Special Report : รู้หรือไม่? ไทยผลิตคาเวียร์ได้แล้ว นำขึ้นโต๊ะผู้นำใน APEC 2022 ชูความเป็นครัวโลกสู่สายตาชาวโลก


 

 

ไข่ปลาคาเวียร์ หรือ ไข่ของปลาสเตอร์เจียน จัดเป็นวัตถุดิบที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีศาสตร์ในการกินที่พิถีพิถัน และมักนิยมนำมาประกอบเป็นจานอาหารชั้นเลิศ ทั้งในฝั่งของยุโรปที่มีวัฒนธรรมในการกินมาอย่างยาวนาน และการฟิวชั่นกับอาหารท้องถิ่นในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เพื่อเพิ่มความพิเศษในมิติของรสชาติและมูลค่าให้กับเมนูอาหารนั้นๆ


 
กระทงทองไส้ครีมซอส และไข่ปลาคาเวียร์ หนึ่งในเมนูต้อนรับผู้นำระดับโลกของการประชุม APEC 2022

 
ด้วยความที่ไข่ปลาคาเวียร์มีราคาแพง เพราะหายากและต้องรอเวลายาวนานกว่าจะได้ผลผลิต จึงเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก จนปลาสเตอร์เจียนที่อยู่ชุกชมในบริเวณทะเลสาบแคสเปียน เขตแดนระหว่างรัสเซียและอิหร่านนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการทำฟาร์มเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ถึงจะเป็นการเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ก็ยังต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้เป็นไข่คาเวียร์ออกมา ไข่ปลาคาเวียร์จึงยังคงมูลค่าสูง สมกับความทุ่มเทและความอุตสาหะในการเพาะเลี้ยง ซึ่งนอกจากรัสเซียและอิหร่านที่เป็นแหล่งผลิตคาเวียร์ใหญ่ที่สุดแล้ว ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนยังกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งประเทศ อื่นๆ ในฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน รวมถึงประเทศไทย ที่คนไทยหลายๆ คน (รวมถึงผู้ที่กำลังอ่านอยู่) เพึ่งจะรู้ จากกรณีในงาน APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และได้เสิร์ฟเมนู “Amuse-Bouche กระทงทองไส้ครีมซอส และไข่ปลาสเตอร์เจียน" ขึ้นโต๊ะให้กับผู้นำเอเปค จนเกิดดราม่า ตั้งคำถามขึ้นมาบนโลกโซเชี่ยลถึงการนำเสนอความเป็นไทยจากจานอาหาร

แต่แท้จริงแล้วไข่ปลาคาเวียร์ ที่อยู่บนจานอาหารดังกล่าว มีแหล่งที่มาจาก หน่วยวิจัยประมงพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ มูลนิธิโครงการหลวง ต่อยอดจากการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจี้ยนในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้วิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยเป็นโครงการที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนได้เป็นที่แรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งใช้เวลาอยู่ 8 ปีจนได้ไข่ออกมาทำเป็นไข่คาร์เวีย และใช้เวลา 17 ปีจนมีการเพาะพันธุ์ที่เสถียร ซึ่งไทยได้ขอพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนที่เรียกว่า “ไซบีเรียน สเตอร์เจียน (Siberian sturgeon)” จากรัสเซียมาเพาะพันธุ์ เนื่องด้วยสเตอร์เจียนเป็นปลาที่มีอยู่หลากหลายพันธุ์ทั้งเลี้ยงในน้ำเค็มและน้ำจืด แต่ทุกพันธุ์จำเป็นต้องเลี้ยงในน้ำที่มีความเย็นจัด ไซบีเรียน สเตอร์เจียน จึงมีความง่ายและความเหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงบนพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดอย่างดอยอินทนนท์ โดยใช้น้ำตกสิริภูมิในการเลี้ยง และมีการคงอุณหภูมิน้ำไว้ที่ 18 องศาเซลเซียส ซึ่งไข่ปลาคาเวียร์ของทางโครงการหลวงนี้ มีการจำหน่ายโดยบรรจุแบบกระปุกขนาด 100 กรัมในราคา 5,000 บาท และขายในกิโลกรัมละ 60,000 บาท

แม้ไข่ปลาคาเวียร์ที่ได้ จะไม่ได้มาจากปลาเบลูก้า สเตอร์เจียน สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบแคสเปียนและผลิตไข่ปลาคาเวียร์เบลูก้า (Beluga Caviar) ซึ่งเป็นชนิดของคาเวียร์ที่แพงและและหายากที่สุด แต่ไข่ปลาคาเวียร์ของโครงการหลวง ที่เพาะเลี้ยงมาด้วยความพยายามและความทุ่มเทของนักวิจัยไทยยาวนานกว่า 17 ปี ก็จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในคาเวียร์ที่มีคุณภาพ และเชิดหน้าชูตาให้กับไทยในฐานะที่เป็นประเทศมี่มีความโดดเด่นในเรื่อง Food Culture ซึ่งจะทำให้เราเข้าใกล้สู่การเป็นครัวโลก และสร้างความได้เปรียบทางการพัฒนาเศรษฐกิจจากการประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้

LastUpdate 20/11/2565 16:51:30 โดย :
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 1:00 am