำแปลงขยายพันธุ์ก่อน และก่อนจะนำไปลงทะเล คุณต้องนำจากแปลงขยายพันธุ์เก็บไปฟื้นฟูก่อน เพื่อไม่ให้แหล่งธรรมชาติได้รับผลกระทบ แต่ปรากฏว่า ทั้งแหล่งธรรมชาติและแปลงขยายพันธุ์ไม่สามารถอยู่รอดได้ตายหมด
คุณหลุยส์บอกถึงเหตุผลที่สามารถแนะนำเจ้าหน้าที่ได้ ไม่ใช่เพราะรู้ทุกอย่าง “คือวันหนึ่งผมนั่งดูสารคดีดิสคัฟเวอร์รี่ ปะการังสามารถฟื้นตัวได้จากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยที่ออสเตรเลียเขาสามารถขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศได้ โดยปีหนึ่งในช่วง 3-4 ครั้งที่น้ำนิ่ง มันจะปล่อยไข่ผสมกับสเปิร์ม จึงกลับไปถามนักวิชาการว่าเคยทำไหม นักวิชาการบอกไม่เคยทำ จึงบอกว่า เรียนมาด้านนี้ทำไมไม่เคยทำ นักวิชาการบอกได้ผลช้า จึงบอกว่า เข้าใจผิด เพราะหากทำตั้งแต่วันนี้ ปะการังเขากวางโตปีละ 3-5 เซนติเมตร ปะการังสมองโตเท่าลูกชิ้นต่อปี แต่พวกนี้ตายน้อย แสดงว่า การขยายพันธุ์วิธีนี้ปะการังมีความแข็งแรงกว่า”
หลังจากนั้นคุณหลุยส์จึงไปคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และได้รับทุนสนับสนุนมาเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท เพื่อมาทำโครงการขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ และได้ให้นักวิชาการไปทำงานร่วมกับนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำแผนเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งในการทำงานนั้น เมื่อปะการังออกไข่มาก็เอาไปผสมกับสเปิร์มโดยมีแผ่นดินเผาขนาด 3x3 นิ้ว รองรับ ใช้ไข่ไปเกาะที่แผ่นดินเผาเป็นจำนวน 50 ฟอง ซึ่งจะมี 1 ฟองที่เจริญเติบโต คุณหลุยส์จึงแนะให้ปรับใหม่ โดยใช้แผ่นดินเผาขนาดเล็กลงเพียง 1.5x1.5 นิ้ว และใช้ไข่เพียง 15 ฟอง เพราะคิดว่า ไม่ว่าจะใช้ไข่มากหรือน้อย ก็จะมีไข่เพียง 1 ฟองที่เจริญเติบโตเหมือนกัน และการลดขนาดแผ่นดินเผาจะช่วยให้ได้ชิ้นงานเพิ่มขึ้น
แนวคิดดังกล่าวปรากฏว่า ได้ผลดี หลังจากนั้นคุณหลุยส์ยังแนะให้นักวิชาการใช้วิธีให้ปะการังได้รับแสงเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อช่วยให้ขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น เนื่องจากปะการังไม่ได้กินอาหาร แต่เติบโตด้วยการสังเคราะห์แสง โดยเปรียบเทียบกับไก่เลี้ยงในฟาร์มที่เปิดไฟสว่างตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ไก่เมื่อตื่นมาจะกินอาหารตลอดและเจริญเติบโตเร็ว 45 วันได้น้ำหนัก 7 ขีด เหตุผลเพราะไก่ไม่รู้เวลานั่นเอง
“งานด้านปะการังนี้ ปัจจุบันผมยังทำอยู่ และที่ผ่านมาได้นำแผ่นดินเผาพร้อมปะการังไปไว้ในแหล่งที่อยู่เดิมแถบอ่าวไทย ตราด เกาะสีชัง ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2554”
ทำหนังสือภาพ “Photo ID วาฬบรูด้า” เล่มแรกของไทย-เอเชีย
สำหรับอีกผลงานที่ประทับใจคุณหลุยส์ คือ การได้ร่วมทำงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากกับคณะของ ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ทั้งการเผยแพร่ผลการพิสูจน์การตายของโลมา พะยูน ที่มาเกยตื้นตาย และการตายของเต่าทะเล โดยคุณหลุยส์ได้รวบรวมรายงานผลการศึกษาไปเขียนรายงานลงในสื่อสิ่งพิมพ์
นอกจากนี้ คุณหลุยส์ ยังได้ร่วมศึกษา “วาฬบรูด้า” ด้วย วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ (Bryde's whale, Eden's whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balaenoptera brydei) เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae โดยชื่อ วาฬบรูด้า เป็นการตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติ แก่กงสุลชาวนอร์เวย์ ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ชื่อ “โยฮัน บรูด้า”
ซึ่งคุณหลุยส์ได้พบว่า วาฬบรูด้าบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีตำหนิ โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้จำแนกประชากรวาฬบรูด้า โดยใช้ภาพถ่าย ถิ่นที่อยู่ในอ่าวไทย พิกัดและรอยแผลหรือตำหนิใน ส่วนต่าง ๆ เช่น ตามลำตัว ปาก มาประกอบการพิสูจน์อัตลักษณ์ของวาฬบรูด้าแต่ละตัว จนสามารถจำแนกวาฬบรูด้าที่มีตำหนิแตกต่างกันได้ โดยมีวาฬบรูด้าประมาณ 40 ตัว ที่ได้รับการตั้งชื่อจากตำหนิที่มีอยู่ เช่น เจ้าส้มตำลูกแม่ข้าวเหนียว เจ้าพาฝัน และเจ้าอิ่มเอม เป็นต้น
“ที่ตั้งชื่อนำหน้าว่า “เจ้า” เพราะเรายังไม่รู้ว่ามันเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย จนเมื่อมีลูกจึงจะรู้ว่า เป็นตัวเมีย”
ต่อมาทาง ทช.ได้เชิญให้ไปเผยแพร่เรื่องวาฬบรูด้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผมได้ให้ดร.กาญจนาช่วยรับหน้าที่นี้ด้วย จากนั้นได้แนะนำให้ ดร.กาญจนา ปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอใหม่ จากนำเสนอด้วยรายงาน ไปเป็นหนังสือภาพ Photo ID แทน พิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ โดยคุณหลุยส์ช่วยหาทุนให้ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการจำแนกอัตลักษณ์วาฬบรูด้า จากภาพถ่ายเล่มแรกของไทยและภูมิภาคเอเชีย ยังไม่เคยมีใครทำ เนื่องจากชาวประมงไทยเคารพยกย่อง วาฬบรูด้า ให้เป็น “เจ้าปู่แห่งทะเล” พวกเขาบอกว่า “เราจะไม่กินปลาวาฬ”
“ถือเป็นหนังสือ Photo ID เล่มแรกของไทย และไทยยังเป็นประเทศแรกที่จำแนกลักษณะวาฬบรูด้าแยกเพศและตั้งชื่อ”
หลังจากนั้นคุณหลุยส์และทีมงานยังสนุกสนานสร้างผลงานเกี่ยวกับวาฬบรูด้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำเป็นการ์ตูนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เป็นหนังสือภาพการ์ตูนสำหรับเยาวชน มีชื่อว่า "อีเด็นน้อยกับทะเลแห่งความสุข" ซึ่งเขียนโดยคณะของ ดร.กาญจนา ซึ่งเด็กที่ติดต่อกับ ดร.กาญจนา ทางอีเมลสนใจ เขานำเรื่องราวที่ ดร.กาญจนา เขียน ไปทำเป็นการ์ตูน ทาง ทช.จึงขอซื้อลิขสิทธิ์ของเขามาแล้วมาทำเป็นการ์ตูน
หนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงการดำรงอยู่ของวาฬบรูด้ากับสัตว์ในท้องทะเลอ่าวไทย ที่นับวันเริ่มเสื่อมโทรมลงจากปัญหาขยะทะเล เป็นสื่อให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้ตระหนักถึงธรรมชาติอันงดงามของท้องทะเลไทย ระบบนิเวศทางทะเลที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งแวดล้อม แหล่งอาหารสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ และมนุษย์ โดยผ่านตัวดำเนินเรื่อง คือ ลูกปลาวาฬบรูด้าตัวน้อย ชื่อ “อีเด็น” นกนางนวล “เจ้าว่อน” โลมาอิรวดี “วันดีดี” และโลมาหลังโหนก “คุณตาฮัม” ที่ต้องอาศัยอยู่ในท้องทะเลที่เริ่มเสื่อมโทรมและมีอาหารน้อยลง ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเดินทางตามหาทะเลที่อุดมสมบูรณ์ “ทะเลแห่งความสุข” ให้พบ และท้ายสุด การ์ตูนเรื่องนี้ ยังสอนให้เด็ก ๆ ตระหนักได้ว่า พวกเราจะช่วยกันสร้างทะเลแห่งความสุขกันได้อย่างไร และสอนให้รู้จักช่วยเหลือและพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกด้วย
“หนังสือวาฬบรูด้า” เพื่อเด็กพิการทางสายตา
เรื่องราวยังไม่จบเพียงแค่นั้น คุณหลุยส์เล่าว่า ต่อมามีผู้คนแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์และไม่ได้รับโอกาสตรงนี้ด้วย ได้แก่ เด็กพิการทางสายตา คุณหลุยส์จึงไปขอทุนเพื่อน ๆ มาอีก เพื่อช่วยทำหนังสือเพื่อเด็กกลุ่มนี้เพิ่ม ขณะที่ ดร.กาญจนา ก็ได้ขอเรี่ยไรผ่านเฟซบุ๊คอีกทาง ซึ่งได้เงินบริจาคมาเป็นมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการทำตุ๊กตาปลาวาฬบรูด้าเพิ่มเพื่อขายในเฟซบุ๊คและใช้แจกคนที่บริจาค ตัวเล็ก 250 บาท ตัวใหญ่ 300 บาท จนสามารถรวบรวมทุนเพื่อทำหนังสือสำหรับเด็กพิการทางสายตาเป็นมูลค่ารวมประมาณกว่า 2 ล้านบาท
หนังสือดังกล่าวได้บริจาคให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ โดยแต่ละแห่งจะได้หนังสืออย่างน้อย 5 เล่ม ตุ๊กตา 5 ตัว ช่วยให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือเป็นอักษรเบรลล์ พร้อมสัมผัสวาฬบรูด้าไปด้วยพร้อมกัน ขณะเดียวกันยังได้เงินบริจาคประมาณ 1.3 แสนจากเพื่อน ๆ สถาบันพระปกเกล้ามอบให้แก่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ใกล้แยกตึกชัย ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวัสดุการเรียนการสอนผู้พิการทางสายตาต่อไป
คุณหลุยส์เล่าต่อว่า หลังจากนั้น ดร.กาญจนา ที่แสนดี ได้ป่วยเป็นโรคร้าย จึงอยากจะทำอะไรไว้เป็นชิ้นสุดท้าย คุณหลุยส์จึงช่วยกันจัดทำหนังสือภาพวาฬบรูด้าและโลมาหัวบาตร โลมาอิรวดี ในอ่าวไทย เพราะในการทำงานศึกษาสำรวจวาฬชนิดนี้ได้ถ่ายภาพวาฬบรูด้ากันไว้มากนับแสนภาพ คุณหลุยส์ ซึ่งในขณะนั้นได้ย้ายมารับตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้ช่วยหาผู้สนับสนุนงบประมาณจนได้งบมาประมาณ 2 ล้านบาท จัดพิมพ์หนังสือภาพได้จำนวน 4,500 เล่ม พิมพ์ทั้งเป็นภาษาอังกฤษและไทย มอบให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆที่ไม่แสวงผลกำไร(NGO) รวมถึงส่งไปประเทศที่ยังมีการล่าปลาวาฬอยู่ เพื่อต้องการสร้างจิตสำนึกไม่ให้รบกวนและมีการล่าสัตว์ชนิดนี้น้อยลง
“ถือเป็นหนังสือภาพวาฬบรูด้าเล่มแรกของไทยและอาเซียนอีกเช่นกัน เพราะไม่เคยมีใครทำและหนังสือเล่มนี้ยังเป็นสื่อกลางที่ทำให้ส่วนราชการต่าง ๆ สถาบันการศึกษา และเอ็นจีโอ คนที่ไม่เคยเจอหน้ากัน มาช่วยกันเลือกภาพ จนกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ผมแจกไปทั่ว โฆษณาให้คนที่ไม่เชื่อ เพื่อยืนยันว่า อ่าวไทยมีวาฬบรูด้า”
.
นับว่า คุณหลุยส์และทีมงาน ได้ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่น่ารัก อย่าง วาฬบรูด้า และสัตว์ทะเลหายากอื่น ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีทีเดียว
“ผลจากการศึกษาทั้งหมดนี้ ทำให้คาดว่า ในอีกประมาณ 10 ปี ความสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวไทยจะกลับมา ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตอยู่ประมาณ 280 ชนิด ขณะเดียวกันยังทำให้รู้ว่า วาฬบรูด้ามีความสำคัญกับอ่าวไทยมาก และการพัฒนากับการอนุรักษ์สามารถทำคู่กันได้ ไม่ได้กระทบต่อสัตว์ เวลานี้วาฬบรูด้ายังมีลูกเพิ่มทุกตัวๆละประมาณ 1-3 ตัว ” คุณหลุยส์พูดด้วยแววตามีความสุข
ทั้งนี้ การศึกษาในอนาคต จะเป็นการดูการอพยพย้ายถิ่นและการสื่อสารของวาฬบรูด้า โดยเบื้องต้นเคยมีNGO แห่งหนึ่ง มาช่วยติดเครื่องติดตามสัญญาณให้ แต่ทำได้ไม่นานเครื่องมือดังกล่าวหลุด จึงต้องหาทุนสนับสนุนใหม่ ซึ่งคุณหลุยส์เปิดเผยว่า เพิ่งได้ทุนมาสด ๆ ร้อน ๆ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เพื่อทำโครงการนี้ โดยจะติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมซึ่งจะส่งสัญญาณเมื่อวาฬโผล่พ้นน้ำ
ออกแบบ “เตาเผาขยะชีวมวลไร้ควัน” ได้รับรางวัล
นอกจากงานเกี่ยวกับสัตว์แล้ว คุณหลุยส์ยังบอกเล่าถึงความประทับใจอีกอย่างว่า ในสมัยที่อยู่กรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2554 มีขยะพลาสติกเต็มไปหมด จึงต้องออกมารณรงค์ไม่ให้เผา มีอยู่วันหนึ่งมีเพื่อนมาหาและบอกว่า มีถัง 200 ลิตร มาให้ของเขาเอง ใช้เชื้อเพลิงน้อยความร้อนสูง ใช้เศษไม้กำเดียวสามารถทำกับข้าวได้เลย จึงลองทำดู และพบว่าเป็นเรื่องจริง แต่เตาเผาดังกล่าวยังมีควันโขมง ถึงกับทำให้มดแดงที่ไต่อยู่บนต้นไม้ร่วงกราว
ณ เวลานั้น คุณหลุยส์คิดว่า ควันโขมงอย่างนั้นไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแน่ และในฐานะที่อยู่หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความคิดอยากจะพัฒนาเตาเผาขยะไร้ควันขึ้น และได้เป็นที่มาของการพัฒนาต่อยอดเตาแนวใหม่ โดยคุณหลุยส์เป็นผู้ออกแบบเองกับมือและสนับสนุนทุนให้ทีมงานของ ดร.นิตยา นักระนาด มิลด์ ไปทำ จนได้ “เตาเผาขยะชีวมวลไร้ควัน” หรือที่ลูกน้องเรียกกันว่า “เตาเกษมสันต์” ซึ่งคณะทำงานได้ยื่นจดสิทธิบัตรกันไปแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ยังได้คว้ารางวัลพิเศษสาขาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน ในงานวันนักประดิษฐ์ ปี 2556 ของสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาด้วย
สำหรับ “เตาเผาขยะชีวมวลไร้ควัน” เป็นเตาเผาขยะต้นทุนต่ำ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ภายในชุมชนได้ เพื่อกำจัดของเหลือทิ้งจากการเกษตรที่เป็นของเสียชีวมวล จำพวก เศษไม้ ใบหญ้า ฟางข้าว แกลบ ชานอ้อยและกากปาล์ม แทนการเผาในที่โล่ง เพื่อลดปัญหามลพิษจากหมอกควันและไฟป่า
“ข้อดี คือ ไม่มีควัน ช่วยลดมลพิษ ใช้ถังขนาด 200 ลิตร วัสดุหาง่ายและต้นทุนต่ำ เตาให้ความร้อนสูงถึง 750 องศาเซลเซียส ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารเบนซิน ซึ่งเป็นสารระเหยอินทรีย์ที่เป็นพิษต่อร่างกายได้ลดลงประมาณ 30-40% ลดก๊าซคาร์บอนมอนอคไซด์ลง 97-98% ที่ผ่านมาได้แนะนำให้ทีมงานไปพัฒนาถังให้ใหญ่ขึ้นขนาด 2.50 เมตร ถ้าผลทดลองออกมาได้ความร้อนเกิน 800 องศาเซลเซียส จะสามารถเผาขยะพลาสติกได้ อนาคตอาจใช้ความร้อนปั่นไฟฟ้าได้อีกด้วย”
อนาคตหลังเกษียณ มีงานรองรับเพียบ
จากผลงานต่าง ๆ ที่เป็นความประทับใจของคุณหลุยส์ สะท้อนให้เห็นได้ว่า คุณหลุยส์สามารถทำงานในหน่วยงานและในหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างมีความสุขและทำได้ดีเสียด้วย แม้จะต้องโยกย้ายไปดูแลหน่วยงานที่ไม่ถนัดก็สามารถปรับตัวและแสวงหาความรู้ใส่ตัว เพื่อให้ทำหน้าที่นั้นได้อย่างไม่บกพร่อง มิหนำซ้ำยังรู้จักสร้างสรรค์สร้างผลงานใหม่ๆ
ชีวิตของข้าราชการของ “คุณหลุยส์” จึงน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับข้าราชการทั่วไปนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้างไม่มากก็น้อย
เวลานี้ คุณหลุยส์เหลือเวลาทำงานอีกประมาณ 3 ปีก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ไม่ได้วางแผนอะไรเป็นพิเศษ และเชื่อว่า คงจะไม่ได้มีเวลาไปพักผ่อนหลังเกษียณเหมือนคนอื่น ๆ อย่างแน่นอน เพราะบรรดาเพื่อนฝูงมากมาย เตรียมจองตัวให้ไปทำงานด้วยกัน
“มีเพื่อนๆ รอให้ไปเป็นกรรมการบริษัทหรือที่ปรึกษาอยู่หลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการอยู่ในหลายหน่วยงานเช่นกัน รวมถึง กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)และกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่วนที่เคยเป็นมาแล้ว เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)”
คุณหลุยส์ บอกกับเราว่า “ไม่แน่ ผมอาจจะเลือกเส้นทางเป็น “พ่อพิมพ์ของชาติ” เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาอยู่บ้าง โดยมีส่วนร่วมแต่งตำราของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)นอกจากนี้ยังเคยเป็นวิทยากรพิเศษไปบรรยายหลักสูตรผู้ตรวจราชการกรม และหลักสูตรการวิเคราะห์โครงการและการลงทุน
เพราะหากจะอยู่บ้าน ส่องพระ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำในยามว่าง ก็คงจะไม่สามารถทำได้ทุกวัน…โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคยทำงาน..แม้จะไม่เดือดร้อนมีบำเหน็จบำนาญของข้าราชการไว้ใช้ยามแก่ตลอดชีวิต”
แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตาม เชื่อแน่ว่า คุณหลุยส์คงจะรับหน้าที่ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และในวัยเพียง 60 ปี ยังสามารถใช้พลังสมองและกำลังวังชาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว หรือเพื่อสังคม ดังคติที่ยึดถือ “เอางานไปแลกเงิน...เอาเงินมาทำงาน” ตามที่ถนัด..ซึ่งจะช่วยคลายเหงาได้ เนื่องจากคุณหลุยส์สมรสแล้วทว่าไม่มีบุตรให้ต้องดูแล
แต่หากยังคิดไม่ออก คงไม่ต้องรีบ เพราะยังมีเวลาคิดตรึกตรองได้อีกนานถึง 3 ปี!! …และเราหวังว่าผู้อ่าน “เอซีนิวส์” คงจะได้ข้อคิดดีๆ จากผู้ชายคนนี้…ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ขอขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาท
ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ
www.queengallery.org
ข่าวเด่น