ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ อนุมัติให้คนต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ แต่มีเงื่อนไขต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เพื่อหวังดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ข้อกังขาคือ ร่างกฎกระทรวงนี้จะกลายเป็น "ดาบสองคม" ที่หันกลับมาทำร้ายคนไทยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยในพื้นที่ๆมีศักยภาพ และมีโอกาสเป็นเจ้าของได้ยากยิ่งขึ้นหรือไม่
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด หรือ Open Economy ที่จำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศในระดับสูง จากรายได้หลักๆทั้งทางภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ที่กินสัดส่วนเกินครึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แปลได้ว่าลำพังแค่การบริโภคภายในประเทศของคนไทยด้วยกันนั้นไม่เพียงพอที่จะเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักให้กับระบบเศรษฐกิจได้ เห็นได้จากช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเกิดการหดตัวเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ทำรายได้คิดเป็น 12% ของ GDP ลดลง และภาคการส่งออก ที่ทำรายได้มากกว่า 50% ของ GDP นั้นติดลบ แม้ในตอนนี้เรื่องของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่เศรษฐกิจไทย และภาพใหญ่อย่างเศรษฐกิจระดับโลกนั้นยังไม่ฟื้นฟูกลับมาเต็ม 100% เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้อทับถมเข้ามาซ้ำเติมอีกระลอกใหญ่ ที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนทำให้ประเทศไทยต้องเจอกับปัญหาค่าเงินบาทอ่อน เพราะเงินทุนต่างประเทศได้ไหลออกจากไทยไปหาสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า
ปัญหาที่คงค้างมาตั้งแต่พิษโควิด-19 จนถึงเรื่องเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่รุมเร้าทั้งกับภาครัฐและภาคเอกชนที่สะท้อนออกมาเป็นปัญหาหนี้เสีย NPL และหนี้ครัวเรือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีหนี้สินที่อยู่ในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นมาเป็น 8.2% ของหนี้ครัวเรือนรวมในไตรมาส 2/2565 (จาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 7.7% ในไตรมาส 4/2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด-19) ฟ้องให้เห็นถึงผู้คนจำนวนมากกู้ยืมผ่านสินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นเนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
การที่ ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติสามารถเข้าซื้อที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงถือเป็นการอนุมัติตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งจากการแถลงของนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงสาระสำคัญของกฎกระทรวงใจความว่า มีเป้าหมายที่ดึงดูดกลุ่มคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภทมาซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยจำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัย ตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
ส่วนจำนวนเงินลงทุนที่ระบุไว้ว่าไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทนั้น จะต้องลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลก็มีความคาดหวังว่าจะสามารถดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้ามามาหมุนเวียนในระบบถึง 1 ล้านล้านบาท อันเป็นการเอาเงินต่างชาติมาลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพิ่มตัวเลขการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ Know How เป็นหลักการที่ทำให้ประเทศเกิดมีความพัฒนา เกิดความเจริญก้าวหน้านั่นเอง
แม้จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น เราได้เห็นถึงข้อดีของร่างกฎกระทรวงนี้ว่าจะเป็นตัวแปรหลักเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง มันก็อาจเป็นดาบสองคมที่หันกลับมาทำร้ายคนไทยก็เป็นได้ เพราะส่วนใหญ่การดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติที่แลกกับที่ดินมักจะอยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม หรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดินในไทยระหว่างที่มาลงทุนในไทย หรือก็คือการซื้อที่ดินระหว่างการประกอบกิจการในไทยตามบริบทของภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นที่เข้าใจได้ และไม่ได้กระทบกับคนไทยโดยตรง เพราะนับเป็นการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และ Know How ให้กับประเทศไทย และพื้นที่ที่เปิดให้ซื้อนั้นอยู่ในเขตของอุตสาหกรรม
แต่การเปิดให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อมาเป็น “ที่อยู่อาศัย” อาจกลายเป็นการไล่คนไทยออกจากพื้นที่ท้องถิ่น หรือทำให้คนไทยเข้าถึงการมีที่อยู่ได้ยากกว่าเดิม เพราะการลงทุนจากภายนอกเข้ามาจะทำให้ที่ดินในเมืองมีราคาแพงสูงขึ้นมากกว่ากลไกตลาด จนคนในพื้นที่อยู่ไม่ไหว จำเป็นต้องย้ายออกไป หรือทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ได้เนื่องจากมีราคาแพง จนต้องไปเลือกที่อยู่อาศัยในทำเลที่มีศักยภาพหรือสิ่งอำนวยความสะดวกรองลงมา แต่ด้านของนายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า มาตรการนี้ไม่น่าจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น เพราะเป็นการออกมาตรการให้กับชาวต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งในขณะนี้ถ้าเป็นชาวต่างชาติก็สามารถซื้ออาคารชุดได้อยู่แล้ว 49% และไม่จำกัดราคา ตามมาตรการก่อนหน้านี้ ส่วนด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีความคิดเห็นกับร่างกฎกระทรวงนี้ว่า อยากเห็นการจำกัดราคาซื้อขั้นต่ำของต่างชาติมากกว่า โดยให้ซื้อเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาสูงเท่านั้น เช่น ต้องมีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงจะสามารถซื้อได้ เพื่อไม่ให้กระทบความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า หลังจากการอนุมัติให้ต่างชาติซื้อที่ดินสำหรับการอยู่อาศัยได้ ครม.จะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่ออุดความเสี่ยงที่อาจสร้างผลกระทบให้กับคนไทย แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือด้านภาคเศรษฐกิจไทยตามความตั้งใจแรกหรือไม่ หรือนี่อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในไทยและขยายข้อจำกัด “ดึงดูด” ชาวต่างชาติให้เข้ามาในไทยมากกว่าเดิมในอนาคต จนอาจแลกมาด้วยการถูกกลืนกินความเป็นชาติก็เป็นได้
ข่าวเด่น