Scoop : รู้ทันตัวเอง คุณกำลังซื้อ "สินทรัพย์" หรือ "หนี้สิน" อยู่กันแน่?


 

 

"ทรัพย์สิน" หรือ "ทรัพย์สมบัติ" ที่เราเป็นเจ้าของ หากพิจารณาให้ดีแล้ว ทรัพย์สินนั้นๆ อาจไม่ได้แปลว่ามันคือสินทรัพย์ตามอย่างที่เข้าใจเสมอไป แต่กลับเป็นหนี้สินแฝงที่คอยบั่นทอนเงินในกระเป๋าของเราอยู่ทุกเดือน และคอยฉุดสถานภาพการเงินให้อยู่ที่เดิมหรือตกต่ำลงกว่าเดิมโดยที่เราไม่เคยรู้ตัวเลย


สินทรัพย์ คือ สิ่งที่เราถือครองอยู่แล้วสามารถสร้างรายได้ให้กับเรา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นสิ่งที่ทำเงินเข้ามาในสัดส่วนที่มากกว่าเงินที่เราต้องจ่ายออกไป ส่วนหนี้สิน คือ สิ่งที่ถือครองแล้วมีแต่สร้างรายจ่ายให้กับเรา หรือเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องควักเงินจ่ายออกไปมากกว่าจำนวนเงินที่เราได้รับเข้ามา

ซึ่งจากคำจำกัดความข้างต้น ระหว่าง ‘สินทรัพย์’ กับ ‘หนี้สิน’ ก็ดูเป็นอะไรที่เบสิคและเข้าใจง่าย แต่หลายๆ คนอาจไม่เคยได้ตระหนักถึงความแตกต่างของสองสิ่งนี้เลยเมื่อเรามีความต้องการที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นๆ อย่างมากจนไม่ได้คิดถึงปัจจัยรอบข้าง หรือมาตกม้าตายกับสิทธิในความเป็นเจ้าของที่ตัวเองมีอยู่ จนเผลอคิดไปทรัพย์สินที่ถือครองนั้นเป็นสินทรัพย์ไปเสียหมด ยกตัวอย่างเช่นเสื้อผ้า เราอาจจะคิดว่าเมื่อเราได้ทำการซื้อด้วยเงินสดไปแล้ว ไม่ได้ใช้บัตรเครดิตจ่ายแบบผ่อนชำระ ก็เท่ากับว่าเราได้เป็นเจ้าของเสื้อผ้าชิ้นนั้นแล้ว กลายมาเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าของตัวเอง ไม่ต้องมีการจ่ายเงินใช้หนี้ที่เป็นค่าใช้จ่ายคงค้างภายหลัง คงไม่ใช่หนี้สินหรอก แต่แท้จริงแล้ว การซื้อเสื้อผ้าไม่ใช่การจ่ายครั้งเดียวแล้วจบ แม้จะเป็นการซื้อด้วยเงินสดก็ตาม เพราะเสื้อผ้าจำเป็นต้องมีการดูแลรักษา ทั้งการซักอบรีด หรือการจัดเก็บ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียเพื่อดูแลเสื้อผ้าของเรา หากไม่มีน้ำหนักมากพอว่าเสื้อผ้านั้นสามารถทำเงินเข้ามาได้มากกว่าเงินที่ต้องเสียออกไปกับค่าดังกล่าว เสื้อผ้าชิ้นนั้นก็คือหนี้สินดีๆนี้เอง

และทรัพย์สินที่ดูจะเป็นที่กังขามากที่สุดในการจำแนกว่าเป็นสินทรัพย์ หรือ หนี้สินอย่าง "บ้าน" หรือที่อยู่อาศัย ที่หลายๆ คนมี Mindset จากคำสอนที่ส่งต่อๆ กันมาว่า บ้านถือเป็นสินทรัพย์ที่ควรลงทุน เพราะจะทำให้เรามีความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย

เป็น1ในเป้าหมายสำคัญสำหรับชีวิตคนที่ควรทำให้สำเร็จ และยังเป็นสินทรัพย์ที่นับวันราคาจะมีแต่เพิ่มขึ้นไม่ขาดทุน ซึ่งแนวโน้มของราคาอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตเพิ่มขึ้นตลอดเวลาถึง 6-8% ต่อปี ผนวกกับที่ดินก็มีแต่ราคาจะสูงขึ้นตามกาลเวลา ถ้าหากอ้างอิงจากข้อมูลนี้ ก็เป็นเหตุผลสนับสนุนที่มีน้ำหนักอย่างมากในการตัดสินใจลงทุนซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง แต่ถ้าหากมองปัจจัยอีกด้านที่ว่า แม้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่สูงขึ้นจริง แต่การเติบโตของรายได้กลับสูงตามราคาของอสังหาริมทรัพย์ไม่ทัน เพราะการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ต่อปีเท่านั้น หากทำงานเก็บเงิน1ก้อนใหญ่เพื่อมาซื้อบ้านสักหลัง ก็มีแต่ต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น จากราคาบ้านหลังเดิมที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลาในอัตราเร่งที่มากกว่าเงินที่หาได้ อีกทั้งหากเลือกที่จะผ่อนชำระบ้าน ก็ต้องพึ่งบริการสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินที่มี "ดอกเบี้ย" เข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย ภาระผูกพันจากทรัพย์สินที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ หากบ้านหลังนั้นที่เราลงทุนไป ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือกระแสเงินสดเข้ามาเลย แต่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าแทน ทั้งค่าผ่อนบ้าน ดอกเบี้ย ค่าซ่อมบำรุง หร่อค่าตกแต่ง บ้านหลังนั้นที่เราหลงคิดไปว่าเป็นสินทรัพย์ แท้จริงแล้วมันก็คือหนี้สินก้อนโตดีๆ นี่เอง

แต่กรณีถ้าหากเป็นบ้านที่เราซื้อไว้เพื่อการลงทุน ที่สามารถปล่อยเช่าเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ในจำนวนที่มากกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้น ก็สามารถจัดได้ว่าบ้านหลังนี้เป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่หนี้สินได้ ซึ่งจริงๆแล้วการซื้อบ้าน รวมถึงของอื่นๆ จะจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์ หรือ หนี้สินนั้น มันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการซื้อของเรา หากซื้อบ้านไว้อยู่อาศัยเองไม่ได้ปล่อยเช่า ก็อาจไม่ได้จัดเป็นหนี้สินอย่างที่กล่าวไปข้างต้นเสมอไป เช่น ถ้าซื้อบ้านสำหรับตัวเองโดยคิดคำนวณแล้วไว้ว่า เป็นทำเลที่อยู่ใกล้กับสถานที่ทำงานของตัวเอง ที่มีโอกาสในการเติบโตในสายการงานกับที่นี้ได้ เป็นพื้นที่ๆ สะดวกเข้าถึงสาธารณูปโภคได้ง่ายดาย ประหยัดเวลา สามารถเอาเวลาที่เหลือไปสร้างรายได้อื่นๆ ได้ หรือแม้แต่การซื้อบ้านเพื่อเป็นที่อยู่และเป็นพื้นที่ทำงานที่สร้างกระแสเงินสดให้กับเราโดยคุ้มกับค่าใช้จ่ายของบ้านที่เสียไป ก็สามารถจัดได้ว่าบ้านหลังนี้ ก็คือสินทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน หรือ แม้แต่เสื้อผ้าที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุน ทำให้ตัวเองดูดีเพื่อไปสัมภาษณ์งาน หรือไปแคสงานแล้วได้รับการตอบรับการจ้างงานที่มีความคุ้มค่ากว่าเงินที่เราเสียเงินซื้อไปกับค่าดูแลรักษา เสื้อผ้าดังกล่าวก็สามารถถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ได้อีกเช่นกัน

ฉะนั้น การจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างหนึ่งเข้ามาเป็นทรัพย์สินของตัวเอง ก็ควรจะทบทวนจุดประสงค์และคำนวณชั่งน้ำหนักให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งนั้นจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับเรา หรือจะนำมาซึ่งรายได้มากกว่าเงินที่เราเสียไปหรือไม่ หากประเมินศักยภาพแล้วว่าสิ่งนั้นจะสร้างกระแสเงินสดให้กับเราได้ ก็เท่ากับว่าเรามี "สินทรัพย์" ที่ส่งเสริมสถานภาพการเงินที่ดีไว้กับตัว แต่ถ้าหากตัดสินใจซื้อโดยไม่คิดให้ดี ตกหลุมพรางกับการได้ครอบครองเป็นเจ้าของ เราก็อาจมีหนี้สินที่นับวันมีแต่จะเบียดเบียนกระแสเงินสดของเราโดยที่ไม่รู้ตัวก็เป็นได้

LastUpdate 16/10/2565 17:03:05 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 22, 2024, 12:36 pm