จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยิงยาวมาจนถึงปลายปีและไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ทำให้ประเทศในฝั่งยุโรปต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ราคาก๊าซและน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จนเสี่ยงกับการเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งเรื่องของ Productivity ภายในแต่ละประเทศที่มีประสิทธิภาพเสื่อมถอยลง ทำให้แม้จะมีความเข้มแข็งในการเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก แต่มรสุมต่างๆที่กำลังรุมเร้านี้ อาจเป็นสัญญาณที่โลกกำลังมีการเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจอีกครั้ง
ยุโรปถือว่าเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน) เนื่องจากยุโรปมีความสำคัญต่อการค้าโลกเป็นอย่างมาก มีตลาดทุนใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก ที่มีสกุลเงิน Euro เป็นสกุลเงินสำรอง หรือเรียกได้ว่าเป็นสกุลเงินที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วโลกมาใช้เป็นทุนสำรอง ยุโรปจึงมีความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจอย่างมากมาอย่างยาวนาน แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่สหภาพยุโรปอยู่ในฝั่งของกลุ่มพันธมิตรตะวันตก ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้กลับเป็นการฆ่าตัวเองตายแทน เนื่องจากยุโรปมีการพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงานอย่างมาก และพลังงานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุโรปมาอย่างยาวนาน การแบนการใช้พลังงานจากรัสเซีย ทำให้ยุโรปตกอยู่ในสภาวะของการขาดแคลนพลังงาน ต้นทุนการใช้ชีวิตมีราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากกระทบกับ Supply Chain ซึ่งก็ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามมา หรือค่าของ CPI พุ่งสูงขึ้นกว่า 8.5% ในปีนี้ (จากปีที่แล้ว 2.6%) จนต้องมีการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัวตามมา ซึ่งก็จะยิ่งทำให้อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนลดลง และเสี่ยงต่อการเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
โดยโอกาสที่ยุโรปจะเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้านั้นมีอยู่ 80% เลยทีเดียว ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก สอดคล้องกับรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ชี้ว่าตัวเลข GDP ของยุโรปจะมีการหดตัวอยู่ที่ -0.1%ในปีหน้า (จาก3.1%ในปีนี้) อีกทั้งเรื่องสำคัญอย่าง Productivity หรือ ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในเรื่องของกำลังการผลิต การทำงาน รวมถึงการบริการภายในประเทศ นั้นก็มีทิศทางที่อ่อนค่าหรือมีประสิทธิภาพที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สอดคล้องกับรีพอร์ตของ Deutesche Bundesbank รายงานว่า การเติบโตของ Productivity ในฝั่งโซนยุโรปนั้นมีการชะลอตัวลงในรอบ 20 ปี ผนวกกับข้อมูลของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Bank of San Francisco) ก็ได้ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า การเติบโตของ Productivity ค่อนข้างเป็นที่น่ากังวล เนื่องจากแรงงานของทางฝั่งยุโรปมีความทุ่มเทในงานที่น้อยกว่าแรงงานของทางฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะจีน อันมีเหตุผลหนึ่งมาจากเรื่องของค่าแรงยุโรปที่มีสัดส่วนสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้การจริงจังกับการทำงานนั้นน้อยลง ผิดกับประเทศที่มีค่าแรงขั้นที่ต่ำกว่าซึ่งจะมีแนวโน้มความกระตือรือร้นในการทำงานมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ทางฝั่งของ Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง Bridgewater ได้ออกมาวิเคราะห์ว่ายุโรปนั้นมีการทำงานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ยุโรปมีแนวโน้มที่จะมีความเสื่อมถอยทางอำนาจ พร้อมกันนั้นก็ได้ทำการ Short บริษัทของทางฝั่งยุโรปถึง 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็น Movement ที่สร้างความแตกตื่นอย่างมากในฝั่งตลาดทุน โดยจากการนำทัพของ Ray Dalio นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลายคนก็ออกมาแสดงท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการตอกย้ำว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจของยุโรปนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากเลยทีเดียว
แม้ในฝั่งยุโรป หรือ Euro Zone ที่ประกอบไปด้วย 19 ประเทศที่มีความแข็งแกร่งของการใช้เงินสกุลหลักเดียวกันอย่างสกุล Euro เป็นแต้มต่อให้ยุโรปครองตัวเป็นประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก แต่มรสุมที่ทยอยรุมเร้าอย่างไม่จบไม่สิ้นในตอนนี้ และยังมีคลื่นใต้น้ำของปัญหา Productivity ที่รอวันปะทุขึ้นมาอีก ไม่แน่ว่าโลกอาจกำลังเดินทางมาถึงการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ที่กำลังจะมีประเทศอื่นเข้ามาแทนที่ที่ยุโรปกำลังยืนอยู่ก็เป็นได้
ข่าวเด่น