ค่าเงินบาทของไทยที่ผ่านมา นับว่ามีการอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ภายใต้แรงกดดันของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวลงจากปัญหาเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่จำเป็นต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินในโลก และส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐและไทยที่ทิ้งช่องว่างจนกระแสเงินทุนทิ้งหุ้นและบอนด์ไทยออกไป
ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำการแทรกแซงค่าเงินบาทด้วยการเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าซื้อเงินบาทกลับมา และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนส.ค.2565 ที่ 0.25% ไปแล้ว บวกกับการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหญ่เมื่อเดือนก.ค.2565 ที่มีเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตามที แต่ล่าสุด วันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมานี้เอง ค่าเงินบาทได้พุ่งทะลุ 37 บาท ไปยังจุดพีกที่ 37.11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันเดียวกันที่ 37.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.78% จากวันก่อนหน้า และนับว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปีเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุที่ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงเป็นเพราะปัจจัยเฉพาะของไทยเองจากราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ส่งผลให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่มบริษัททองคำเพิ่มขึ้น (กลไกตลาด ราคาทองคำลดลง ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น) รวมถึงปัจจัยค่าเงินในกลุ่ม EM Asia ที่ปรับตัวแย่ลงโดยเฉพาะหัวทีมอย่างประเทศจีน ที่ค่าเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเหนือระดับ 7 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ (ตามกลไกตลาดเช่นกัน หากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะกดดันให้สกุลเงินหยวน ยูโร และปอนด์อ่อนค่าลง) โดยจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนส.ค.นั้นได้เปิดเผยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากผลกระทบของการใช้มาตรการ Zero Covid ที่เข้มงวด และผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในมณฑลเสฉวนและฉงชิ่ง ที่เผชิญกับอากาศที่ร้อนผิดปกตินับตั้งแต่เดือนก.ค. และฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย ทำให้ระดับน้ำในโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญของจีนลดลง และสร้างแรงกดดันให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมากขึ้น เพราะระบบเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าขัดข้องจากคลื่นความร้อนรุนแรง
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่กดดันให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่า ก็มีผลกระทบใหญ่ๆ มาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ที่ "เจอโรม พาเวล" ประธานของ Fed ได้ส่งสัญญาณที่จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนเดือนก.ย. ด้วยเหตุผลที่ว่าภารกิจของ Fed ที่มุ่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น แม้ค่า CPI ในเดือนก.ย.จะมีทิศทางปรับตัวลดลงมาที่ 8.5% แล้วก็ตาม ทำให้ตลาดเริ่มเกิดความหวาดกลัว และค่า CPI ล่าสุดของรอบเดือนส.ค.ที่อยู่ที่ระดับ 8.3% ที่แม้อาจจะปรับตัวลดลง แต่สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 8.1% จาก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้เงินบาทมีการผันผวนจนทะลุระดับราคา 37 บาท ซึ่งในตลาดตอนนี้ ส่วนใหญ่มีมุมมองว่า FOMC หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นระดับเดิม แต่ตลาดในสัดส่วนอีก 30% ก็มองว่ามีโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 1% ได้เช่นกัน
นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย หรือห้องค้ากสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมา (15-16 ก.ย.2565) ฟันด์โฟลว์ได้ไหลออกจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยรวมกันราว 1 หมื่นล้านบาท โดยในวันที่ 15 ก.ย.ไหลออกไปกว่า 6,000 ล้านบาท และ ในวันที่ 16 ก.ย.ไหลออกไปอีกเกือบ 4,000 ล้านบาท จากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งนางสาวกฤติกากล่าวเสริมว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมากนี้ เป็นความผันผวนในช่วงก่อนมีการประชุม Fed ที่จะมาในวันที่ 20-21 ก.ย.และหลังจากการประชุมไปแล้ว ความผันผวนน่าจะลดลง และปลายปีเงินบาทจะยังกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
จากทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นไปได้ว่าค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าและมีความผันผวนสูงก่อนที่การประชุมของ Fed จะมาถึงในสัปดาห์นี้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเท่าใด จะเป็นไปอย่างที่ตลาดมีความกังวลอยู่หรือไม่ หากขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% เท่าเดิม ก็อาจคลายความกลัวในตลาดที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ และกดดันราคาทองคำลง ซึ่งจะลดแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่ถ้าหากผิดจากการคาดการณ์ ก็จะเป็นปัจจัยกลับมากดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลงจนทำให้เงินบาทอ่อนค่ายิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession ที่เป็นจริงในเชิงเทคนิคไปแล้วยังคงมีอยู่ ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่กลับมากดดันราคาทองคำและค่าเงินบาทเช่นกัน แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของพี่ใหญ่อย่างสหรัฐ จะเข้าสู่สภาวะ Recession อย่างเต็มรูปแบบจริงๆหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่จับดูท่าทีของ Fed ในสัปดาห์นี้กันต่อไป
ข่าวเด่น