'กล้อง อาริยะ คำภิโล' วิกฤติชีวิต ต่อยอดสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ



หลายท่านที่ติดตามคอลัมน์สัมภาษณ์บนเว็บไซต์ AC News มาโดยตลอด อาจจะคุ้นเคยว่า บุคคลที่จะมาร่วมพูดคุยส่วนมาก มักจะเป็นผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ และผู้สันทัดในแวดวงต่างๆ ที่มากด้วยประสบการณ์และเรื่องราวชีวิต แต่ในครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไป เมื่อเราได้รับเกียรติจาก คุณกล้อง อาริยะ คำภิโล นักธุรกิจหนุ่มวัย 29 ปี ผู้ริเริ่มก่อตั้งร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ‘Jones’ Salad’ และเพจความรู้เพื่อสุขภาพในชื่อเดียวกัน ที่เดินทางมายังบ้านเรือนไทย  อายุกว่าร้อยปี ของ ศาสตราจารย์ ดร. สมชาติ  และ คุณเจิมใจ  โสภณรณฤทธิ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่สวยๆในการสัมภาษณ์ในครั้งนี้  ช่วงบ่ายแดดคล้อย พูดคุยถึงเส้นทางชีวิต จุดเริ่มต้นแนวคิดการทำธุรกิจ และมุมมองที่มีต่อชีวิตในภายภาคหน้า ที่เจ้าตัวยังยืนยันว่า จะให้ธุรกิจเพื่อสุขภาพของตนเองนั้น ง่าย สนุก และ ‘อร่อย’ เช่นเดียวกับสลัดรสเลิศของทางร้านในครั้งนี้ 


ลูกคนเล็ก ทางชีวิต และความมุ่งหมายในธุรกิจแต่วัยเยาว์

ภายใต้ภาพลักษณ์อันแสนสบาย และดูเป็นคนหนุ่มที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง ใครที่ได้พบกับคุณกล้อง อาริยะ คำภิโล อาจจะคิดว่าชายคนนี้ เป็นทายาทของตระกูลที่มีธุรกิจของตนเอง และสามารถก่อตั้งต่อยอดทำสิ่งที่วาดหวังเอาไว้ได้ตั้งแต่วัยเยาว์ 

นั่นเป็นการสรุปที่ถูกครึ่ง และผิดครึ่ง… 

ไม่ผิดที่บ้านของชายหนุ่มผู้นี้ จะมีพื้นฐานจากการทำธุรกิจ แต่ถ้าถามว่าเส้นทางชีวิตของเขานั้นเปรียบได้ดั่งคุณชายในเทพนิยายหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่า ความเป็นจริงนั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง 

“ผมเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจครับ ที่บ้านทำธุรกิจบ้านจัดสรรและอสังหาริมทรัพย์ที่เชียงราย รวมถึงธุรกิจโรงเรียนอาชีวศึกษา ก็เลยจะคุ้นเคยกับภาพที่ท่านทั้งสองวนเวียนอยู่ในโลกแห่งธุรกิจมาโดยตลอด” คุณกล้องกล่าวถึงพื้นเพของครอบครัว ณ จังหวัดเชียงราย แน่นอนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อย ย่อมต้องมีการติดตาม การหมุนเวียนของเงินทุน และการลงแรงแข่งขันแบบสุดตัว ด้วยผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ โดยเฉพาะกับช่วงที่ความต้องการบ้านและที่อยู่อาศัยกำลังพุ่งสูงขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

แต่เช่นเดียวกับผู้ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 นั้นกระทบต่อผู้ประกอบการทุกระดับอย่างสาหัส หลายคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวต้องไปตั้งหลักจากจุดศูนย์ สถานะการเงินของบ้านคุณกล้องในช่วงนั้นก็อยู่ในสภาวะไม่สู้ดีเท่าใดนัก แต่กระนั้น นักธุรกิจหนุ่มในชั่วโมงนี้ ก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของเขา ไม่ได้ขาดเหลือสิ่งใด หรือลำบากเกินไปจากที่ควร 

“ตอนนั้นเราเริ่มโตจนรู้ความแล้ว ก็พอทราบสภาพการเงินของที่บ้านว่า ไม่ได้มีเหลือกินเหลือใช้มากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามจะให้ผมกับพี่ชายได้เติบโตอย่างเป็นปกติ ยังได้รับความรักและการสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอด” 

มีคำกล่าวว่าพลังที่สำคัญที่จะก่อรูปร่างของคนคนหนึ่งให้เกิดขึ้นนั้น ครอบครัวคือปัจจัยสำคัญ ซึ่งนอกจากคุณกล้องและพี่ชายจะไม่ได้ลำบากแบบอดมื้อกินมื้อแล้ว เจ้าตัวยังบอกกับเราด้วยว่า คุณพ่อคุณแม่นั้นยังค่อนข้างจะมองเขาและพี่ชายในแง่ดีเป็นอย่างมาก 

“จะว่าคุณพ่อคุณแม่เห่อลูกก็ได้ครับ” คุณกล้องกล่าวพลางหัวเราะ “คือมักจะชมเรากับพี่ชายให้คนอื่นๆ เกือบจะตลอดเลยก็ว่าได้ ซึ่งผมว่าดีนะครับ มันทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ขาดอะไร ทั้งยังได้รับความรักและความมั่นใจที่มั่นคงอย่างมาก” 

แน่นอนว่าคุณกล้องเอง ก็เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มวัยรุ่นทั่วไป ที่มักจะมีโอกาสได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างเต็มความสามารถตั้งแต่วัยเรียน ทั้งการเป็นประธานนักเรียน การเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล รวมถึงการฝึกฝนร่างกายอย่างทรหดด้วยการปั่นจักรยานจากบ้านไปโรงเรียนไปกลับเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร

“ชีวิตของผมตอนนั้นก็ไม่มีอะไรมากครับ ปั่นจักรยานไปโรงเรียน ซ้อมบาสเก็ตบอล เข้าเรียน เลิกเรียนซ้อมต่อจนดึก แล้วก็ปั่นกลับ เป็นสิบกิโลเมตรก็ปั่นครับ อาจจะเพราะเราชินแล้วก็ได้” 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความฝันหนึ่งที่ได้ถูกเพาะเอาไว้ในห้วงความคิดของชายหนุ่มเช่นคุณกล้องมาตั้งแต่เด็กนั้นคือ… การเป็นเจ้าของธุรกิจ 

“ไม่รู้นะครับ ถ้าถามว่าทำไมถึงอยากทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ครอบครัวของผมทั้งคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจมาโดยตลอด รวมถึงตัวเราเองก็ชอบคิดโครงการอะไรใหม่ๆ ก็เลยมองว่า เราคงต้องมาสายธุรกิจจริงๆ” 

ความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณกล้อง บ่มเพาะอย่างต่อเนื่องจนถึงการตัดสินใจเลือกคณะเรียนในระดับอุดมศึกษา ที่คุณกล้องเลือกที่จะศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่แม้จะไม่ตรงสายนักด้วยเหตุผลว่า ช่วงนั้น คณะที่เกี่ยวข้องกับบริหารธุรกิจยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน แต่ความรู้ที่ได้จากวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ก็ดูจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับคุณกล้องในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจแรกที่จะเกิดขึ้นในทันที…หลังเรียนจบ


บทเรียนธุรกิจแรกจาก ‘ฟองสบู่ชานมไข่มุก’

“จบมาก็ทำธุรกิจเลยครับ ตอนนั้นก็อายุเพียง 22 ปี” คุณกล้องกล่าวถึงช่วงเวลาที่ตัดสินใจลงสู่สนามธุรกิจยกแรกของตนเอง ในวัยที่พึ่งสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยได้ไม่ถึงปี 

“ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร พอดีว่าได้รู้จักกับเพื่อนของเพื่อนที่เป็นชาวไต้หวันที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ทำให้ทราบว่าชานมไข่มุกนั้น กำลังเป็นกระแสที่มาแรง และจะมาแน่ๆ ในเมืองไทย” 

สายตาที่จับจ้องถึงสิ่งที่เป็นกระแส เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้คน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของคุณกล้องที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่ทั้งนี้ คุณกล้องก็ย้ำกับทางเราว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น มีเรื่องของจังหวะและ ‘โชค’ ประกอบกันด้วย 

“ยอมรับว่าเราเห็นครับ ว่าชานมไข่มุกนั้นมาแน่ๆ เริ่มมีคนพูดถึงกันมากขึ้น เราก็ตัดสินใจกับเพื่อนว่า อย่ารอเลย ต้องลองดูกันสักตั้ง” 

ความยากลำบากของการทำธุรกิจที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ คือ ธุรกิจนั้นจะคุ้มทุนหรือไม่ จะมีอายุในตลาดมากเพียงใด แต่สำหรับคุณกล้องกับเพื่อนร่วมหุ้น เขาใช้เพียงแค่การตัดสินใจที่เด็ดขาดในจังหวะเดียว แล้วไปลุยฝึกฝนเอาจากหน้างาน 

“ส่วนตัวผมเชื่อว่า การทำธุรกิจไม่ว่าอะไรก็ตามแต่ ถูกต้องที่เราควรศึกษามันให้ถ่องแท้ แต่เอาเข้าจริงๆ มีหลายบทเรียนทีเดียวที่เราจะได้จากหน้างาน และการลงมือทำจริงครับ” 

และด้วยการตัดสินใจอย่างมั่นคงนั้นเอง ที่ “BuddyBear” ร้านชานมไข่มุก ธุรกิจแรกของคุณกล้องและเพื่อนได้ถือกำเนิดขึ้น และด้วยจังหวะเวลาที่ถูก ตลาดที่เปิดกว้าง และยังร้างซึ่งผู้ร่วมแข่งขันในธุรกิจดังกล่าว ทำให้ผลตอบรับของธุรกิจนี้ เฟื่องฟูในระดับก้าวกระโดด 

“มันคืนทุนเร็วมากครับ ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง” คุณกล้องอธิบายถึงสภาพการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว “เรียกว่าเปิดแล้วไม่ขาดทุนแน่ๆ และมีแต่กำไรด้วย ช่วงนั้นคิดคำนวณเป็นกำไรต่อเดือนห้าสาขาแรก ก็ตกเป็นเงินหลักแสนได้เลยนะครับ” 

และนั่นเอง ที่คุณกล้องได้เรียนรู้บทเรียนแห่งธุรกิจจาก ‘หน้างาน’ เป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นเราก็ยังเด็กอยู่ เริ่มทำธุรกิจไปได้สวย จับเงินหลักแสนต่อเดือน เราก็รู้สึกตัวลอยเลย อยากได้อะไรก็ซื้อ ทั้งรถ ทั้งคอนโดมิเนียม เรียกว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเงินมันได้มาง่ายมากช่วงนั้น” คุณกล้องกล่าว พร้อมเสริมด้วยว่า นั่นคือบทเรียนทางธุรกิจแรกที่เขาได้รับ 

“ทีนี้พอธุรกิจไปได้สวยมากๆ เราก็เร่งขยายสาขา แต่สาขาหลังๆ เริ่มไม่คืนทุนหรือกำไรเร็วเท่ากับช่วงแรก ไหนจะการควบคุมระบบงาน ไหนจะคู่แข่งที่เริ่มมีมากขึ้น ช่วงนั้นผมทำงานแบบแทบไม่ได้พักเลยนะครับ” 

เมื่อเราถามคุณกล้องว่า บทเรียนทางธุรกิจใดที่เขาได้รับจากการเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดนั้น คุณกล้องสรุปเป็นคำอธิบายที่เรียบง่ายได้ใจความให้เราได้ฟัง 

ข้อแรกคือ การทำธุรกิจ แม้มันจะเฟื่องฟูมากขนาดไหน แต่การเร่งขยายตัวโดยที่ฐานเรายังไม่มั่นคง มันจะก่อให้เกิดสภาวะ ‘เงินจม’ ที่เราต้องมานั่งจัดการกับมันครับ และข้อที่สองที่สำคัญมากคือ การใช้เงินที่ได้มาอย่างไม่ระวัง ผมถือว่าเป็นกับดักสำคัญของคนทำธุรกิจช่วงเริ่มต้นเลยนะครับ คือตอนอยากได้เราซื้อนั้นใช่ แต่ตอนหลังมันกลับกลายมาเป็นภาระที่ถ่วงเราไว้ มันไม่ได้รู้สึกสบายตัวเลย มาตอนนี้ผมก็คิดนะครับ ว่าเราจะซื้อของพวกนั้นไปทำไม บ้านผมก็มีอยู่ รถผมก็ไม่ต้องขับหรูก็ได้ ตอนนี้เราเองก็นิ่งๆ ลงไปบ้างรถที่ขับก็เหลือแค่รถกระบะก็พอครับ (หัวเราะ)” 

ในปัจจุบัน แม้ว่าคุณกล้องจะถอนหุ้นออกจากธุรกิจชานมไข่มุกของตนเองไปแล้ว แต่ก็ยังมองกลับไปว่าเป็นบทเรียนที่ดีที่เอาไว้สำหรับย้ำเตือนในใจทุกครั้งที่จะทำธุรกิจ 

“ผมเป็นคนที่ไม่คิดวิตกอะไรมากนะครับ คือโอเค เราทำพลาด เราก้าวผิดจังหวะไป เศร้าได้แต่ขอวันเดียวนะ พรุ่งนี้เรามาแก้ไขกันใหม่ ยิ่งปัญหาที่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นี่ ยิ่งต้องตัดออกให้เร็วเลย อย่าให้มันมาทำลายกำลังใจในการทำสิ่งใหม่ๆ” 

แต่นอกเหนือจากการทำธุรกิจแรกจะให้บทเรียนที่สำคัญแก่คุณกล้องในเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักธุรกิจหนุ่มผู้นี้อย่างใหญ่หลวง....

เมื่อร่างกายที่ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน…เริ่มประท้วง


วิกฤติชีวิต ต่อยอดสู่ธุรกิจเพื่อ ‘สุขภาพ’ 

“ตอนนั้นเรามัวแต่วุ่นกับการทำงาน แทบจะไม่ได้พัก นอนน้อยมาก มารู้ตัวอีกทีเราก็มีสิ่งผิดปกติในร่างกายเสียแล้ว” คุณกล้องกล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่ทำให้โลกของเขาแทบพลิกกลับในชั่วระยะเวลาไม่กี่อึดใจ 

“ผมพบว่าบริเวณข้อพับขามีก้อนเนื้อขนาดพอประมาณงอกขึ้นมา พอไปตรวจกับคุณหมอที่โรงพยาบาล ก็ได้รับการยืนยันว่า มีโอกาสสูงที่ก้อนเนื้อนี้จะเป็น…เซลล์มะเร็ง” 

มะเร็ง…ภัยเงียบร้ายที่ซ่อนตัวและรอคอยเวลาสำแดงแผลงฤทธิ์กับร่างกายที่ปราศจากการดูแลเอาใจใส่ คือความจริงที่น่ากลัวหนึ่งของชีวิต เพราะหลายครั้ง ที่คนที่ดูมีสุขภาพดี ดูแลร่างกายมาโดยตลอด ก็กลับเกิดเซลล์มะเร็งและจากโลกไปก่อนเวลาอันควรเพียงเพราะตรวจพบช้าไป ในกรณีของคุณกล้อง แม้จะโชคดีที่ตรวจพบเจอ แต่ก็ทำให้หลายมุมมองที่มีต่อชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไปอยู่ไม่น้อย 

“ถามว่าตอนนั้นเรากลัวหรือไม่ ยอมรับนะครับว่ากลัว แต่ใจหนึ่งก็คิดเอาไว้ว่า เอาล่ะ เราอาจจะมีชีวิตที่ไม่ได้ยืนยาวนัก ถ้ามีอะไรที่สามารถทำได้ในตอนนี้ ก็ต้องรีบทำ ใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด เพราะคุณหมอก็บอกกับเราว่า ถึงผ่าตัดออก แต่ต้องตรวจดูด้วยว่าเนื้อโดยรอบๆ นั้นมีเซลล์มะเร็งหรือไม่ ต้องทำกายภาพบำบัด และรับการตรวจเป็นระยะๆ” 

และช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเอง ที่คุณกล้องได้หยุดพักการทำงานของตนเองเพื่อรักษาตัว ประจวบเหมาะกับการถอนตัวออกจากธุรกิจชานมไข่มุก ทำให้มีเวลาคิดทบทวนว่าจะไปต่อในหนทางใด 

และคำตอบนั้น ก็ปรากฎขึ้นจากวิกฤติชีวิตนั้นเอง…

“ตอนนั้นผมก็ต้องแวะเวียนไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทางภาครัฐ ก็ต้องนอนในห้องผู้ป่วยรวม ได้เห็นถึงความแออัดและจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เริ่มคิดว่า ทำอย่างไรเราถึงจะลดจำนวนผู้ป่วยของประเทศไทยให้ลดน้อยลงได้บ้าง” 

และจากคำถามที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนนี้เอง ที่ช่วยจุดประกายให้นักธุรกิจหนุ่มเริ่มเห็นหนทางที่จะไปต่อในเส้นทางสายธุรกิจ นั่นคือ ‘ธุรกิจเพื่อสุขภาพ’ 

“ตอนนั้นผมก็ยังนึกไม่ออกครับ ว่าจะทำอะไร รู้แค่ว่าอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อยากช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลง อยากให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น” 

และจากความมุ่งมั่นที่ดีนี้เอง ที่ช่วยส่งผลให้สถานการณ์ชีวิตของคุณกล้องเริ่มหันกลับมาในทางที่ดี เมื่อคุณหมอได้ทำการผ่าตัดและสรุปผลว่า ก้อนเนื้อที่เคยคิดว่าเป็นเซลล์มะเร็งนั้น แท้จริงเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดาเท่านั้น 

“เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ก็ได้ครับ” คุณกล้องกล่าวถึงช่วงเวลาสำคัญของชีวิต “ตอนเราเข้าห้องผ่าตัด มีนักศึกษาแพทย์มามุงอยู่เต็มไปหมด เห็นว่าเป็นเคสหายาก แต่พอผ่าตัดและตรวจดู กลายเป็นว่ามันเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ทั้งที่ดูจากอาการแล้ว น่าจะเป็นเซลล์มะเร็งแน่ๆ เรียกว่างงกันทั้งผมทั้งอาจารย์หมอเลยน่ะครับ” 

เมื่อชีวิตได้เปิดโอกาสที่สองขึ้นอีกครั้ง สำหรับชายหนุ่มผู้มีความมุ่งมั่นในสายธุรกิจ และมีความชัดเจนในเป้าหมายที่จะไปต่อ… 

ที่เหลือก็แค่เพียงค้นหาว่าจะเป็นสิ่งใด… 

และมันก็ประจวบเหมาะเข้ามาได้อย่างไม่น่าเชื่อ…จากคนใกล้ตัว


รสชาติโดนใจ ที่ต้องบินไปไขว่คว้าเพื่อค้นหาเส้นทางธุรกิจเพื่อสุขภาพ

มาในวันนี้ เราคุ้นเคยกับชื่อของร้าน Jones’ Salad ธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพของคุณกล้องดี แต่คำถามหนึ่งที่เราอดไม่ได้ที่จะต้องถามไถ่ไปนั้นคือ ที่มาที่ไปของธุรกิจดังกล่าว 

“หลายคนสงสัยครับว่าร้านนี้มีที่มาอย่างไร เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ภรรยาของผมครับ” คุณกล้องกล่าวถึงช่วงเวลาที่ได้ค้นพบเส้นทางธุรกิจสุขภาพของตนเอง เมื่อภรรยาของคุณกล้อง ผู้นิยมชมชอบการแสวงหาอาหารรสโอชะ ได้ชักชวนให้คุณกล้องได้ทาน ‘น้ำสลัด’ ของลุงเขยของเธอ 

“ภรรยาของผมเป็นสายชอบทานครับ” คุณกล้องกล่าวถึงที่มาที่ไป “คือมักจะหาอะไรอร่อยๆ ทานกัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เธอบอกกับผมว่า น้ำสลัดของคุณลุงเขยของเธอ ผู้เป็นชาวออสเตรเลียนั้น อร่อยมากๆ ซึ่งถ้าภรรยาของผมบอกว่าอะไรอร่อย ก็จะค่อนข้างเชื่อถือได้ว่าน่าจะอร่อยจริง (หัวเราะ)” 

และนั่นคือครั้งแรก ที่คุณกล้องได้ลิ้มลองรสชาติน้ำสลัดของ ‘ลุงโจนส์’ ผู้เป็นคุณลุงเขยชาวต่างชาติ อดีตโปรแกรมเมอร์อาวุโสแห่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย ก่อนเกษียณกลับไปทำสิ่งที่ตนเองรัก คือการทำอาหาร และน้ำสลัด คือหนึ่งในอาหารสูตรพิเศษที่ไม่เหมือนใคร

“ผมลองชิมแล้วรู้สึกว่ามันอร่อยมาก อร่อยจนเริ่มคิดว่า ถ้าเราอยากทำธุรกิจเพื่อสุขภาพ ทำไมไม่ลองทำร้านอาหารดูล่ะ ร้านสลัดนี่ล่ะ” 

ไม่ได้คิดเฉยๆ หากแต่คุณกล้อง ลงทุนบินไปยังออสเตรเลียเพื่อเรียนกับลุงโจนส์ต้นตำรับน้ำสลัดถึงถิ่น ใช้เวลาเกือบสองเดือนจนสามารถทำได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน และใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อจัดการเรื่องของระบบร้าน เมนูอาหาร สถานที่ตั้ง และ ‘ชื่อ’ ของร้าน

“คิดอยู่พอสมควรครับว่าจะใช้ชื่อร้านว่าอะไรดี แต่สุดท้าย ก็ถึงข้อสรุปง่ายๆ ว่า นี่คือน้ำสลัดของลุงโจนส์ ก็ตั้งชื่อร้านว่า ‘Jones’ Salad’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ต้นตำรับเสียเลยสิ นั่นล่ะครับ ที่มา” 

ก้าวใหม่ในธุรกิจของคุณกล้อง กับร้าน Jones’ Salad ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง


ลงสนามธุรกิจสุขภาพ กับแนวทางที่ยืดหยุ่น

ในธุรกิจร้านอาหารนั้น จะว่าง่ายก็อาจจะง่าย แต่จะว่ายาก ก็สามารถยากจนถึงระดับที่ไม่น่าเชื่อ อาจจะด้วยความง่ายในการเปิดร้าน หรือความเชื่อที่ว่าร้านอาหารอย่างไรเสียก็มีคนทาน มีกลุ่มลูกค้าอย่างแน่นอน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดแรกของคุณกล้อง กับธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านที่มีเมนูหลักเป็น ‘สลัดผัก’ เพียงอย่างเดียว 

“เราได้ทำเลร้าน Jones’ Salad สาขาแรกที่จามจุรีสแควร์ เป็นแผงขายเล็กๆ ไม่น่าจะเรียกว่าร้าน ตอนนั้นก็มีโจทย์สำคัญที่ต้องคิดครับ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นที่รู้จัก เพราะร้านของเราเพิ่งเปิดใหม่ ขายแต่สลัดผัก ซึ่งกลุ่มคนที่ทานแบบเฉพาะเหมือนที่ออสเตรเลียนั้นมีน้อยมากๆ” 

เมื่อถามถึงแผนการตลาด คุณกล้องตอบข้อสงสัยของเราได้ในทันทีว่า ในช่วงเวลานั้น เงินทุนทั้งหมดที่เหลือจากธุรกิจชานมไข่มุก ลงไปกับร้านเรียบร้อย แทบไม่เหลือเงินสำหรับค่าการตลาดหรือโฆษณาใดๆ เลย ซึ่งทำให้คุณกล้องตัดสินใจที่จะใช้วิธีที่ไม่ธรรมดาในการกระตุ้นความสนใจ 

“ตอนนั้นผมให้ร้านทำกล่องจับฉลากเลยครับ ข้างในใส่ลูกบอลสิบลูก ห้าลูกเขียนว่า ‘จ่าย’ อีกห้าลูกเขียนว่า ‘ฟรี’ ใครจับได้ลูกฟรี เอาสลัดไปทานได้เลยไม่ต้องเสียเงิน ทำแคมเปญนี้อยู่สามวันแรกที่เปิดร้านครับ” 

เป็นวิธีที่บ้าบิ่นและเล่นใหญ่เอามากๆ แต่ผลตอบรับที่ได้นั้น ก็อาจจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย 

“ถามว่าสามวันขาดทุนหรือไม่ ขาดทุนอยู่แล้วครับ (หัวเราะ)” คุณกล้องอธิบาย “แต่สิ่งที่เราเห็นถัดมาคือ หลังจากไม่ได้จัดแคมเปญนั้นแล้ว มีลูกค้าหน้าประจำที่แวะเวียนกลับมาซื้อสลัดไปทาน ซึ่งผมมองว่า นั่นคือความสำเร็จของร้านครับ ที่สามารถเข้าไปอยู่ในความนิยมของผู้รักการทานสลัดได้” 

ในโลกแห่งการตลาดและการส่งเสริมการขาย ไม่มีตำราใดที่สามารถชี้เจาะจงได้ว่าวิธีไหนถูกต้อง หรือได้ผลแน่นอน ทำได้อย่างมากแค่เพียงประเมินในระดับที่ใกล้เคียง ซึ่งสิ่งที่คุณกล้องได้ลงมือทำในครั้งนั้น ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์แบบ ‘เอามันส์’ ที่ผ่านการมองแง่มุมธุรกิจตัวเองมาแล้วเป็นอย่างดีก็เป็นได้ 

แต่เช่นเดียวกับโลกแห่งธุรกิจทั่วไป ความไม่แน่นอนและความผันผวนย่อมเกิดขึ้น เมื่อร้าน Jones’ Salad ที่กำลังไปได้ดีนั้น ต้องหยุดชะงัก ด้วยเหตุผลเรื่องของสัญญาพื้นที่ที่ไม่สามารถขอต่อสัญญาได้ ทำให้ร้านของคุณกล้องเคว้งไปพักหนึ่ง แต่ถ้าหากไม่ยอมแพ้ ทุกอย่างย่อมมีหนทางและโอกาสเสมอ

“ทางเราเสนอตัวจะไปเปิดในที่ต่างๆ อยู่หลายแห่งครับในช่วงนั้น แต่ได้รับการปฏิเสธโดยตลอด ประกอบกับตอนนั้นทางจามจุรีสแควร์ต้องการพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์อื่น ก็เป็นช่วงที่ใกล้จะครบสัญญา เราก็มองหาว่าจะย้ายไปอยู่ที่ใด จนสุดท้าย เรามาได้พื้นที่ของ Esplanade รัชดา ในช่วงที่เปิดใหม่ๆ ตอนนั้นยังไม่คึกคักเท่าปัจจุบัน แต่ก็ประจวบเหมาะกับการที่ตลาดหลังห้างเปิดทำการ ร้านเราก็ได้อานิสงส์ไปด้วย” 

ในตอนนี้ ร้าน Jones’ Salad มีอยู่ 5 สาขาคือ Esplanade รัชดา, ถนนสีลม, โรงพยาบาลจุฬาฯ เซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกท และที่จามจุรีสแควร์ สถานที่แรกเริ่มของร้าน พร้อมกับเมนูที่หลากหลายมากไปกว่าสลัดผักเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้มาทาน แต่ยังคงแนวทางเพื่อสุขภาพอยู่เช่นเดิม 

“ตอนนี้เมนูของร้านมีอาหารจำพวกสเต็กเพื่อสุขภาพพร้อมสลัดผัก หรือเซ็ทสลัดผักที่จัดเอาไว้พร้อมสรรพสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวก ส่วนราคานั้นจะเริ่มต้นที่ 69 บาทสำหรับสลัด และ 139 บาทสำหรับเมนูสเต็กครับ” 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีฐานที่มั่นคงทางธุรกิจในระดับหนึ่ง แต่ใช่ว่าทุกการตัดสินใจจะสามารถใช้ได้กับธุรกิจ ซึ่งคุณกล้องก็ได้ย้ำกับทางเราว่า รูปแบบการบริหารที่เป็นระบบ และการตัดสิ่งไม่จำเป็นเมื่อเห็นสมควร ก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตลอด 

ผมเองก็ได้เรียนรู้จากธุรกิจชานมไข่มุกมาแล้วว่า ถ้าหากเราวางระบบรากฐานไว้ไม่ดีพอ การขยายสาขาต่อไปนั้นย่อมเป็นเรื่องยาก ตอนนี้ก็พยายามทำคู่มือเพื่อให้แต่ละร้านสามารถปฏิบัติตามได้อย่างตรงกัน และครัวกลางที่จัดส่งผักและเครื่องปรุงเพื่อรักษาคุณภาพของรสชาติ อีกทั้งความพยายามในการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ก็ยังคงมี แม้บางอย่างจะไม่ได้ผลแล้ว เช่น การทำสลัดแบบสดๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ แต่พอเราเอามาลองปรับใช้ก็พบว่า ทำให้ลูกค้ารอนาน และยากที่จะรักษาคุณภาพความสะอาด ก็จำต้องตัดทิ้งไปครับ” 

ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ และสามารถตัดออกได้ ด้วยรากฐานของร้าน Jones’ Salad ที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดปลีกย่อยที่ยืดหยุ่นได้ อันเป็นหัวใจในการทำธุรกิจของคุณกล้องในปัจจุบัน 

อันหมายรวมถึงการก้าวเข้าสู่โลก ‘ไซเบอร์’ ของ Jones’ Salad ในแบบที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน


เมื่อการตลาดไซเบอร์ มาพบเจอกับ ‘ลุงโจนส์’

ในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโลก Social Media นั้น คือหนึ่งในอุปกรณ์ที่นักการตลาดเลือกใช้สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ มีศาสตร์แห่งการคำนวณความเป็นไปได้ของข้อมูลขนาดใหญ่ และการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง Jones’ Salad เองก็ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเช่นธุรกิจอื่นๆ…

แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป…

“ประสบการณ์ครั้งแรกของผมกับ Social Media เกิดขึ้นในตอนที่ผมทำคลิปวิดีโอขอแฟนแต่งงานที่สวนผึ้ง คือเราคบกันมานาน รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ก็เลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ซึ่งคลิปที่ว่า ก็ถูกแชร์ไปเกือบล้านวิว ช่วงนั้นไปออกรายการให้สัมภาษณ์ติดๆ กันหลายแห่ง ทำให้ผมรู้สึกเลยว่า พลังของสื่อชนิดนี้มันเยอะมากเลยนะ มันทรงพลังมากๆ” 

แต่เมื่อถามถึงแนวทางที่จะใช้สื่อ Social Media ในแนวทางใด เป็นอีกครั้งที่คุณกล้องทำให้เราต้องประหลาดใจอีกครั้ง… 

“ความฝันหนึ่งของผมนอกเหนือจากทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ก็คือการทำคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเพื่อสุขภาพ ซึ่งการเปิดเพจFacebook ก็สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี พวกเนื้อหาทั้งหลายเราก็ทำการบ้านจริงจังเลย อย่างเรื่องการทานอาหาร ก็ไปถามกับเพื่อนที่เป็นนักโภชนาการ หรือการออกกำลังกายก็ค้นหาข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว เป็นต้น” 

และนี่คือเหตุผลของการเปิดเพจ Jones’ Salad และ ‘ลุงโจนส์’ ตัวละครประจำเพจ ที่จะมาพร้อมกับเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งด้านโภขนาการ การออกกำลังกาย และการดูแลตัวเอง เป็นเนื้อหาสีสันสดใสอ่านสบายทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งได้รับความนิยมและถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก 

แน่นอนว่าการทำคอนเทนต์เช่นนี้ ออกจะแตกต่างจากแนวทางการใช้ Social Media ของภาคธุรกิจโดยทั่วไป ที่เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในธุรกิจ แต่คุณกล้องให้เหตุผลว่า การสร้างกลุ่มชุมชนหรือ Community นั้น ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ในอีกทางหนึ่ง 

“ส่วนตัวผมมองว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่เข้ามาพูดคุยในเพจ หรือคนที่ชื่นชอบการ์ตูนลุงโจนส์ ก็จะมีกลุ่มสังคมในนั้น และมักจะแวะเวียนเข้ามา รวมถึงอาจจะกลายเป็นลูกค้าของร้านในอนาคตด้วย” 

อนึ่ง แม้ว่าตัวการ์ตูนลุงโจนส์ที่ทุกคนคุ้นเคยในเพจJones’ Salad จะเป็นที่นิยม แต่ก็ไม่ใช่ทุกเนื้อหาที่คุณกล้องรังสรรค์จะสามารถเจาะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้เสียทุกครั้ง แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของสื่อ Social Media ซึ่งคุณกล้องก็ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด 

“สื่อ Social Media ผมว่าเรากะเกณฑ์เอาความแน่นอนได้ยากนะครับ” คุณกล้องกล่าว “หลายครั้งเนื้อหาที่เราตั้งใจทำ คิดว่าต้องปังแน่ๆ ก็ดูทรงๆ ไม่เปรี้ยงปร้างอะไร แต่กับบางเนื้อหาที่เราไม่ได้คาดหวังกับมันมาก คนกลับแชร์กันเยอะก็มี นี่อาจจะเป็นธรรมชาติและเสน่ห์ของสื่อชนิดนี้ก็ได้นะครับ” 

แม้ว่าเนื้อหาในเพจJones’ Salad อาจไม่ได้มี impact ได้เท่ากับตอนคลิปขอแต่งงานหลายปีก่อนหน้า แต่การสร้างรากฐานอันมั่นคงของกลุ่มผู้ติดตาม ที่มีอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ก็อาจจะเป็นพลังสำคัญที่ช่วงส่งเสริมธุรกิจ และเป็นแนวทางการใช้สื่อดังกล่าวเพื่อการตลาดในอีกแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย ภายใต้การแข่งขันที่สูงลิบ และเม็ดเงินถูกถล่มเข้าใส่สื่อชนิดนี้อย่างมหาศาล (ภายใต้ผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้…) 

“อย่างน้อย เวลามีคนมาเจอตัวแล้วทักว่านี่ตัวจริงลุงโจนส์เหรอ มันก็รู้สึกดีนะครับ” คุณกล้องกล่าวเสริม 


อีกไม่นานเดือนก่อนอายุเลข 3 และความคาดหวังของคุณกล้องและสลัดลุงโจนส์

นับจากเวลาแรกเริ่มของการทำธุรกิจหลังสำเร็จการศึกษา สู่การขยายไปกว่าห้าสาขาของธุรกิจร้าน Jones’ s Salad นั้น เป็นเจ็ดปีแห่งความบากบั่น ลองผิดลองถูก และลงมือทำด้วยตนเอง และสามารถปักธงรากฐานอันมั่นคงของธุรกิจเพื่อสุขภาพตนเองได้เบื้องต้นได้แล้ว 

คำถามที่ตามมาคือ ด้วยวันและวัยที่รอคอยอยู่ข้างหน้า นักธุรกิจหนุ่มเช่นคุณกล้องจะก้าวต่อไปในทิศทางใด… ? 

“ตอนนี้ที่ตั้งใจไว้แน่ๆ คือในระยะห้าปีข้างหน้า พยายามจะขยายสาขาให้ได้ปีละสิบสาขา รวมทั้งหมดห้าสิบสาขา ซึ่งตอนนี้ ก็ได้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดย่อมและ SMEs ของธนาคารออมสินช่วยสนับสนุนในส่วนของการสร้างโกดังเก็บวัตถุดิบและการขยายสาขาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อขอสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งเราเชื่อว่าจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ อีกทั้งที่ตั้งใจไว้ คือการจัดทำคู่มือที่มีอยู่แล้ว ให้เรียบง่าย และสามารถปฏิบัติตามได้สำหรับคนในภาคธุรกิจของเรา ที่จะช่วยแบ่งเบางานด้านการบริหารให้ลดน้อยลง” 

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามถึงการแปลง Jones’ Salad เป็น ‘แฟรนไชส์’ นั้น คุณกล้องกลับยังไม่มีความคิดที่จะเดินไปในเส้นทางดังกล่าว… 

“ถ้าเป็นแฟรนไชส์ มาตรฐานทั้งหมดต้องชัดเจน เราต้องรับรองกับคนซื้อไปเปิดได้ ว่าทำกำไรได้นะ ไม่ขาดทุน ซึ่ง Jones’ Salad ในตอนนี้ ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ คงต้องใช้เวลาอีกสักพักครับ” 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดี เราคงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า คนหนุ่มวัย 29 เช่นคุณกล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้เป็นเจ้าของกิจการร้าน Jones’ Salad นั้น มีคุณสมบัติที่น่าประทับใจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแต่จะมากด้วยความสามารถ แต่ยังมาพร้อมกับหัวใจที่แสวงหาความท้าทายและการเรียนรู้อันไม่สิ้นสุด อันเป็นคุณสมบัติสำคัญในการแข่งขันของภาคธุรกิจในยุคสมัยที่กำลังจะมาถึงได้อย่างเป็นมั่นคง 

สุดท้ายนี้ เมื่อถามถึงชีวิตครอบครัวว่า มีความตั้งใจไว้อย่างไรนั้น คุณกล้องหัวเราะอย่างสบายอารมณ์ก่อนตอบกับทางเราด้วยท่าทีอันผ่อนคลาย 

“ตอนนี้ผมเองก็ยุ่งเรื่องงานมากๆ แต่ภรรยาของผมอยากมีลูกครับ เขารักเด็ก ซึ่งพอผมมาคิดแล้ว ผมอยากได้ลูกสาวนะ ดูตัวอย่างจากภรรยานี่ล่ะครับ เขารักผม รักครอบครัวรักทุกคน ถึงขนาดมาช่วย Jones’ Salad ในช่วงแรกผมเองก็อยากมีโมเมนต์ที่ลูกสาวรักเรามากๆ บ้าง” 

ดูจากบุคลิกและแนวคิดของคุณกล้องหากเขามีลูก เราเชื่อว่าลูกของเขาจะต้องรักคุณพ่อคนนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทุกสิ่งที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ได้ทำ  เขาทำด้วยใจ  และความเข้าใจจริงๆ  

และนี่คือเรื่องราวของ คุณกล้อง อาริยะ คำภิโล  CEO และ Founder แห่ง Jones’ Salad และแอดมินเพจJones’ Salad

 


LastUpdate 06/04/2561 10:40:33 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:09 am