ภาคการท่องเที่ยวของไทย ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งส่งผลต่อค่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) หรือค่าที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง โดยในช่วง ปี 2562 ปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 11% ของ GDP หรือทำเงินได้มากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวในตอนนั้นอยู่ที่ 40 ล้านคนเลยทีเดียว และนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ก็คือนักท่องเที่ยวจีนนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 จีนเองก็ยังเป็นตลาดการท่องเที่ยวขาออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แต่หลังจากการเกิดวิกฤติดังกล่าวที่ยิงยาวมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายคุมเข้ม Zero Covid เพื่อจัดการเชื้อไวรัสให้กลายเป็นศูนย์ ด้วยการกักตัว และจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ตัวเลขการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก ต้องหายไปถึง 255,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และประเทศไทยที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อขาดนักท่องเที่ยวจีน ที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายในไทย “สูงกว่าค่าเฉลี่ย” ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ทำให้เม็ดเงินสูญหายไปกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงไม่แปลกที่ค่า GDP ในปี 2563 GDP ได้มีการทิ้งดิ่งลงไป หรือมีการหดตัวติดลบร้อยละ 6.2 เลยทีเดียว แม้หลังจากนั้นสถานการณ์จะเริ่มกลับมาทรงตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยในปี 2564 ภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเพียง 428,000 คน หรือคิดเป็นแค่ 1% ของช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 (ที่ 40 ล้านคน) เท่านั้น
แม้ในปี 2565 นี้ สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อำนวยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยสะดวกมากขึ้น โดยช่วง 6 เดือนแรกนี้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วอยู่ที่ 2.08 ล้านคน และหลังการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากกว่าเดิม แต่ตลาดใหญ่ของไทยอย่างจีน ก็ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เนื่องจากยังคงมาตรการคุมเข้มไว้อยู่ การหวังที่จะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เท่าก่อนหน้านี้ด้วยการหวังพึ่งตลาดเก่า จึงยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในตอนนี้ ฉะนั้นการที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว นอกจากนับวันรอคอยให้จีนผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid แล้ว การแสวงหานักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นก็เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ซึ่งหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดก็คือ “ตลาดอินเดีย” นั่นเอง
อินเดียถือได้ว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างมาก ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรที่มากขึ้น โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก และจะยังคงสูงต่อเนื่องในช่วง 5 ปีถัดไป เห็นได้จากในปีล่าสุดนี้ อินเดียได้โค่นอังกฤษและก้าวเข้ามาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกแล้ว ส่วนทาง National Council of Applied Economic Research ก็คาดว่าประชากรอินเดียที่มีรายได้ระดับปานกลางจะมีจำนวนถึง 547 ล้านคนในปี 2569 จากที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยถึง 7.4% ต่อปี และทาง United Nations คาดว่าจำนวนประชากรทั้งหมดจะขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนจีนในปี 2565 จากที่ตอนนี้อยู่ที่อันดับ 2 ของโลกอีกด้วย
อีกทั้งในภาคการท่องเที่ยวขาออก ไทยก็เป็น 1 ใน Destination ที่คนอินเดียนิยมมา จากข้อได้เปรียบของระยะทางที่ใช้เวลาเดินทางจากอินเดียมาไทยไม่นาน รวมถึงความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกกรรม ซึ่งหากเราเบนสายตาออกจากนักท่องเที่ยวจีน จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น มีสัดส่วนการเติบโตถึง 25-30% มาโดยตลอด และภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการของไทย สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เยือนไทย จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. 2565 สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คืออินเดีย โดยมีจำนวนอยู่ที่ 2.35 แสนคน
สำหรับรูปแบบการบริโภคใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอินเดีย จะเน้นน้ำหนักไปที่การซื้อความสนุกสนานและความบันเทิง เช่นกิจกรรมต่างๆ การชมการแสดง หรือการร้องเล่นเต้นรำ และจากข้อมูลของ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ Right Now Ep.196 ของช่อง TAM-EIG ไว้ว่าในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. เป็นช่วงสำหรับการแต่งงานของชาวอินเดีย ก็มีการเข้ามาจัดงานแต่งในประเทศไทยเช่นกัน โดยจะเป็นกลุ่มคนระดับบน ที่นิยมแจกการ์ดงานแต่งและตั๋วเครื่องบินให้กับแขกเพื่อมาร่วมงานแต่งที่ถูกจัดในประเทศไทย ซึ่งแขกที่เดินทางเข้ามาก็มักจะมีการเดินทางเป็นกลุ่ม และอาจมีบริวารของครอบครัวร่วมเดินทางมาด้วย ฉะนั้นจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายบริโภคในไทยในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะมีการจัดงานแต่งในไทยเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของสัดส่วนประชากร
ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจอย่างมากคือกลุ่มของครอบครัว โดยนิยมใช้จ่ายในเรื่องของกิจกรรมสันทนาการ เช่น การไปสวนน้ำ สวนสัตว์ หรือสวนสนุก เนื่องจากราคาไม่แพงเกินไป ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ และเป็นการมาเที่ยวในรูปแบบที่เป็นทริปที่ให้รางวัลกับลูก (อินเดียให้ความสำคัญกับลูกมาก) ฉะนั้นสินค้าพวกของเล่นต่างๆ และพวกอาหารแบบ Fast Food ที่เด็กๆชอบทาน ก็จะขายได้ดี ส่วนกลุ่มที่เดินทางมาไทยครั้งแรกนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มทัวร์ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญให้นักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามายังไทย เพราะการเที่ยวด้วยการมากับทัวร์ยังเป็นที่นิยมในอินเดียค่อนข้างมาก และราคาของทัวร์เที่ยวไทยเป็นระดับราคาเท่ากับทัวร์ไปประเทศเอเชียใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับอินเดีย คนอินเดียส่วนใหญ่จึงเลือกมายังไทยซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากตนมากกว่า โดยจุดหมายปลายทางหลักๆจะเป็น กรุงเทพ พัทยา เชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่งจะมี Free Day 1 วันให้ลูกทัวร์ออกไปช้อปปิ้ง
จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วนักท่องเที่ยวอินเดียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอย่างมาก จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คนในประเทศมีกำลังซื้อมากขึ้น และยังนิยมมาเที่ยวประเทศไทยอีกด้วย แม้สัดส่วนในตอนนี้จะยังไม่ล้มล้างสถิตินักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ถ้าหากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ธุรกิจในประเทศต่างปรับตัวนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมากขึ้น เช่นการเข้าใจในวัฒนธรรมของการต่อรองราคาของคนอินเดีย ด้วยการนำเสนอกลยุทธ์การขายแบบใหม่ การรองรับกลุ่มคนอินเดียที่มีความหลากหลายทางศาสนา ด้วยอาหารที่มีความหลากหลายมากขึ้น หรือการเสริมธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบการทำกิจกรรมตามที่คนอินเดียชอบ ก็อาจเป็นการสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีที่ทำให้ไทยกลายเป็น Destination หลักของคนอินเดีย และดึงดูดกลุ่มคนจำนวนมหาศาลให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศของเรา เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากที่เคยโฟกัสแต่ตลาดจีน และกอบกู้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ฟื้นฟูได้ในเร็ววันมากขึ้น
ข่าวเด่น