ช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมานี้ ใครที่อยู่ในแวดวงสายทรัพยากรบุคคล การพัฒนาคน หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก คงจะคุ้นเคยกับแนวคิดของ Work-Life Balance หรือสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต ที่การกำหนดชั่วโมงทำงานตายตัวแบบตอกบัตรเข้าเก้าโมงเช้า (หรืออาจจะเช้ากว่านั้น…) และออกจากที่ทำงานกลับบ้านตอนห้าโมงเย็น (หรืออาจจะดึกกว่านั้น…) ไม่สามารถนำมาสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรมใด ความยืดหยุ่นในรูปแบบการทำงานถูกนำมาปรับใช้ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะ Work Hard, Play Hard อย่างสุดตัว และเงินเดือนอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะเหนี่ยวรั้งพวกเขาหรือเธอได้แต่เพียงอย่างเดียว
อะไรคือความหมายของ Work-Life Balance ที่แท้จริง? เวลางานที่ไม่ตายตัว? วันหยุดตามวาระ? การให้ Space และบรรยากาศการทำงานที่ไม่ตึงจนเกินไป? ท่ามกลางนิยามที่มีอยู่อย่างมากมาย วันนี้ทีมงาน “AC News” ได้รับเกียรติจาก ”คุณเกิ้น ประกิตติ บุณยเกียรติ” General Manager แห่ง AIA ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่แถวหน้าของแวดวง ที่ได้มาร่วมพูดคุยในแง่มุมเกี่ยวกับสมดุลแห่งชีวิตและการงาน ในมุมส่วนตัวแห่งบ้านบุญยเกียรติ ณ คีรีมายา เขาใหญ่ จนเราได้เรื่องราวที่น่าสนใจมาบอกเล่าสู่กันฟังอีกเช่นเคย
“ด้วยวันและวัย” ที่ผ่านผันไปพร้อมการเรียนรู้
ณ ปัจจุบัน ที่ชื่อของคุณเกิ้น ประกิตติ บุณยเกียรติ ได้เป็นที่รับรู้และได้ความนับถือจากคนในองค์กรในฐานะ ‘พี่ใหญ่’ ตำแหน่ง GM ของ AIA ประเทศไทย แต่ทุกสิ่งย่อมมีจุดเริ่มต้น ซึ่งจากวันเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันของคุณเกิ้นกับองค์กรธุรกิจประกันชีวิตยักษ์ใหญ่แห่งนี้ เป็นดั่งหัวใจขององค์กรที่คุณเกิ้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ
คุณเกิ้นเริ่มออกตัวก่อนเลยว่า “ผมเองก็ไม่ได้มาจากธุรกิจการประกันหรือการทำงานฝ่ายขาย แต่ที่ได้เข้ามาทำงานใน AIA นั้น ส่วนหนึ่งต้องกล่าวถึง “คุณธัลดล บุนนาค” ที่ทำงานอยู่ก่อนหน้านั้น และเป็นผู้ที่วางรากฐานระบบการบริหารตัวแทนฝ่ายขายขององค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งท่านก็เป็นรุ่นพี่ของผมสมัยเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธ ท่านก็ชักชวนเราว่ามาทำงานด้วยกันมั้ย ซึ่งถ้าถามว่าทำไมท่านถึงเลือกผมเข้าไป อาจจะด้วยบุคลิกและลักษณะของเด็กโรงเรียนกินนอนประจำ ที่สามารถทำความเข้าใจ คลุกคลีกับผู้คน และการปรับตัวเข้าหาผู้อื่น รวมถึงการฝึกฝนด้านระเบียบวินัยและการทำงานเป็นทีม ที่เป็นหัวใจสำคัญของเด็กวชิราวุธ ก็มีส่วนที่จะมาสอดรับกับแนวทางที่คุณธัลดลได้วางเอาไว้ ก่อนที่จะสอนเพิ่มเติมในส่วนของธรรมชาติของฝ่ายขายในเวลาต่อมา”
และการทำงานกับฝ่ายขาย หรือตัวแทนขายของธุรกิจประกันชีวิตนี้เอง ก็ถือได้ว่าเป็นบททดสอบ และเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่สั่งสมมาเป็นประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้นตามวันและเวลา
“การบริหารคนนั้นนับว่ายากแล้ว แต่การบริหารตัวแทนฝ่ายขายนั้นยากยิ่งกว่า”คุณเกิ้นอธิบาย “พวกเขาเป็นตัวแทนขาย ไม่ได้เป็นพนักงานในองค์กร รายได้ของพวกเขาจะเกิดจากยอดและ Incentive ที่ทำได้ ซึ่งสำหรับคนสายการขาย งานประกันต้องถือว่ามีความอึดมากกว่าทั่วไป เพราะนี่คือสินค้าที่จับต้องไม่ได้ มีเพียงความน่าเชื่อถือ และสัญญาถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงให้กับผู้ที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้น คนกลุ่มนี้มีดีกรีความแน่นอนในตัวเองสูง ซึ่งการบริหารคนกลุ่มนี้เอง ที่เราต้องมีฝีมือ เพราะพวกเขาก็ถือว่าพกประสบการณ์มาไม่น้อย”
สำหรับตำแหน่งที่สูงเช่น CAO ในช่วงเวลานั้น กับการดูแลและรับมือฝ่ายขายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนองค์กรที่สำคัญ มันคือสิ่งที่เรียกร้องพลังงานและฝีมือการบริหารในระดับสูง ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ แต่นับว่าเป็นโชคดีของคุณเกิ้น ที่คุณธัลดล ผู้ชักชวนให้มาอยู่ในบ้าน AIA ได้ฝากฝังและสอนแนวคิดที่สำคัญ ที่คุณเกิ้นยังยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน
“คุณธัลดลสอนผมเอาไว้ว่า การจะดูแลตัวแทนฝ่ายขาย เราต้อง ‘เข้าใจ’ พวกเขาก่อนในเบื้องต้น ว่าพวกเขาต้องเจอกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นทั้งการก่นด่า ดูถูก ตวาด พูดกระทบกระทั่ง บอกปัดปฏิเสธ แต่คนสายประกันนั้นยังยืนหยัดอยู่ได้ ไม่เคยถอย พวกเขาไม่ละเลิกไปเพียงแค่ครั้งหรือสองครั้ง แต่จะหาจังหวะเพื่อนำเสนอจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งการจะทำความเข้าใจพวกเขานั้น ไม่ใช่แค่เพียงการสั่งการในเชิงนโยบาย หากแต่ต้องลงไปคลุกคลี ใช้ชีวิตร่วมกัน จนเรามีแนวคิดของนักขายในตัวเอง นั่นล่ะ เราจึงจะสามารถก้าวไปพร้อมกับเหล่า ‘คนแกร่ง’ กลุ่มนี้ได้”
คนแกร่ง…ในโลกแห่งการทำงาน คนกลุ่มนี้อาจจะมีความ Aggressive หรือแนวคิดแบบเชิงรุก ที่ค่อนข้างก่อให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งต่อสภาพแวดล้อมอันเป็นระบบและระเบียบ แต่คุณเกิ้นก็ยังย้ำว่า ถ้าหากสามารถซื้อใจคนเหล่านี้ได้ นี่คือกลุ่มคนที่ทำงานแล้วได้ประสิทธิผล จนสามารถเอามาเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตได้ในหลายทาง
“การทำงานกับคนแกร่งนั้น คุณธัลดลได้สอนสิ่งหนึ่งที่ผมยังยึดถือมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ เราอาจจะทำดีกับเขาหลายอย่าง แต่ถ้าเราทำผิดพลาด เขาก็สามารถแสดงความไม่พอใจได้ ดังนั้น ‘อย่าเอามาเป็นอารมณ์’ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาก้าวร้าว แต่มันเป็นลักษณะของคนแกร่งในสายงาน ซึ่งพอเราไม่เอามายึดถือหรือใส่ใจจนเกินไป เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีสติ รวมถึงสามารถวิพากษ์และนำเสนอแนวคิดต่างได้อย่างมีเหตุและผล ซึ่งถ้ามาถึงจุดที่สามารถซื้อใจได้ คำพูดเราจะมีน้ำหนัก เพราะพวกเขาก็รู้ว่า ถ้าหากสิ่งไหนเราบอกว่าไม่สามารถทำได้ นั่นคือเราได้ผ่านการพิจารณาแล้วว่า มันไม่ได้จริงๆ” คุณเกิ้นกล่าวถึงรูปแบบการทำงานร่วมกับ ‘คนแกร่ง’ เหล่านี้ ในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ก้าวสู่ตำแหน่ง “หัวเรือใหญ่” ที่หัวใจไม่ได้มีแค่เพียงงานด้านบริหาร
จากที่กล่าวไปก่อนหน้า เราคงจะพอทราบว่า ประสบการณ์การทำงานของคุณเกิ้นในบทบาทและหน้าที่ของตนเองนั้นเป็นของจริง และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หากแต่การก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง GM หรือ ‘หัวเรือใหญ่’ แห่ง AIA นั้น ปัจจัยสำคัญไม่ได้มีเพียงแค่กำหนดทิศทางและปรับใช้นโยบายของบริษัท หากแต่ต้องลงลึกถึงระดับ ‘บุคลากร’ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากภายใต้ร่มเงาของบริษัทประกันภัยแห่งนี้ เรียกว่าเทียบเท่าระดับ CEO เลยก็ว่าได้
“หน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญในตำแหน่ง GM จะมีอยู่สองส่วนด้วยกัน หนึ่งคือส่วนของการดูแลพนักงาน การจัดฝึกอบรม การกำหนดนโยบาย และส่งเสริมการขาย อีกส่วนคือการดูแล ‘ตัวแทนขาย’ ที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำในองค์กร แต่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการด้านการประกันชีวิต ซึ่งมีอยู่เกือบห้าหมื่นคนทั่วประเทศ”คุณเกิ้นกล่าวอธิบายถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในภาพรวม
แน่นอนว่า แม้จะมีประสบการณ์การทำงานกับ AIA มาอย่างยาวนาน และรับผิดชอบดูแลตัวแทนขายของบริษัท ซึ่งเป็นงานที่คุณเกิ้นรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี แต่การขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งนอกและในขององค์กรนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเพราะบทบาทและหน้าที่ ไม่ได้มีจำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองแต่เพียงอย่างเดียว…
“เดิมทีผมรับผิดชอบแค่ในส่วน Chief Agency Officer (CAO) ที่ดูแลฝ่ายขาย อีกฝั่งหนึ่งเราไม่ได้เข้าไปแตะเลย แต่พอขึ้นมาเป็น GM แล้ว แน่นอนว่างานอีกด้านหนึ่งก็ต้องดูแลให้ครอบคลุมอย่างที่กล่าวไป แต่อีกหนึ่งความรับผิดชอบสำคัญ นอกเหนือจากทำงานของตัวเองให้ดีแล้วนั้น คือการ Grooming หรือฝึกฝนคนที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งเดิมที่เราเคยอยู่ นั่นก็คือ CAO ให้มีความรู้ความเข้าใจ รับกับนโยบายองค์กร และสามารถมาสานต่องานที่เราเคยทำเอาไว้ได้ ซึ่งในกรณีนี้ CAO คนใหม่ที่เข้ามา เขาเป็นคนใหม่จริงๆ เรียกว่าไม่ได้มาจากสายงานประกัน ซึ่งด้วยเวลาที่ผ่านไปหนึ่งปี ผลลัพธ์ก็ชัดเจนแล้วว่า เขาสามารถปรับตัวได้ รวมถึงได้การยอมรับจากตัวแทนขายและคนในองค์กร”
ในที่นี้ คุณเกิ้นได้กล่าวถึง “คุณกฤษณ์ จันทโนทก” CAO คนปัจจุบันของ AIA ประเทศไทย ผู้ที่ก้าวข้ามสายงานธนาคาร มาสู่แวดวงที่ไม่คุ้นเคย แต่ด้วยความพร้อมและการฝึกฝนจากคุณเกิ้น ก็สามารถทำให้ผู้บริหารหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้นี้ สามารถเข้ามาสอดรับกับส่วนที่ขาดได้อย่างลงตัว
“ยอมรับเลยว่า “คุณกฤษณ์” นั้น เป็นคนที่มีพื้นฐานความพร้อมอยู่แต่เดิม ก็อาจจะทำให้งานการฝึกสอนของเรานั้นง่ายขึ้น แต่ตัวแทนฝ่ายขายของงานสายประกันนั้นไม่ใช่ง่าย เพราะพวกเขาต่างก็มีความมั่นใจและประสบการณ์อย่างเหลือเฟือ ถ้าคุณทำให้พวกเขายอมรับไม่ได้ ต่อให้คุณสวมหัวตำแหน่งอะไร ก็ยากที่จะทำงานให้เกิดความกลมกลืน ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือ การถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ในการซื้อใจคน ให้เขาสามารถผลักดันองค์กรต่อไปได้” คุณเกิ้นกล่าวถึงผู้สืบทอดที่มาแทนที่ตำแหน่งเดิมของตนเอง และขยายความในส่วนของหน้าที่ GM ที่รับผิดชอบอยู่
แต่ภายใต้ความรับผิดชอบ และแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ปัญหา อุปสรรค และความกดดัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะกับตำแหน่งงานที่ต้องแบกรับและเกี่ยวพันกับหลากหลายด้านภายในองค์กร ซึ่งผู้บริหารหลายต่อหลายคน ต่างก็มีวิธีที่จะรับมือและผ่อนความกดดันดังกล่าวออกไป ซึ่งคุณเกิ้นเองก็ไม่แตกต่าง หากแต่มากด้วยแนวคิดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
“ผมมองว่าองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ เป็น ‘เกมส์’ นะครับ เกมส์ทางธุรกิจ เงื่อนไขและรูปแบบที่พึงเป็น อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า การถูกตำหนิ ติเตียน ต่อว่า ไม่ใช่เพราะเขาเกลียดชังเรา แต่มันคือกระบวนการทำงาน เป็นการใส่ ‘แรงกดดัน’ เพื่อให้เราปรับตัว และทำงานให้สัมฤทธิผล ซึ่งพอเรามาอยู่ในจุดที่เราบริหารคน เราก็เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนตัวผมเป็นคนที่ใส่ความกดดันให้กับคนทำงานเยอะนะ ไม่ใช่เพราะต้องการทำร้าย แต่เราเชื่อว่า ความกดดันที่พอดี จะผลักให้คนเดินหน้า จะก้าวข้ามขีดจำกัดที่ท้าทาย ก็จะคอยใส่แรงกดดันเหล่านี้ไปเป็นระยะๆ อย่าง พี่เชื่อว่าเราทำได้ คุณทำได้ดี แต่มันน่าจะดีขึ้นได้มากกว่านี้ ทำดีก็ชม ทำพลาดก็ติอย่างเหมาะสม และนี่ล่ะ คือหน้าที่ของผู้นำ ความกดดันที่เหมาะสม กับคนที่เหมาะสม จะสร้างผลต่างได้อย่างมหาศาล และทำให้เขารู้ว่าตัวเองสามารถไปต่อได้ แม้ว่าใจจะท้อแท้หรือพร้อมจะหยุดแล้วก็ตาม การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีสิ่งเหล่านี้ เป็นคนที่ลูกน้องเกรง และเป็นคนที่ลูกน้องรัก ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย”
ความกดดันที่พอดี … คำๆ นี้ยังคงชัดเจนในความรู้สึกแม้การสัมภาษณ์จะเดินหน้าต่อไป ความต่างระหว่างหัวหน้าและผู้นำ อาจจะชี้วัดจากสิ่งต่างๆ ที่คุณเกิ้นได้กล่าวไป เป็นศาสตร์และศิลป์ดังที่ว่าไว้ ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคนคนนั้นไม่ได้ประสบ เรียนรู้ และปรับใช้ในวันและเวลา และการที่คุณเกิ้น ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้า ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม ครบถ้วนทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ กับความเข้าใจที่ถึงพร้อมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
“ต่างคน ต่างวัย” แต่ยังร่วมก้าวไปพร้อมกันได้ “ไม่ต่างกัน”
อย่างที่ทราบกันดีว่า การทำงานกับผู้คนเป็นศาสตร์และศิลป์ดังเช่นที่คุณเกิ้น ได้ผ่านในหน้างานอย่างเข้าใจ แต่สิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ นั่นคือ ภายใต้ตัวแทนฝ่ายขายกว่าห้าหมื่นคนทั่วประเทศ ไม่นับรวมการบริหารคนในองค์กร ‘อายุ’ ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความซับซ้อนของงานด้านบริหารเพิ่มสูงขึ้น
“ตัวแทนฝ่ายขายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจัยด้านอายุก็ถูกพิจารณาเข้ามาอย่างช่วยไม่ได้ แน่นอนว่าการรับมือกับคนหลากหลายรูปแบบ ก็ต้องมี Approach ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ผมอาจจะเป็นผู้บริหารก็จริง แต่ถ้าเราจะพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายขายที่อยู่มานาน อายุมากกว่า เราก็ต้องให้ความเคารพ หรือถ้าเป็นคนที่อายุน้อยกว่า เราก็ต้องหาทางพยายามที่จะกระตุ้น มอบความท้าทาย และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของเป้าหมาย และในส่วนขององค์กร”
แม้ความต่างทางอายุ จะไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกันของคุณเกิ้น กับคนหลากหลายช่วงอายุ รวมถึงคนรุ่นใหม่ Gen-Y ที่เริ่มเข้าสู่ระบบสายงาน แต่เรื่องความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ และการถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ยังเป็นสิ่งที่ คุณเกิ้น มองว่า เป็นส่วนที่ยังขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะในด้านการทำงาน หรือด้านการใช้ชีวิตก็ตาม
“เรายังอยู่ในวัฒนธรรมของการมีสัมมาคารวะอยู่” คุณเกิ้นกล่าวเสริม “เราเข้าหาผู้ใหญ่แบบนั้น พอมาวันนี้เรามาอยู่ ณ จุดนั้น เราถึงเข้าใจ ว่าแม้การทำงานจะสามารถเห็นต่าง เสนอแนวทาง และกล้าแสดงออกได้ แต่สิ่งที่ทำให้เราเอ็นดูคนรุ่นใหม่ จะมากจะน้อย ก็คือการมีสัมมาคารวะ การอ่อนน้อมถ่อมตน ที่ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างวัย เป็นไปได้อย่างราบรื่น”
อย่างไรก็ดี คุณเกิ้นย้ำว่า การมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อม ไม่ได้หมายถึงการยอมหงอ หรือไม่สามารถเป็นผู้ชี้นำความคิดใหม่ๆ รวมถึงการปรับตัวของคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์เอง สิ่งเหล่านี้ต้องเคลื่อนไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย
“อันนี้ในทัศนะส่วนตัวเลยคือ ต่อให้มีการปรับรูปแบบองค์กรอย่างไร ต่อให้มีคน Gen-Y เข้ามาอยู่ในสายงานมากแค่ไหน ถ้าส่วนที่อยู่ด้านบนหรือคนรุ่นเก่าที่ไม่เปิดใจ ไม่รับฟัง ทุกอย่างจบเลยนะ องค์กรไหนที่ยังต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน หรือสกัดความคิดเพียงเพราะคิดว่ามีประสบการณ์แต่ไม่รับฟังให้ถ่องแท้ ยากมากที่องค์กรนั้นจะเปลี่ยนตัวเองให้รับกับโลกที่เปลี่ยนไป ธุรกิจแบบกงสีจะอยู่ยากขึ้น และการรั้งคนรุ่นใหม่ที่ตั้งเป้าไว้ ยังไงก็ไม่สำเร็จ หากยังยึดติดกับแนวทางดังกล่าว”
อาจจะนับว่าเป็นโชคดี ที่การวางรากฐานและวัฒนธรรมองค์กรของ AIA นั้น เอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นในการเข้าถึงคนได้ ในทุกระดับ อย่างผูกพันเหมือนคนในครอบครัว ไม่มีการแบ่งแยก
“วัฒนธรรมองค์กรของ AIA นั้น เราใช้ชื่อเล่นและคำเรียกว่า ‘พี่น้อง’ กันบ่อยมาก ผมไม่รู้ว่าองค์กรอื่นเป็นหรือไม่ แต่ที่นี่ ผู้บริหารระดับสูง สามารถนั่งทานข้าว สังสรรค์ สนุกสนานไปกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน ไม่ต้องวางมาดอำนาจอะไร ซึ่งผมเองก็ชอบนะ เวลาคนเรียกเราอย่างสนิทสนมว่า ‘พี่เกิ้น’ คือมันน่าประทับใจ ที่องค์กรมีพนักงานห้าหมื่นกว่าคน แต่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ของคนทำงานในทุกระดับได้แบบนี้” คุณเกิ้นกล่าวเสริม
จากสายตาคนรุ่นก่อนหน้า ที่มองมายังเลือดใหม่
หลังอาหารเที่ยง ทีมงานนั่งผ่อนคลายไปกับคุณเกิ้น ที่เอนหลังกับโซฟาตัวโปรด พร้อมกันนั้น เราเกิดคำถามหนึ่งขึ้นมาในใจ ว่าถ้าคุณเกิ้น ที่ใช้เวลาให้กับองค์กร AIA มายาวนานกว่าสามสิบปี มองเห็นการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น มาในวันนี้ ที่คน Gen-Y อายุยี่สิบกว่าๆ ถึงสามสิบ เริ่มเข้าสู่ระบบการทำงาน ใน ‘สายตา’ ของคุณเกิ้นนั้น มองเห็นสิ่งใด?
“แนวคิดของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากรุ่นของพวกผมอยู่ไม่น้อย” คุณเกิ้นกล่าว “ถ้าเป็นรุ่นผม เราถูกสอนมาว่า ให้ทำงานอย่างตั้งใจ อยู่ภายในระบบ ขยันและอดทน เพื่อที่เราจะสบายในวันข้างหน้า แต่สำหรับคน Gen-Y นั้น รูปแบบการใช้ชีวิตจะแตกต่างออกไป พวกเขามีความต้องการที่จะทำงานไปด้วย และใช้ชีวิตไปด้วยเป็นทัศนคติแบบ Work Hard, Play Hard”
Work Hard, Play Hard…คำนี้คือสิ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อยครั้ง จากเหล่าคนรุ่นใหม่ Gen-Y ที่มองว่า ประสบการณ์ชีวิต สามารถไปกันได้ กับช่วงเวลาแห่งการทำงาน ไม่จำเป็นต้องสั่งสมทรัพย์สินเพื่อรอเวลาในบั้นปลาย และเวลาที่ปล่อยปละ คือการละทิ้งไปอย่างไร้ค่า
“ในจุดนี้ อย่างที่กล่าวไป ต่างจากคนรุ่นเก่าอยู่มาก อาจจะด้วยพื้นฐานทางครอบครัว เศรษฐกิจ ที่ดีกว่าคนรุ่นเก่า มีการศึกษาที่ดีขึ้น มีความรู้มากขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าคิดกล้าทำ พัฒนาได้รวดเร็ว พร้อมเปิดรับความคิดเห็นและองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า ที่หลายครั้งค่อนข้างที่จะยึดติดอยู่กับแนวทางเดิมๆ ของตนเอง”
มันอาจจะไม่น่าแปลกใจ กับคนวัยที่เติบโตมากับความท่วมท้นของข่าวสาร การเปลี่ยนแปลง และช่องทางในการเปิดเผยความคิดเห็น รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงที่มากและกว้างยิ่งกว่าเดิม แต่คุณเกิ้นก็ย้ำว่า ในข้อดี ก็ยังมีจุดที่ต้องระวังอยู่
“จะว่ายังไงดี…คนรุ่นใหม่นั้น เราไม่อาจใช้ความกดดันอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ในระดับที่ใช้กับคนรุ่นเก่าได้เลย แน่นอนว่า มันเกี่ยวข้องกับพื้นฐานการเติบโต ที่เรียกว่าน่าจะสบายกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งในจุดนี้ การบริหารจัดการ และการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ก็ต้องมี Approach ที่ต่างออกไป” คุณเกิ้นกล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าว และเมื่อถามต่อไปว่า ความแตกต่างในระดับความกดดันและแนวคิดการทำงานแบบ Work-Life Balance ที่ต่างจากคนรุ่นเก่าอย่างมากนี้ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการหรือไม่ เป็นอีกครั้งที่คุณเกิ้นให้คำตอบที่น่าสนใจ
“เราก็ต้องปรับตัวตามในระดับที่สมควรนะ ผมอาจจะโชคดีที่ลูกสาวคนโตอยู่ในช่วงอายุ 31-32 ปี เวลาเราสงสัยอะไรก็จะถาม ก็ได้มุมมอง แนวคิด และทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่แน่ๆ คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ไม่เอาการเอางาน ถึงเวลาทำงาน ถ้าพวกเขาเอาจริง เขาทำได้ดีและทำได้มากในระดับที่น่าตกใจ เพียงแต่เป้าหมายของการทำงานของพวกเขามันต่างจากรุ่นพวกเรา เขาทำงาน เพราะต้องการที่จะได้เงิน เพื่อเอาไปใช้ชีวิต ซึ่งตรงจุดนี้ เราในฐานะผู้บริหารและผู้นำ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้เวลางาน พวกเขาเอาจริง ลงแรงให้เต็มที่ ใส่ให้สุดตัว แต่พอถึงเวลาเล่น พักผ่อน สังสรรค์ ก็เอาให้เต็มที่ อย่าได้ยั้ง ซึ่งผมมองว่านี่เป็นข้อดีมากๆ ของคนรุ่นใหม่นะ ว่าถ้าพวกเขาตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่แพ้คนรุ่นเก่าเลย แต่ก็ต้องอยู่ในลิมิท อะไรที่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือยังขาดอยู่ ก็ต้องคอยปรามบ้าง แนะนำบ้าง มันเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทางหนึ่ง”
สิ้นคำตอบของคุณเกิ้น เราสังเกตเห็นไลฟ์สไตล์ของคนในบ้านมีมุมโปรดกันคนละมุม โดยที่ลูกสาว “คุณเกวลี บุณยเกียรติ” กำลังทำกิจกรรมในครัว ส่วน “คุณอร บุณยเกียรติ” (ภรรยา) เดินดูต้นไม้ ในขณะที่คุณเกิ้นกำลังนั่งพักผ่อนไปกับโซฟาเอนตัวโปรด แม้จะแตกต่างกันในรูปแบบการใช้ชีวิต แต่ก็ยังผสานกลมกลืนกันได้ โลกแห่งการทำงานก็คงจะเช่นเดียวกัน ที่ความอดทนของคนรุ่นเก่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม หากแต่ความรวดเร็วและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ก็เป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ในโลกแห่งการแข่งขันเฉกเช่นเดียวกัน
“คีรีมายาสถาน” กับบ้านพักที่ได้มาเพื่อเป็นจุดหมาย
แดดร่มลมตก ทีมงานถ่ายทำวิดีโอและเก็บภาพคุณเกิ้นพร้อมครอบครัว ณ บ้านพักตากอากาศแห่งนี้จนแล้วเสร็จ บรรยากาศเคลื่อนคล้อยสู่ความสบาย โอบล้อมด้วยทิวเทือกแห่งเขาใหญ่สุดลูกหูลูกตา จนเราอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า “บ้านแห่งนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร”
“คุณเชื่อเรื่อง ‘โชคชะตา’ หรือ Destiny มั้ย?” คุณเกิ้นกล่าวพลางพิงพนักในห้องนั่งเล่นด้วยอิริยาบถแสนสบาย เราอดไม่ได้ที่จะเลิกคิ้ว…
“มันอาจจะฟังดูแปลกๆ แต่ทุกสรรพสิ่ง ถ้ามันจะเป็นของเรา มันจะเข้ามาอย่างที่ไม่คาดคิด เช่นเดียวกับที่ผืนนี้ ยอมรับเลยว่า แรกเริ่ม ไม่ได้คิดเลยว่าจะได้มาปลูกบ้านที่คีรีมายา ราคามันแพงมาก หลายสิบล้านบาท แม้ว่าความตั้งใจเดิม คือการหาสถานที่ปลูกบ้าน ที่สามารถขับรถจากกรุงเทพฯ มาได้โดยระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 2 ชั่วโมง รวมถึงให้คนที่มาเยี่ยมเยือนสามารถเดินทางได้โดยไม่ลำบาก ก็ปลงใจว่าต้องเป็นที่เขาใหญ่ ประกอบกับคุณน้าที่เกษียณไปก่อนหน้านั้น เสนอขายที่ดินคีรีมายาในราคาพาร์ ก็นับว่าเป็นโชคดีของเราที่ได้มาอยู่ ณ จุดนี้”
ที่ดินเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนที่ “ครอบครัวบุณยเกียรติ” จะเริ่มดำเนินการสร้างอภิรมย์สถานเพื่อการพักผ่อนหลังนี้ จากศูนย์ก่อขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างช้าๆ โดยมีภรรยาคู่ชีวิต เป็นคนที่เลือกสไตล์การตกแต่งภายใน และให้สถาปนิกช่วยดูแลในส่วนภายนอกของอาคาร
“อันที่จริงแล้ว ต้องบอกว่า ทีมงาน “AC News” เป็นกลุ่มแรกเลยที่ได้มาที่บ้านหลังนี้ เพราะเพิ่งจะแล้วเสร็จได้ไม่นาน” คุณเกิ้นกล่าว “ยังมีส่วนของงานระบบที่ยังต้องเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็เรียกได้ว่าใกล้จะเสร็จสมบูรณ์”
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงเหตุผลอื่นๆ ในการสร้างบ้านที่คีรีมายาแห่งนี้ นอกเหนือจากการตัดสินใจเพราะได้ที่ดินมาในราคาพาร์แล้ว ทุกอย่างก็ดูจะเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
“เดิมทีครอบครัวเราอยู่ในบ้านเก่าร่วมกับคุณปู่คุณย่า ไม่ได้มีชื่อที่ดินเป็นของตัวเองเป็นสิบปีเลย ทีนี้ เราเองก็อายุเริ่มมากขึ้น ทำงานมาก็นาน เราก็มองหาแล้วล่ะ ว่าจะลงหลักปักฐานที่ไหนดี ตอนที่ตัดสินใจเลือกซื้อที่ดินที่คีรีมายาแห่งนี้ ก็บอกกับคุณหนิงภรรยาว่า “แม่ เอาที่นี่ใช่มั้ย ไม่เปลี่ยนใจน่ะ ที่นี่จะเป็น บ้านเกษียณ ของเราแล้วนะ ไม่รับแขกพร่ำเพรื่อ ตกแต่งให้เหมาะสมตามที่อยากได้ไปเลย” ซึ่งก็ต้องบอกว่า งานตกแต่งภายในในแบบ Vintage นี้ คุณหนิงเขาเชี่ยวชาญและดูแลเกือบทั้งหมด”
เราย้ายคิวไปถาม “คุณหนิง-อร บุญยเกียรติ” ภรรยาคู่ชีวิตของคุณเกิ้นในประเด็นเรื่องการตกแต่ง ว่ามีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร (เพื่อพักเบรกในขณะที่คุณเกิ้นกำลังละเลียดไวน์รับลมยามเย็น)
“เดิมทีเป็นคนที่เติบโตมากับครอบครัวเก่าแก่ ในราชสกุลกุญชร เป็นหลานเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ที่มีความคุ้นเคยจากยุคสมัยก่อนหน้ามาตั้งแต่ยังจำความได้” คุณหนิง ภรรยาของคุณเกิ้นกล่าว “มันเป็นความชื่นชอบโดยส่วนตัว ประกอบกับช่วงที่ลูกสาวคนโตไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และเราบินไปกลับในระยะเวลาเกือบ 9 ปี ทำให้รู้สึกถูกใจกับสไตล์และการใช้ชีวิตแบบชนบทของประเทศอังกฤษ เป็นความเรียบง่าย สุภาพ และอ่อนหวานอยู่ในที เราก็สะสมของตกแต่งจากการเดินทาง และตัดสินใจที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของบ้านหลังนี้
จุดเริ่มต้นที่มีเรื่องราว การตกแต่งอันมีที่มาที่ไป ร้อยเรียงสายใยของครอบครัว เป็นส่วนประกอบสำคัญที่หมุนเวียนอยู่ภายในบ้านพักตากอากาศที่เขาใหญ่หลังนี้ ดูขัดแย้งกับวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของธุรกิจประกันชีวิตอย่างสิ้นเชิง จนเราอดไม่ได้ที่จะถามถึงกิจวัตรในเวลาที่คุณเกิ้นพาครอบครัวมาในช่วงสุดสัปดาห์
“ส่วนมากผมกับคุณหนิง ตื่นเช้ามาล้างหน้าแปรงฟัน ก็จะเริ่มด้วยการสวดมนต์ทำสมาธิ แล้วก็ออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมง ทุกวันไม่ขาด จากนั้นก็อาจจะขับรถไปวัด แล้วก็กลับมาพักผ่อน ถ้าวันไหนลูกสาวลูกชายสองคนมาด้วย ก็อาจจะทำอาหารทานด้วยกัน และใช้เวลาผ่อนคลายที่บ้าน ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของบ้านหลังนี้ อยากจะให้บ้านเป็นบ้าน ได้อยู่กันพร้อมหน้า อยากให้แต่ละคนมีเวลาร่วมกัน จากภาระที่วุ่นวายของเมือง มาปล่อยใจสบายๆ ชาร์จแบตให้ชีวิต”
สิ้นคำตอบ ลมยามเย็นพัดโบกมาอีกครั้ง เรากับครอบครัวคุณเกิ้นที่ย้ายไปนั่งรับลมด้านนอก ก็สัมผัสได้ถึงไอเย็นกำลังดี แม้ว่าจะเป็นช่วงกลางฤดูฝนก็ตาม
“เวลาแบบนี้แหละกำลังเหมาะ อากาศที่นี่ดีมาก หน้าร้อนตอนเช้าก็ยังเย็น หน้าหนาวนี่ไม่ต้องพูดเลย บางวันต้องใส่เสื้อคลุม มันหนาวมาก (หัวเราะ)” คุณเกิ้นกล่าว พร้อมละเลียดไวน์แดงในแก้วเล็กน้อยพอได้รสชาติ เราได้ยินมาล่วงหน้าว่า บ้านหลังนี้ ใครมาเป็นต้องอยากอยู่ต่อ ไม่อยากรีบกลับ
ก็ดูจะจริงสมดังคำอ้าง เพราะเราก็เริ่มรู้สึกสบายจนไม่อยากให้การสนทนานี้มาถึงช่วงสุดท้าย…เร็วเกินไปนัก
“บทสนทนาช่วงท้าย” กับประสบการณ์อันมากมาย และเส้นทางต่อไปที่เลือกเดิน…
แสงยามเย็นเริ่มลับทิวเขา เป็นสัญญาณถึงเวลาแห่งการพูดคุยกับคุณเกิ้น ณ บ้านพักตากอากาศแห่งนี้ที่ใกล้สิ้นสุดลง เราได้พูดคุยถึงที่มาที่ไป แนวคิดการทำงาน ความสัมพันธ์กับคนในฐานะผู้บริหาร จนมาถึงชีวิตส่วนตัวในยามว่างที่ตารางและความเร่งร้อนของการงานและความเป็นเมืองไม่อาจกล้ำกราย
เราอดไม่ได้ ที่จะสงสัยว่า ภายใต้ความมีพลัง ความเปิดกว้าง และประสบการณ์อันสูงยิ่งของ ”คุณเกิ้น ประกิตติ บุณยเกียรติ” GM แห่ง AIA ประเทศไทย ผู้ที่ยังคงทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพและมุ่งมั่น ได้มองปลายทางชีวิตของตนเองเอาเช่นไร
และเหนือสิ่งอื่นใด Work-Life Balance ของคุณเกิ้นนั้น อยู่ในรูบแบบไหน?
“ทุกวันนี้ แม้จะอายุขึ้นเลขหกไปแล้ว ยังมีคนเห็นคุณค่าของความสามารถและประสบการณ์ของเราอยู่ ว่าเรายังสามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กร ให้กับผู้คนได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก” คุณเกิ้นกล่าวเมื่อถูกถามในประเด็นดังกล่าว
“ส่วนถามว่าปลายทางของตนเองจะเป็นแบบใด ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้คิดอย่างใดเป็นพิเศษ ถามว่าคาดหวังว่า AIA จะเป็นแบบใด ก็บอกได้เลยว่า นี่คือองค์กรที่สร้างมาบนพื้นฐานที่มั่นคง ทำงานเป็นทีม และไม่ได้เติบโตมาโดยคนใดคนหนึ่ง รวมถึงยืนอยู่บนมาตรฐานที่แม้จะเคยเป็นอุปสรรคในฐานะองค์กรต่างชาติ แต่ก็เป็นข้อการันตีว่าเรามีหลักการที่มั่นคง ที่ทำให้ยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน ถ้าถึงวันหนึ่งที่เราตัดสินใจที่จะวางมือ หรือต้องเกษียณจริงๆ แล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไรติดค้างในใจ สิ่งที่เราอยากทำก็ได้ทำไปแล้ว มีคนมาสานต่อที่เรามั่นใจ เราคงไม่ไปยึดติดอะไร”
ย้อนกลับมาที่คำถามว่า นิยามที่แท้จริงของ Work-Life Balance นั้น ควรเป็นเช่นใด ชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น? วันหยุดพักตามวาระ? บรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายสบายเหมือนบ้าน? ค่าตอบแทนที่เพียงพอกับงานที่ท้าทาย? ความสงสัยในแรกเริ่มก่อนการพูดคุย ได้รับการตอบจากมุมมองและประสบการณ์ของคุณเกิ้น ผู้ที่ทำงานอย่างเต็มสามารถ ทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และใช้เวลาที่มีคุณภาพไปกับครอบครัวและคนที่รัก ที่ชัดเจน ครบถ้วน ไม่มีส่วนใดขาดเกิน
Work-Life Balance อาจจะไม่ใช่เรื่องของแนวคิดที่จำกัดแต่เพียงอายุช่วงใดช่วงหนึ่ง…
“แต่เป็นการที่คนคนหนึ่ง สามารถหาสมดุลของทุกปัจจัยชีวิตที่อยู่รอบตัว และจัดสรรจนได้ความลงตัวพอเหมาะ เช่นเดียวกับความงดงามของทิวเขาและลมแผ่วเบา บรรยากาศสบายของการพูดคุยกันในครั้งนี้ก็เป็นได้”
บทสัมภาษณ์ โดย สุกฤษฏิ์ บูรณสรรค์
ข่าวเด่น