เรียกได้ว่าทำสถิติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษเลยทีเดียว สำหรับ "ลิซ ทรัสส์" นายกรัฐมนตรีของอังกฤษหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ และนายกคนสุดท้ายในรัชสมัยของ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชอาณาจักร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่ 45 วันเท่านั้น
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 เวลา 13.34 น. ตามเวลาของอังกฤษ นางลิซ ทรัสซ์ ได้แถลงลาออกจากตำแหน่ง หน้าบริเวณทำเนียบหมายเลข 10 โดยการแถลงข่าวใช้เวลาเพียง 90 วินาที และไม่มีการเปิดให้ซักถาม เหตุผลที่เธอลาออกหลังดำรงตำแหน่งเพียงระยะเวลาสั้นๆนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจริงๆแล้วนางลิซ ทรัสส์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน แต่มาจากการเลือกของพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ
กล่าวคือ ระบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น จะมาจากการเลือกเสียงข้างมากในพรรคอนุรักษ์นิยม โดยมี Government Backbencher สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จัดตั้งเป็นคณะกรรมการที่มีการประชุมทุกอาทิตย์ ดูแลตรวจสอบรัฐบาล และทำหน้าที่เลือกผู้นำประเทศ ซึ่งภายหลังการสิ้นสมัยของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนก่อน คณะกรรมการของ Backbencher ก็จะมีหน้าที่ลิสรายชื่อผู้สมัคร คัดคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จนเหลือผู้สมัครอยู่ 2 คนสุดท้าย ได้แก่ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ และนางลิซ ทรัสส์ ที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในตอนนั้น จากนั้นทั้งสองคนเริ่มการรณรงค์หาเสียงจากบรรดาสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คน ซึ่งบรรดาสมาชิกพรรคเป็นกลุ่มที่มีความต้องการในการลดภาษีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงกับนางลิซ ที่มีนโยบายปรับลดอัตราภาษี รวมทั้งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนของอังกฤษ สวนทางกับนโยบายของนายซูแนค ที่มีการคัดค้านปรับลดอัตราภาษี และมองว่ารัฐบาลควรสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อมากกว่า นางลิซจึงชนะการเลือกตั้งไปและได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา สวนทางกับความต้องการของประชาชนเสียงข้างมากที่ต้องการให้นายซูแนคเป็นนายกรัฐมนตรี
และการดำเนินงานของนางลิซในฐานะนายกรัฐมนตรีทำตามนโยบายการลดภาษี ในแผนที่จะสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงด้วยการเก็บภาษีต่ำ ที่ทั้งลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการการยกเลิกการขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมของสหราชอาณาจักร การยกเว้นการเก็บอากรแสตมป์ที่อยู่อาศัย และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เป็นปัญหา จากสภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่การลดภาษีลง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสภาวะที่รายได้ของคนก็ลดลง ผนวกกับข้าวของที่มีราคาแพงขึ้นจากการตกอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ผลที่ออกมายิ่งทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเกิดความปั่นป่วน เป็นการสุมไฟให้สถานการณ์เงินเฟ้อยิ่งย่ำแย่กว่าเดิม ราคาพันธบัตรขึ้นสูงจากการที่นักลงทุนแห่ขายเงินปอนด์ครั้งใหญ่ ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง จนธนาคารแห่งชาติอังกฤษที่นอกจากต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังต้องใช้เงินหลายพันล้านปอนด์เข้ามาซื้อพันธบัตรเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้
จากปัญหาครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ทำให้นางลิซ แก้ปัญหาด้วยการไล่ "ควาซี ควอร์เทง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออก และแต่งตั้งให้ "เจเรมี ฮันต์" อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แต่การดำเนินงานของนายเจเรมีนั้นเรียกได้ว่าสวนทางกับนโยบายกทางการเงินของนางลิซทั้งหมด ทำให้ผู้คนต่างเรียกเขาว่าเป็นนายกรัฐมนตรีแบบพฤตินัย อัตลักษณ์นายกรัฐมนตรีของนางลิซนั้นเกิดการสั่นคลอนอย่างหนัก เพราะเหมือนเป็นการดำรงตำแหน่งเพียงในนามเท่านั้น ประกอบกับประชาชนก็ไม่เห็นด้วยกับตำแหน่งที่ได้มา
เมื่อเผชิญกับแรงกดดันอย่างล้นหลาม ประกอบกับตัวเลข CPI ล่าสุดที่ฟ้องออกมาว่าเงินเฟ้อนั้นพุ่งขึ้นสูงไปถึงระดับที่ 10.1% แล้ว ทำให้ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา นางลิซจึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ หลังดำรงตำแหน่งได้เพียง 45 วัน เนื่องจากไม่สามารถทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในสภาวะที่กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อเอาไว้ได้
หลังจากการลาออกของนางลิซ ทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือพรรคอนุรักษ์นิยมจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ในสัปดาห์หน้า เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศคนต่อไป ซึ่งนางลิซจะยังคงรักษาการในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไปก่อน จนกว่าจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่
ข่าวเด่น