ประสงค์ เลิศรัตนวิทสุทธิ์
ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ผู้ชายที่อยู่เหนือคำจำกัดความ คนข่าวครบเครื่อง..ชีวิตไม่เคยคิดหยุดทำงาน
เมื่อเอ่ยถึง “ประสงค์ วิสุทธิ์” หรือ “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ที่มีผลงานตีพิมพ์มากมายในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและประชาชาติธุรกิจของเครือมติชน เชื่อว่าคงจจะจดจัำได้ อดีตผู้บริหารลูกหม้อของมติชน คนข่าวคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ มีสไตล์ทำข่าวเชิงสอบสวนสืบสวนเจาะข้อมูลลึกถึงแก่นเป็นงานถนัด มุ่งตีแผ่ความจริงที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยมาหลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองและการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้จะก้าวออกจากรั้วมติชนที่เคยคิดฝากผีฝากไข้ไปจนถึงยามเกษียณ ทว่าเขายังคงทำหน้าที่เสมือนสุนัขเฝ้าบ้านและยามเฝ้าแผ่นดินต่อไป เพราะชีวิตนี้ของ “ประสงค์ วิสุทธิ์” ไม่เคยคิดที่จะหยุดทำงาน
ชาวกทม.จากครอบครัวเชื้อสายจีน
เมื่อเร็วๆนี้ทีมงาน "เอซีนิวส์" ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของ "คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" หรือที่คนวงการข่าวรุ่นน้องที่สนิทเรียกกันว่า “พี่เก๊” แม้จะมีเครื่องเคราบนใบหน้าเข้ม เหมือนผู้ใหญ่น่าเกรงขาม ทว่าเมื่อได้พูดคุยแล้วจะพบแง่มุมความอ่อนโยน สนุก ซ่อนอยู่ในบุคลิกที่เข้มแข็ง จริงจัง
ขณะเดียวกันยังช่วยให้รับรู้ตัวตนเป็นแบบอย่างของการเป็นคนข่าวที่มีความรักในงานที่ทำ ขยันและใฝ่รู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ อีกทั้งให้แง่คิดในการใช้ชีวิต ที่ต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทสำหรับคนข่าวและคนทำงานทั่วไป โดยเฉพาะในองค์กรของเอกชน ที่ต้องตระหนักให้มากถึงความไม่มั่นคงในชีวิตคนทำงานในปัจจุบัน
ปัจจุบัน คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ หรือ “คุณเก๊” หนุ่มใหญ่วัย 54 ปี ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา นับเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงสื่อกับสไตล์การทำข่าวแบบขุดคุ้ยเจาะลึกมือฉกาจและเป็นคนข่าวที่นักการเมืองหลายคนจดจำชื่อได้อย่างแม่นยำ หลายคนต้องสะเทือน เพราะผลงานการทำข่าวอย่างล้วงลึกของเขา
คุณประสงค์เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด โดยเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ 6 พี่น้องในครอบครัวที่อาศัยยู่ในย่านสุทธิสาร มีคุณแม่เป็นชาวจีนที่ติดตามน้าๆ มาพึ่งใต้ร่มพระบรมโพธิ์สมภารนับแต่วัยรุ่นเพียง 17 ปี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาศัยอยู่ในบ้านพักแถวบางรัก ก่อนพบรักกับคุณพ่อที่เป็นหนุ่มชาวจีนในไทยและย้ายไปสร้างครอบครัวเขตสุทธิสาร ช่วยกันทำมาค้าขายประเภทของชำและข้าวแกง
สู่รั้วนิเทศฯจุฬาฯ บ่มเพาะต้นกล้า “คนข่าว”
ในวัยเด็ก คุณประสงค์เป็นศิษย์โรงเรียนอำนวยวิทยา ซึ่งมีถึงระดับชั้น ป.7 กระทั่งในสมัยมัธยมศึกษาได้ไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมวัดมกุฎกษัตริย์ กับเพื่อนๆ และได้เข้าเรียนในสายคณิต-อังกฤษ สมความตั้งใจ ซึ่งในวัยเด็ก คุณประสงค์จัดอยู่ในเกณฑ์ “เด็กเรียน” เป็นคนตั้งใจเรียน ไม่ยุ่งเรื่องทะเลาะวิวาท แม้ในสมัยนั้นโรงเรียนดังกล่าวจะได้ชื่อว่า เป็น “โรงเรียนนักเรียนขาสั้นหัวโจก” ที่มักมีปัญหากับโรงเรียนอาชีวะก็ตาม
“เวลาจะกลับบ้าน ต้องคอยระวังว่ามีนักเรียนโรงเรียนคู่อริอยู่บนรถเมล์หรือไม่ และหากมีอะไรเกิดขึ้นต้องวิ่งอย่างเดียว” คุณประสงค์เล่าพร้อมหัวเราะ
เส้นทางชีวิตเริ่มย่างสู่ถนนคนข่าวเมื่อหลังจบชั้นมัธยมฯ คุณประสงค์ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยต่อ ในขณะนั้นมีความชอบระหว่างคณะรัฐศาสตร์ เหมือนที่พี่ๆ หลายคนเรียน และคณะนิเทศศาสตร์ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ จึงใช้วิธีเลือกคณะที่มีคะแนนสูงสุดไว้ก่อน ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลปรากฏว่า คุณประสงค์สามารถสอบติดคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปี 2523 และได้เลือกสาขา “หนังสือพิมพ์” ขณะเรียนในชั้นปีที่ 3 เพราะคิดว่า เป็นตัวตนของตนเองมากที่สุด ไม่เหมือนสาขาภาพยนตร์หรือโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่ต้องมีบุคลิกกล้าแสดงออกต่อสาธารณะ ส่วนวิทยุก็คิดว่าตนไม่มีความสามารถเพียงพอ
“โดยปกติในสมัยมัธยมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งจะอ่านทุกประเภท ทั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บางกอก นิยายจีนในไทยรัฐและในนิตยสารทานตะวัน สำหรับคนโปรดในแวดวงข่าว มีชื่อว่า วิโรจน์ เอ็ม 16 หรือ วิโรจน์ มุทิตานนท์ เป็นหัวหน้าฝ่ายภาพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาพข่าวว่า ภาพที่ดีเป็นอย่างไร และภาพที่ไม่ละเมิดเป็นอย่างไร”
คุณประสงค์เล่าว่า เมื่อเข้าไปเรียนชั้นปีที่ 1 จะมีห้องสำหรับให้นักศึกษาเริ่มฝึกทำข่าวและหนังสือพิมพ์ชื่อว่า“นิสิตนักศึกษา” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ที่โด่งดังมากหลังยุค 14 ตุลาคม 2516 เป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ฝึกปฏิบัติทำงานจริ งและขายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยจ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์ ขณะที่ได้รับทุนสนับสนุนจากคณะหรืออาจารย์หัวหน้าภาคช่วยหาผู้สนับสนุนให้อีกทาง ซึ่งในขณะนั้นยังมีกระแสของ 6 ตุลาคม 2519 อยู่ และการช่วงชิงอำนาจการเลือกตั้งองค์การนิสิตนักศึกษายังคงมีอยู่ การได้ออกไปทำข่าวข้างนอกเป็นที่สนุกสนาน พอเป็นพี่ชั้นปีที่ 3 ได้เลือกภาควิชาหนังสือพิมพ์ก็จะเป็นตัวหลักและชวนน้องๆ มาทำข่าวด้วย
“ปัจจุบันบรรยากาศแบบนี้ไม่มีแล้วในมหาวิทยาลัย นิสิตจะเข้าฝึกทำข่าวจริงก็ต่อเมื่อลงเรียนเพื่อให้ได้เกรด ทำเมื่อถึงเวลาเรียน ไม่ได้ทำเพราะอยากจะทำ ผมเคยเสนอให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นิสิตทำเว็บไซต์ เพราะค่าใช้จ่ายไม่มากประมาณ 1 หมื่นต่อปี โดยมีห้องเข้าออกได้สะดวก เพื่อให้นิสิตเข้าไปทำงานและมีอาจารย์คอยดูแลให้คำปรึกษา ถ้าทำเว็บไซต์ดี ๆ ซึ่งอาจเป็นเว็บฯข่าวหรือแม็กกาซีน ถ้ามีคนเข้าไปดูมาก ติดตลาดจะสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ถ้าทำได้จะเป็นวิธีที่ให้นักศึกษาได้ฝึกงานที่ดีที่สุด มีที่ลองวิชา สู้มืออาชีพได้ เพราะเด็กมีความคิดดีๆ เพียงแต่ต้องใส่คอนเซ็ปต์และวางกติกาไม่ให้ละเมิดสิทธิคนอื่น”
เมื่อเป็นเด็กกิจกรรม เน้นทำกิจกรรมมากกว่าเรียน จึงทำให้คุณประสงค์มีผลการเรียนถดถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจากที่เคยได้เกรดเฉลี่ย 3 ในเทอมแรกของชั้นปีที่ 1 จากนั้นได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลจากไม่ค่อยได้เข้าห้องเรียน ปี 2 แทบไม่ได้เรียนเลย เพราะสนุกกับการทำกิจกรรม ไปออกค่ายของคณะนิเทศศาสตร์เองและไปกับคณะรัฐศาสตร์บ้าง รวมถึงการเคลื่อนไหวร่วมกับองค์การนักศึกษา
ปี4 ฝึกงานข่าวที่มติชน ก่อนกลายเป็น“ลูกหม้อ”ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี คุณประสงค์สามารถเรียนผ่านมาได้จนถึงชั้นปีที่ 4 (ปี 2526) ซึ่งในขณะนั้นมีอาจารย์พิเศษจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐมาสอนและต่อมาได้ไปทำงานกับ อ.พรชัย วีระณรงค์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “นิวส์สตรีท” คุณประสงค์เขียนเรื่องลงหนังสือได้เรื่องละ 400 บาท ออกรายสัปดาห์ หรือได้ประมาณ 1,600 บาทต่อเดือน
กระทั่งในช่วงปิดเทอมในช่วงเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ได้ไปฝึกงานข่าว ลงสนามข่าวจริงๆ กับค่ายสื่อชื่อดังแห่งหนึ่งของเมืองไทย ได้แก่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสิ่อสิ่งพิมพ์หลายประเภทในปัจจุบัน อาทิ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารเส้นทางเศรษฐี หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ นิตยสารศิลปวัฒนธรรมและนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน โดยฝึกงานข่าวทั่วไปหรือนักข่าวจเร ซึ่งต้องไปทำข่าวตามที่หัวหน้างานสั่ง
หลังจากนั้น ในช่วงปลายชั้นปีที่ 4 ได้มาทำงานกับทางมติชน มีรายได้เพิ่มมาหน่อยที่ 2,750 บาทต่อเดือน ซึ่งคุณประสงค์เล่าว่า ทำให้เกือบเรียนไม่จบ ติดวิชาเลือก 1 ตัว และต้องไปขอให้อาจารย์เปิดเรียนในภาคฤดูร้อน โดยเรียน 2 คน กับเพื่อน ซึ่งไม่ต้องเข้าเรียน แต่ทำรายงานส่ง จนสามารถเรียนจบ 4 ปีได้ในที่สุด
ส่วนงานที่ทำกับมติชน เริ่มแรกเขียนข่าวลงเล่มมติชนสุดสัปดาห์ก่อน จากนั้นยกระดับไปอยู่รายวัน แต่ทำได้ไม่นานทีมงานของ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่ทำอยู่เดิมลาออกไป ทำให้มีการปรับเปลี่ยนดึงคนของมติชนไปทำแทน ทำให้คุณประสงค์ต้องเข้าไปช่วยงานรายวันเพิ่มขึ้น ต้องทำงานเพิ่มทั้งเล่มรายวันและสุดสัปดาห์
“การทำงานในขณะนั้น มติชนมีสำนักงานอยู่ใกล้วัดราชบพิตร สิ่งที่สนุก คือ ตอนกลับบ้านในช่วง 3-4 ทุ่ม จะเดินกันเป็นกลุ่มกลับบ้านไปสนามหลวงและแยกย้ายกันขึ้นรถเมล์กลับบ้าน การเดินทางไม่ลำบาก ต่อมามีข่าวว่ามติชนจะย้ายที่ทำงาน แต่ที่บ้านได้ย้ายไปก่อนแล้วไปอยู่ที่หมู่บ้านเคหะประชานิเวศน์ 3 ในปี 2528 ซึ่งทำให้การเดินทางไปทำงานลำบากขึ้นกว่าเดิม แต่จากนั้นไม่นาน มติชนได้ย้ายตามมาอยู่ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 ไม่ไกลกัน เลยทำให้การเดินทางไปทำงานสะดวกสบายขึ้น”
ตัวอย่าง “คนข่าวขยันใฝ่รู้ –สร้างผลงานโดดเด่น”
คุณประสงค์ทำงานที่มติชนประมาณ 28 ปี นับจากปี 2526 ถึงราวกลางปี 2554 แม้มีช่วงที่ลาออกไปบ้างในปี 2528 แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ก่อนกลับมาทำใหม่อีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเป็นคนข่าวคุณภาพของคุณประสงค์เอง ขณะเดียวกันมติชนยังเป็นองค์กรเล็กๆที่อยู่กันแบบพี่น้อง กลับมารอบใหม่คุณประสงค์ยังทุ่มเทการทำงานเหมือนเดิม ขวนขวายหาความรู้ในงานข่าวหลากหลายและสร้างผลงานที่โดดเด่น จนมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับ
“พอกลับมาอยู่รอบใหม่ได้ไม่นาน ได้ไปประจำสายการศึกษาครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงเริ่มทำข่าวแนวสืบสวน จนได้ทำข่าวใหญ่เรื่อง การทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในปี 2531 ซึ่งถือเป็นข่าวเชิงสืบสวนที่เป็นเรื่องเป็นราวชิ้นแรก มีการรวบรวมข้อมูลจากที่ต่างๆ โดยนำเสนอข่าวตั้งแต่ยังไม่มีคดี จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแจ้งความ เอาข้อมูลเราไปใช้เริ่มต้นในการทำสำนวน”
ในช่วงปี 2531-2532 นั้นเอง คุณประสงค์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์มติชน และด้วยความคิดที่ว่าตนยังมีความรู้ด้านเศรษฐกิจน้อย คุณประสงค์ได้อาสาขอไปประจำที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ด้วย เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ
การตัดสินใจดังกล่าว ถือได้ว่า คุณประสงค์ได้เลือกเดินอย่างถูกทาง เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นพื้นฐานที่ทำให้ได้เรียนรู้ข่าวเศรษฐกิจการเงินได้เป็นอย่างดี และทำให้ตนได้มีพัฒนาการในการทำข่าวสไตล์สอบสวนสืบสวน และมีโอกาสได้ทำข่าวใหญ่ระดับประเทศหลายชิ้นในเวลาต่อมา เช่น ผลงานสร้างชื่อ เช่น การทุจริต สปก. 401 (ปี 2537และยืดเยื้อหลายปี) ในขณะเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1, การทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ของนักการเมืองกลุ่ม 16 ซึ่งมี นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นแกนนำคนสำคัญ ในปี 2538 , การแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพิกถอนสิทธิ์ พล.ต.สนั่น เป็นเวลา 5 ปี ในปี 2543 (ตอนนั้นอยู่ นสพ.ประชาชาติธุรกิจแล้ว) และคดีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(2544) ในมติชน เป็นต้น
ชีวิตการงานโลดโผน “คนเก่ง-ตรง” อยู่ยาก
หลังเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 ได้ประมาณ 3-4 ปีได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในมติชนอีกครั้ง คุณประสงค์ได้ย้ายไปอยู่ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ปี 2541 ในตำแหน่ง "บรรณาธิการบริหาร" (บก.บห.) ซึ่งมีความรู้สึกโดดเดี่ยวเล็กน้อย เพราะไม่รู้จักใครเลย และช่วงแรกยังไม่ได้รับความร่วมมือในการทำงานจากกองบรรณาธิการ แต่คนข่าวเข้มอย่างคุณประสงค์ไม่ได้ย่อท้อ ลุยงานข่าวเองจนมีผลงานโดดเด่น โดยข่าวที่เหมือนช่วยเปิดทางให้ คือ ข่าวการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก่อนจะตามมาด้วยข่าวกรณีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้ได้รับความร่วมมือจากกองบรรณาธิการเพิ่มขึ้นและมีการทำข่าวอย่างเข้มข้น ทำให้มีผลงานโดดเด่นและชื่อของ “ประสงค์ วิสุทธิ์” เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับผลงานมากมาย
ในปี 2544 คุณประสงค์ได้ย้ายมานั่งตำแหน่ง บก.บห.หนังสือพิมพ์มติชนรายวันอีกครั้ง เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนไปนั่งตำแหน่ง รองบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน เหมือนตำแหน่งลอย เพราะไม่ได้มีอยู่ในโครงสร้างในช่วงปี 2547 และเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์มติชนด้วย
แม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คุณประสงค์ไม่ได้ย่อท้อ กลับพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการไปเรียนเพิ่มเติมที่คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ จนได้วุฒิปริญญาตรีมาอีกใบในปี 2550 หลังใช้เวลาเรียนเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมากเพื่อมาต่อ ยอดการทำงานข่าว
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่คุณประสงค์เน้นย้ำ คือ “นอกจากได้รับความรู้แล่้ว สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมายังเป็นประโยชน์ด้านการปกป้องตัวเองในการทำงานด้วย" เข้าใจเรื่องกฎหมายแรงงาน อีกทั้งทำให้มีโอกาสใหม่ ได้ร่วมเป็น “กรรมการปฏิรูปกฎหมาย” ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นใหม่ในปี 2550 มีสำนักงานอยู่ที่อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ
ลาจากมติชน...หลังอยู่มานานถึง 28 ปี
คุณประสงค์ได้ใช้ความรู้เพื่อปกป้องตัวเองได้จริง ๆ โดยต่อมาราวกลางปี 2554 ได้ถูกเลิกจ้างจากทางบริษัทมติชนโดยไม่ทราบสาเหตุหลังจากอยู่บ้านหลังนี้มานานถึง 28 ปี แต่ก็สามารถได้รับการชดเชยตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนก้าวออกมาจากบ้านมติชนที่ฝากผีฝากไข้มานานราว 28 ปี ได้แก่ บรรณาธิการเฉพาะกิจ สำนักพิมพ์มติชน และในขณะนั้นยังมีตำแหน่งเป็น "นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" (ทำงานถึง 4 มีนาคม 2554) และเป็นผู้อำนวยการสถาบันอิศราด้วย แต่ไม่ได้ทำประจำ
บทความชิ้นสุดท้ายที่ลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คือ “คำถามที่ยิ่งลักษณ์ ( ยัง) ไม่กล้าตอบ”
อย่างไรก็ตาม คุณประสงค์ยังไม่ทิ้งงานข่าว โดยมาทำงานกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ 3 อย่างคือ 1.ฝึกอบรม 2.ให้ทุนวิจัย และ 3.บทบาทเป็นสำนักข่าวที่มีการนำหลายเว็บไซต์มารวมกันเป็นสำนักข่าวอิศราปัจจุบันคุณประสงค์หรือพี่เก๊ของคนข่าวยังคงทำงานบริหารทั่วไป โดยมีผู้ช่วยทำงานอยู่รวม 8 คน ทั้งทำข่าวเชิงสืบสวนและทำข่าวด้านนโยบายทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองด้วย ชื่อ www.prasong.com ที่ไว้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลงานของตัวเอง
และแน่นอนว่า “เพชรไม่ว่าอยู่ที่ใด ก็ยังคงเป็นเพชร” ไม่ต่างจากการทำงานของคุณประสงค์ที่ทำให้ปัจจุบันสำนักข่าวอิศราเป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อและประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในด้านการนำเสนอข่าวเจาะลึก ประเด็นร้อนต่าง ๆ
ในอนาคต คุณประสงค์ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำนักข่าวอิศรามีความมั่นคงมากขึ้นในทางการเงินและชื่อเสียง ซึ่งปัจจุบันงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และส่วนที่หาเองจากการจัดฝึกอบรมและการบริจาค นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้เป็นแม่แบบของการทำข่าวแบบสอบสวนสืบสวนไม่ให้หายไปด้วย
คว้ารางวัลสร้างชื่อมากมาย
ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า คุณประสงค์ ได้สร้างชื่อให้กับองค์กรและตัวเองอยู่หลายชิ้น และคว้ารางวัลที่คนข่าวหลายๆ คนใฝ่ฝันมาครองได้สำเร็จ ซึ่งหมายถึง "รางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อนันตกุล" หรือที่เรียกกันในหมู่นักข่าวว่า " รางวัลพูลิตเซอร์เมืองไทย "
ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัล
ปี 2530 รางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง "ทลายขบวนมาเฟียทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์"
ปี 2537 รางวัลข่าวชมเชยของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง "เปิดโปงขบวนการ ส.ป.ก. อัปยศ"
ปี 2539 รางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง "ทลายขบวนการนักธุรกิจการเมืองกลุ่ม 16 ผลาญเงินบีบีซี 80,000 ล้าน" ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
รางวัลชมเชย มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง “การแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ จำนวนเงิน 45 ล้านบาท ของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพิกถอนสิทธิ์ พล.ต.สนั่น เป็นเวลา 5 ปี”
ปี 2543 รางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เป็นข่าวซุกหุ้นภาคแรก เรื่อง “คนใช้ ซุกหุ้นหมื่นล้านพิสดารแจ้งเท็จ ป.ป.ช.” โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ปี 2544 นิตยสารบิสสิเนสวีก ยังจัดอันดับให้คุณประสงค์เป็น “สตาร์ ออฟ เอเชีย” ประจำปี 2001 ด้วย
ขณะที่ นิตยสารฟาร์อีสเทริน์ อิโคโนมิกรีวิว ยกย่องให้เป็น “ผู้เป่านกหวีด” เนื่องจากทำข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น จนส่งผลให้เป็นที่สนใจและส่งผลสะเทือนทางการเมืองมากมาย
ปี 2548 รางวันชมเชยอันดับ 1 มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เรื่อง "ชำแหละอาณาจักรปิคนิค ขุมทรัพย์ลาภวิสุทธิสิน สู่เวทีการเมือง"
ปี 2549 รางวัลข่าวยอดเยี่ยม มูลนิธิอิศรา อมันตกุล เป็นข่าวการซุกหุ้นภาค 2 “ผ่าเครือข่ายเอื้อประโยชน์ชินวัตร ขายหุ้น 73,000 ล้าน” โดยมติชน
สนใจข่าวเชิงสืบสวน เพราะสนุก ท้าทาย
สไตล์การทำงานข่าวของคุณประสงค์มักจะเป็นเชิงสืบสวน เน้นเจาะล้วง ลึกเป็นส่วนใหญ่ และแน่นอนว่า เป็นข่าวร้อนที่สังคมใคร่เสพในขณะนั้น จึงทำให้เขากลายเป็นคนข่าวที่มีบุคลิกดูเหมือนเป็นคนดุ น่าเกรงขามเกินจริงไปบ้าง
คุณประสงค์หัวเราะอย่างอารมณ์ดีแล้วบอกว่า “ชอบทำข่าวแนวนี้ เพราะรู้สึกสนุก น่าตื่นเต้น และที่สำคัญ คือ มีประโยชน์ต่อสังคม”
อดีต บก.มติชนและประชาชาติธุรกิจ ยังย้ำว่า ในการทำงานข่าวจะต้องคำนึงถึงหลัก 5 W และ 1 H ได้แก่ Who What Where When Why และ How กรณี Why เป็นการตั้งคำถามกับแหล่งข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น แต่นักข่าวไทยมักใช้ Why กันน้อย
นอกจากนี้ ในการเลือกข่าว เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะ “ข่าวเป้าหมาย” ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเป็นที่สนใจของสังคมได้มีไม่กี่ข่าว เนื่องจากความเชี่ยวชาญของคนเรามีจำกัด และบางครั้งต้องอาศัยเส้นสายหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวมาช่วยด้วย
“ความสำเร็จของผม เป็นโชคช่วยด้วย ที่ทำแล้วบังเอิญกลายเป็นข่าวดังขึ้นมา ทำแล้วต้องไม่ทิ้ง ต้องติดตามทำอย่างต่อเนื่อง”
มองอนาคต "สื่อกระแสหลัก" อยู่ลำบาก
ในโอกาสเดียวกัน คุณประสงค์ได้ประเมินอนาคตของธุรกิจสื่อว่า ต่อไปในอนาคต 10-20 ปี สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีจะอยู่อย่างลำบากและมีรายได้ลดลง เพราะคนหันไปดูสื่อออนไลน์มากขึ้น ดูทีวีออนไลน์กันมากขึ้น
ธุรกิจหนังสือพิมพ์เหมือนเป็นอัสดงหรือพระอาทิตย์ตกที่อาจจะสูญพันธุ์แม้จะไม่ 100% แต่จะไม่เป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักขององค์กร ยกเว้นมีเป้าหมายเฉพาะกลุ่มชัดเจน เช่น แจกฟรีบนรถไฟฟ้า เวลานี้ยักษ์ใหญ่แต่ละค่ายจึงพยายามดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างชัดเจน ซึ่งมูลค่ารวมของตลาดหนังสือพิมพ์อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท - 1แสนล้านบาท
ด้านธุรกิจทีวีในอนาคต มองว่าค่อนข้างมีปัญหา การจะหารายได้ไม่ง่ายนัก เพราะจาก 6 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง แต่มูลค่าตลาดเท่าเดิมที่ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท ตัวเล่นเพิ่มขึ้น ตัวหลักจึงถูกแชร์ไปบ้าง รายย่อยอาจจะไปไม่รอด จึงต้องคิดว่า สามารถทำโฆษณาโดยไม่ต้องอาศัยสื่อกระแสหลักได้ไหม เช่น ถ้าทำคลิปดีๆ ลงยูทูป เพียงไม่กี่สัปดาห์จะมีคนเข้าชม 20-30-40 ล้านวิว ตรงนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้และเป็นวิธีที่มีคุณภาพ
ส่วนด้านออนไลน์ แม้มีคนดูเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ก็หารายได้ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะยักษ์ใหญ่ต่างประเทศแย่งเค้กก้อนใหญ่โฆษณาไปมากแล้ว ส่วนสื่อออนไลน์จะอยู่ได้หรือไม่ อยู่ที่การหารายได้ด้วย ซึ่งจะไม่มากนัก
“เวลานี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านที่ผันผวน การจะอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเองนั้นยาก การบริการผ่านสมาร์ทโฟนมาแรง คนที่อยู่ได้ คือ ผู้ให้บริการ ลงทุนครั้งเดียวอยู่ได้ตลอด อาจมีปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีบ้าง แต่คนทำคอนเทนต์ไม่ง่าย เพราะมีต้นทุนสูงและต้องพัฒนาของใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนสื่อออนไลน์จะอยู่ได้หรือไม่จะอยู่ที่การหารายได้”
แนะนักข่าวรุ่นใหม่ "ใส่ใจหาความรู้ใส่ตัว-สนุกกับงาน-ไม่ประมาทใช้ชีวิต"
ดังนั้นในภาวะที่ยากขึ้นในการยืนอยู่ในแวดวงสื่อ คุณประสงค์จึงมีข้อคิดดี ๆ สำหรับคนทำข่าวรุ่นใหม่ ความรู้ยังน้อยไว้หลายข้อด้วย เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นคนข่าวที่มีความสามารถและมีความสุขกับงานที่ทำ 1.ต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ต้องทำ ค้นข้อมูลก่อนไปสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่รู้จัก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายมากจากการค้นคว้าข้อมูลออนไลน์ 2.ต้องฝึกตั้งคำถาม Why ต้องตอบโจทย์ ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งจะทำให้ได้ข่าวในเชิงลึกกว่าคนอื่น เป็นประโยชน์ต่อสังคมและจะทำให้สนุกในการทำงานได้ สำหรับอีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ “จะต้องวางแผนการใช้เงิน ต้องออมเงิน เพื่อความมั่นคงของชีวิตด้วย”
“การที่ชีวิตนักข่าวเงินเดือนไม่ได้สูงมาก จึงต้องวางแผนการใช้เงิน ต้องรู้จักออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะชีวิตไม่มั่นคง แต่การออมจะทำให้บั้นปลายชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข มีหนี้สินน้อย
อย่างจุดเปลี่ยนตอนอยู่มติชนแสดงให้เห็นว่า การอยู่ที่เดียวนาน การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องลำบาก เพราะเคยคิดว่าต้องอยู่จนเกษียณ ดังนั้นถ้าเราเตรียมตัวดี มีฐานที่มั่นคง การเปลี่ยนแปลงจะไม่น่ากลัวและจะทำให้เรามีอิสระมากขึ้น ความกลัวมาจากความเคยชินและการไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะก้าวออกไป”
คุณประสงค์กล่าวว่า ความคิดในการระมัดระวังการใช้ชีวิตของเขาส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของครอบครัว ที่เห็นคุณแม่ลำบากขายของแต่พยายามเก็บหอมรอมริบโดยปิดบังคุณพ่อที่เป็นนักดื่มและนักสูบตัวยงและคอยเปิดลิ้นชักนำเงินที่ได้จากการขายของไปใช้ ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่าสินค้า ไม่มีเงินจ่าย
การพยายามเก็บออมของคุณแม่ทำให้ต่อมาสามารถไปดาวน์บ้านหลังใหม่ได้ที่ประชานิเวศน์ 3 ขณะเดียวกันคุณประสงค์ยังได้แนวคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจด้วยว่า จำเป็นต้องมีการแยกบัญชีระหว่างค่าใช้จ่ายส่วนตัวและบัญชีบริษัทออกจากกัน ห้ามใช้ปะปนกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใช้จ่ายเกินและเกิดปัญหาขาดทุนในภายหลัง
ครอบครัวอบอุ่น "ภรรยา-ลูก" คอยให้กำลังใจ
ส่วนฐานที่มั่นของชีวิตอีกอย่าง ได้แก่ “ครอบครัว” ที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด แม้ชีวิตการงานของคุณประสงค์จะค่อนข้างโลดโผน ไม่ได้ราบรื่นเหมือนคนอื่น แต่เชื่อแน่ว่า คุณประสงค์ได้กำลังใจที่ดีมาจากครอบครัวที่อบอุ่น โดยคุณประสงค์เล่าว่า ได้สมรสกับ คุณผ่องพรรณ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ในปี 2534 ซึ่งเดิมเป็นพนักงานของ บริษัทงานดี จำกัด บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังสือทุกฉบับในเครือของมติชน ก่อนออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวเพื่อดูแลสมาชิกตัวน้อยๆ ที่เวลานี้ย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว
คุณประสงค์มีบุตร 2 คน คนโตเป็นผู้หญิงที่เดินตามรอยคุณพ่อ เข้าสู่รั้วนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้จบแล้ว ขณะที่คนน้องซึ่งเป็นผู้ชายเตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2558 นี้ โดยทั้ง 2 คนเลือกเรียนในสิ่งที่ตนชอบได้อย่างอิสระ
“การเรียนไม่บังคับลูก อยากเรียนอะไรให้บอก แต่จะให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตบ้าง เช่น เรื่องการแต่งตัว เตือนไม่ให้นุ่งสั้นเพราะทำให้เสี่ยงอันตราย ขณะเดียวกันจะจำกัดการใช้เงิน พยายามไม่ให้ใช้ของราคาแพง ส่งเสริมให้ทำงาน ให้รู้จักหารายได้พิเศษ โดยลูกสาวปัจจุบันที่ยังเรียนอยู่รั้วมหาวิทยาลัย ยามว่างก็ไปช่วยเพื่อนที่เปิดบริษัททัวร์ รับหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับลูกทัวร์”
ในยามว่างจากการทำงาน คุณประสงค์โปรดการพักผ่อนอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยอ่านหนังสือ ดูทีวี และไม่เคยหยุดเลยที่จะนำข่าวขึ้นเว็บไซต์และเฟสบุ๊ก มีบ้างที่ไปนวดผ่อนคลาย หรือเล่นกีฬาประเภทขี่จักรยานหรือปิงปอง
นอกจากนี้ยังพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนบ้างเป็นบางโอกาส ซึ่งหลังจากออกจากมติชนมาแล้ว มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น มีเวลาพาไปเที่ยวเพิ่มขึ้น และเริ่มมองทริปท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีราคาไม่แพงมากบ้าง
วาเลนไทน์ “ความรักสำหรับมนุษยชาติ”
ในโอกาสที่เดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ในช่วงของเทศกาลแห่งความรักหรือเทศกาลวันวาเลนไทน์พอดี ทางเอซีนิวส์จึงไม่พลาดที่จะสอบถามถึงความรู้สึกของคนข่าวรุ่นใหญ่ท่านนี้ด้วย
คุณประสงค์มองว่า วันวาเลนไทน์ ผมให้ความสำคัญในเรื่องของ “ความรักของมนุษยชาติมากกว่า” เช่น ความรักระหว่างคุณพ่อคุณแม่ ความรักระหว่างเพื่อน ความรักในครอบครัว ความรักระหว่างญาติพี่น้อง และความรักระหว่างเผ่าพันธุ์ แต่ในปัจจุบันวันวาเลนไทน์ถูกตีความหมายให้แคบว่า เป็นความรักของหนุ่มสาวหรือเรื่องเซ็กส์ การให้ดอกไม้แดงของหนุ่มสาว โดยสื่อมวลชนเป็นตัวแปรสำคัญในการเผยแพร่ เช่น ลงข่าวว่าม่านรูดเต็ม ระวังเตือนพาเข้าม่านรูด
สำหรับความโรแมนติกที่สุดที่คุณประสงค์คิดว่าเคยทำในชีวิต คงจะเป็นช่วงส่งขนมจีบให้กับภรรยานั่นเองที่ประสบความสำเร็จในที่สุด (หัวเราะ)
ชีวิตนี้ไม่คิดหยุดทำงาน แต่อาจลดงาน full-time
นับว่า คุณประสงค์ มีชีวิตที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว หากจะกล่าวว่า อุปสรรคและปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตส่วนใหญ่คือการทำงานเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มรสชาติแก่ชีวิตก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะผู้ชายคนนี้ยังคงทำงานอยู่เสมอ ไม่คิดที่จะเกษียณตัวเอง คิดว่าหากลูกคนเล็กเรียนจบและทำงานแล้ว
จะพักผ่อน ด้วยการลดงานประจำหรืองาน full-time ลง แต่ก็ยังจะทำงานไปด้วย ไม่คิดที่จะหยุดทำงาน” คุณประสงค์กล่าวพร้อมรอยยิ้มอย่างมีความสุข
และนี่คือหลากหลายแง่มุมในชีวิตของ “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ที่ทางเอซีนิวส์ขอปรบมือให้กับการเป็น "คนจริงในวงการข่าว ผูู้อยู่เหนือคำจำกัดความ"
ข่าวเด่น