ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงหน้าหนาวอย่างเป็นทางการ ยุโรปต้องตั้งรับมือกับเหตุการณ์กับเรื่องของปัญหาทางด้านพลังงานอย่างจริงจัง เนื่องจากทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นมีราคาสูงขึ้นมาก จากการคว่ำบาตรทยอยลดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงและกดดันรัสเซียไม่ให้มีงบประมาณเพื่อเอาไปทำสงครามกับยูเครน แม้ยุโรปจะดูเอาจริงกับการแบนรัสเซีย ที่ถึงจะกระทบกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศตัวเองก็ตาม แต่มีพลังงานหนึ่งที่ยุโรปไม่เคยพูดถึง ไม่เคยประกาศคว่ำบาตรเลย ก็คือ "พลังงานนิวเคลียร์" และยังมีการนำเข้าจากทางรัสเซียอย่างเงียบๆอยู่
แม้ทางสหภาพยุโรปจะมีการคว่ำบาตรรัสเซียไปหลายครั้งแล้วในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยิงยาวมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยมีการคว่ำบาตรด้านพลังงานนิวเคลียร์เลย ซึ่งมันก็เป็นท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญของรัสเซียอีกอย่างหนึ่งเสียด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่า รัสเซียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยการขายพลังงานเป็นหลัก เนื่องจากมีทรัพยากรด้านนี้อยู่มากจนเรียกได้ว่าเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านพลังงาน ที่ทางฝั่งยุโรปเองจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นจำนวนมากมานานหลายปีแล้ว โดยในรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่เป็นรอบที่ 8 โดยการอัพเดตการแบนสินค้า ที่คิดเป็นมูลค่าความเสียหายให้กับทางรัสเซียถึง 7 พันล้านยูโรเลยทีเดียว มองเผินๆดูเหมือนว่ายุโรปนั้นเดินหน้าอย่างจริงจังที่จะทำให้รัสเซียพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แต่หากพิจารณาดูดีๆแล้ว ข้อสังเกตใหญ่ๆเลยก็คือ พลังงานนิวเคลียร์ยังไม่ถูกออกมาพูดถึงเลย ซึ่งจากรายงานของ CNBC ได้ให้ข้อมูลว่า ท่ามกลางการคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงนั้น ฉากหลังยุโรปแอบนำเข้าพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซีย และทางฝั่งของประธานาธิบดียูเครน "โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี" ก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน ว่ายุโรปจำเป็นต้องคว่ำบาตรอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ไม่ใช่เพียงคว่ำบาตรพลังงานด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเท่านั้น หากต้องการให้รัสเซียแพ้สงครามอย่างที่ตั้งใจไว้
แต่เหตุผลความสองมาตรฐานของยุโรป ที่เสมือนการกลับลำการแบนรัสเซียนี้ อาจมีสาเหตุมาจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น โดยธรรมชาติของมันมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก แต่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล เรียกได้ว่าลงทุนเพียงนิดเดียวแต่ได้ผลลัพธ์กลับมาเป็นทวีคูณ และยังจัดอยู่ในประเภทของพลังงานสะอาดอีกด้วย เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือของเสียมากกว่าการผลิตพลังงานจากแหล่งอื่น แต่ก็มาพร้อมกับความจำเป็นที่ต้องควบคุมดูแลอย่างรัดกุม เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี และเกิดการระเบิดที่มีพลังทำลายล้างอย่างมหาศาลอย่างที่เคยมีเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งผู้ผลิตโรงฟ้านิวเคลียร์รายใหญ่ของโลก ได้แก่ บริษัท อาเรวา ของฝรั่งเศส ที่มีอยู่ 96 เตา บริษัทโรซาตอม ของรัสเซีย ที่มีเตาอยู่จำนวน 68 เตา และบริษัทเจเนอรัลอิเล็คทริกส์ฮิตาชิ ของญี่ปุ่น 64 เตา จะเห็นได้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซียมีอิทธิพลเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีหลายๆประเทศที่ใช้บริการของบริษัทโรซาตอมอยู่ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝั่งยุโรปในหลายๆแห่งก็ใช้บริการของบริษัทจากทางรัสเซียบริษัทนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งหากสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรพลังงานนิวเคลียร์ของทางรัสเซียอีก ก็เหมือนกับเป็นการตัดแขนขาตัวเอง ซ้ำเติมให้วิกฤตทางพลังงานนั้นย่ำแย่ไปมากกว่าเดิมอีก เพราะตอนนี้หาพลังงานทดแทนได้ยากมากแล้ว จากการคว่ำบาตรน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติก่อนหน้านี้
และอีกเหตุผลที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะระดับสูงในการจัดการการดูแล หากมีการเปลี่ยนบริษัทดูแล ไม่ใช้บริการของโรซาตอมแล้ว ก็นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้
จากภาพด้านบน จะเห็นว่าในฝั่งยุโรป มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้บริการของบริษัทโรซาตอม ของรัสเซียอยู่ทั้งหมด 18 แห่ง ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่มากเลยทีเดียว
นอกจากนี้จากรูปด้านบน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็นต้องมีสารตั้งต้นอย่างแร่ยูเรเนียม เป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งการนำเข้ายูเรเนียมจากรัสเซียมายังยุโรปนั้นกินสัดส่วนเป็นอันดับ 3 ถึง 19.7%
จะเห็นได้ว่ายุโรปนั้นแม้จะมีการคว่ำบาตรถึง 8 ครั้งเข้าไปแล้วเพื่อกดดันให้รัสเซียหยุดการโจมตียูเครน แต่การแบนไม่ซื้อพลังงานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากทางรัสเซียก็เหมือนกับการหนีเสือปะจระเข้อยู่ดี ที่ยุโรปต้องเสี่ยงกับวิกฤตขาดแคลนพลังงานเสียเอง ครั้นจะแบนพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียก็ไม่อาจสามารถทำได้แล้ว เพราะจะทำให้ประเทศย่ำแย่มากกว่าเดิม นอกจากนี้บริษัทโรซาตอม ก็รับผิดชอบอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของทางรัสเซียด้วย เท่ากับว่าโรซาตอมก็เหมือนกับเป็นรัฐวิสาหกิจของรัสเซียดีๆนี้เอง อีกทั้งนอกจากจะบริการจัดการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ยังดูแลเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ให้กับทางรัสเซีย ที่เคยประกาศว่าจะมีแผนเอามาใช้ในสงครามอีกด้วย ฉะนั้นมาตรการการคว่ำบาตรที่เราเห็นจากทางฝั่งยุโรปที่ออกมา ก็อาจเป็นเพียงแค่ละครตบตาชาวโลก เป็นตัวละครสมทบที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในเกมกระดานนี้ตั้งแต่แรก
ข่าวเด่น