บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวThaiPublica


เราไม่ได้ฝันอะไรที่ยิ่งใหญ่มากนัก เราทำงานเพื่อขับเคลื่อนและผลักดัน


การสัมภาษณ์ยามบ่ายของวันทำงานในช่วงกลางอาทิตย์ สำนักข่าว AC NEWS เปิดคำถามเบาๆถึงเรื่องราวการดำเนินชีวิตของ “บุญลาภ ภูสุวรรณ” เล่าเรื่องความทรงจำบ้านเกิด ที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ พร้อมรอยยิ้มเป็นกันเอง ช่วยลดภาพลักษณ์จริงจังในบทบาท Founder สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (www.thaipublica.org) ได้เป็นอย่างดี 

“ในวัยเด็ก เป็นเด็กใต้ เกิดที่พังงา มีพี่น้อง 8 คน เป็นลูกคนที่ 7 ของครอบครัว คุณพ่อเป็นผู้จัดการเหมืองแร่ดีบุก ส่วนคุณแม่ ค้าขายอยู่ที่บ้าน เพราะคุณแม่ทำขนมเก่ง ชีวิตในวัยเด็กถึงแม้จะเป็นลูกรองสุดท้อง แต่ที่บ้านก็เป็นลักษณะการช่วยเหลือกันทำงานทุกคน กลับจากโรงเรียนก็ช่วยคุณแม่โม่แป้ง ทำขนม “นึกภาพโม่ในสมัยก่อนที่เป็นโม่หินนะ หรือบางครั้งก็ต้องจัดใบตองห่อขนม ยีลูกตาล ซึ่งเป็นงานที่ชอบ เพราะสนุกและหอมมาก” เรียกว่าฝึกฝีมือมาแต่วัยเด็ก  
ตอนเช้าก็ต้องตื่นแต่เช้ามาช่วยคุณแม่ห่อขนมส่งตามร้านค้า และเราเองก็เอาไปขายที่โรงเรียนด้วย ขายตั้งแต่ขนมห่อละประมาณ 50 สตางค์ ตอนอยู่ ป.1 ป.2 ขายได้นิดเดียวเอง ได้วันละ 8 บาท   
 
ส่วนชีวิตในวัยเรียน เรียนโรงเรียนชั้นประถมที่ โรงเรียนบ่อดาน อ. ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งมีระยะห่างจากบ้านแค่ประมาณ 500 เมตรเท่านั้น เราก็เดินไปเรียน ที่ตลกก็คือคุณแม่จะให้ใส่รองเท้าไปโรงเรียนทุกวัน ในขณะที่เพื่อนๆจะไม่ใส่รองเท้ากัน เราก็สงสัยว่าเราไม่ใส่ไปได้มั้ย จะได้เหมือนเพื่อนๆ แล้วเวลาเดินไปเรียนจะผ่านพื้นที่คูน้ำข้างถนน ที่เวลาฝนตกจะมีแร่ดีบุกที่น้ำชะไหลมาตามน้ำ เราก็จะชอบไปเดินเก็บแร่ เอามาเล่น ชีวิตในอดีตสบายๆ ไม่มีอะไรมาก เรียนที่โรงเรียนบ่อดาน ถึง ป.4 จากนั้นย้ายไปที่โรงเรียนท้ายเหมือง ป.5 และได้เป็นประธานนักเรียนตอน ป.7 ดูแลเรื่องความเรียบร้อยของนักเรียน 
 
 
เรามาจากต่างจังหวัดต้องขยันให้มากขึ้น  
 
ตอนนั้นเป็นเด็กเรียนดี ได้ที่1 ของโรงเรียน ได้มีชื่อขึ้นบอร์ด สมัยก่อนเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ เราก็จะได้ประมาณ 80% – 90% และหลังจากจบ ป.7 ย้ายไปที่โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา แต่เรียนแค่ปีเดียว พี่สาวก็พาย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ เริ่มต้นเรียน ม.ศ.2 ที่โรงเรียนศึกษานารี จนถึง ม.ศ.5 (ในสมัยนั้นยังเป็น ม.ศ.อยู่) พอมาเรียนที่นี่ เรียนสาขาภาษาฝรั่งเศส รู้สึกว่ายากไปเสียหมด ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส แม้แต่คณิตศาสตร์ ความรู้สึกจากที่มาจากต่างจังหวัดรู้เลยว่าต้องขยันให้มากขึ้น เพราะเด็กกรุงเทพฯ ขยันเรียนมาก เราก็รู้สึกว่าต้องพยายามมาก แต่ก็ไม่มองตัวเองเป็นเด็กหน้าห้อง ไม่เครียดมาก ยังมีเวลาไปทำกิจกรรมที่ชอบก็คือเล่นบาสเก็ตบอลหลังเลิกเรียนทุกวัน 
 
 
ความฝันใน “วัยเรียน”กับการค้นหาตัวเองมาสู่ “ความสำเร็จ” ในปัจจุบัน  
 
ความฝันในวัยเด็กอยากเป็นพยาบาล รู้สึกว่าดูดี และได้ช่วยคน และมีตัวอย่างที่เป็นลูกพี่ลูกน้องไปเรียนพยาบาลที่เชียงใหม่ เลยมีความฝันว่าอยากไปเรียนที่นั่นมาก แต่พอเรียนมาถึง ม.ศ.5 เราเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับ1 เป็นนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าจะเป็นเพราะความนิยมในสมัยนั้น คนรอบข้างเราก็เลือกนิติศาสตร์ ทั้งญาติ ทั้งคนรู้จัก อันดับ 2 เลือกอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอันดับ 3 ก็เลือกคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้ตามที่อยากไป ก็ต้องย้ายไปอยู่หอพักที่เชียงใหม่ นี่ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยน เพราะต้องดูแลตัวเอง ไม่ได้อยู่กับครอบครัว พอปี 2 มีการเลือกเมเจอร์ เราก็เลือก Mass com. ก็ไตร่ตรองอยู่พอสมควรว่าจะเลือกอะไรดี ส่วนเมเจอร์อื่นก็จะเป็นภาษาซึ่งมองตัวเองว่าคงไม่ใช่เราหรอก เลยเลือก Mass com. (สื่อสารมวลชน) และเลือกในสาขาหนังสือพิมพ์ที่คิดว่าเหมาะกับเราที่สุด  
 
ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีหนังสือ อ่างแก้ว ซึ่งทุกคนต้องทำก่อนที่จะจบ ทำทุกอย่างรวมทั้งการไปหาสปอนเซอร์ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปขายกัน วางแผนกับเพื่อนกันทุกวัน ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายนักกับการหาสปอนเซอร์ แต่สุดท้ายด้วยความเป็นนักศึกษาก็มีคนเอ็นดูและช่วยเหลือ ยังมีงานทำต้นฉบับที่ต้องทุ่มเททำกันหามรุ่งหามค่ำ เรียกว่ามีการแจกจ่ายหน้าที่เหมือนจริง ทั้งตำแหน่งบก. คนเขียนบทความ ตากล้อง ประชุมกันว่าฉบับนี้จะทำสกู๊ปเรื่องอะไร ก็ได้ฝึกทำมาหลายอย่างมาก จากเด็กเรียนพอมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย คุณบุญลาภ กล่าวติดตลกว่าจบมาเกรดไม่ดีเลย เพราะเรียนๆเล่นๆ ส่วนใหญ่ Mass com. อยู่หอพักก็มีทำกิจกรรม ไปกับเพื่อนๆตลอด ปิดเทอมจึงจะกลับบ้านสักครั้งหนึ่ง  
 
ในช่วงที่เรียนที่เชียงใหม่ อย่างที่บอกคือครอบครัวเราไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก ไปเรียนพี่สาวคนโตก็ช่วยส่งให้เรียน ซึ่งเราเองก็ไม่อยากเป็นภาระของพี่มากนัก จึงพยายามเรียนให้จบเร็วๆ เพื่อมาทำงาน เรียนจบมาภายใน 3 ปีครึ่ง  
 
 
ช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตน 
 
ก่อนที่จะเรียนจบ และตัดสินใจเบนเข็มสู่งานข่าวอย่างจริงจังนั้น เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตน ความชอบหรือความถนัดของตัวเอง  
 
“พอเรียนจบมาก็รู้ว่าต้องเป็นนักข่าว แต่ก็ยังไม่ทราบจะเริ่มอย่างไร ในช่วงที่ฝึกงานของมหาวิทยาลัย ได้ไปฝึกงานประชาสัมพันธ์ที่ธนาคารกสิกรไทย เราอยากรู้ว่างานประชาสัมพันธ์มันเป็นยังไง และอาจจะช่วยตัดสินใจด้วยเผื่อว่าเราอาจจะชอบ ใช้เวลาฝึกงาน 3 เดือน ตอนปี 3 แต่เมื่อฝึกจบแล้วก็คิดว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ พอเรียนจบก็หางาน ซึ่งก็มุ่งหางานนักข่าว แต่ก่อนจะได้ ก็มีโอกาสไปทำนิตยสารเพื่อผู้บริโภค ของคุณวิโรจน์ ณ บางช้าง เป็นการทำงานที่แรก เป็นนิตยสารแนวคุ้มครองผู้บริโภค ทำที่นั่นอยู่ประมาณ 1 ปี จนเพื่อนที่จบมาด้วยกันซึ่งทำอยู่ที่หนังสือพิมพ์มติชน ส่งข่าวมาว่าหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รับนักข่าว โต๊ะการเงิน สายหุ้น เราก็ไปสมัคร ตอนนั้นคือปี 2529 ได้ทำหลังเรียนจบมา 1 ปี 
 
 
ชีวิตการทำข่าว 
 
ชีวิตการทำข่าว ต่างจากการทำที่นิตยสารที่เป็นลักษณะบทสัมภาษณ์ พอมาทำข่าวสายหุ้นรู้สึกว่าแตกต่างและยากมาก เราจบสื่อสารมวลชนมาแต่เราไม่มีพื้นฐานเรื่องเศรษฐกิจเลย เราไม่รู้เรื่องตลาดหุ้น ตอนนั้นพี่โต้ง ฐากูร บุญปาน เป็นหัวหน้าโต๊ะการเงิน ซึ่งมีนักข่าวอยู่ประมาณ 2-3 ท่าน ซึ่งทุกคนรวมทั้งพี่โต้งทำหน้าที่นักข่าว วิ่งงานเหมือนๆกัน ได้รับมอบหมายให้มาจับสายหุ้น จำได้ว่าช่วงแรกจากที่ยังไม่รู้อะไรมาก ต้องไปสัมภาษณ์ ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราก็คิดว่าเราเพิ่งมาทำงาน จะทำอย่างไร และแถมเราต้องไปคนเดียวด้วย ซึ่งเครียดมาก โชคดีที่อาจารย์ใจดี พยายามช่วย สมัยนั้นให้นึกภาพเอาเทปคาสเซ็ทอันใหญ่ๆ หิ้วไปอัดเสียงด้วย   
  
จากนั้นก็ทำข่าวสายหุ้นมาตลอด โดยมีพี่โต้งเป็นครูช่วยแนะนำ ซึ่งการทำก็มีเรื่องการนัดสัมภาษณ์มาต่อเนื่อง จำได้เรื่องหนึ่งคือนัดสัมภาษณ์ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเราได้ข่าวมาเกี่ยวกับการปั่นหุ้น และมีการทำศึกษาวิจัยซึ่งมีเปเปอร์ออกมาแล้วด้วยว่า หุ้นตัวไหนที่เข้าข่ายปั่นหุ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดหรอกว่าเรื่องนี้จะเป็นข่าวใหญ่ เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้พี่โต้งฟัง เลยได้เอามาขึ้นหน้าหนึ่งเป็นข่าวนำ ก็ตื่นเต้นที่ได้เป็นข่าวนำ ใครที่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งและเป็นข่าวนำถือว่าเจ๋งมาก ยิ่งใหญ่มากเลย  
 
เราทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นราย 3 วัน จึงต้องแตกต่าง ต้องทำการบ้านมาก แต่ละวันก็ต้องคิดว่าวันนี้จะเอาเรื่องอะไรมาปิดข่าว ต้องวางแผนการโทรหาแหล่งข่าว หรือไปนัดสัมภาษณ์ว่าว่างเวลาไหน เป็นแนวไหน ซึ่งแต่ละคนก็สะดวกไม่เหมือนกัน และอย่างที่รู้คือสมัยก่อน เบอร์โทรศัพท์ก็เป็นเรื่องที่ขอยาก ส่วนใหญ่มักจะไม่ให้เบอร์ตรง ต้องผ่านผู้ช่วยหรือเลขาฯ นอกจากคนที่คุ้นเคยกันเท่านั้นถึงจะให้  
 
“เรารู้สึกได้ตั้งแต่สมัยก่อนแล้วว่า คนจะค่อนข้างกลัวนักข่าว เพราะรู้สึกเหมือนกับว่าปากกาเราเป็นเครื่องชี้เป็นชี้ตาย เวลาเราคุยกับแหล่งข่าวรู้สึกได้เลยว่ากลัวนักข่าวมาก ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราบอกตัวเองเสมอว่า เวลาเราเขียนข่าว เราต้องระมัดระวัง มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน เราต้องรับผิดชอบ ต้องรักษาจรรยาบรรณตรงนี้เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนเรามาตั้งแต่ตอนนั้น และเราก็ฝึกฝนและยึดถือมาเป็นจุดยืนของเราจนทุกวันนี้ ถ้าเราเขียนอะไรผิดพลาดไปนิดเดียว เราก็ทำให้เขาเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องธุรกิจของเขา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญมากของเรา”  
 
การทำข่าวสายหุ้นสมัยนั้น เราต้องไปตาม “หัวม่วง หัวแดง” ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปดูว่าวันนี้เมื่อโรเนียวออกมาแล้ว หัวม่วง มีข่าวเรื่องบริษัทจดทะเบียนรายงานว่าอย่างไร หัวแดงมีรายงานหุ้นแต่ละตัวว่าราคาเปิด ราคาปิดเท่าไร  ข่าวพวกนั้นก็ต้องส่งเข้าออฟฟิศ เผื่อจะเป็นประเด็นติดตาม ซึ่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนนั้น เราก็ไปประจำอยู่ที่ห้องนักข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ตึกสินธร และในสมัยนั้นก็ยังมีห้องเทรดที่เคาะกระดานกัน ก็มีความสนุกสนานดี ไปจนถึงไปคุยกับโบรกเกอร์ ถึงสถานการณ์ตลาดในแต่ละวันด้วย  
 
ประเด็นทำข่าวหน้าหนึ่งในสมัยนั้น เหมือนการแข่งขันกัน ในแต่ละโต๊ะเราต้องหาประเด็น เพราะเป็นหน้าตาของโต๊ะเราเหมือนกัน เป็นความท้าทายที่สนุกไปด้วย เพราะการทำข่าวในอดีตนั้นยากลำบาก ต้องไปดักตามงานต่างๆ เพราะในสมัยนั้นหุ้นที่บูมมากๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการ Underwrite หุ้น เราไปดักแหล่งข่าวกันแทบทุกโรงแรม จนคุ้นกับเจ้าหน้าที่และรปภ. ซึ่งบางครั้งก็ลำบากใจเหมือนกัน เมื่อมีประเด็นมาแล้วได้รับ assign ให้ไปตามเรื่องต่อกับแหล่งข่าว ก็ต้องตามไปดัก บางครั้งมีแจ้งมาว่าคนนี้ต้องไปงานศพ งานแต่ง ที่นั่นที่นี่ เราก็ต้องตามไปทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเจ้าของงาน แต่เราก็ต้องไป โดยส่วนใหญ่ถ้าเขารู้จักเรา เขาก็ให้ความร่วมมือ เพราะเรารอให้เขาเสร็จธุระก่อนค่อยเข้าไปคุย และโดยมากจะเป็นการได้ข่าวมาและเราต้องการคำยืนยันจากเขา หรือเป็นการพยายามนำเสนอให้ครบทุกด้าน  
 
 
ช่วงเวลาที่มีคุณค่าในการสั่งสมประสบการณ์ 
 
การเดินทางไกล จากจุดเริ่มต้นที่บ้านเกิดภาคใต้ มาถึงกรุงเทพฯ และก้าวสู่การศึกษาในศาสตร์ด้านสื่อสารมวลชนจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่เส้นทางงานสายข่าว 6 ปีผ่านไป ชื่อของ “บุญลาภ ภูสุวรรณ” เป็นที่รู้จักในแวดวงและด้วยผลงานเป็นที่ยอมรับ ขยับจากหัวหน้าโต๊ะข่าว ขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าในการสั่งสมประสบการณ์ และสามารถนำมาเป็นหลักคิดให้คนที่ฝันวางเป้าหมายจะก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพได้เป็นอย่างดี 
 
“ทำงานได้ระยะหนึ่งก็มีการสลับสาย เพื่อให้เราทำข่าวได้ทุกสาย จึงได้มีโอกาสไปอยู่ทั้งในสายแบงก์พาณิชย์ สายกระทรวงการคลัง และสายแบงก์ชาติ อยู่ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สังกัดในสายตลาดเงิน ตลาดทุนมาโดยตลอด ทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2529 จนได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าข่าว ประมาณปี 2533 หรือ 2534 ลาออกไปเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ของนิตยสารการเงินการธนาคารประมาณ 2 ปี แล้วก็กลับมาใหม่เป็นหัวหน้าข่าวในปี 2535  ซึ่งตอนนั้น คุณบริสุทธิ์ กาสินพิลา เป็นบรรณาธิการบริหาร ของประชาชาติธุรกิจ ได้ชวนให้กลับมาทำข่าวการเงินใหม่”  
 
การกลับมาใหม่คราวนี้รู้สึกว่าไม่ไหว เพราะมีเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องการเงิน ที่เรารู้สึกต่อไม่ค่อยติด ได้แต่ถ่ายทอดคำพูด แต่การวิเคราะห์หรือต่อยอดนั้นทำได้ยาก เลยไปเรียนต่อปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงาน สามารถวิ่งไปเรียนทันได้ตอนเย็นๆ เราอยากเข้าใจเรื่องทั้งหมดที่แหล่งข่าวพูด เพื่อให้ต่อให้ติด จริงจังกับเรื่องนี้พอสมควร เพราะรู้สึกว่าเป็น pain point ของตัวเอง เราต้องปิดช่องว่างตรงนี้ให้ได้ เพราะเราตั้งใจว่าเราจะอยู่ในอาชีพนี้ อยู่ในสายข่าวเศรษฐกิจนี้อีกยาว เรื่องนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับมัน  
 
อันที่จริงตั้งใจไปเรียนให้รู้เฉยๆ เอาความรู้มาใช้ ไม่ได้อยากจะเอาปริญญามาให้ได้ ตั้งใจเรียน แต่ทิ้งงาน Thesis อาจารย์ท่านก็เสียดายว่าเรียนมาทั้งทีทำไมตัดช่องน้อยแต่พอตัว ซึ่งตอนนั้นก็เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี อาจารย์ก็เข็นให้จบ Convince จนต้องทำ ซึ่งระยะนั้นคือปี 2536 ประเทศไทยมีเรื่องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะมาก ก็เลยเอาเรื่องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาทำ ไปหาข้อมูลที่แบงก์ชาติ เขียนมาส่ง สุดท้ายก็จบจนได้ กว่าจะจบก็เครียดทั้งทำงาน ทั้ง Thesis โชคดีที่อาจารย์คอยช่วย ช่วงทำงานก็เงินเดือนไม่ได้เยอะมาก มีภาระอยู่เหมือนกัน แต่ก็กัดฟันเรียนจนจบ 
 
ทำงานที่ประชาชาติธุรกิจ มาจนถึงปี 2554 ไล่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่หัวหน้าข่าว ซึ่งระยะนั้นก็มีข่าวดังๆ หลายข่าวที่เป็นที่รู้จัก ตั้งแต่ข่าวปั่นหุ้นเสี่ยสอง ข่าวบีบีซี มาจนถึงคดีซุกหุ้นของทักษิณ ชินวัตร ตอนนั้นพี่เก๊ะ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการข่าว สไตล์ข่าวสายการเงินที่ประชาชาติธุรกิจจะเป็นข่าวที่เรียกว่าข่าว “Sive” หรือ Exclusive ที่คนอื่นไม่มี ซึ่งเรามองว่ามันเป็นจุดแข็งของการเป็นผู้นำประเด็น เปิดประเด็นใหม่ๆ รวมไปถึงการทำข่าวเจาะ หรือวิเคราะห์ในเชิงลึกมากกว่าคนอื่น การประชุมข่าวก็มีการช่วยกันนำเสนอประเด็น แล้วมาถกร่วมกัน  
 
 
จาก บรรณาธิการข่าว สู่ บรรณาธิการบริหาร 
 
เป็นบรรณาธิการ (บก.) ข่าว แล้วมาเป็น บรรณาธิการบริหาร(บก.บห.) เป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องมาทำงานบริหารมากขึ้น ได้ไปเรียน วตท. 8 (วิทยาลัยตลาดทุน) ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ไม่หวือหวาเหมือนก่อนวิกฤต เราเองที่เป็น บก.บห. จำเป็นต้องวางแผน ดูแลเรื่องการบริหารจัดการ รายรับรายจ่าย ของประชาชาติธุรกิจ เราจะอยู่แบบไหนอย่างไรให้เรามีกำไร พิจารณาคอนเทนต์ หา Potential ของแหล่งรายได้จะมาจากตรงไหนบ้าง และในฐานะตัวแทนโดยตำแหน่งเราก็ต้องไปเป็นคณะกรรมการของบริษัทมติชนในบอร์ดด้วย 
 
จากโจทย์ที่เราต้องบริหารแหล่งรายได้ ก็ต้องมองว่านอกจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์แล้วนั้น เราจะมีรายได้จากที่ไหนได้อีกบ้าง จึงได้เริ่มจัดสัมมนา จัดฝึกอบรม ประจวบกับช่วงนั้นได้มาทำเรื่องของความยั่งยืน เลยมีการทำเรื่องของ CSR ในตอนนั้นประเทศไทยเพิ่งเริ่มเรื่อง CSR และยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เราจึงเป็นรายแรกที่มาบุกเบิกเรื่องนี้ เริ่มต้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จัดหลักสูตร จัดคอร์สอบรม จนแยกโต๊ะ CSR ออกมา  
 
 
เปิดเซ็กชั่นซีเอสอาร์ และความสำเร็จที่อยากแบ่งปัน 
 
ชีวิตการทำงานที่มีความท้าทาย เรียนรู้จากประสบการณ์ จะเป็นคำตอบที่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ ผิดหรือถูก เช่นเดียวกับการทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่อยู่มานานเกินครึ่งชีวิต 
 
“ประชาชาติธุรกิจ เป็นองค์กรที่ปรับแทบจะตลอดเวลา ปรับเซ็กชั่น แยกโน่นแยกนี่ ซึ่งส่วนที่ชอบมากที่สุดในตอนนั้นคือ ที่ได้ทำเรื่องของความยั่งยืน เรื่องซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility (CSR)) และผลักดันจนแยกเซ็กชั่น ออกมาขายได้อย่างชัดเจน ซึ่งเราก็ดีใจมากที่บุกเบิกเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครทำ เริ่มจากไปฟังแนวคิดของอาจารย์ท่านหนึ่ง และเรามองเห็นว่าเทรนด์เรื่องนี้ต้องมาแน่ ก็มาคุยกันในกอง บก. ว่าอยากจะผลักดันเรื่องนี้ออกมาเป็นเซ็กชั่น ซึ่งระยะนั้นทุกคนมีคำถามว่า ซีเอสอาร์ จะเหมือนกับการทำโฆษณาให้บริษัทฯต่างๆ หรือการทำพีอาร์มั้ย เราก็ใช้ความพยายามในการผลักดัน อธิบายถึงความสำคัญของเรื่องนี้กับองค์กรต่างๆ จนทางกอง บก. ยอมให้แยกเซ็กชั่นออกมา และพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ต้องหันมาใส่ใจกับเรื่องนี้    
 
ซีเอสอาร์ในวันนี้ไปไกลกว่าจุดนั้นมาก จากที่เรามองว่าเป็นแค่ความรับผิดชอบที่องค์กรจะต้องทำ วันนี้กลายเป็นกฎกติกาของโลกที่ทุกคนจะต้องทำ ถ้าไม่ทำคุณก็แข่งขันไม่ได้ ขายสินค้าไม่ได้ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการกีดกันทางการค้า เพราะวันนี้เป็นมาตรฐานและกติกาที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อการแข่งขัน รวมทั้งองค์กรนานาชาติต่างนำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นหลักในการขับเคลื่อน เป็นทิศทางที่โลกต้องเดินไป   
 
 
จุดเปลี่ยนการตัดสินใจครั้งใหญ่ เป็นที่มาของวันนี้  
 
การทำงานที่ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ จนถึงปี 2554  และด้วยความที่เป็นคนมีความตั้งใจ ชอบและอยากทำข่าวหนักๆ เราติดตาม นิตยสารข่าว The Economist (เป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก สำนักงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และใช้ภาษาที่ค่อนข้างยาก) มองว่าเป็นแมกกาซีนที่ใช่เลย เราชอบมากแนวนี้ และอยากเห็นว่าเมืองไทยน่าจะมีคนทำข่าวแบบนี้ มีแมกกาซีนแบบนี้ นั่นคือฝันที่อยากจะเห็น แต่ก็ทำไม่ได้หรอกเพราะต้นทุนที่จะทำหนังสือมันสูงมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย  
 
ในตอนนั้นก็มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นเยอะมาก และพื้นที่ในการเขียนน้อยลง การนำเสนอจะยาก เราก็มองว่าจะทำอย่างไรดีที่จะมีพื้นที่ในการนำเสนอข่าวที่เป็นข่าวเจาะ ข่าววิเคราะห์ เพราะพื้นที่มันน้อย แต่เราอยากทำอะไรที่เราชอบทำ ซึ่งในจังหวะนั้นเว็บไซต์กำลังเริ่มมาแล้ว คิดว่าน่าจะทำได้ เลยเริ่มทำเว็บไซต์ตั้งแต่กันยายน ปี 2554 แต่ก็ไม่ได้มีเงินมาก ในขณะนั้นเว็บไซต์มีบ้างในหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ แต่ในระดับบุคคลต้องมีทุนที่ระดับหนึ่ง 
  
 
ความท้าทายในการกระโดดมาทำเว็บไซต์ 
 
ไม่เคยมีประสบการณ์ทำเว็บไซต์มาก่อน ความรู้เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ก็แทบจะไม่มี ไม่รู้กระทั่งว่าเวลาจะอัพข่าวทำอย่างไร เพราะมาจากการทำงาน Print เป็นหลัก ซึ่งในช่วงนั้นการทำข่าวเว็บไซต์ ไม่ได้มีเทคนิคง่ายเหมือนปัจจุบัน อย่างไรก็ตามก่อนออกมาทำก็ได้มีการวางแผนเรื่องกำลังคน เงินทุน ธีมที่จะทำว่าจะเดินไปในทิศทางไหน คิดต้นทุนต่อเดือน คำนวณแผนการทำงานให้อยู่รอด คิดไปถึงขนาดว่าถ้ายังไม่มีรายได้นานถึง 1 ปี ทำอย่างไรให้อยู่รอด  
 
“เรารู้สึกว่าข่าวเจาะมันหายไป เพราะกลุ่มทุนมีอิทธิพลมากขึ้น ถ้าเราออกมาทำ เราจะทำในเชิงนี้ได้มั้ย ก็เลยออกมาทำโดยวางธีมว่าเราจะทำข่าวเจาะแบบวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) ตั้งเป้าว่าจะทำแบบนี้ เพราะเรามองว่าสังคมต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ยิ่งการทำข่าวเจาะยิ่งต้องใช้ข้อมูล ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ถือเป็นการมองการณ์ไกลเพราะกำหนดแนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2554  และคิดว่าพอมาทำเว็บฯ ก็มีความคล่องตัว เพราะพื้นที่ไม่จำกัด และสามารถนำเสนอในรูปแบบใดก็ได้”  
 
 
อุปสรรคของการเริ่มทำเว็บไซต์ข่าวในยุคนั้น 
 
ความที่เราออกมาจากจุดเดิม ในขณะที่ตอนนั้นเว็บไซต์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มีความยากลำบากมากที่ออกมาทำ แล้วทุกคนตั้งคำถามว่า มาทำแล้วมันจะรอดหรือ? ถูกตราหน้าตลอดว่าไม่น่าจะรอด เดี๋ยวก็ไป อยู่ไม่รอดหรอก และเราก็รู้สึกว่าการขอความสนับสนุนในยุคนั้น ที่สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก การแย่งมาร์เก็ตแชร์ แย่งรายได้จากเขานั้นเราจะทำอย่างไร เราจะไปขายอย่างไร ทำให้เขารู้จักได้อย่างไร และเรามาด้วยทุนไม่มาก ไม่ได้จ้างกอง บก.ใหญ่โต มีเพียงนักข่าว 5-6 คน ยังไม่มีเซลส์ขายโฆษณา ยังไม่มีกราฟฟิก ทุกคนทำเองทุกอย่าง 
 
จนถึงตอนนี้ก็ยังมีจำนวนนักข่าวจำนวนเท่าเดิม แต่จากที่ไม่มีทั้งมาร์เก็ตติ้ง เซลส์ ช่างภาพ กราฟฟิก บัญชีก็ยังใช้การจ้างเป็นครั้งคราวไป วันนี้ก็มีครบแล้ว จากเดิมที่ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่การหาลูกค้า วางบิล เก็บเช็ค แม้แต่ทำความสะอาดออฟฟิศ เป็นเส้นทางที่เปลี่ยนไปจากนักข่าวที่ทำข่าวอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ รับเงินเดือนทุกเดือน พอมาเป็นกิจการของตัวเอง ยอมรับว่าเครียด เพราะเราต้องรับผิดชอบน้องๆ ทุกคนในกอง  
 
 
เปิดแนวคิดในมุมการทำธุรกิจของตัวเอง ศึกษาหาวิธีการจากไหน ? 
 
เราอาจจะโชคดีที่เรามีทุนทางสังคมของเราเอง เพราะเราทำข่าวมา 20 กว่าปี ก็เป็นที่รู้จักในแวดวงของแหล่งข่าว ความสำคัญในอาชีพนักข่าว สิ่งแรกเลยคือเราต้องทำให้ตัวเองเป็นที่น่าเชื่อถือ ต้องไม่เหลาะแหละ ซึ่งมันก็สะท้อนจากข่าวที่เรานำเสนอนั่นเอง จากความต่อเนื่องที่เราทำมาตลอด 20 ปี ก็สะท้อนบุคลิก ความเป็นตัวตนของเรา ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่เราสั่งสมมาแต่แรก พอถึงวันที่เราออกมาทำเอง สิ่งนี้ก็เป็นทุนของเราที่ต้องหยิบออกมาใช้  
 
อันที่จริงเราไม่รู้หรอกว่าเราจะหยิบมาใช้หรือเปล่า แต่วันหนึ่งที่เราเดินกลับไปหาเขา ในฐานะเจ้าของกิจการ ความน่าเชื่อถือ ผลงานที่เราทำมา ก็อาจจะทำให้ง่ายขึ้น เรามาแบบไม่มีเงินจำนวนมาก คนที่ให้การสนับสนุนเราในช่วงแรกนั้น เขาก็รู้ดีว่าทุนที่เรามีอยู่นั้น อยู่ได้แค่ปีเดียว ดังนั้นในช่วงแรกเราต้องหาทุนมาเติมให้เราอยู่ได้ยาวขึ้น เมื่อมีทุนทางสังคมของตัวเอง เราก็ต้องออกไปหาทุนเพิ่มเพื่อความอยู่รอดขององค์กร  
 
 
บทบาทที่แตกต่างของการสวมหมวก 2 ใบ 
 
เรากำหนดบทบาทตั้งแต่แรกว่าเราออกมาทำข่าว ซึ่งเว็บไซต์ของเราก็วางธีมไว้แล้วว่าเป็นเรื่องของความยั่งยืน ความโปร่งใส เพราะฉะนั้นเราก็ยึดหลักในสิ่งที่เราวางกรอบเอาไว้ ระยะแรกทุกคนก็จะถามว่า Thaipublica คือใคร เพราะไม่มีคนรู้จักว่าเราคือใคร ถึงแม้แหล่งข่าวเก่าส่วนใหญ่จะรู้จัก แต่ถ้าเราไปเปิดตลาดในแหล่งข่าวใหม่ๆ เขาก็จะไม่รู้จัก เราจึงต้องอธิบายว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร ทำไมเรามาทำหน้าที่ตรงนี้ จึงต้องมีการอธิบายว่าบทบาทของเรา คือ อยากจะทำเพื่อสังคมด้วยข้อมูล เราอยากทำหน้าที่ในเชิงของข่าวเชิงลึก จากนั้นเราก็ทำอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตอกย้ำบทบาทและพิสูจน์ว่าเรามุ่งมั่น ทำจริง ไม่เหลาะแหละ  
 
ระหว่างทางก็แน่นอนว่าเราต้องหารายได้มาเติมเข้าไปให้อยู่รอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เราทำทุกอย่างตั้งแต่วิ่งข่าวเอง เขียนข่าวเอง ไปหาลูกค้าโดยเริ่มต้นจากการไปหาคนที่เรารู้จักก่อน จากทุนทางสังคมของเรา เราก็ไปหาคนที่เขาเห็นตัวตนความเป็นสื่อของเรา และเรากำลังจะมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ เขาอยากจะสนับสนุนเรามั้ย ก็มีหลายรายที่ให้การสนับสนุนเราตั้งแต่เริ่มแรก จนปัจจุบันก็ยังสนับสนุนอยู่ ให้ความสำคัญกับเรา ที่น่าภูมิใจก็คือบางครั้งที่เข้ามาช่วย เพราะอยากช่วยให้เราได้ทำหน้าที่สื่อจริงๆ 
 
 
มุมมองของหน้าที่สื่อกับการทำธุรกิจ 
 
“เราต้องยึดหลักแรกคือองค์กรต้องอยู่รอด แต่เราจะอยู่รอดแบบไหนเป็นเรื่องที่ต้องคิด การมีทุนมาช่วยไม่ได้เสียหายตรงไหน เพราะการอยู่รอดก็ต้องมีทุนเข้ามาสนับสนุน เพียงแต่ทุนที่สนับสนุนนั้น ต้องเข้าใจในบทบาทของสื่อ ต่างทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งถ้ามีความเข้าใจในบทบาทของแต่ละคน ก็ไปต่อกันได้”  
 
องค์กรธุรกิจมีเป็นจำนวนมากเราคงไม่ต้องไปกวาดมาทั้งหมด เพียงแต่เราไปหาคนที่เขาเห็นแนวทาง เห็นบทบาทของเรา และอยากจะสนับสนุนสิ่งที่เราทำ เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่ายังมีคนแบบนั้นอยู่  และเราก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องมีรายได้มหาศาล มีกำไรสูงสุด ซึ่งแบบนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราคิด เราเพียงแต่มองการอยู่รอดขององค์กร และได้ทำหน้าที่สื่อจริงๆ เราอยากจะเป็นสถาบันข่าว  
 
ช่วงแรกที่มาทำนั้น เราก็แค่หารายได้ให้พอกับรายจ่ายที่เรามี ถ้าเพียงพอรายจ่ายแล้วเราก็จะหยุด ไม่ได้หาเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงเราเองก็ไม่ได้มีขีดความสามารถในการหาลูกค้าเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เพราะเราทำทุกอย่างเอง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป อดทนและนิ่งในการทำหน้าที่ตัวเองในฐานะสื่ออย่างที่ทำมาโดยตลอด     
 
มีความเชื่อว่าบทบาทของสื่อคือต้องทำตัวเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารข้อเท็จจริงออกไป โดยมีหลักการที่นิ่งพอ ข่าวที่เราทำออกไปต้องน่าเชื่อถือ นำไปอ้างอิงได้ เพราะฉะนั้นใครที่จะเสิร์ชหาข้อมูลเรื่องต่างๆ สำหรับเราจะต้องเป็น Fact นี่คือสิ่งที่ต้องการนำเสนอออกไป อีกอย่างหนึ่งที่เราทำคือเรื่องของความโปร่งใส ความยั่งยืน มองว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้คนเข้าถึงโอกาส การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจะทำให้คนขาดโอกาสในหลายๆเรื่อง การที่เรานำข้อมูลมากางออกมาให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เราก็มองว่าเราเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของการขับเคลื่อน หรือการผลักดันประเด็นต่างๆ ที่สำคัญเราไม่เคยคิดว่าเราเป็นสื่อแล้วยิ่งใหญ่ สามารถพลิกทุกอย่างได้  
 
แต่ในฐานะสื่อมองว่าข้อมูลที่เราเปิดออกมา คนที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสเอาข้อมูลนั้นไปใช้ หรือไปต่อยอดให้เป็นประโยชน์ก็สามารถทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนในสังคม ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยเครือข่ายต่างๆ เพียงแต่เราเริ่มก่อนเพื่อการจุดประกาย 
 


ไม่เห็นด้วยกับที่บางคนบอกว่ายิ่งเป็นความจริงยิ่งอันตราย 
 
การทำข่าวเชิงเจาะลึกก็มีความจำเป็นต้องใช้ช้อมูลมาสนับสนุน และการทำข่าวเจาะถ้าเราอิงข้อมูลเป็นหลักก็เหมือนเป็นเกราะป้องกันตัวเราด้วยเหมือนกัน ไม่เห็นด้วยกับที่บางคนบอกว่ายิ่งเป็นความจริงยิ่งอันตราย เพราะข้อมูลคือความจริง  อยากให้สังคมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นเรื่องที่คุยกันด้วยเหตุและผล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันด้วยความเห็น การเห็นต่างเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่จะจบให้ได้ควรต้องใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจ 

Positioning และจุดเด่นของเว็บไซต์ 

เลือกทำในสิ่งที่ถนัด ทำจุดแข็งของเราให้แกร่งยิ่งขึ้น ดีกว่าพยายามทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ขายในสิ่งที่เราเป็น ไม่ได้คาดหวังในสิ่งที่ใหญ่โตมากมาย 

แต่แรกเราต้องการทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งพอทำแล้วจำเป็นต้องอิงข้อมูลจำนวนมาก จึงกลับมาที่ Data Journalism ซึ่งตั้งแต่อดีตจนวันนี้ก็ยังยึดในกรอบนี้อยู่ ตามกำลังที่เราทำได้ สำหรับ perception ของคนอ่าน คนรู้จักเรามากขึ้น และเราสร้างความเชื่อถือมาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งภาพของคนอื่นที่ฟีดแบคมา ก็รู้ว่าเราทำข่าวในเชิงของ Data คนที่ต้องการหาข้อมูลไปใช้ ทั้งนักศึกษา นักวิจัย หรือนักการตลาด ก็จะรู้จักเราว่าสามารถเอาข้อมูลไปใช้ได้ หรือในแง่ของ Influencer ก็มีติดตามเราอยู่ พร้อมทั้งมีไปอ้างอิง ไปแชร์  
 
การวางตำแหน่งของ Thaipublica เรามองว่าเป็นสื่อทางเลือก เพราะเราไม่มีกำลังไปทำเป็น Mass จึงขอทำหน้าที่ในส่วนของ Data Journalism เลือกทำในสิ่งที่ถนัด ทำจุดแข็งของเราให้แกร่งยิ่งขึ้น ดีกว่าพยายามทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ขายในสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ คาดหวังในสิ่งที่ใหญ่โตมากมาย 
 
ยอด View ของเว็บไซต์ประมาณ 3-4 แสน ยอดแฟนเพจ Facebook ที่ 2.4 แสน ยอด Follow twitter ประมาณ 3 หมื่นกว่า ซึ่งไม่ได้เยอะมากเทียบกับรายอื่นๆที่เกิดมาภายหลัง แต่เรามองว่าคนที่จะมาเป็นแฟนเพจของเรานั้นคือคนที่อ่านจริงๆ ติดตาม และรู้จักกันจริงๆ ไม่ใช่มากด Like ต้องมีการอ่านมาระดับหนึ่งแล้ว เป็นคนที่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ 
สัดส่วนคอนเทนต์ มีข่าวกระแสประมาณ 60% ซึ่งเน้นข่าวที่เป็นงานวิจัย ไม่ได้เน้นข่าวองค์กร เน้นเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฎการณ์ต่างๆ เพื่อ educate คนอ่าน ส่วนที่เหลือเป็นของคอลัมนิสต์ประจำ และข่าวเจาะ ตามธีมในแต่ละช่วง รวมทั้งมีที่ทำเป็นซีรีย์ในประเด็นที่ต้องการผลักดันหรือขับเคลื่อน 
 
แม้ว่าเราเป็นคนเจนฯเอ๊กซ์ ซึ่งก็ยากเหมือนกันในการเรียนรู้เทคโนโลยี แต่เราก็คิดว่าเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เราเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและบริหารเอง แต่เราก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำในกอง บก. ก่อนสถานการณ์โควิดเรามีประชุมกันทุกวันศุกร์ หารือกันเพื่อวางแผนว่าเราจะทำข่าวอะไร ซีรีย์อะไร พยายามเซ็ทประเด็นที่จะทำ ทั้งประเด็นผลักดัน ประเด็นที่ตามกระแส  รวมทั้งทำเวทีสาธารณะเพื่อเปิดพื้นที่กลางให้คนมานั่งคุยกัน ระดมสมอง เป็นเวทีปัญญาสาธารณะจริงๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้คนอื่นนำไปใช้ได้ เชื่อว่าบทบาทสื่อทำได้หลายแบบ และถ้าเป็นสื่อจริงๆ อย่างน้อยเราต้องขับเคลื่อน ผลักดัน และเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนมาคุยกันได้  
 
 

กลุ่มเป้าหมายคนอ่านของ Thaipublica 
 
ช่วงอายุของผู้ติดตามที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือระหว่าง 18-44 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มระดับ B+ ขึ้นไป กลุ่มเด็กส่วนใหญ่ก็จะนำไปทำรายงานจำนวนมาก เพราะข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำงาน และอย่างที่พูดคือข้อมูลเป็นข้อเท็จจริง เวลาผ่านไปเมื่อไรก็ไม่เปลี่ยนไป ต่างจากกระแสที่จบไปตามกาลเวลา  
 
ซึ่งเรื่องของความยั่งยืนนั้นเป็นธีมของเราแต่แรกที่เราจะทำเรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืน ทุกองค์กรต้องหันมาสู่สิ่งนี้เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว จำเป็นต้องมีหลักการ และพัฒนาการที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน ปัญหาขยะล้นโลก เพราะเราต้องใช้ชีวิตแบบไม่ทำอะไรให้เป็นภาระของคนรุ่นหลัง องค์กรระดับโลกทั้ง UNDP (United Nations Development Programme) - โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จึงได้มาคิดกรอบ โดยมีการตั้งเป้า 17 เป้าหมายของ SDG (Sustainable Development Goal) ที่ต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งก็มีการรณรงค์ และไทยก็ได้ลงนามเข้าร่วมในเป้าหมายนี้ด้วย ซึ่งก็มีหลายเป้าที่แต่ละประเทศจะทำแตกต่างกันไป 
 
ที่มาทำในประเด็นนี้เพราะเทรนด์มันมา เราก็คิดว่าทุกองค์กรต้องมุ่งมาทางนี้แน่นอน ก็ถือเป็นการตอบโจทย์เทรนด์ที่กำลังมา เราอยากจะให้ความรู้กับคนที่สนใจเรื่องนี้มากขึ้น จึงกลายมาเป็นธีมหลักของเว็บไซต์ ความรู้เรื่องความยั่งยืนนี้มีมากมาย รวมไปถึง case study ตัวอย่างต่างๆ หรือ how to ที่แต่ละองค์กรต้องทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ว่าจะทำอย่างไร ต้องไขว่คว้าหาข้อเท็จจริง หลักการและวิธีการต่างๆ 
 
 
ความคาดหวังความฝันแรงบันดาลใจ 
 
เราไม่ได้ฝันอะไรที่ยิ่งใหญ่มากนัก เราทำงานเพื่อขับเคลื่อนและผลักดัน เพราะเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อให้สังคมโดยรวมดีขึ้น ประเทศเรามีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคนจน อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำให้โปร่งใส คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ก็หมายถึงการเข้าถึงโอกาส ที่จะยกระดับตนเองขึ้นมา หรือใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในแต่ละเรื่องก็ตาม  
 
ไม่ต้องฝันไกลมาก ทำเพียงหวังเริ่มต้นให้ได้เสียก่อน และเราต้องช่วยกันเคลื่อน ช่วยกันผลักดันให้สังคมเคลื่อนไปด้วยกัน ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง นี่คือสิ่งที่อยากเห็น แค่นี้ก็เชื่อว่าเป็นการยกระดับคนขึ้นมาได้แล้ว ความจน ความเหลื่อมล้ำก็อาจจะน้อยลง แค่ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ก็เป็นตัวช่วยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้แล้ว เพราะความเหลื่อมล้ำในบางเรื่องเกิดจากคนขาดซึ่งข้อมูล ข้อมูลที่นำไปใช้ได้และเป็นจริง จะทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ ได้ยกระดับ ได้ปรับตัว ทำให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนของชีวิต อาจเป็นเรื่องของรายได้ โอกาสในการทำงาน หรือโอกาสการใช้ชีวิตก็ตาม ถ้าทุกคนเข้าใจและทุกคนช่วยกันเคลื่อนไปก็จะไปได้ไกลทีเดียว 
 
 
เวลามีปัญหาต้องเริ่มจากนั่งนิ่งๆ ค่อยๆ คิดให้ตก 
 
ใช้สติในการคิดและวางแผนแก้ปัญหาต่อไป ทุกคนก็มีปัญหาหลากหลาย สำหรับเราเองก็มี แม้แต่การลุ้นว่าเดือนนี้จะมีเงินจ่ายเงินเดือนลูกน้องหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ต้องวางแผนงานดีๆ คิดให้ยาวๆ แต่เราก็ไม่ใช่ว่าต้องดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมา นั่นก็ไม่ใช่ ถ้ามันไม่รอดก็คือไม่รอด อย่าทิ้งจุดยืนตัวเอง เพราะถ้าเราทำอะไรก็ได้ให้ได้เงินมา วันหลังมันจะกลับมาฆ่าตัวเราเอง 
 
เรามาทำงานตรงนี้เราก็ไม่ได้ตั้งเงินเดือนตัวเองไว้สูงๆ ต้องเอาเท่าที่เราอยู่รอดก่อน พอวันหนึ่งเรายืนได้แล้วค่อยมาว่ากัน ความจริงก็ฝันให้เราเป็นองค์กรที่ทำให้พนักงานอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคงของชีวิต ซึ่งก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ทำแบบนั้นในอนาคต ซึ่งวันนี้เรามีแค่ไหนเราก็แบ่งปันกันไม่เอาเปรียบกัน เชื่อว่าทำให้มั่นคงได้แม้เราจะเป็นองค์กรเล็กๆ อยากเป็นสถาบันข่าวจริงๆ คนพูดกันว่านักข่าวมักจะจน ก็อยากทำให้พนักงานของเรามีความมั่นคงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
 
ทุกคนชอบมองว่าพี่เป็นนักวิชาการ เป็นคนซีเรียส แต่เราก็ว่าเราไม่ได้เป็นคนซีเรียส แค่เป็นคนจริงจังว่าความถูกต้องก็คือความถูกต้องเท่านั้นเอง  
 
 
การทำงานกับเจเนอเรชันใหม่ 
 
เราเป็นคนฟรีสไตล์มาก เราคุยกับลูกน้องเราต้องการให้เขานำเสนอ เพราะเขาเป็นคนที่วิ่งข่าวในพื้นที่ ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องราวดีที่สุด รู้ดีกว่าเรา เราเพียงแค่ดูความเรียบร้อยในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น ดูว่าไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้อง หรือกระทบกับใคร และดูความครบถ้วนของข้อมูล ตรงตามประเด็นเท่านั้นเอง 
 
การสัมภาษณ์ในวันนั้นใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงผ่านไป ซึ่งทำให้เห็นมุมมองวิธีคิดที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน และเมื่อถามถึงช่วงเวลาของการผ่อนคลาย และการทำงานในกองบรรณาธิการข่าวนั้น 
 
คุณบุญลาภ ได้พูดถึงวิธีการจัดการความเครียดในการทำงาน เราก็ทำง่ายๆ คือการออกกำลังกาย ตอนที่อยู่ประชาชาติธุรกิจ สำนักงานมติชนอยู่ติดกับศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ พอตกเย็นเราก็ไปวิ่งออกกำลังกาย เพื่อการผ่อนคลาย ส่วนใหญ่จะไปวิ่งแทบทุกวัน ไม่ชอบออกไปดูหนัง ฟังเพลง แต่มักจะชอบอ่านหนังสือ แต่ก็ชอบแนวหนักอยู่ดี เป็นลักษณะการเสริมความคิด เรื่องให้ความรู้ เรื่องความยั่งยืน เรียกว่าติดจนต้องติดตามซื้อ การผ่อนคลายก็หาเวลายากมาก เพราะสมัยก่อนเราแทบจะทำงาน 7 วัน และงานไม่ค่อยเป็นเวลา มองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าทำงานหนักมาก แทบจะ 80-90% ได้พักวันเดียวก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ได้มีเวลาดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯบ้าง ซึ่งเราก็อยากมีเวลากับครอบครัวมากกว่านี้ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเรายังสนุกกับงานอยู่  
    
บางครั้งก็ชอบไปเดินสวนจตุจักร ซื้อต้นไม้ ชอบปลูกต้นไม้ และชอบไปดูงาน Craft งานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เก๋ๆสวยๆ ช่วงโควิดแรกๆ ก็ตื่นตระหนกมาก มักจะกังวลเราติดโควิดหรือเปล่า สำหรับงานก็ไม่ได้มีอุปสรรคหรือผลกระทบอะไรจากโควิด เพราะเรา work from home มาแต่แรก เราก็ไม่ได้กังวลผลงานของน้อง มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ในปีนี้ก็มีผลกระทบกันทุกคนเพราะรายได้จะหายไปบ้าง เพราะหลายองค์กรถูกตัดงบ ก็ต้องมาวางแผน วางแพคเกจใหม่ วางแผนการทำคอนเทนต์ วางแผนหารายได้ ไม่ได้คิดขยายกิจการอะไรในตอนนี้ เราไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก ให้เราเป็น Niche สื่อทางเลือกแบบนี้ไป  
 
ชอบดูหนัง โรแมนติค หรือเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริง ไม่ชอบหนังผี หนังรุนแรง หรือเรื่องเครียดๆ พักผ่อนด้วยการดู Netflix ตอนดึกๆ การออกกำลังก็ยังวิ่งอยู่ทุกเย็น แต่การเป็นเจ้าของ ไม่ได้แปลว่างานเบาลง กลายเป็นหนักกว่าเดิม เรียกว่าทำอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อดีคือเป็นการ work from home จึงรู้สึกผ่อนคลาย โดยทำแบบนี้มา 10 ปีแล้ว ตกลงกับ Team ว่าเอาผลงานเป็นที่ตั้ง ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ทำงานส่งตามที่ตกลงกันไว้ในแต่ละสัปดาห์ มาประชุมแค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น เราชอบให้ทุกคนบริหารจัดการเอง ดูผลลัพธ์เป็นหลัก ซึ่งตอนนี้นักข่าว 6 คนมีที่เป็นซีเนียร์อยู่ 3 คน ที่เหลือเป็นเด็กซึ่งก็เป็นโอกาสที่ได้เรื่องใหม่ๆ มาจากมุมมองของน้องๆ   
 
สุดท้าย “คุณบุญลาภ ภูสุวรรณ” ฝากข้อคิดถึงนักข่าวรุ่นหลังว่า “ความเป็นนักข่าว อยากบอกว่าอย่าไปยึดติดอะไรกับหัวโขนหรือตำแหน่งให้มากนัก" เราเป็นสื่อเราจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการคิดว่าเรามีปากกาอยู่ในมือจะทำอะไรก็ได้นั้น ไม่ใช่ความคิดที่ถูก จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องยึดหลักความเป็นสื่อให้เหนียวแน่น เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง และยังให้คุณกับเราได้ในอนาคต เพราะสุดท้ายการหารายได้ของเราก็ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของเรา และคุณบุญลาภ ยังฝากขอบคุณคนอ่านและแฟนเพจที่ติดตามมาโดยตลอด ผู้ที่สนใจ หลังอ่านบทสัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://thaipublica.org/ เฟซบุค และ ไอจี 
 

และนี่คือ เส้นทางชีวิตของ นักข่าวแถวหน้าของเมืองไทย

“บุญลาภ ภูสุวรรณ” บรรณาธิการบริหาร Thaipublica  


บันทึกโดย : sakidloวันที่ : 25 มี.ค. 2564 เวลา : 16:53:16
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:55 am