ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจระดับโลกที่ยังคงไม่สู้ดี และยังไม่รู้ว่าภาวะ Recession หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่หากกลับมาดูในฟากฝั่งของประเทศไทยที่ตอนนี้เงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบ 14 ปี จนต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปรอบ 2 ขึ้นมาเป็น 1% เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาระในการชำระหนี้ของคนไทยก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของคนไทยเต็มๆ ที่กระแสเงินสด หรือ Cashflow มีความฟืดเคืองมากขึ้น จนทำให้การตัดสินใจจะซื้ออะไรต้องพิจารณาถึงความสำคัญและความเหมาะสม การถูกบีบบังคับด้วยกลไกของการออกนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของไทยนี้เอง ทำให้ธุรกิจหลายๆ ประเภทต่างซบเซาลงไป โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดูจะน่าเป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากเป็นภาระในการชำระหนี้ก้อนใหญ่
ด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ล่าสุดในเดือน ส.ค.2565 ไปแตะอยู่ที่ 7.46% บวกกับค่าเงินบาทไทยที่อยู่ในกรอบใกล้แตะระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็เป็นตัวยืนยันว่าภาคเศรษฐกิจของทางฝั่งสหรัฐ Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้อยู่หมัด และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทยอยขึ้นเป็นไปตามภารกิจของ Fed ต่อไป ซึ่งก็ทำให้แนวโน้มที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลจากไทยกลับไปยังฝั่งสหรัฐแทนมีมากขึ้นเรื่อยๆ และค่าเงินบาทก็อาจจะเผชิญกับการอ่อนค่าลงเรื่อยๆ กว่าที่เป็นอยู่ สร้างความหวาดหวั่นให้กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในตอนนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก็มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 รอบในปีนี้ ตั้งแต่ครั้งแรก มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% ไปเป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 ส.ค. และขึ้นครั้งที่ 2 อีก 0.25% ต่อปี จาก 0.75 % ดังกล่าว ไปเป็น 1% ต่อปี เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้นมา จากแรงหนุนหลักของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ กนง.ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในครั้งที่ 2 กนง.มีมติเห็นชอบเพื่อจะได้รุกแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงของไทย แต่เรื่องของอนาคต ก็ไม่มีใครรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าปลายทางปัญหาเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะได้รับการแก้ไขได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เพราะสิ่งที่คนไทยจะต้องเผชิญหน้าระหว่างทางในตอนนี้ กลับเป็นการเจอทั้งในเรื่องของค่าครองชีพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำแล้วก็ยังมีดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก กระทบโดยตรงต่อ Cashflow ที่กำลังซื้อนั้นอ่อนแรงลงไปจากเงินที่หายไปจากกระเป๋า ซึ่งแน่นอนว่าการตัดสินใจซื้อบ้าน ที่เป็นสินทรัพย์ขนาดใหญ่ก็จะลดลงตามไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลแบบสอบถามของผู้บริโภคต่อตลาดที่อยู่อาศัย ของทาง DDProperty รายงานว่า ความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย ส่วนใหญ่ คิดเป็น 47% เก็บเงินที่จะซื้อที่อยู่ได้เพียงแค่ครึ่งทาง 25% มีเงินเก็บเพียงพอที่จะซื้อ และอีก 22% ยังไม่ได้วางแผนออมเงิน ซึ่งสรุปรวมได้ความว่า กว่า 75% ของคนไทยใน ณ ขณะนี้ ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการเงินที่จะเป็นเจ้าของบ้าน นอกจากนี้เรื่อง Cashflow หรือกระแสเงินสดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ หากกระแสเงินสดนั้นมีอย่างจำกัด การเช่าก็จะเป็นตัวเลือกที่ยังสามารถคงระดับกระแสเงินสดให้คงที่อยู่ได้มากกว่าการซื้อด้วยเงินก้อนใหญ่ บวกกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้มีราคาที่พุ่งสูงมากกว่าเก่า ก็ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินออมเอาไว้ก่อน
และอีกปัจจัยสำคัญ ก็คือเรื่องของภาระหนี้สิน เนื่องด้วยสินทรัพย์อย่างการซื้อบ้านหรือคอนโด เป็นหนี้ก้อนใหญ่และมีระยะเวลาการผ่อนที่ยาวนาน ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก็ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่ได้กล่าวไปข้างต้น จากผลสำรวจของสถานภาพหนี้ครัวเรือนของไทยปี 2565 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานว่า คนไทยประมาณ 99.6% มีภาระหนี้สิน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เคยมีการสำรวจมา 80% มีปัญหาทางด้านการเงิน 54% มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน และ 44% ยื่นขอสินเชื่อยาก ผนวกกับภาระหนี้จากการขึ้นดอกเบี้ยที่มากขึ้น ก็ทำให้การพิจารณาซื้อบ้านนั้นลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนในกลุ่มคนที่มีแนวคิดจะซื้อบ้านหลังที่ 2 จากข้อมูลของ DDProperty รายงานว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้นมา กลุ่มคนประมาณ 59% วางแผนจะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน และอีก 58% มีการชะลอซื้อออกไป หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะต้องการรักษาสภาพคล่องของตัวเองเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรก และความคาดหวังจากมาตรการของรัฐ ในการช่วยเหลือเรื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ รายงานว่า 62% อยากให้มีการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านใหม่ 58% ต้องการให้มีมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งเงินกู้บ้านใหม่และเงินกู้เดิม และอีก 44% ต้องการให้มีการลดหย่อนภาษีกับผู้ซื้อบ้านหลังแรก
จะเห็นได้ว่าถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเริ่มค่อยๆ ดีขึ้นมาจากปัจจัยของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ แต่ระหว่างทางที่เรื่องของเงินเฟ้อยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเสร็จสมบูรณ์ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นตัวแปรใหญ่ที่ฉุดการซื้อบ้านของคนไทย ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับความซบเซาที่เกิดขึ้นในตอนนี้และยังมีแนวโน้มที่ไม่อาจสู้ดีนัก หากรัฐบาลไม่มีการออกมาตรการเยียวยาเพื่อรองรับและบรรเทาปัญหาการขาดกำลังซื้อของคนไทยที่กำลังปะทุขึ้น
ข่าวเด่น