ช่วงปีนี้เราเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศเราเพิ่มขึ้นมาแล้ว ดูเผินๆ ก็เหมือนว่าการบริโภคที่มาจากต่างชาติจะมากขึ้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ดูท่าว่าจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่จริงๆ แล้วภายใต้ผิวน้ำที่ดูสงบ อาจจะมีความเสี่ยงที่อยู่ลึกลงไปและรอวันปะทุขึ้นมา ซึ่งตัวการของความเสี่ยงนี้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "สหรัฐ" พี่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีภาคเศรษฐกิจขนาดเล็กและต้องพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง จากรายได้หลักๆ ทั้งทางภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ที่เป็นตัวแปรสำคัญให้กับตัวเลข GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ที่สะท้อนออกมาว่าสภาพเศรษฐกิจในประเทศ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร อย่างในช่วง ปี 2562 ปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 11% ของ GDP หรือทำเงินได้มากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในตอนนั้นมียอดอยู่ที่ 40 ล้านคน ส่วนด้านการส่งออกสินค้าและบริการในปีเดียวกันมีการหดตัวลงร้อยละ 2.9 จากภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวอันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในตอนนั้น GDP ในช่วงปี 2562 จึงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (GDP โตลดลงจากร้อยละ 4.2 ในปี 2561) อย่างไรก็ตาม ก็มีแรงพยุงจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้กล่าวไป ทำให้ตัวเลข GDP ไม่ได้ไหลลงไปมากกว่านี้
แต่หลังจากที่ทั้งโลกประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจของทุกประเทศก็เกิดการชะลอตัวกันถ้วนหน้า รวมถึงประเทศไทยที่ GDP ทิ้งดิ่งลงไป หรือมีการหดตัวติดลบร้อยละ 6.2 เลยทีเดียว แม้ถัดจากปี 2563 สถานการณ์จะเริ่มกลับมาทรงตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้นคืนพละกำลังได้เท่ากับตอนก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยในปี 2564 GDP จากที่ติดลบไปขยายตัวอยู่ร้อยละ 1.6 สำหรับภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเพียง 428,000 คน หรือคิดเป็นแค่ 1% ของช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 (ที่ 40 ล้านคน) เท่านั้น ส่วนภาคการส่งออก จากที่ประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีการฟื้นตัว ทำให้เกิดการขยายตัว 17% คิดเป็นมูลค่า 271,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากที่หดตัวในปีที่แล้ว 6.01%)
ส่วนในปี 2565 นี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่อนคลายความตึงเครียดลง อำนวยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยสะดวกมากขึ้น โดยช่วง 6 เดือนแรกนี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วอยู่ที่ 2.08 ล้านคน และหลังการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากกว่าเดิม โดยในรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปีนี้ไว้ที่ 10 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตลอดปี 2565 จนถึงวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมานี้ มียอดสะสมอยู่ที่ 5,018,172 คน) เพื่อหวังให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นพระเอกที่จะกู้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ถึงจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะไปได้สวยในปีนี้แต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาคเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การที่ต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐและจีนขยับตัวอย่างไร เราย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งในสหรัฐได้เจอเข้ากับ Technical Recession หรือ สภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในเชิงเทคนิค ที่ GDP ของสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 มีการหดตัวอยู่ที่ 0.9% และเดือนก่อนหน้าในไตรมาสแรกหดตัวอยู่ที่ 1.6% ตามรูปด้านบน ซึ่งในทางเทคนิคนั้นสามารถนิยามได้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะ Recession หรือสภาวะถดถอยแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะดังกล่าวเต็มรูปแบบตามนิยามอย่างเป็นทางการเมื่อไรท่ามกลางช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อยังไม่หมดไป และทางธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) เองก็ยังจะมีแนวโน้มในการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวอย่างจริงจังต่อไปโดยไม่สนใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ซึ่งในแถบเอเชียเอง ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นตัวเต็งอันดับ1 ที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจก่อนใครเพื่อน เพราะเศรษฐกิจสิงคโปร์ยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาพละกำลังจากทางสหรัฐเป็นหลัก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก การบริโภคภายในประเทศมีน้อย ขณะที่สัดส่วนการค้าต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 338 (ในปี 2564) แสดงถึงการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย ที่เราต้องพึ่งการส่งออกและขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเช่นกัน ประเทศไทยจึงอาจได้รับผลกระทบถัดจากสิงคโปร์ หากสหรัฐเข้าสู่สภาวะ Recession อย่างเป็นทางการ
แต่ถ้าหากจีนมีการเปิดประเทศ ผ่อนคลายให้คนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ในช่วงที่สหรัฐเกิดสภาวะ Recession จริงๆ ขึ้นมา ก็เป็นไปได้อย่างสูงว่ากำลังจากนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาช่วยหนุนพยุงเศรษฐกิจของไทย แต่หากจีนยังใช้มาตรการที่รัดกุมอยู่ ไทยก็อาจจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างหนักหน่วงอีกครั้งหนึ่ง จากทั้งปัจจัยด้านการพึ่งพาต่างชาติ ผนวกกับสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยที่สูงถึง 7.86% และการอ่อนค่าลงของเงินบาทที่ยังคงอยู่ระดับที่ปลายๆ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าท้ายสุดแล้วเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร
ข่าวเด่น