พี่เองเป็นคนสบายๆ ในสไตล์ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าอะไรจะเข้ามา เราพยายามมองในทางที่ดี อย่าทำให้มันยาก อย่าไปคิดอะไรมาก ทำให้เต็มที่ มีปัญหาผิดพลาดมาแก้ไข ทำใหม่
ในหลายต่อหลายครั้ง เมื่อเราได้ทำการศึกษาและเรียนรู้ชีวิตของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านๆ มา เราก็มักจะคุ้นชินกับรูปแบบและแนวคิดที่ ‘Larger than Life’ หรือไปให้มากกว่าที่เป็นอยู่ มองให้ไกล ตั้งเป้าหมายให้สูง ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกไฟแห่งชีวิตให้ลุกโชนขึ้นมาได้ภายใต้สภาวะที่กิจวัตรหลายๆ อย่างอาจจะถูกมองว่าวนเวียน ไม่เห็นหนทาง หรือปกติธรรมดาเกินกว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จใดๆ
แต่ในทางหนึ่ง กิจวัตรที่อาจจะถูกมองว่า ‘ธรรมดา’ ทั่วไปนั้น ก็สามารถนำไปสู่คุณค่า และความสำเร็จที่ลงตัวทั้งชีวิตและหน้าที่การงานได้ ขึ้นกับว่าจะเลือกมองในแง่มุมใด และนั่น คือสิ่งที่ทาง AC News ได้เรียนรู้ จากการพูดคุยกับ คุณธัญญ์ธิดา ศรีรักษา หรือ ‘พี่เหน่ง’ ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายประสานงานขาย บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผู้เต็มที่กับบทบาทการทำงาน ด้วยสมดุลของชีวิตที่เรียบง่ายลงตัว ที่น่าจะช่วยให้เราได้เห็นภาพของอีกด้านการใช้ชีวิต ที่แม้จะไม่ได้รีบเร่งไปสู่ความสำเร็จเป็นแก่นสาร ก็สามารถมีความสุขและครบถ้วนตามอัตภาพได้อย่างไม่ยากเย็น
ลูกสาวครอบครัวทหาร สาย ‘นักเขียน’
หากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคนๆ หนึ่ง ว่าสิ่งที่ทำให้เขาหรือเธอเป็นอย่างในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากอะไรแล้วนั้น ชีวิตวัยเด็กก็อาจจะเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ไม่สมควรมองข้าม โดยเฉพาะกับชีวิตของพี่เหน่ง ที่เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นทหาร และคุณแม่เป็น ‘นักเขียน’ ที่มีส่วนช่วยให้พี่เหน่งมีความเป็นระเบียบ การคิดที่เป็นระบบ ความอดทน และความละเอียดอ่อนลึกซึ้งที่จะได้รับการต่อยอดต่อไปในภายภาคหน้า
“เกิดมาในครอบครัวทหาร คุณพ่อค่อนข้างเคร่งมาก ต้องเข้มแข็งอดทน ไม่ร้องไห้ง่ายๆ อะไรแบบนั้น” พี่เหน่งตอบคำถามด้วยเสียงหัวเราะ “ส่วนคุณแม่เป็นนักเขียนในนิตยสารสตรีสาร ขวัญเรือน สกุลไทยในสมัยก่อน เขียนพวกโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และเรื่องสั้นต่างๆ ก็ร่วมรุ่นกับอาประยอม ซองทอง อาเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อาขรรค์ชัย บุนปาน จากตรงนี้ละมัง ที่ทำให้เราได้เชื้อมาบ้าง ทำให้เราพอเขียนหนังสือได้ จับประเด็นได้”
ด้วยการผสมผสานสองด้านที่แตกต่างอย่างลงตัว ทำให้พี่เหน่งนั้น มีความตื่นตัว และเป็นคนที่แอคทีฟอย่างมากตั้งแต่สมัยวัยเรียน เพราะจะเป็นนักกีฬาของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาอยู่เสมอๆ
“เราก็เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาอยู่แล้ว ก็เรียนและเล่นกีฬามาเรื่อยๆ เริ่มจากเรียนที่โรงเรียนหอวัง แล้วก็ไปต่อที่โรงเรียนพาณิชยการธนบุรี”
เหล่านี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรแปลกหรือแตกต่างไปจากชีวิตปกติทั่วไป แต่ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ที่ความสามัญธรรมดา เมื่อมองและปรากฎในจังหวะที่ถูกต้อง ก็อาจจะนำไปสู่เส้นทางที่แตกต่างอย่างที่ไม่อาจคาดถึงได้ในภายภาคหน้า
จุดเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ‘ที่เป็นระบบ’
เช่นเดียวกับชีวิตโดยทั่วไป เมื่อพี่เหน่งสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาลัยพณิชย์ลำดับต้นๆ ของช่วงเวลานั้น ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ชีวิตการทำงาน โดยเริ่มต้น ณ ธนาคารทหารไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ที่ทำให้พี่เหน่งได้ฝึกฝน และทำงานในด้านบริการลูกค้า
“เข้าทำงานที่ธนาคารทหารไทย ด้วยความที่เราไม่มีปัญหาในเรื่องของการปรับตัว มีอะไรก็ทำได้การทำงานธนาคารทำให้ได้พบปะดูแลลูกค้าที่หลากหลายมีทุกรูปแบบ ผิดถูกต้องยิ้มรับหมด จึงมีส่วนช่วยเราได้อย่างมาก” พี่เหน่งกล่าวถึงช่วงเวลาสิบปีของการทำงาน ที่นอกเหนือจากรับผิดชอบในงานแล้วนั้น ยังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี และปริญญาโท เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตนเองให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะปรากฎโฉมหน้าในจังหวะที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ซึ่งผู้ที่มีความพร้อม ย่อมสามารถคว้าโอกาสและความก้าวหน้านั้นมาไว้ในมือได้อย่างไม่เป็นปัญหา ซึ่งพี่เหน่งเองก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ตอบรับกับ ‘โอกาส’ ที่เข้ามานั้นในจังหวะที่เชื่อว่า เหมาะสม และถูกต้อง
“เราเองทำงานธนาคารมาได้ร่วมสิบปี รู้สึกอิ่มตัวในบางส่วน ได้มีโอกาสพบกับลูกค้าท่านหนึ่งจากบริษัทผู้ผลิตเสาเข็มรายใหญ่ ที่สนใจจะให้เราไปร่วมงานด้วย ซึ่งพอไปคุยก็พบว่าน่าสนใจ แต่ทางนั้นก็ถามเรามาว่าถ้าเปลี่ยนงานจะมีปัญหาไหม เพราะงานธนาคารเองก็ค่อนข้างมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มแรกของชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะตอนทำงานธนาคาร งานอาจจะเยอะ แต่ก็เรียกว่าสุขสบาย ไม่ต้องคิดหรือกังวลอะไร เป็นตารางเวลาเป็น Routine เอามากๆ” พี่เหน่งบอกเล่าถึงช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจครั้งนั้น
“ทีนี้ งานใหม่ในบริษัทผลิตเสาเข็ม เราก็พอมองออกว่า สภาพเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ธุรกิจนี้มีความน่าสนใจ ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่คิดนะ ว่าจากงานธนาคาร เบี่ยงมางานเกี่ยวกับการก่อสร้างแบบนี้เราจะทำไหว แต่กลับทำได้”
คงด้วยตัวตนที่ยืดหยุ่น อดทน และปรับตัวได้กับทุกการทำงานของพี่เหน่ง ทำให้ชีวิตที่เคยอยู่กับงานบริการ ได้มาสู่เส้นทางที่แตกต่างออกไป ต้องลุยมากขึ้น ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได่ทำให้พี่เหน่งต้องรู้สึกย่อท้อแต่อย่างใด
“ถามว่าลำบากไหม จากธนาคารไปงานก่อสร้าง ก็เรียกว่าไม่ลำบากนะ เพราะโดยส่วนตัวชอบงานตกแต่ง งานก่อสร้าง และคนที่เป็น Managing Director ก็เป็นพี่สาวของเพื่อนที่เรารู้จักกันดี เขาสอนอะไรเราก็ฟัง ส่วนเนื้องาน ก็อาจจะเพิ่มเติมจากงานหน้าจอ มาเป็นงานเอกสารที่มากขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มเติมได้” พี่เหน่งกล่าวถึงช่วงเวลาแปดปี ที่ช่วยวางรากฐานตัวตนในแวดวงการก่อสร้างให้เข้มแข็งแน่นหนาประหนึ่งเสาเข็มคุณภาพ ที่จะช่วยให้อีกย่างก้าวต่อไปที่กำลังจะมาถึงของพี่เหน่ง เป็นไปด้วยความมั่นคง และมั่นใจมากยิ่งขึ้น
สู่บ้าน ‘ทีพีไอ’
“ทำอยู่ที่บริษัทนี้ประมาณแปดปี ประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ทุกๆ ฝ่ายก็ประสบปัญหากันหมด ก็มีผู้ใหญ่ที่รู้จักกัน แนะนำให้มาคุยกับผู้ใหญ่ของบริษัท TPI เลยได้มีโอกาสเข้ามารับงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายประสานงานขายของบริษัท” พี่เหน่งกล่าวอธิบาย เมื่อถูกถามถึงที่มาที่ไปของการได้มาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายประสานงานขาย ที่ยังคงเป็นตำแหน่งที่เป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
อย่างที่หลายคนน่าจะพอทราบว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นบริษัทคนไทยที่ก่อตั้งโดย คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้วางรากฐานและมุ่งหมายที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างระดับแถวหน้าของประเทศไทย ความเก่งกล้าสามารถและกระบวนทัศน์ที่ไม่หยุดนิ่ง สะท้อนผ่านออกมาในวัฒนธรรมองค์กรอย่างชัดเจน รวมถึงกระบวนการการทำงานที่พี่เหน่งต้องพบเจอในแต่ละช่วง
“วัฒนธรรมองค์กรของทีพีไอนั้น ‘เร็ว’ คือ ไม่เยิ่นเย้อ ไม่พูดพล่ามทำเพลง ไม่มีอารัมภบท นายเร็วเราก็ต้องเร็วตาม สั่งอะไรมาก็ทำเลย เสร็จสรรพไม่ยืดยาด สามารถนำไปต่อยอดได้ทันที” พี่เหน่งกล่าวถึงรูปแบบการทำงานภายใต้บริษัททีพีไอ ที่สะท้อนถึงแนวทางผ่านเวลามาอย่างยาวนาน
แน่นอนว่า ความรวดเร็ว ย่อมเป็นเงื่อนไขหนึ่ง ที่จะส่งผลต่อคนที่ทำงานร่วมกันภายใต้องค์กรนั้นๆ ถ้าความเป็นตัวตนไม่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร ย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมา แต่สำหรับพี่เหน่งนั้น สิ่งเหล่านี้ นอกจากจะไม่เป็นปัญหาแล้ว ยังเป็นรูปแบบที่เข้ากันได้ดีกับตัวตนอย่างลงตัว
“ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เข้ากับความชอบของเราค่อนข้างมากนะ คือได้ออกไปพบปะลูกค้า ได้ช่วยแก้ปัญหา” พี่เหน่งกล่าวเสริม “อีกทั้งการสร้างความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของทีพีไอ ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนคือ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกองค์กรก็มุ่งหน้าไปในแนวทางดังกล่าวและปัจจุบันบริษัทยังทำCSRให้กับสังคมโดยการนำขยะชุมชนมาเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งการที่วัฒนธรรมองค์กรนั้นเร็ว แป๊บเดียวก็มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาวางจำหน่ายแล้ว เราก็ต้องเติมความรู้และช่วยเหลือในด้านการสนับสนุนงานขายให้มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ มันจะเกี่ยวพันกับความรู้สึก Royalty กับองค์กร เพราะไม่ว่าคุณจะทำงานในจุดไหน หรือตำแหน่งใด จะมากจะน้อยต้องมีความรักในองค์กร และการที่คุณมีข้อมูลของสินค้าและผลิตภัณฑ์อยู่ในมือ ต้องพร้อมที่จะขายและอธิบายให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย”
อาจจะด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ บวกรวมกับประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างยาวนานของพี่เหน่ง ที่ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับความเร็วขององค์กร และผสานให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไม่มีปัญหาใด
พี่เหน่ง ‘ของน้องๆ’
สิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจคือ การพูดคุยกับพี่เหน่งนั้น เป็นไปด้วยบรรยากาศสบายๆ เหมือนคุยกับ ‘พี่สาว’ ที่ไม่ชวนให้รู้สึกถึงความห่างทางการงาน ตำแหน่งแห่งที่ หรือคุณวุฒิใดๆ จนเราอดที่จะถามไปไม่ได้ ว่าบรรยากาศของทีมทำงานบริษัททีพีไอภายใต้ ‘พี่เหน่งของน้องๆ’ นั้น เป็นเช่นใด
“ส่วนตัวเราไม่ใช่คนที่ทำงานแบบนั่งอยู่บนหอคอย เข้าถึงไม่ได้หรืออะไรนะ ลงไปคลุกวงใน ทำงานร่วมกัน ไปไหนไปด้วยกัน เรียกว่าไม่มีช่องว่างระหว่างกันเลย” พี่เหน่งกล่าวอธิบายด้วยท่าทีสบายๆ “มีคนหลากหลายวัยเราก็ทำงานด้วยกันได้ รวมถึงไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งอะไร กันเลย แต่ตอนทำงานก็จริงจัง เพราะเราเองก็เป็นคนที่เร็วอยู่แต่เดิม พอมาบวกกับแนวทางของคุณประชัยเข้าไป ทุกคนก็จะรู้ว่า พี่เหน่งเร็วนะ เป็นคนละเอียด สั่งอะไรต้องฟังให้ดี ต้องทำให้เรียบร้อย อีกทั้งไม่ได้เป็นคนที่ไปดุหรือว่ากล่าวอะไร จะออกแนวเตือนๆ กัน ทำนอง ทำไมทำแบบนี้ ควรทำแบบนี้นะ ไปดูให้ดีให้เรียบร้อยหน่อย อะไรแบบนี้ (หัวเราะ)”
เป็นการอรรถาธิบายที่ทำให้เราพอนึกภาพออกว่า การทำงานภายใต้ ‘พี่เหน่ง’ นั้น จะเป็นไปในลักษณะใด มีบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง แต่ก็จริงจังเมื่อจำเป็น และมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รอบคอบที่สุดเพียงใด
“เราต้องเป็นคนนำ ต้องชี้แนะแนวทางในเบื้องต้นให้ชัดเจน แต่ไม่ได้กำหนดทุกสิ่งตายตัวไปเสียทั้งหมด อย่างเช่น เราจะแนะนำsaleว่า เออ ลองไปหาลูกค้ารายนี้ดูนะ มีข้อมูลนำให้ก่อน ลองเข้าไปดู พร้อมแนะนำลักษณะของลูกค้าว่าเป็นแบบใด คนไหนคุยง่ายไม่ง่าย รวมถึงถ้ามีปัญหาก็ขอให้มาบอกกัน”
เป็นความเปิดกว้างที่น่าสนใจ เมื่อพิจารณาว่า หลายครั้ง ความแตกต่างระหว่างช่วงอายุและวัยของผู้ทำงาน ได้สร้างปัญหาและเป็นสิ่งที่ถูกนำมาพิจารณาอย่างหนักหน่วง และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมาถึงของ Social Media ที่ส่งผลต่อกระบวนทัศน์การทำงาน สิ่งนี้ น่าจะเป็นโจทย์หนักสำหรับพี่เหน่งอยู่ไม่น้อย
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่พี่เหน่งทำให้เราต้องประหลาดใจ…
“ถามว่ากระทบไหม ก็มีนะ แต่เราอยู่ในจุดที่ต้องเรียนรู้ให้ทัน ถ้าไม่รู้ เราก็ต้องถามลูกน้องที่อยู่ในวัยที่ใช้งานสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น คือไม่มีการมานั่งวางท่าว่ารู้แล้ว ทุกเรื่อง ทุกสิ่ง ถ้าไม่รู้ ต้องถาม พี่ถือจุดนี้เป็นสำคัญทีเดียว ซึ่งเราถามครั้งสองครั้ง ก็ต้องพยายามใช้ให้เป็น ซึ่งสื่อ Social เองก็มีผลต่อรูปแบบการเข้าถึงสินค้าและเนื้องานของเรามากขึ้น” พี่เหน่งกล่าวเสริม ซึ่งนั่น ดูจะเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ได้ผลอย่างยิ่ง ที่หลายคนอาจจะมองข้ามมันไป…
อบอุ่น ละมุนใจ ไอรัก พักพิง อิงกัน… ณ ธัญญ์ฮิลล์
เช่นเดียวกับโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพี่เหน่ง ในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็นผู้บริหารฝ่ายประสานงานขายของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แล้วนั้น ฐานะ ‘เจ้าของรีสอร์ท’ เล็กๆ แต่น่ารักเช่น ธัญญ์ฮิลล์ รีสอร์ท (Dhanhill Resort) ที่วังน้ำเขียว เขาใหญ่ นั้น ก็เกิดขึ้นจากความตั้งใจเล็กๆ ที่ได้รับการต่อยอดออกไป
“ที่มาที่ไป (ของรีสอร์ทธัญญ์ฮิลล์) ก็ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนนะ คือเราเองก็ไม่ได้มีภาระอะไรมากมายนัก รวมถึงชอบภูเขา หลายครั้งไปเที่ยววังน้ำเขียวที่รีสอร์ท mahogany ของพี่ที่รู้จักกัน เราก็รู้สึกได้เลยว่าใช่ อากาศดีมากๆ ก็รู้สึกว่าอยากได้ที่สักแปลง เอาไว้ปลูกบ้าน ไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นรีสอร์ทตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ทีนี้ ที่วังน้ำเขียว เวลาขายที่ ไม่ได้ขายทีละไร่สองไร่ ก็เลยต้องซื้อไปซะสี่ไร่ ทีนี้ พอทิ้งช่วงไปอีกประมาณสี่ห้าปี พี่เขาก็มาเตือนเราว่า น่าจะทำอะไรสักอย่างบ้าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นที่ดินรกร้าง เราก็มาปรับที่ดินและปลูกต้นไม้บ้างพร้อมทั้งเริ่มต้นปลูกบ้าน เริ่มจากหนึ่งหลัง เป็นสองหลัง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่คิดง่ายๆ ว่าอยากมีบ้านให้เพื่อนๆ ได้ไปพักผ่อน ทำอาหารทานกัน ทีนี้พอทำไปทำมา ก็คิดว่า ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ก็เสียเปล่า ปล่อยเช่าเลยดีกว่าไหม ก็เริ่มตกแต่ง ทำให้สวย ตั้งราคาพอประมาณไม่สูงจนเกินไป” พี่เหน่งกล่าวถึงที่มาของรีสอร์ทขนาดกะทัดรัด ที่น่ารักและเป็นมิตร ที่เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในชีวิตที่จะขาดไปเสียไม่ได้ ที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจดี จนกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ได้รับการแนะนำจากนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศสบายๆ
“ตอนนี้เปิดมาสามปี ก็ได้การตอบรับที่ค่อนข้างดีไม่น้อยนะ คือมีคนจองเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะเราก็ไม่ได้คิดราคาที่แพงมาก เราบริการอย่างเป็นมิตร ให้ความรู้สึกเหมือนมาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน”
อนึ่ง อาจจะพอกล่าวได้ว่า ธัญญ์ฮิลล์ รีสอร์ท แห่งนี้ คืออีกด้านของชีวิตของพี่เหน่งอย่างแท้จริง เพราะลงมือออกแบบบ้านและตกแต่ง วางแปลน ปลูกต้นไม้ และกำหนดทิศทางต่างๆ ด้วยตนเอง ทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้กับสวนสวรรค์เล็กๆ ที่จะมอบให้กับทั้งตนเอง เพื่อนฝูง และผู้แวะมาเยี่ยมเยือน จนผลลัพธ์นั้น สวยงามจับตา และใครที่ได้มา ก็ยากนักที่จะลืมเลือนมันไปได้
“เราก็ใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนตามปกตินะ ไปเสาร์อาทิตย์ที่ว่าง แต่ที่สำคัญคือ เราพยายามไม่ทำตัวเป็นคนเมือง เราพยายามผูกมิตรกับคนที่อยู่ในละแวกรอบๆ มีมิตรจิตมิตรใจ ช่วยเหลืออะไรได้ก็ทำ อย่างเช่นล่าสุดไปช่วยสร้างห้องเรียนอเนกประสงค์ให้โรงเรียนบ้านคลองทราย ที่วังน้ำเขียว ก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกดีที่ได้ทำ มันอิ่มใจนะ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้ ซึ่งทำให้เราได้สัมผัสกับความรู้สึกที่เป็นจริงของพื้นที่นั้นๆ” พี่เหน่งกล่าวอธิบาย ทั้งยังเสริมด้วยว่า พืชผักผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้นั้น ก็เป็นสิ่งที่คัดสรรมาแล้ว และสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนเช่นเดียวกัน
“ต้นไม้ที่รีสอร์ทวังน้ำเขียว ก็ไปเลือกซื้อหลักๆ เลยที่รังสิตคลอง 15 กับบ้านนาครั้งเดียว เลือกต้นที่ใหญ่พอประมาณ มีคุณลุงที่อยู่ประจำที่รีสอร์ทคอยดูแล ซึ่งก็ได้ผลค่อนข้างดก อย่างฝรั่งนี่ ออกลูกออกผลดกมาก ห่อผลกันแทบไม่ทันเลย อันนี้ก็เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยของบริษัทเรา เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ใช้งานจริง ซึ่งก็เป็นประโยชน์ในอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ สามปีกับโลกใบเล็กที่วังน้ำเขียว ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างเรียบง่าย พอเพียง ซึ่งพี่เหน่งเองก็พอใจ พร้อมยืนยันว่า ที่แห่งนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเองไปแล้ว
“รู้อีกที มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราให้ความใส่ใจแบบขาดไม่ได้ไปแล้ว บางทีไปพักอยู่ที่วังน้ำเขียวสบายๆ เสาร์อาทิตย์ ไม่อยากกลับเลย แต่ก็ต้องกลับ มาทำหน้าที่ของเรา” พี่เหน่งกล่าวปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะสบายๆ
วันและวัย ของพี่เหน่ง ธัญญ์ธิดา ศรีรักษา
สองบทบาทชีวิตที่แตกต่าง จากต้นทางที่ผ่านการหล่อหลอมได้อย่างลงตัว มาในวันนี้ พี่เหน่ง ธัญญ์ธิดา ศรีรักษา ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างเต็มเปี่ยม ก็กำลังจะเข้าสู่คำถามสำคัญเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในบั้นปลาย ว่าคิดหรือตัดสินใจไปในแนวทางใด กับรูปแบบที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘Slow-Life’ ในนิยามของคนยุคสมัยปัจจุบัน
“ถามว่าที่ผ่านมาได้ทำเต็มที่หรือยัง ก็คงพูดได้ว่าเต็มที่แล้วนะ ได้ทำในหลายสิ่งที่อยากทำและยังสามารถคิดทำอะไรได้อีก แต่ถ้าชีวิตถัดจากนี้ จะมีคนที่มอบหมายให้เราทำสิ่งต่างๆ หรือทำงานต่อไป เราก็จะทำให้เต็มที่ จนกว่าตัวเราจะไม่ไหวไปเสียเอง ซึ่งก็มีที่ทางที่เราเตรียมไว้สำหรับช่วงจังหวะชีวิตที่ช้าลงไปแล้ว อีกอย่าง เราก็ไม่ได้ไปคิดว่าจะต้องได้ในทุกสิ่งนะ อย่างรีสอร์ทที่ทำ ก็ไม่ได้คิดกำไรอะไร เอาแค่พอให้มันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ให้คนพื้นที่มีงานทำ อะไรที่ต้องจ่ายก็ต้องจ่าย ค่าใช้จ่ายอะไรจำเป็นก็ทำเลย ไม่ต้องไปคิดมาก”
เป็นการผ่อนสั้นยาวของจังหวะชีวิตที่แท้จริง ซึ่งดูจะเป็นเป้าประสงค์ปลายทางของคนยุคสมัยที่ทุกสิ่งดูเร่งรีบ และถีบให้ทุกคนพร้อมที่จะ ‘เกษียณ’ ออกไปใช้ชีวิตให้ช้าได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งพี่เหน่งเองก็มีความคิดเห็นในแง่มุมดังกล่าวที่เรียบง่าย แต่จริงแท้อีกเช่นเคย
“พี่ว่าถ้าจะ Slow-Life จริงๆ นั้น บางทีมันเป็นกระแสนะ ส่วนหนึ่งเราต้องมีความพร้อม ต้องหมดภาระหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย คือ ถ้าคุณอายุ 30 ต้นๆ ยังมีภาระกับคนที่ต้องดูแล จะออกจากทุกสิ่งไป Slow-Life เลยมันก็คงไม่ใช่ จะทิ้งทุกอย่างไปโดยคนรอบข้างเดือดร้อนมันก็คงไม่ถูกหรือเปล่า” พี่เหน่งกล่าวให้ความเห็น “แต่ทั้งหมดก็ขึ้นกับปัจจัยในชีวิตของแต่ละคนประกอบกันนะ ถ้าบางคนไม่เดือดร้อน มีความพร้อม ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำตามความฝัน”
ฟังดูเหมือนเรียบง่าย แต่ถ้าพิจารณาจากเส้นทางชีวิตของพี่เหน่งที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าต้องมีทั้งสิ่งที่ราบรื่น และสิ่งที่ติดขัด ไม่มีใครที่จะมีวันที่เรียบง่ายไปได้ตลอด ปัญหาที่เข้ามา ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งพี่เหน่งก็มีแง่มุมที่ยึดไว้เป็นแนวทางของตนเองมาโดยตลอด
“ส่วนตัวพี่เป็นคนที่จะทำอะไร จะคิดก่อนนะ คือมีการวางแผนเอาไว้อยู่ตลอดเป็นขั้นตอน อย่างรีสอร์ทที่วังน้ำเขียวนี้ ก็ไม่ได้นึกอยากจะทำก็ทำไปเลย ไม่ใช่ คือเราวางแผนในทุกขั้นตอน ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง รวมถึงส่วนตัว พี่เป็นคนกล้าได้กล้าเสียนะ คือไม่ใช่กล้าในเรื่องที่ผิด” พี่เหน่งกล่าวเสริม “แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราคิด พิจารณา และมองอย่างรอบคอบและตัดสินใจไปแล้ว ถ้ามันผิดพลาด จะไม่มาเว้าวอนหรือคิดย้อนอะไร จะมองแค่ว่าโอเค พลาด ปล่อยผ่านไป แก้ไขใหม่ ทุกสิ่งไม่ใช่ว่าจะได้อย่างที่ใจเราหวังไปเสียทั้งหมด รวมถึงมีแผนสองสำรองเอาไว้อยู่เสมอนั่นล่ะ แต่ก็มีบ้างนะ ที่จะบ่นบ้างอะไรบ้าง บ่นขำๆ แต่ก็ไม่ได้คิดมากอะไร”
ทั้งนี้ พี่เหน่งยังได้ฝากข้อคิดสำคัญให้กับผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในเส้นทางของชีวิตการทำงานเอาไว้อย่างง่ายๆ ว่า ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรมากกว่าการเรียนรู้ และ ‘สู้’ ไปกับมัน
“คำแนะนำก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าแนะนำให้ ‘สู้’ รวมถึงเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา รับรู้ข่าวสาร เปิดหูเปิดตากับสิ่งที่อยู่รอบตัวเสมอ อย่างงานของพี่ เวลาไปคุยกับลูกค้า จะไปคุยแต่เรื่องสินค้าอย่างเดียวไม่ได้นะ พี่ไม่ hard-sale อย่างเดียว ไม่เลย แต่จะเริ่มต้นจากการคุยในสิ่งที่คู่สนทนาสนใจ เป็นการเปิดใจ มันเป็นเรื่องจิตวิทยาง่ายๆ จนเมื่ออีกฝั่งเริ่มเปิดใจ เราค่อยเริ่มต้นเรื่องของเรา”
ย้อนกลับมาที่มุมมองที่เรามีต่อความสำเร็จในปัจจุบัน ที่ตัวอย่างทั้งหลายนั้น รวดเร็ว ฉับไว และยิ่งใหญ่ มีความขึ้นสุดและลงสุดในหลากหลายกรณี แต่เมื่อเราได้มาพูดคุยสนทนากับ พี่เหน่ง ธัญญ์ธิดา ศรีรักษา ในครั้งนี้ มันก็ช่วยให้เราผ่อนความเร่งรีบที่เกินจำเป็นลง และเปิดมุมมองที่มีต่อชีวิตว่า มันอาจจะไม่จำเป็นต้องรีบไปให้ถึงเส้นชัย กระบวนการระหว่างทาง และการดื่มด่ำกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจจะสำคัญไม่แพ้กัน
“พี่เป็นคนสบายๆ ในสไตล์ ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก มองในทางที่ดี อย่าทำให้มันยาก มีปัญหาก็แก้ไข ทำใหม่ เท่านั้นเอง”
บางที … แท้จริงมันอาจจะไม่ต่างกัน เมื่อพิจารณาจากเส้นทางของผู้สำเร็จทั้งหลาย แต่ฃีวิตที่แสนเรียบง่ายชองผู้หญิงคนนี้ เป็นแนวทางที่น่านำมาขบคิด พิจารณา และปรับใช้ หากคุณคิดว่าเหมาะกับแนวการดำเนินชีวิตของคุณ หรืออาจจะช่วยให้ชีวิตของคุณลงตัวแบบพอเพียง เฉกเช่น คุณธัญญ์ธิดา ศรีรักษา ผู้ที่ก้าวไปบนเส้นทางที่เธอวางไว้ด้วยตัวเธอเอง
ขอบคุณสถานที่ :
ร้าน Portobello & DESIRE ซ.ประเสริฐมนูกิจ22
โทรศัพท์: 098 289 8703
ข่าวเด่น