ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ดูเหมือนกระแสรักษ์โลกจะเริ่มรุกเข้ามามีอิทธิพลอย่างจริงจังมากกว่าแต่ก่อน และกลายมาเป็นหลักปฏิบัติที่ยึดโยงกับการใช้ชีวิตในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้ถุงผ้าแทน การบอกลาบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สินค้าที่ไม่ทดลองกับสัตว์ มากไปจนถึงการหันมาใช้ชีวิตประจำวันที่ระแวดระวังการเบียดเบียนโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แน่นอนว่าการตื่นตัวของคนส่วนใหญ่ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากจะเริ่มที่ตัวเองแล้ว ก็ยังมีการรณรงค์ให้สังคมรอบตัวหันมายึดถือหลักปฏิบัตินี้ด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกนัก ที่เราจะเห็นการเรียกร้องในเรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อมกับทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง และในสังคมออนไลน์ อย่างการเลือกที่จะไม่อุดหนุนหรือแบนธุรกิจที่มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม การตักเตือนและชักชวนคนรอบข้างให้หันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและยึดถือคุณค่านี้ร่วมกันจนขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งได้แรงหนุนสำคัญจากการเชื่อมถึงกันในโลกออนไลน์ที่แพร่สะพัดไปได้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว)
Reaction ที่เกิดขึ้นสะท้อนกลับไป จึงเป็นการที่ภาครัฐและภาคเอกชนต่างทยอยออกมาตรการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อสอดรับกับกระแสที่กำลังมาของโลก ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน ก็เริ่มมีการยึดกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการทำธุรกิจ โดยหนึ่งในแนวคิดหลักที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้คือแนวคิด ESG (Environment, Social and Governance) เป็นลักษณะของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล ทั้งที่เกิดจากการดำเนินการตามข้อกำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล และจากกระแสดังกล่าวที่เรียกร้องให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของกิจการ ซึ่งแนวคิด ESG นี้ ช่วยให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบต่อ Stakeholders ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ทำ และการแสดงผลลัพธ์การดำเนินกิจการในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
รูปภาพจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ในระยะหลังๆ มานี้ได้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ตั้งแต่การเกิดภาวะเรือนกระจก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การเกิดภัยทางธรรมชาติ สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างในปัจจุบัน หรือการเกิดการประท้วงของนักวิทยาศาสตร์ให้เลิกใช้ Fossil Fuels เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อน ซึ่งในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ ปัญหามลพิษ เช่น น้ำเสีย PM 2.5 ขยะ เป็นต้น รองลงมาคือ สภาพภูมิอากาศที่ความแปรปรวน อุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุรุนแรง ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนค่อนข้างมาก ส่งผลให้คนในสังคมเริ่มมี Awareness และมีการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามการกระทำที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหาหนทางในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อเป็นการยึดถือคุณค่าร่วมกันกับคนในสังคมกระแสหลัก
โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG พบว่า ความน่าเชื่อถือ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราเลยได้เห็นการตอบรับเรื่อง ESG ในภาคของการลงทุนด้วยอย่างที่ EXIM BANK หรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานสะอาด แม้ปัจจุบันในตลาดของประเทศไทย สัดส่วนพันธบัตรประเภท Green bond นั้นมีอยู่เพียง 2% ซึ่งถือเป็นตลาดที่ Economy of Scale ยังไม่เกิด ผนวกกับปี 2565 นี้เป็นปีที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกด้วย แต่การออก Green Bond ดังกล่าวกลับได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเกินความคาดหมาย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มจะได้รับความสำคัญมากขึ้น
หรือการที่บริษัทรายใหญ่ต่างเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยนำหลักของ ESG มายึดเป็นแกนหลักในการปฏิบัติงาน เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้ดำเนินหลายโครงการสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์การลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์ (Net Zero) และยังเป็นสมาชิกตั้งต้นของเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสำหรับองค์กรหรือธุรกิจใดที่มีการดำเนินกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ก็สามารถทำการซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาด (ผู้ขายก็คือองค์กรที่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่น) นับเป็นการช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโน้มนำให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากรายใหญ่แล้ว ในธุรกิจเล็กอื่นๆ ก็มีการนำแนวคิด ESG ไปเป็นหลักในการดำเนินกิจการเช่นเดียวกัน อย่างในเรื่องของการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงตัวสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่ไม่เบียดเบียนโลก การเกิดอาหารแบบ Plant Based ขึ้นมา ไปจนถึงกระแสของการเป็น Vegan ที่มีเรื่องของ Animal Activist เข้ามาร่วมด้วย ก็ถือว่ามีการใช้แนวคิดนี้เช่นกัน ซึ่งในอนาคตต่อไป ธุรกิจและการลงทุนด้วยแนวคิดของ ESG ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์กระแสหลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ในภาคเศรษฐกิจต่อไป
ข่าวเด่น