ปรมา ไรวา ทายาทรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองของเอส แอนด์ พี
"การที่คนเราจะประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ค่าของเงินที่ได้มา แต่อยู่ที่ความภาคภูมิใจที่เราได้ทำสิ่งนั้นสำเร็จด้วยตัวเอง"
ที่ร้าน S&P ซอยทองหล่อ 25 ร้านอาหารและเบเกอรี่ที่มีชื่อเสียงมากว่า 42 ปีของเมืองไทย ทีมงาน AC News มีโอกาสได้สนทนากับทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจในเครือ S & P นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงดีกรีนักเรียนนอกจากประเทศอังกฤษ ด้านเซรามิกดีไซน์ ที่ก้าวเข้ามาเรียนรู้และสานต่อธุรกิจของครอบครัว คุณนาม – ปรมา ไรวา Corporate Executive Coordinator คือ คนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อสโลแกน “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” ให้คงอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไปและจะเติบโตไปในทิศทางใด.... เรามาทำความรู้จักตัวตนของเธอกันเลย
คุณนาม - ปรมา ไรวา ทายาทสาวสวยเล่าให้ฟังถึงชีวิตความเป็นมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยว่า “นามเป็นลูกของคุณพ่อ- ประเวศวุฒิ ไรวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคุณแม่-เกษสุดา ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีพี่ชาย 1 คน ชื่อพี่เนม – ปราการ ไรวา ตอนนี้เป็นนักร้องนำของวง Getsunova (เก็ทสึโนว่า)
นามเรียนหนังสือที่โรงเรียนมาแตร์เดอีจนเก้าขวบก็ย้ายไปเรียนไฮสคูลและมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ สาขา Ceramics Design ที่ Central Saint Martins College of Art and Design เป็นสถาบันแฟชั่นระดับสูงในประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ มีชื่อเสียง และช่ำชองในวงการแฟชั่นมายาวนานทั้งหลายค่ะ
ที่นี่เป็นสถาบันที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง นักศึกษาชาวอังกฤษที่มีพรสวรรค์ทั้งหลาย ต้องการที่จะเข้ามาศึกษาที่นี่ได้โดยอาศัยความสามารถที่มี (ทำให้มีแต่นักศึกษาระดับคุณภาพมาเข้าเรียน) และยิ่งไปกว่านั้น บุคคลากรผู้สอนของที่นี่เรียกว่ามีแต่ชั้นเทพทั้งนั้นเลยค่ะ! ยกตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ Louise Wilson ที่เคยสั่งสอนศิษย์เก่าระดับตำนานอย่าง McQueen ไปจนถึง Giles Deacon ทำให้ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้กลายมาเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการเป็นอาจารย์ผู้สอนแฟชั่นนั่นเองค่ะ
เรียนโรงเรียนประจำจนเข้ามหาวิทยาลัย พี่ชายก็เหมือนกันไปเรียนตอนเก้าขวบ แต่ว่าเป็นคนละช่วงกันเนื่องจากเราห่างกันห้าปี เวลาเรียนหนังสือจึงไม่ได้อยู่ด้วยกัน” เมื่อถามถึงช่วงชีวิตในวัยเรียน เธอเล่าว่า “นามจำประสบการณ์ตอนเรียนอยู่มาแตร์ไม่ค่อยได้เพราะยังเด็ก แต่จำประสบการณ์ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษได้แม่น ไม่เคยลืมเลย เนื่องจากโดนคุณพ่อบังคับให้ไป เราไม่เคยใช้ชีวิตโดยไม่มีท่าน
.....ช่วงแรกๆ ที่ไปอังกฤษใหม่ๆ ช่วงสามเดือนแรก ร้องไห้อยากจะกลับเมืองไทย อยากจะกลับมาเรียนที่มาแตร์ฯ จนในที่สุดคุณพ่อต้องพานามกลับมา ไปซื้อชุดนักเรียนนามจำโมเมนท์นั้นได้เลย ขับรถไปแล้วด้วย แต่กลายเป็นว่าอยู่ๆ เราคิดได้เองว่าการไปเรียนต่างประเทศน่าจะดีกว่าสำหรับเรา จึงบอกคุณพ่อว่า “ไม่เอาแล้ว นามอยากพัฒนาตัวเอง นามจะไปเรียนที่นู่น อีกอย่างก็มีเพื่อนๆ หลายสัญชาติในอังกฤษ ก็เลยตัดสินใจกลับไปเรียนอังกฤษ แต่ก็ยังทรมานอยู่ถึงสองปี ยังคิดถึงบ้านอยู่ แต่เราเลือกแล้ว และคุณพ่อก็บอกว่าเราเลือกแล้วนะ แต่ก็นั่นแหล่ะ ก็ยังร้องไห้ทุกครั้ง นามค่อนข้างติดคุณพ่อคุณแม่ ทุกวันนี้นามก็ยังนอนกับคุณพ่อคุณแม่อยู่”
นามเป็นคนที่ติดครอบครัวมาก ณ วันนั้นที่ไปยังเด็กมาก มันเหมือนกับใจสลายเลยนะคะ เป็นช่วงชีวิตที่รู้สึกว่าแย่ที่สุด แต่ตอนนั้นคือเด็ก พอผ่านไปสองถึงสามปี เริ่มสนุก เริ่มมีเพื่อนก็รู้สึกดีขึ้น เหมือนกับช่วงเปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิต จากที่ต้องโทรหาคุณพ่อคุณแม่หลายครั้งต่อวัน จนคุณพ่อคุณแม่บอกให้โทรหาแค่ 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ตอนนี้กลับกันค่ะคุณพ่อคุณแม่บอก อ้าว....ทำไมไม่โทรมา ต้องโทรหาทุกวันซิ
จนกระทั่งปี 2014 นาม- ปรมา ไรวา ทายาท S & P ก็กลับสู่บ้านเกิด พร้อมดีกรีสาวนักเรียนนอกจากเมืองผู้ดีพ่วงท้ายที่สดใสงดงามให้ครอบครัวได้ชื่นชม
เธอเล่าต่อว่า “นามเรียนเซรามิกดีไซน์ ถ้าถามว่าตรงกับการทำธุรกิจ S&P มั้ย นามว่ามันได้วิธีการคิด การออกแบบ เอามา adapt ได้มากกว่า เรียนเซรามิกเหมือนการทำ research
จริงๆ ตอนแรกนามอยากเรียนโพรดักส์ดีไซน์ แต่สอบเข้าเรียนเซรามิกดีไซน์ได้ก่อน จึงลองเรียนดู พอได้เรียนก็รู้สึกชอบ เพราะการเรียนเซรามิกดีไซน์มันไม่มีลิมิตว่าจะต้องตอบโจทย์เฉพาะคน แต่เราอยากทำอะไรก็ได้แบบเปิดกว้าง เราทำด้าน culture ทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การปั้น แต่ต้องค้นคว้าทำวิจัย ต้องเรียนรู้ history ต่างๆ
นามได้เรียนรู้ด้าน food psychology คืออย่างเวลาที่คนเราจะทานอาหาร จะทำอย่างไรให้อาหารอร่อยที่สุด ทำให้ประสบการณ์ของการทานของคนมัน enhanced ขึ้น โดยผ่านสิ่งที่ไม่ใช่ของกิน แต่ผ่านภาชนะต่างๆ จานชาม ไม่ใช่ว่าเอาถ้วยที่ไหนมาก็ได้ สมมติคนถืออะไรที่น้ำหนักมากกว่า เราก็คิดแล้วว่าคุณภาพมันสูงกว่า พื้นผิว และ texture ของภาชนะสามารถทำให้อาหารอร่อยขึ้นได้ เรื่องสีก็เช่นกัน สีฟ้าหรือสีน้ำเงินจะทำให้คนเกิด mood ไม่อยากรับประทาน ร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่จะใช้สีแดง แต่ในทางกลับกันถ้านั่งอยู่ในห้องสีแดงตลอดเวลาจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด
สิ่งที่เรียนมาแม้ไม่ได้ตรงกับธุรกิจของครอบครัวโดยตรง แต่จริงๆ แล้ว food psychology เราสามารถดึงมาเป็นคอนเซ็ปต์ที่เอามาเล่นและนำมาประยุกต์กับสิ่งที่ครอบครัวทำ
.....เรื่องเรียนต่อ คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนต่อ แต่นามรู้สึกว่ายังไม่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนด้านไหน เลยขอมาลองทำงานที่ S&P ก่อน มาหาประสบการณ์ก่อนว่า เราสนใจด้านไหนจริงๆ
รู้สึกว่า...ถ้าเราเรียนไปแล้วนำมา Applied ให้กับชีวิตเราไม่ได้ มันก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ ไม่มีเหตุผลที่จะเรียน อันนี้คือมุมมองของนาม
แม้จะเรียนอยู่เมืองนอก แต่ในทุกครั้งที่ปิดเทอม เธอจะเข้ามาเรียนรู้ หาประสบการณ์การทำงานในร้านอาหารของครอบครัว “คุณพ่อคุณแม่จะไม่ค่อยชอบให้อยู่นิ่งๆ ทุกปิดเทอม ก็จะให้ฝึกงานไม่ให้อยู่เฉยๆ ดูการทำงานของแผนกต่างๆ ที่ S & P ในช่วงที่หยุดจึงมาเมืองไทยเพื่อฝึกงาน ได้ฝึกได้เรียนรู้ในทุกแผนก เช่น ประชาสัมพันธ์ , R & D ยกเว้นเรื่องการเงิน (หัวเราะ) นามไม่ชอบเรื่องตัวเลข หรือไม่ก็ตามคุณพ่อไปดูลูกค้าช่วงซัมเมอร์...ตอนอยู่อังกฤษก็เสิร์ฟอาหารที่ร้านภัทรา มีทั้งหมด 5 สาขาและจะเพิ่มอีก 1 สาขาในเดือนเมษายนนี เราก็นุ่งผ้าถุงใส่ชุดไทยเสิร์ฟอาหาร คนที่มาทานไม่รู้ แต่พี่ๆ ที่ทำงานจะสนิทกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน ไปทานข้าวกับพี่ๆ พนักงาน กินส้มตำด้วยกัน”
ตอนแรกที่เรียนจบกลับมาเมืองไทยนามได้ไปทำงานเป็นเออีที่บริษัทอื่นก่อน ยังไม่ได้ทำงานในธุรกิจของครอบครัว นอกจากนี้ ก็มีทำโปรเจคหมวกแก๊ปกับเพื่อนขายผ่านทางออนไลน์ และตามห้าง ทำเล่นๆ ก่อนเป็นระยะสั้นๆ แต่ปรากฏว่ามันดำเนินไปได้ดีจนจะปีหนึ่งแล้ว
ตอนที่เป็นเออี เราได้เห็นและเรียนรู้หลายอย่าง สนุกเลย แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราอยากทำอะไรที่รักจริงๆ จึงลองมาทำ S & P พอมาทำแล้วรู้สึกว่าทุกเช้าอยากตื่นไปทำงาน เรามีไอเดียตลอด คิดงานตลอด ความรู้สึกส่วนตัวมันเปลี่ยนไปพอได้มาทำอะไรที่เราเห็นมาตั้งแต่เกิด อยู่กับมันมา เหมือนแค่ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ก็ภูมิใจแล้ว มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เห็นผลงานที่เราใส่ไอเดียเข้าไป อย่างน้อยเรามีส่วนร่วมด้วย”
ชีวิตการทำงาน คุณพ่อไม่ได้บอกเลยว่าจะให้เราทำอะไร ก็ให้ฝึกหลายๆ อย่างไปเรื่อย จริงๆ นามก็อยากออกไปทำอะไรของตัวเอง มีไอเดีย แต่คุณพ่อก็ขอให้ทำโปรเจคใหม่ให้เสร็จก่อน”
คุณปรมา เล่าต่อว่า “นามเข้ามาทำงานที่นี่ได้หนึ่งปีแล้วค่ะ มาทำด้านการตลาด แต่พอมีโอกาสก็ได้ทำโปรเจค กลับได้เห็นโจทย์หลายๆ โจทย์ที่ไม่ใช่แค่ในเชิงการตลาด เป็นงานที่น่าสนใจมาก โปรเจคนี้เป็นโปรเจคใหม่ของ S&P เป็นการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า S&P เป็นโปรเจคร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ที่เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ครบวงจรมากขึ้น จะเห็นความแตกต่างของรูปลักษณ์และงานดีไซน์ อาหารมีเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติมแต่ยังคงความเป็น S&P
โปรเจคนี้เตรียมเปิดที่ใต้ตึกอิตัลไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นทุกอย่างที่ S&P เป็น คือ Beverage , Bakery อาหาร เป็นการดึงตลาดใหม่ๆ เข้ามา ให้ลูกค้าได้เห็นว่า S&P มีการพัฒนาอะไรใหม่ๆ เป็น R&D Space คาดว่าจะเสร็จกลางปีนี้ ส่วนจะมีโปรเจคแบบนี้เพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้วางแผนค่ะ แต่ก็มองว่าโปรเจคนี้จะเป็น Star ที่จะดึงเอาบางส่วนมาพัฒนาต่อได้ หรืออาจจะเป็น Total Concept เป็นน้องใหม่ที่อยากให้ติดตามกันค่ะ”
จากร้านอาหาร S&P ร้อยกว่าสาขา ร้านเบเกอรี่สามร้อยกว่าสาขา S&P รูปโฉมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ อาคารอิตัลไทย จะเผยให้เห็นถึงการเติบโตทางธุรกิจในอีกรูปแบบที่แตกต่างจากคนรุ่นใหม่ทายาทที่เข้ามาสานต่อ
คุณปรมา กล่าวต่อว่า “คุณพ่อคุณแม่ท่านเป็นคนที่ค่อนข้างชิลๆ อยากทำอะไรก็ทำ แต่อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่นิ่งเฉย อาจจะเป็นเพราะนามถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก นามจึงไม่ชอบนั่งอยู่เฉยๆต้องหาอะไรให้ตัวเองทำอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ท่านจะไม่ค่อยห่วง ท่านจะบอกเสมอว่าถ้าจะทำอะไร คือมันมีทางออกสำหรับทุกอย่าง สมมุติถ้าบางทีนามเจอโปรเจคยากจริงๆ คุณพ่อบอกมันไม่มีทางที่เวลาจะน้อยไปหรือทำไม่ได้ ยังไงก็ทำได้ ลูกต้องไปหาทางมา ท่านก็จะพูดแบบนี้จนเราทำออกมาได้
ก็จริงนะ ทุกอย่างมีทางออก ถึงแม้องค์กรจะใหญ่ผ่านขั้นตอนหลายอย่าง คุณพ่อบอกว่าลูกคิดเอาละกันว่า ตอนที่พ่อเริ่มพ่อยังทำได้ทุกอย่างเลย องค์กรใหญ่จริง ผ่านขั้นตอนหลายอย่างจริง แต่ต้องมองว่าเราทำงานกันอย่างครอบครัว เราต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างให้มันสำเร็จไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่ เราต้องหาวิธี
ตอนนี้อายุ 24 นามถือว่าเริ่มแก่แล้ว (หัวเราะ) รู้สึกว่านามต้องทำอะไรให้สำเร็จแล้ว ต้องทำอะไรได้มากกว่านี้แล้ว ตอนนี้ก็พยายามอยู่ คิดว่าอายุไม่น้อยแล้ว น่าจะเริ่มทำงานเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ คิดว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก
ด้านชีวิตการทำงาน คุณปรมา เล่าว่า “อยากทำอะไรเป็นของตัวเองที่ไม่ใช่อยู่ในองค์กร อยากสร้างอะไรขึ้นมาเหมือนที่คุณพ่อสร้าง แต่ยังไม่รู้ คือมีหลายไอเดียมาก นามมองว่าการที่เราจะทำอะไรความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ค่าของเงินที่ได้มา แต่เป็นความภูมิใจมากกว่า ว่านี่คือสิ่งที่เราทำ ได้เงินมากน้อยนามไม่ได้นึกถึง เราพูดได้ว่าอันนี้เราสร้างมามากกว่า เป็นสิ่งที่นามพูดกับตัวเองตลอด
ตอนนี้ อินดัสตรี้ทุกอย่าง คนทำเยอะไปหมด ทำอะไรตอนนี้ต้องโดดเด่น ส่วนของหมวกแก๊ปเป็นงานที่นามทำกับเพื่อน ชื่อแบรนด์ Triadic Affair มีขายผ่าน IG ชื่อ triadic_affair มีขายผ่านทางออนไลน์และมีบนห้าง เป็นหมวกแก๊ปหนังงูที่เป็น ลักซ์ชัวรี่ ก่อนทำยังไม่มีคนทำเลย จนตอนหลังถึงเริ่มทำ ตลาดอาจจะน้อยแต่ก็มีคนซื้อเรื่อยๆ เสาร์อาทิตย์ก็จะประชุมกับเพื่อนๆ เรื่องหมวก ตอนนี้ดีไซน์แต่หมวก อนาคตอาจจะแตกไลน์ไปสู่รองเท้าก็ได้ค่ะ และอาจจะมีแพลนที่เมืองนอก เพราะตอนนี้ต่างชาติก็มีติดต่อเข้ามาเยอะเหมือนกัน แต่แค่ผลิตขายในไทยยังไม่ทันเลย เพราะเป็นงานที่ทำมือ เพราะลายหนังงูแต่ละลายการวางจะต่างกัน”
ด้วยวัยเพียง 24 ปี แต่ต้องเข้ามารับผิดชอบงานในองค์กรขนาดใหญ่ของครอบครัว เธอกลับมองว่าเหล่านี้เป็นโอกาส ไม่ใช่ภาระ “.... ไม่ใช่ภาระเลย นามชอบ ดีใจที่อย่างน้อยคนเชื่อใจเรา ให้เรารับผิดชอบงาน ดีใจที่ได้มาเห็นได้มาทำ และได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะได้เข้ามาในช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานอยู่ เพื่อให้ท่านสอน ให้คำแนะนำไปด้วยตลอด การทำงานที่เข้าไปเริ่มต้นจากการเป็นลูกน้องเล็กสุด ทำให้เราได้เห็นทุกอย่างว่าการทำงานเป็นอย่างไร ได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน มีความสุขในการทำงานหรือไม่อย่างไร นอกจากเข้าถึงในส่วนนั้นแล้ว ยังเข้าถึงเนื้องานด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลูกรู้ว่าสิ่งแวดล้อมในการทำงานเป็นอย่างไร
หลังจากนั้นก็อาจจะไปเรียนต่อ ตอนนี้เรียนหลักสูตรการบริหารจัดการสำหรับคนรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยค่ะ ก็ได้เจอกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน เป็นหลักสูตร 4 เดือน”
...ส่วนแนวทางการบริหารงานในฐานะคนรุ่นใหม่ นามมองว่าถ้าเราจะทำอะไร ต้องเป็นสิ่งที่อยากทำจริงๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งคือต้องพยายามติดตามข่าวสาร เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปเร็วมาก โซเชี่ยลมีเดียเร็วมาก เราไม่รู้ว่าไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างตอนแรกเป็นเฟซบุ๊ค เป็นอินสตราแกรม ตอนนี้อะไรทุกอย่างอยู่ในไลน์หมดแล้ว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต่อไปโลกของเราจะไปถึงไหน
นามเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบโซเชียลมากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดนามก็พยายามอ่านข่าวสาร หรือตามฟัง ชอบฟังทอล์ค เลคเชอร์ อย่างน้อยได้อัพเดทหลายๆ อย่าง โซเชี่ยลมีเดียก็ดีแต่นามชอบจับ ชอบอ่านหนังสือมากกว่า นามคิดว่าเราควรเก็บวัฒนธรรมการอ่านหนังสือ ไม่อย่างนั้นก็จะหายไปเลย
นามชอบวัฒนธรรมมากกว่าเทคโนโลยี อาจจะเป็นเพราะเรียนทางด้านดีไซน์มา ที่นามเรียนมาวิธีการสัมผัส เรียนรู้และรับรู้สิ่งที่เราสัมผัส เราอ่านหนังสือจากจอสมาร์ทโฟน ใช้นิ้วเลื่อนไป ความรู้สึกไม่เหมือนกับเราจับกระดาษ มูฟเม้นท์ของคนเปลี่ยนไปด้วย การสัมผัสกระดาษบาง กรอบขนาดไหนจะไม่เหมือนกัน แต่อ่านผ่านสามาร์ทโฟนมันผ่านไป ความรู้สึกมันไม่ใช่ กลิ่นหนังสือ กลิ่นไอใหม่กับเก่าไม่เหมือนกัน เวลาอ่านจะกระทบจะสัมผัสได้ แทรคในสมองเราสร้างเมมโมรี่แต่ละอย่างเป็นเส้นไปเลย นามเป็นคนที่คิดนู่น คิดนี้ แล้วจะกระโดด คิดเร็ว ยังไม่จบก็เปลี่ยนเรื่องแล้ว คิดอะไรได้แล้วพูดออกมาก่อน บางทีก็ไม่ดี นามจะมีสมุดที่คอยจดตลอด จดแล้วจะจำได้มากกว่า เหมือนท่องหนังสือแค่เขียนจะจำได้ เขียนความรู้สึกบนกระดาษจะรู้สึกดีกว่า แต่นามไม่ได้วัฒนธรรมจ๋านะคะ แต่อะไรที่ไฮเทคเกินไปบางทีเราก็ไม่ค่อยเท่าไหร่
และเมื่อถามถึงความรัก คุณปรมา กล่าวว่า “ความรักก็เรื่อยๆ ไม่ค่อยอะไร คุณพ่อคุณแม่ไม่หวง ให้อิสระในการตัดสินใจ นามจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักคนที่นามคุยด้วย ต้องเป็นคนที่มีMotivation เกี่ยวกับชีวิต”
ก้าวต่อไปของ ปรมา ไรวา ทายาทร้านอาหารเก่าแก่ที่ชื่อ S & P จะเป็นอย่างไร ในทิศทางใด คงต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวเด่น