APEC หรือ Asia-Pacific Economic Cooperation คือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคม และการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค
โดยปัจจุบัน APEC มีสมาชิกอยู่ 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย ไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ประชากรของ APEC จึงมีจำนวนรวมกว่า 3,000 ล้านคน คิดเป็นตลาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งโลก (GDP) หรือกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมเกินสัดส่วน GDP ร้อยละ 60 ของโลก
ซึ่งหมายความว่า การประชุมหารือระหว่างสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเกิดผลลัพธ์ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ที่จะส่งผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจของทั้ง 21 ประเทศ โดยงาน APEC 2022 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ การประชุมจะครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายหลักของงาน ภายใต้หัวข้อหลัก คือ Open.Connect.Balance หรือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล แบ่งออกเป็น Open การเปิดกว้างสู่โอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม ผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 Connect การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกัน การท่องเที่ยว และความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ที่เน้นว่าต้องมีความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อสร้างการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคด้วย และ Balance การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG)
แล้ว APEC ส่งผลดีอย่างไรต่อประเทศไทย?
การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 ในหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย.นี้ ที่รัฐถึงต้องกับประกาศวันหยุดพิเศษ และปิดเส้นการจราจรหลายแห่งตั้งแต่วันที่ 16 - 19 พ.ย. เป็นสิ่งที่บ่งบอกกับเราว่างานนี้นั้นมีความสำคัญอย่างมากและถือว่าเป็นอีเว้นท์ระดับชาติเลยก็ว่าได้ ซึ่งความพิเศษของการจัดประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้คือ เป็นงานที่มีการพบปะอย่างตัวเป็นๆครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ที่ทำให้การประชุม APEC ปี 2020 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน และปี 2021 ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ เป็นไปในรูปแบบของการประชุมทางไกล และไม่ได้สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้ง 21 เขตพิเศษเท่าที่ควร ฉะนั้นด้วยการเป็นปีแรกที่การประชุมครั้งนี้เป็นแบบ On Site กระทรวงต่างประเทศจึงได้มีการประชุมร่วมกันอย่างจริงจังในทุกภาคส่วนตั้งแต่สองปีที่แล้วเพื่อร่วมกำหนดแนวทาง ธีมในการประชุมให้เกิดผลสำเร็จในการร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจับต้องได้ และการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สถานการณ์สงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนพลังงานและอาหาร และปัญหาเงินเฟ้อที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ ยิ่งสร้างความจริงจังในการประชุมครั้งนี้เพื่อมุ่งการหาทางออกทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ฉะนั้นการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย จะเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงต่อสายตาชาวโลกว่าเราสามารถปรับตัวรับมือกับสภาวะปัญหาดังกล่าว พร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ในเวลาเดียวกัน และยังเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ อันส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน จากที่เราได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ จากเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นสายของการนำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
แม้ภาพใหญ่ของผลลัพธ์ที่กล่าวมานั้นยังมาไม่ถึง แต่เราก็สามารถเห็นถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมในไทยอย่างแรกเลยคือ เมื่อมีการจัดการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะมีบุคลากรคณะของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจพิเศษ APEC ทั้งหมด เดินทางเข้ามาในประเทศของเรา ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ จนถึงรัฐมนตรี และผู้นำของประเทศ อีกทั้งยังมีสื่อต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำข่าวเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นสิ่งที่ตามมาคือยอดการบริโภคทั้งสินค้าและบริการต่างๆจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งด้านของภาคการขนส่ง การท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมที่พัก อาหารการกิน สินค้าต่างๆ หรือภาคการบริการใดๆ ก็ตามที่มีความเกี่ยวโยงกับการมาประชุม ซึ่งนับเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ส่งผลดีต่อ GDP ของประเทศ และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยจากประสบการณ์ที่พวกเขาได้สัมผัสตลอดการมาประชุม เป็นแต้มต่อที่สามารถนำไปสู่การร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนชาวไทยได้ในหลายๆ ภาคส่วนอีกด้วย
ฉะนั้นแล้ว APEC 2022 ถือเป็น อีเว้นท์ระดับชาติและระดับโลก ที่จะบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ทุกหน่วยงานของไทยจะให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้และเตรียมตัวกันอย่างจริงจัง ทั้งประกาศวันหยุด ปิดเส้นทางถนน ไปจนถึงงดจอดสถานีรถไฟฟ้าในบางแห่ง เพื่อให้การจัดประชุม APEC 2022 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งหากการประชุมทางเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี ไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด และเป็นฐานที่มั่นคงให้กับภาคธุรกิจในทุกระดับให้กลับมายืนอยู่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ข่าวเด่น