ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากสำหรับใครหลายๆคน เพราะสภาพเศรษฐกิจของโลกในปี 2565 นี้ นับวันจะยิ่งชะลอตัวลง จากทั้งผลกระทบของปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สงครามด้านพลังงานที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก จนทางฝั่งสหรัฐต้องมีการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการทำ QT ดึงเงินออกจากระบบ ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับภาคการลงทุนโดยรวม ที่ตลาดตกอยู่ในสภาวะความกลัว ต่างปล่อยมือสินทรัพย์ต่างๆ จนมีราคาปรับตัวลงและมีความผันผวนอย่างมาก ทำให้หลายคนต่างเผชิญกับการขาดแคลนกระแสเงินสด หรือวิกฤติทางการเงินในพอร์ตของตัวเอง
หากใครที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นนักลงทุนมือใหม่ ที่ไม่ว่าจะสนใจลงทุนในหุ้นหรือคริปโตก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราอยู่รอดในตลาด คือเรื่องของ Money Management หรือการบริหารจัดการเงินทุนอย่างเป็นระบบ ที่เป็นการวางแผนการลงทุนล่วงหน้า โดยประเมินจัดสรรเงินเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เสมือนเป็นการจัดทริปท่องเที่ยว ให้การเดินทางเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่สะเปะสะปะ และมีแบบแผนในการปฏิบัติ โดยสามารถจัดการได้อย่างง่ายๆ ดังนี้
1.จัดสรรปันส่วนเงินของตัวเอง
กระแสเงินสดหรือรายรับที่เราได้ในแต่ละครั้ง ต้องมีการจัดสรรปันส่วนว่าต้องใช้ไปกับอะไรบ้าง ขั้นต้นอาจต้องมีการจดกระแสรายรับรายจ่ายเพื่อให้ได้เห็นภาพใหญ่ก่อนว่า เรามีเงินเข้ามาจากอะไรและมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละเดือน จากนั้นลองรวมค่าใช้จ่ายให้อยู่ใน Category เดียวกัน และมาวางแผนแบ่งสัดส่วนเงินเสียใหม่ว่าจะอนุญาตตัวเองใช้เงินหมวดหมู่ใดในจำนวนเท่าใด เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เราเผลอใช้ไปอย่างไม่จำเป็น โดยมีทริคคือให้แบ่งเงินแต่ละ Category แยกลงในแต่ละบัญชีธนาคาร เช่น แบ่งเงินในสัดส่วน 10% สำหรับการลงทุนไว้ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา แบ่ง 10% ไว้จ่ายค่ากินค่าใช้จิปาถะในชีวิตประจำวันในธนาคารกสิกรไทย แบ่ง 20% เอาไว้ผ่อนค่ารถค่าบ้าน ในธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เงินที่เราแบ่งสัดส่วนปะปนกัน หรืออาจเกิดความสับสนได้
2.จัดการบัตรเครดิต
ใช้บัตรเครดิตอย่างเหมาะสม ก่อนจะใช้ทุกครั้งให้คำนวณว่าเราจะใช้เท่าไหร่ มีพอที่จะจ่ายในรอบเดือนหรือไม่ ควรใช้เท่าที่มีเงินจ่ายจริง เก็บสลิปและเช็คยอดเพื่อบันทึกในรายรับรายจ่ายทุกครั้ง และจ่ายเต็มจำนวนในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เลือกจ่ายขั้นต่ำ ไม่ค้างจ่าย หรือรูดบัตรเครดิตเพื่อหมุนกลบบัตรอื่น เพื่อตัดวังวนวิกฤติทางการเงิน และรักษาเครดิตบูโรของตัวเอง
3.ประกันกระแสเงินสดด้วยการเก็บเงินสำรอง
มีหลายคนที่ประสบปัญหาการขาดแคลนเงินสดอย่างกระทันหันในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น โดนปลดออกจากงาน หรือธุรกิจที่ทำอยู่ประสบปัญหาเฉียบพลัน จากวิกฤติของไวรัสโควิด-19 ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาด้านสุขภาพที่เราต้องหยุดทำงานกระทันหัน ซึ่งไม่ได้มีเงินทุนสำรองเก็บเอาไว้ก่อน ทางที่ดีไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร มีรายได้มั่นคงแค่ไหน ก็ควรมีเบาะรองรับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนดังกล่าว โดยเฉพาะนักลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดการ Cut หรือขายหมูสินทรัพย์ใดๆ ออกมาก่อนที่กำลังทำ Performance ได้ดี โดยควรเก็บเงินสด หรือสินทรัพย์ที่ Stable ไม่ผันผวน มีสภาพคล่องในการแปลงเป็นเงินสดได้อย่างน้อยจำนวน 6 เดือนของค่าใช้จ่ายปกติ กล่าวคือหากเรามีรายจ่ายรวมตกอยู่เดือนละ 25,000 บาท ก็ควรมีกระแสเงินสดสำรองไว้อยู่ที่ 150,000 บาท เก็บไว้นิ่งๆเพื่อเป็นช่องทางรอดของตัวเอง
4.แจกแจงระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน
ควรเดินถอยหลังออกมาแล้วดูภาพรวมของตัวเองว่า มีสินทรัพย์และมีหนี้สินอะไรบ้าง และแยกประเภทระหว่าง 2 สิ่งนี้ให้ชัดเจน เพื่อประเมินค่าใช้จ่าย วางแผนการลงทุน และตัดหนี้สินที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้มีสัดส่วนของสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดยสินทรัพย์คืออะไรก็ตามที่สร้างเงินให้กับเรา ส่วนหนี้สินคือสิ่งที่ซื้อแล้วเงินจะออกจากกระเป๋าเรา ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าควรจะมีสินทรัพย์และหนี้สินอะไรบ้าง เช่นการซื้อบ้านถือเป็นหนี้สินที่เราต้องมีภาระในการผ่อนทุกๆเดือน บางคนอาจเลือกการซื้อแล้วรับภาระการผ่อน เพราะแน่ใจแล้วว่าจะตั้งรกรากอาศัยอยู่ในระยะยาว บางคนอาจเลือกที่จะเช่าอยู่เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการผ่อน และได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดที่มีมากขึ้น เป็นต้น
5.ศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน
ก่อนที่จะก้าวขาเข้าสู่วงการการลงทุน ประเมินตัวเองก่อนว่ารับความเสี่ยงและความผันผวนได้มากเท่าไหร่ จากนั้นศึกษา Nature ของแต่ละสินทรัพย์ ว่ามีความเสี่ยง มีผลตอบแทนแบบไหน และมีสภาพคล่องมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับตัวเอง
โดยต้องมีการศึกษาเชิงลึกทุกครั้งถึงความน่าเชื่อถือ และการใช้งาน หรือ Utilities ของสินทรัพย์นั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนหลอก หรือเอาทุนไปจมกับสินทรัพย์ที่ไม่มี Performance เช่นหากลงทุนในเหรียญคริปโต ก็ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างสกุลเงินคริปโต กับโทเคนให้ออก และเลือกลงทุนกับเหรียญที่มีการใช้งานจริง ไม่ขายฝัน หรือเป็นเหรียญที่เพื่อเก็งกำไรในตลาดเท่านั้น เป็นต้น
รูปจาก www.tisco.co.th
6.ลดหย่อนภาษี
กองทุน SSF และ RMF เป็นสิ่งที่สามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้ แต่อาจไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่พอสมควร โดย SSF ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี (นับจากวันที่ซื้อ) ไม่สามารถขายคืนก่อนกำหนด ถ้าขายออกก่อนต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนของปีนั้น และต้องจ่ายค่าเสียภาษีล่าช้าเพิ่มด้วย สำหรับใครที่ต้องเสียภาษีจำนวนแค่ 10- 15% อาจไม่จำเป็นนัก ยิ่งถ้าไม่ศึกษาให้ดี เราอาจขาดทุนจากกองทุนเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าการจ่ายภาษีก็เป็นได้ อีกทั้งยังเอาเงินออกมาก่อนไม่ได้ด้วย แต่หากคนที่มีฐานภาษีสูงๆ เช่น 20% ขึ้นไป ก็อาจเหมาะกับการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เพราะสามารถลดได้เยอะกว่า (SSF-RMF สามารถซื้อรวมกันและลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท) ส่วน RMF กองทุนที่ส่งเสริมการออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ต้องถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และขายได้หลังอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงไม่เหมาะกับคนอายุน้อย
Money Management ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน (และบุคคลในทุกอาชีพ) เพื่อเป็นตัวช่วยให้พอร์ตของเรามีความสามารถในการทำกำไรไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ตลาดคึกคักเหมือนปีที่แล้ว หรือช่วงที่ตลาดซบเซาอย่างปีนี้ก็ตาม หากนักลงทุนมือใหม่ได้นำคำแนะนำทั้ง 6 ข้อไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ก้าวแรกที่เข้าไปในวงการนี้ก็อาจทำ Performance ได้ดีกว่ามือใหม่คนอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อย่างแข็งแรงและยาวนาน
ข่าวเด่น