การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของผู้บริหารระดับมืออาชีพ มักจะทำให้หลายต่อหลายคนคิดเสมอว่า คนเหล่านี้กว่าจะมาสู่จุดนี้ได้ ในช่วงวัยเด็กของพวกเขา จะต้องเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย หรือเด็กเรียนเก่ง และในทุกช่วงชีวิตของเขาเหล่านั้น ต้องไม่เคยเดินหลุดกรอบหรือออกนอกตารางที่พ่อแม่ตีเส้นไว้ให้อย่างแน่นอน
แต่ “พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ในวัยเด็กของเขากลับอาจจะตรงกันข้ามกับที่หลายคนคิดไว้
แม้ในช่วงประถม เด็กชายพิศิษฐ์ ยังไม่ฉายแววความโลดโผนให้เห็น เพราะอยู่ในช่วงวัยที่เชื่อฟังพ่อแม่ จดจ่ออยู่กับการเล่นกีฬา และมุ่งเน้นเรื่องเรียนเป็นหลัก
“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด และชอบเล่นกีฬามาก ผมสนใจกีฬาปิงปองตั้งแต่ผมเรียนประถมศึกษาปีที่ 3-4 แม้ผมจะทุ่มเทกับการเล่นปิงปอง แต่ผมก็เรียนดีนะ” คุณพิศิษฐ์ พูดไปอมยิ้มไป
คุณพิศิษฐ์ บอกอีกว่า ช่วงนั้นผมทั้งเล่นกีฬาและเรียนจริงจังมาก คุณพ่อคุณแม่เห็นผมมีความมุ่งมั่นจึงยอมจ้างครูมาสอนที่บ้าน หลังเลิกเรียนผมจะไปซ้อมปิงปอง จากนั้นก็มาอ่านหนังสือเรียน ผลการเรียนของผมจึงอยู่ในเกณฑ์ดี ระดับต้นๆ ของโรงเรียน
ติดตัวแทนเขต ก้าวสู่ตัวแทนจังหวัด เพื่อแข่งขันปิงปองระดับประเทศ
พอโตขึ้น ตอนผมเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผมยังเรียนหนักและเล่นปิงปองหนักเหมือนเดิม โดยแบ่งเวลาและทำตามตารางที่คุณพ่อคุณแม่จัดไว้ให้ พร้อมกับต้องมีวินัยในการดูแลตัวเองมาโดยตลอด
และด้วยความที่คุณพิศิษฐ์มุมานะในการเล่นปิงปองตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนมาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้ชั่วโมงบินด้านปิงปองเก่งมากขึ้น ความสำเร็จด้านนี้ของเขาก็ฉายแววโดดเด่นมากขึ้น
“ผมดีใจมาก เพราะในช่วงเวลานั้น ผมเข้าแข่งขันปิงปองจนผมติดตัวแทนเขต และได้เป็นตัวแทนของจังหวัด ไปแข่งขันกีฬาปิงปองระดับประเทศ”
เพลาการเล่นปิงปอง หลังพลาดหวังสอบเข้า
แม้คุณพิศิษฐ์จะมีความสุขและรักการเล่นปิงปองมากเท่าไร แต่เมื่อวันหนึ่งมีจุดเปลี่ยนเข้ามาในชีวิต การเล่นกีฬาก็ต้องเพลาลง เพราะเป็นช่วงรอยต่อมัธยมศึกษาปีที่ 3 สู่ปีที่ 4 ที่จะต้องสอบเข้าเรียนต่อ ซึ่งเขามีฝันเดินตามรอยพี่ๆ ที่สอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่สุดท้ายเขาก็พลาดโอกาส
“ตอนนั้น ผมคิดว่าตัวเองเก่ง พวกพี่ๆ ผมทุกคนสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากันได้หมด แต่ผมเป็นคนแรกของบ้านที่สอบเข้าเรียนที่นี่ไม่ได้ รู้สึกผิดหวังนิดนึง” คุณพิศิษฐ์ กล่าว
ฉายแววการใช้ชีวิตโลดโผน ด้วยความรักเพื่อน
คุณพิศิษฐ์ บอกต่อว่า หลังจากพลาดการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย 2ปี ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 และเข้ามาอาศัยอยู่บ้านคุณอาในกรุงเทพฯ ต้องมาใช้ชีวิตเป็นคนเมืองกรุง ห่างคุณพ่อคุณแม่
จากนั้นการทุ่มซ้อมกีฬาก็กลับมาอีกครั้ง ผสมกับความรักเพื่อน เขาจึงให้เวลากับเพื่อนและเฮฮาสังสรรค์มากขึ้นถ้าเพื่อนมีปัญหา เขาจะไม่ทิ้งเพื่อนและช่วยเหลือเพื่อนทุกครั้ง
“ตอนอยู่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ผมเห็นเพื่อนโดนต่อย ผมเข้าไปช่วยทันที และโดนชกจนฟันหัก ช่วงนั้นที่บ้านก็ตักเตือนผม และผมก็รู้ตัว แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนรักเพื่อน ผมอดไม่ได้ที่จะช่วยเพื่อน” คุณพิศิษฐ์ กล่าว
นักกีฬาปิงปองแชมป์กรมพลศึกษาระดับประเทศ
แม้คุณพิศิษฐ์จะเริ่มออกแนวบู๊ให้เห็น แต่แนวบุ๋นของเขาก็ไม่เคยทิ้งเช่นกัน เพราะเข้าขั้นเด็กหัวดีมากและรักษาผลการเรียนได้ดี ได้เกรดเฉลี่ยสามกว่า
ต่อมาพอเริ่มขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเขาอีกครั้งหนึ่ง หลังมีเสียงทักจากอาจารย์ว่า “พิศิษฐ์เธอจะสอบเข้าคณะอะไร” ทำให้เขาฉุกคิดและกลัวที่จะพลาดการเข้ามหาวิทยาลัยอีก เขาจึงต้องเบรกการเล่นกีฬา และมุ่งอ่านหนังสืออย่างหนัก
“พอเริ่มขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผมหยุดเล่นกีฬา เพราะกลัวว่าตัวเองจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว การเล่นกีฬาถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของผม เพราะผมได้เป็นนักกีฬาเขต และเป็นนักกีฬาโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ซึ่งผมสามารถคว้าแชมป์กีฬากรมพลศึกษาระดับประเทศ” คุณพิศิษฐ์ เล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขและภาคภูมิใจ
ด้วยความเป็นคนคิดเป็น แม้จะออกแนวโลดโผนไปบ้าง ทำให้เขาเอาชนะจุดเปลี่ยนช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อมุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
“ผมเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ที่ผมชอบและต้องการเรียนได้สำเร็จ” คุณพิศิษฐ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม
เสียงเตือนสติจากแม่หลังเริ่มเกเร-เกรดลดลง
หลังสอบ Entrance ติด และเริ่มเข้าเรียนปีหนึ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลการเรียนเทอมแรกของเขายังอยู่ในระดับดีได้เกรดเฉลี่ยสามกว่า แต่พอเทอมสองเริ่มสนิทกับอาจารย์เลยเข้าเรียนน้อย เริ่มเกเร กลับมาเล่นกีฬามากขึ้น และเริ่มไม่ค่อยเข้าเรียน
“พอเทอมที่สอง เกรดเฉลี่ยลดลงมาเหลือสองกว่า และลดลงเรื่อยๆ เพราะผมให้เวลากับกีฬามากเกินไป จนได้แชมป์กีฬามหาวิทยาลัย 3ปีซ้อน ซึ่งผมภาคภูมิใจ แม้ว่าผลการเรียนจะแย่ลงเรื่อยๆ อาการร่อแร่”
คุณพิศิษฐ์ ยอมรับว่า ในช่วงเวลานั้นมีเสียงจากครอบครัวคอยเตือนสติ ชมว่าผมเป็นคนหัวดี แต่ชอบเฮฮาสังสรรค์กับเพื่อนมากไปหน่อย
“ทุกคนที่เป็นห่วงและมาเตือนสติ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ คุณพ่อ คุณแม่ พี่ และญาติๆ เสียงเตือนจากบุคคลเหล่านี้ ทำให้ผมกลับมาคิดในหลายๆ ครั้ง และเกิดคำถามขึ้นในใจหลายเรื่อง ทำให้ผมต้องสะกิดตัวเอง แล้วตั้งสติกลับมามุ่งเน้นการเรียนเหมือนเดิม แต่ยังไม่ถึงกับทิ้งการเล่นกีฬา ยังคงเฮฮากับเพื่อนๆ อยู่ แต่น้อยลง”
ในรั้วมหาวิทยาลัย มีจีบสาว และสาวตามจีบบ้าง
ตอนเรียนอยู่รั้วมหาวิทยาลัย คุณพิศิษฐ์บอกว่า เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นที่จะมีจีบสาวบ้าง และมีสาวตามบ้าง เพราะผมเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ในช่วงนั้น ผมเจอผู้หญิงคนหนึ่งและคบกัน แต่ด้วยตัวผมเป็นคนเฮฮา ก็ไปเจอสาวคนใหม่ คบกันจนกระทั่งเรียนจบ จากนั้นผมไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เราก็ห่างกัน แต่ยังคบกันเป็นเพื่อน
“ผมใช้เวลาในการเรียนต่อที่สหรัฐฯ กว่า 2ปี พอกลับมาก็เฮฮา ยังคงเล่นกีฬาและทำงานไปด้วยเหมือนเดิม”
ต่อมาผมมาพบรักกับภรรยาผมคนปัจจุบัน หลังจากผมเริ่มทำงานได้ 3-4 ปีที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน (เจพีมอร์แกน เชส) การพบรักครั้งนี้ เกิดจากคำแนะนำของเพื่อนผม ซึ่งเป็นพี่สาวของภรรยาผม หลังจากที่เราได้คบหากันมาช่วงเวลาหนึ่ง น่าจะในช่วงที่ผมอายุสามสิบกว่าๆ ผมเริ่มคิดว่า ควรจะต้องมีครอบครัวหรือยัง ซึ่งภรรยาผมเขาก็ถามผมเรื่องนี้เช่นกัน
หลังจากแต่งงาน ชีวิตเริ่มราบเรียบ นิ่ง สงบ
“ผมคิดว่า ที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตแบบโลดโผนมามากแล้ว ถึงเวลาที่ต้องสร้างครอบครัว และหาความสุขให้กับตัวเองบ้าง”
เขายอมรับว่า ชีวิตหลังแต่งงานทำให้เขาเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่เป็นคนชอบออกไปนอกบ้าน เที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือออกไปเล่นกีฬา แต่เมื่อเขากับภรรยามีข้อตกลงร่วมกัน การออกไปเฮฮาสังสรรค์กับเพื่อนหรือการใช้ชีวิตแบบอิสระมาก รวมทั้งความเป็นคนเลือดร้อนของเขาก็เริ่มลดลง
“ภรรยาผมเป็นคนชอบอยู่กับบ้าน คอยดูแลและเอาใจใส่ผม ยิ่งทำให้ชีวิตผมมีความราบเรียบมากขึ้น และจิตใจผมสงบลงมาก”
“พ่อแม่ และภรรยา” เตือนสติตลอดเวลา
คุณพิศิษฐ์ ยังเล่าย้อนวินาทีเลือดร้อนของเขาในช่วงวัยรุ่นให้ฟังอีกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมโมโห เพราะด้วยความที่ผมเป็นคนใจร้อน มีวัยรุ่นคนหนึ่งขับรถเบนซ์สปอร์ต ส่วนผมขับรถธรรมดา ขับปาดหน้ากันไปมา ผมหมั่นไส้เขาเลยขับรถเฉี่ยวชนเขา เหตุการณ์ครั้งนั้น ภรรยาได้เตือนสติผมว่า “ถ้าเกิดรถคันนั้นเขามีปืน แล้วเขายิงเรา อะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้คุณไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว” คำพูดนี้เตือนสติผมว่า จะอารมณ์วู่วามไม่ได้แล้ว ควรต้องปรับตัว
คุณพิศิษฐ์ บอกเล่าความรู้สึกผ่านดวงตาอันระเรื่อว่า “เดิมคุณพ่อคุณแม่จะคอยเตือนผมแบบนี้มาตลอด แต่ผมไม่ฟัง แต่พอเริ่มใช้ชีวิตมีครอบครัว เลยทำให้หันกลับมาคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองพอสมควร”
“คำย้ำเตือนหลายๆ ครั้งจากครอบครัวและคนรอบข้างเตือนสติผมว่า พฤติกรรมที่โลดโผนแบบนี้ ทำไปทำไมมันก็ได้แค่ความสนุกเพียงเดี๋ยวเดียว ทุกครั้งที่นึกถึงคำเตือนของทุกคน ทำให้สงบและเย็นลงทุกครั้ง”
เลี้ยงลูก สไตล์เรียบง่าย
ความเป็นครอบครัวยิ่งสมบูรณ์แบบมากขึ้น เมื่อคุณพิศิษฐ์ได้ทายาทเป็นลูกชาย ตอกย้ำให้เขาต้องปรับตัวเองมากขึ้น และด้วยความเป็นคุณพ่อมือใหม่ การเลี้ยงลูกจึงมีการลองถูกลองผิด ดังนั้นการเลี้ยงลูกในช่วงต้นของชีวิตครอบครัว จึงยึดแนวรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เมื่อเวลาลูกทำผิดยังใช้ไม้เรียวตีลูก แม้ภรรยาเขาจะห้าม ขอร้อง และให้เหตุผลก็ตาม แต่เขายังยึดวิธีการเลี้ยงลูกด้วยไม้เรียวเหมือนเดิม
คุณพิศิษฐ์ บอกว่า จนเวลาผ่านไป คุณแม่เตือนผมในเรื่องนี้เหมือนกันว่าอย่าไปตีลูกเลย เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ยอมรับเรื่องการถูกตี คำเตือนของแม่ผม ทำให้ผมหยุดตีลูก ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญและทำให้ผมใจเย็นลง
“ลูกผมค่อนข้างเรียบร้อย อยู่ในกรอบ ไม่ค่อยออกไปโลดโผนข้างนอก ผมกับลูกใช้ชีวิตแตกต่างกันมาก อีกอย่างเพราะภรรยาผมเป็นคนที่อยู่ในกรอบด้วย ทำให้มีแบบอย่างการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย รูปแบบความคิดผมจึงเปลี่ยนไปด้วย”
ลูกไม่เคยเจออะไรนอกกรอบ เหมือนผม
คุณพิศิษฐ์ ยอมรับถึงความกังวลว่า ผมใช้ชีวิตโลดโผน ซึ่งผมจะพูดกับลูกผมตลอดว่า ชีวิตผมโตขึ้นมาจาก “Street Smart”มีความรู้จากข้างถนน มีความรู้จากรอบข้าง แต่ลูกผมเป็นเด็ก “Book Smart” เพราะเขาเรียนจากหนังสืออย่างเดียว เลยทำให้ลูกผมไม่เคยเจออะไรนอกกรอบ
“นอกจากภรรยาจะทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติในวิธีการเลี้ยงลูกแล้ว เขายังเตือนสติผมเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิตกับเพื่อนพ้องด้วยว่า ไม่ว่าผมจะรักเพื่อนอย่างไร เขาขอไว้เรื่องหนึ่งว่า ห้ามไปค้ำประกันให้เพื่อน ถ้าเพื่อนผมเดือดร้อนควรให้ความช่วยเหลือเขาตามอัตภาพ”
วันครอบครัวทุกสัปดาห์
เคล็ดลับการสร้างความรักและความผูกพันในครอบครัวให้มีความแน่นแฟ้น คุณพิศิษฐ์บอกว่า ไม่มีอะไรมากภรรยาผมขอไว้เพียง 1 วัน คือ วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ก็ได้ เพื่อมาทานข้าวกับครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ส่วนวันธรรมดาให้ผมทำหน้าที่ของผมไป
โดยวันธรรมดา บางครั้งผมก็ไปส่งลูกบ้าง ภรรยาไปส่งบ้าง พอลูกชายกลับบ้านมา เขาก็จะอ่านหนังสือ ดูทีวีเราจะไม่ค่อยได้ออกไปไหนข้างนอกกัน
สไตล์ทำงาน “เน้นพูดคุย-ถกเถียงบนเหตุผล”
ขณะที่บทบาทหน้าที่การงาน คุณพิศิษฐ์ บอกว่า ผมโตมาจากการเริ่มทำงานกับบริษัทต่างชาติ ดังนั้นรูปแบบการทำงานจะเป็นแบบคุยกันตรงไปตรงมากับผู้ร่วมงานและหัวหน้างาน เพราะผมเป็นคนเปิดเผย ซึ่งงานที่ EXIM BANK ก็เหมาะกับลักษณะของผม
“เวลาที่ผมทำงานกับเจ้านายผม เราจะโต้แย้งกันโดยใช้เหตุผล ว่าผมไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ส่วนเจ้านายผมก็จะบอกเหตุผลของเขา บางครั้งผมจะแย้งในมุมมองของผมถ้าคิดว่ามันไม่ถูก แต่เขาอาจขอสิทธิ์ในฐานะที่เป็นเจ้านายสุดท้ายเราก็ตกลงกันได้ เพราะในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้า เขาอาจจะมองเห็นภาพใหญ่กว่า เลยทำให้ผมต้องปรับทัศนคติไปพอสมควร”
แนวทางบริหารบุคลากร “ให้โอกาสแสดงความคิดเห็น”
คุณพิศิษฐ์ บอกต่อว่า พอมาถึงจุดหนึ่ง ตัวเองได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็เข้าใจมากขึ้นว่าในบางครั้ง ในบางคำถามเราตอบได้ไม่หมด เพราะต้องรอเวลาในการพิสูจน์
“ดังนั้น ผมจะให้โอกาสลูกน้องบอกว่า ในเรื่องนี้เขาไม่เห็นด้วยอย่างไร เขามีแนวคิดอย่างไร ทำไมมีเหตุผลอย่างนั้น เพื่อทำให้เขาเปิดใจและมีโอกาสนำเสนอความคิดของตนเอง นั่นคือหลักการบริหารคนของผม”
จนกระทั่ง เมื่อโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด คุณพิศิษฐ์บอกว่า ผมใช้แนวทางการบริหารบุคลากรแบบนี้มาตลอดใครมีแนวคิดอะไรให้เสนอมา ผมเป็นผู้บริหารสูงสุดยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นและขอบคุณพวกเขาที่ได้เสนอแนะออกมา แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะนำมาใช้ หรือจะไม่ใช้ หรือนำมาใช้บางส่วน
“นี่คือสิ่งที่ผมบอกกับลูกน้องมาตลอด เราต้องเดินตามแนวทาง เพราะถ้าคุณไม่เชื่อมั่นผู้นำองค์กร ก็จะอยู่ด้วยกันลำบาก แต่การที่ผู้นำจะนำองค์กรเดินไป เขาต้องมีเหตุผลเพียงพอ มีเป้าเหมาย และต้องพาพวกเขาไปด้วย”
ให้บุคลากรทุกคนเดินหน้าไปด้วยกัน
คุณพิศิษฐ์ บอกอีกว่า หลังจากที่ผมมาอยู่ EXIM BANKมีแนวคิดตลอดว่า ขอให้ทุกคนในองค์กรเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ว่าแต่ละคนจะเดินช้า เดินเร็ว อยู่ที่ความสามารถและแนวคิดของแต่ละคน แต่ขอให้ทุกคนร่วมกันเดิน
“ไม่ใช่ไม่ยอมเดิน เพราะการไม่ยอมเดิน จะทำให้เรือขับเคลื่อนไปได้ช้า แล้วเวลาเดิน ไม่ควรเดินไปคนละทิศกับ Directionที่องค์กรจะไป ผมเชื่อว่ายังมีบุคลากรจำนวนมากที่ตั้งใจทำงาน เพื่อผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก”
ทุกคนคือ “ฟันเฟืองสำคัญ” ขององค์กร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
คุณพิศิษฐ์ ย้ำว่า “EXIM BANKตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติมองผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก เพราะเขาต้องไปแข่งขันกับต่างชาติ นี่คือแนวทางหลักที่ผมให้กับผู้ร่วมงาน ถ้าในบางครั้งแนวทางการทำงานจะหลุดกรอบไปบ้าง เราก็จะกลับมาหารือและตั้งเป้าหมายร่วมกันใหม่”
สำหรับเป้าหมายนั้น คุณพิศิษฐ์ ชี้ให้เห็นว่า จะเป็นการสะท้อนตัวเอง ถ้าเราตั้งเป้าหมายไปถึงได้ง่าย แสดงว่าคนๆ นั้นเป็นคนทำงานไปเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ แต่ถ้าคนๆ นั้น กล้าตั้งเป้าหมายสูงขึ้นไปอีก แสดงว่าเป็นคนที่กล้าทำงานท้าทาย
“ผมถึงบอกกับทุกคนว่า คนในองค์กรเป็นหนึ่งของฟันเฟืององค์กร แต่ละคนจะเป็นฟันเฟืองใหญ่หรือเล็ก ขอให้วิ่งไปด้วยกัน อาจจะช้าหรือเร็ว ถ้าแต่ละระดับช่วยเหลือให้มันขับเคลื่อนไปได้ ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้น”
โชคดีมีผู้ใหญ่สนับสนุน มีเพื่อนร่วมงานช่วยเหลือ
หลายแห่งที่คุณพิศิษฐ์ได้ผ่านงานมาจนเติบโตทุกวันนี้ คุณพิศิษฐ์เล่าว่า โชคดีที่การทำงานเป็นไปด้วยดีโดยตลอด มีเจ้านายคอยแนะนำสนับสนุน มีเพื่อนร่วมงานคอยช่วยเหลือ
คุณพิศิษฐ์ยังเล่าอีกว่า “มาทำงานที่ EXIM BANKก็ยังโชคดีอีกที่มีผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการธนาคารคอยชี้แนะ สนับสนุน อาจเพราะผมได้รับการชักชวนให้มาทำงานช่วยชาติด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต”
ตั้ง “ศูนย์ EXAC” มุ่งหวังช่วยผู้ประกอบการ
ไม่เพียงแต่คุณพิศิษฐ์จะมุ่งมั่นผนึกกำลังคนในองค์กรให้ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรเดินหน้าไปทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งที่คุณพิศิษฐ์ยังให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy หรือ EXAC)
คุณพิศิษฐ์ ชี้ให้เห็นประโยชน์และเหตุผลที่ EXIM BANK จัดตั้ง EXACขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
EXIM BANKเติมเต็มช่องว่างให้ SMEs
เมื่อ EXIM BANK ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ SMEsทำให้พบว่า SMEsยังขาดในบางเรื่อง ทั้งขาดความรู้ ขาดช่องทาง ขาดแนวคิด ขาดวิธีการจัดการ ดังนั้น ถ้า EXIM BANK ปล่อยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ออกไปต่อสู้ในต่างประเทศเลย โดยที่เขายังไม่มีความพร้อม อาจจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งตัวผู้ประกอบการเอง และทั้งธนาคารที่ให้การสนับสนุนเขาได้
ทั้งนี้ EXIM BANK ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คุณพิศิษฐ์ย้ำว่า ดังนั้น ถ้า EXIM BANK มีกำไรมากพอ ก็สามารถแบ่งกำไรส่วนหนึ่ง มาช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้เขามีความแข็งแกร่งขึ้น
คุณพิศิษฐ์ บอกว่า ยังเป็นการช่วยSMEs ไม่ว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นจะเป็นลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเป็นลูกค้าก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองให้สินเชื่อนั้นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และถ้าผู้ประกอบการมีคุณภาพ หากเขาไปใช้สินเชื่อกับธนาคารอื่น ก็ถือว่าได้ช่วยประเทศชาติเหมือนกัน
นี่คือแนวคิดในการตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า หรือ EXIM Excellence Academy (EXAC)”
EXIM BANK ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร
คุณพิศิษฐ์ บอกด้วยว่า ในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยEXIM BANK จะไม่ดำเนินการเองทั้งหมด แต่จะประสานงานกับหน่วยงานพันธมิตรเข้ามาช่วยในสิ่งที่เราไม่ถนัด ขณะที่เราจะทำในสิ่งที่เราถนัด โดยเฉพาะด้านการเงิน ด้านการป้องกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาทักษะและการบริหารจัดการในเรื่องที่EXIM BANK สามารถให้ความรู้ได้ และเชิญวิทยากรจากภายนอกมาร่วมให้ความรู้
อาทิ การพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการ ซึ่งส่วนนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการได้รู้ว่าช่องทางหรือเวลาจะไปขายสินค้าในต่างประเทศมีสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่นำไปเสนอขายได้ ส่วนเรื่องข้อมูลในต่างประเทศนั้น ต้องประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเขามีทูตพาณิชย์ เพื่อนำข้อมูลส่วนนี้มาให้ผู้ประกอบการ สำหรับด้านหลักเกณฑ์การทำธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็มีเอกอัครราชทูต อัครราชทูตของกระทรวงการต่างประเทศคอยช่วยเหลือแนะนำ
ตั้งเป้า “ปี 2570 ช่วยเหลือ SMEs 30%”
ส่วนเป้าหมายปี 2570 EXIM BANK คาดหวังว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดหรือMarket Shareในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อยู่ที่ 30% ของผู้ประกอบการส่งออกทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี Market Share12.5% ของผู้ประกอบการที่ส่งออก ซึ่งเดิมเมื่อสามปีที่ผ่านมามี Market Shareเพียง 7%
“นี่คือการบริหารจัดการของEXIM BANK เพื่อช่วยผู้ประกอบการSMEs ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะเข้าไปช่วย แต่เขามุ่งเน้นกำไรเป็นหลัก แต่EXIM BANK มีแนวคิดจะแบ่งกำไรมาเพื่อนำไปช่วยผู้ประกอบการให้มากขึ้น” ส่วนการลงทุนในEXACนั้น คุณพิศิษฐ์ บอกว่า ใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้น และมีความเหมาะสมกับขนาดของ EXIM BANK ที่จะนำไปช่วยเหลือ SMEs ซึ่งไม่มากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์
ดึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมช่วยเหลือ SMEs
ขณะที่ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการจัดหลักสูตรนั้นEXACจะเชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดี
ส่วนที่เหลือ คุณพิศิษฐ์ บอกว่า เป็นความร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่น เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการที่ทำการค้าภายในประเทศ โดยจะคัดกลุ่มพวกกองทุนหมู่บ้าน สินค้าโอท็อป เพื่อให้ได้มีโอกาสร่วมกันในการนำสินค้าไปขายต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เนื่องจาก SME D Bank ดูแลผู้ประกอบการรายย่อยก็จะมีหลายรายที่เริ่มแนะนำต่อมาให้เรา รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้ความรู้ SMEs ในการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ในการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
สภาอุตฯ หอการค้า TNSCร่วมส่งเสริมความรู้
EXIM BANK ได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC)เข้ามาร่วมโครงการ เพื่อคัดผู้ประกอบการและร่วมกันพัฒนา หลังจากมีความรู้ครบเครื่องระดับหนึ่งแล้ว ถ้าผู้ประกอบการต้องการขยายกิจการ ต้องการส่งออก EXIM BANK ก็จะให้เงินทุน นี่คือ เหตุผลที่เราตั้ง EXACขึ้นมา
ผู้ส่งออกมาใช้บริการ EXAC ได้ฟรี
คุณพิศิษฐ์ บอกต่อว่า ผู้ประกอบการสามารถมาใช้บริการที่EXACได้ตลอดเวลา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่ทำการค้าขายอยู่แล้วในประเทศและต้องการส่งออกไปขายในต่างประเทศ
“EXAC มีหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยค้าขายในต่างประเทศเลย โดยการอบรมเบื้องต้นเรื่องตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ จะส่งคนมาให้ความรู้เรื่องข้อมูลการค้าในต่างประเทศ ส่วนของEXIM BANKจะให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ความเสี่ยงมีอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการต้องระวังและต้องปิดความเสี่ยง รวมถึงมีขั้นตอนการส่งออกอย่างไร โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรมาร่วมให้ความรู้ด้วย”
การเข้าร่วมอบรมหลักสูตรไม่มีค่าใช้จ่าย
การเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ EXACจัดขึ้นจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการเดินทางไปดูงานต่างประเทศถึงจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายปกติ โดยจำนวนผู้เข้าอบรมนั้นขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียน มีตั้งแต่ 30-100คน ตอนนี้อบรมไปร่วมพันคน หลังจากเปิดอบรมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561
“ความมุ่งหวังในการจัดตั้งEXACเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด หวังว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาเป็นพันๆ ราย และต้องการให้ผู้ประกอบการมีความรู้และเพิ่มกลุ่มการค้าให้เข้ามามากขึ้น เมื่อเพิ่มมูลค่าและมีความรู้แล้ว จะได้ไม่ประสบปัญหาหรืออุปสรรคเวลาไปต่างประเทศ”
คุณพิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรแล้ว จะมีการประเมินผล โดยติดตามว่า หลังจากมาอบรมแล้ว ยังขาดอะไร อบรมผ่านไปแล้ว 3 เดือน-1 ปี ผู้ประกอบการค้าขายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือยังขาดอะไรอีก เพื่อติดตามว่าเขาประสบความสำเร็จหรือไม่
และสิ่งเหล่านี้ คือ ความมุ่งหวังของ “พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา” ที่จะพัฒนา EXIM BANK และ EXAC เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มากที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ทั้งยังสะท้อนให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา แม้ชีวิตเขาจะเติบโตมาจากสไตล์ “Street Smart” แต่เขายังมีสติ รู้คิด รู้รับผิดชอบ จึงทำให้เป็นเขาในวันนี้ สามารถก้าวขึ้นมานั่งบริหารงานในตำแหน่งสูงสุดของ EXIM BANKได้อย่างสมความภาคภูมิ
ข่าวเด่น