คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สู่ระดับ 3% - 3.25% เมื่อคืนวันพุธที่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา และเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้เหลือ 2% ตามเป้าของ Fed
นับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ของ Fed ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2565 เพื่อเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี แม้จะเป็นไปตามความคาดหมายหลัก ที่ตลาดเก็งข้อสอบได้อย่างถูกต้องว่า FOMC จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ในรอบเดือนก.ย. ไม่ใช่ข่าวร้ายสุดขีดอย่างการขึ้นไปเป็น 1% แต่ก็นับว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับคงเดิมนี้ติดกันเป็นครั้งที่ 3 ก็ไม่ใช่ข่าวที่ดีนักแต่อย่างไร เพราะภารกิจหลักของ Fed ก็ยังเป็นการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ท่าทีของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานของ Fed ในการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้ (21 ก.ย.) ก็ยังคงเหมือนเดิมกับการ
กล่าวสุนทรพจน์ที่แจ๊กสันโฮล เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่าจะยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ จะปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2%
ในตอนนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อหรือค่า CPI ล่าสุดรอบเดือนส.ค. อยู่ที่ 8.3% ปรับตัวลดลงมาจากจุดพีกของรอบเดือนมิ.ย. ที่ 9.1% และรอบเดือน ก.ค. ที่ 8.5% ซึ่งถือได้ว่าเพดานของค่าเงินเฟ้อได้ถูกค้นพบแล้ว และมีสถิติที่จะไม่รุนแรงมากไปกว่าจุดพีก แต่ค่า 8.3% ที่เห็นนั้นยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 8.1% และยังห่างไกลจากเป้า 2% ที่ Fed วางไว้อยู่มาก นายพาวเวลได้ให้ข้อมูลว่า ทาง FOMC เห็นพ้องกันว่าจะเดินหน้าใช้ไม้แข็ง ปรับลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อๆไป ทำให้ Dot Plot คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นสู่ 4.4% ในปีนี้ และ 4.6% ในปี 2566 รวมถึงจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
ส่วนจากผลสำรวจของสำนักข่าว CNBC แสดงออกมาว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่างคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือน มี.ค.2566 และมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการ “ขึ้นแล้วคง” (Hike and Hold) แทนที่จะใช้มาตรการ “ขึ้นแล้วลง” (Hike and Cult) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยจะมีการการคงอัตราดอกเบี้ยหลังมีการขึ้นในระดับสูงสุดดังกล่าวเอาไว้เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี สอดคล้องกับการคาดเดาจากนักวิเคราะห์ถึงค่า CPI ว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.8% ในช่วงสิ้นปีนี้ และอยู่ที่ 3.6% ช่วงสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดในปี 2567
กราฟ Bitcoin ใน Timeframe 1 ชั่วโมงช่วงการประกาศดอกเบี้ย 0.75% ของ Fed จาก binance.com
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ระดับ 3.25% นับว่าเป็นอัตราสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2551 ที่มี Global Financial Crisis หรือวิกฤตการเงินโลกร้ายแรงที่สุดตั้งแต่เหตุการณ์ Great Depression เมื่อปี 2472 เลยทีเดียว ประกอบกับการส่งสัญญาณจากทาง Fed และความคิดเห็นของตลาดส่วนใหญ่ที่ได้กล่าวไป จึงเป็นเหตุผลที่ว่าตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง คริปโตเกิดการผันผวน จากการพุ่งขึ้นรับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ทำให้ Bitcoin แตะระดับสูงสุด 19,966 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปรับตัวดิ่งหนักลงมาจุดต่ำสุดที่ 18,126 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการขึ้นกล่าวของนายพาวเวล ด้าน Bond Yield สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลลบต่อทิศทางการลงทุน ที่เงินบาทยิ่งปรับตัวอ่อนค่าลงต่ำสุด 37.35 บาท เสี่ยงต่อการที่เงินทุนจะไหลออกจากประเทศในอัตราที่เร็วขึ้น
อีกทั้งในการประชุมของ Fed ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการฯได้คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.2% ในปีนี้ ลดลงจากระดับ 1.7% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมี.ค. สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงในอัตราเร่ง และภาวะ Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่เป็นไปแล้วในเชิงเทคนิค ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้นจริงอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นกว่าเดิม
ข่าวเด่น