Zero Covid” หรือ “โควิด เป็น 0” เป็นนโยบายการคุมเข้มของจีน ที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาให้ไวรัสโควิด-19 นั้นหายไปอย่างสิ้นซาก โดยใช้วิธีการขั้นเด็ดขาด ทั้งการปิดเมืองต่างๆ สั่งล็อกดาวน์ไม่ให้ผู้คนออกไปไหน ซึ่งแม้จะดำเนินมาตรการอันเข้มงวดนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แต่ว่าล่าสุดนี้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็ยังกลับมาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่ง สถานการณ์ในประเทศจีนจึงเริ่มไม่สู้ดีทวีคูณเพิ่มขึ้น ทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ และการสิ้นสุดขีดจำกัดความอดทนของประชาชนชาวจีน ที่ลุกฮือเป็นกลุ่มประท้วงต่อต้านมาตรการที่แสนหักดิบนี้กระจายไปตามเมืองต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เป็นที่รู้กันดีว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ การเกิดการประท้วงที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลจีนโดยตรงแทบจะไม่มีให้เห็น เพราะทางรัฐบาลนั้นมีบทลงโทษอย่างรุนแรงกับคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง แต่การเกิดกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ออกมาต่อต้านการล็อกดาวน์อย่างไม่เกรงกลัว และเรียกร้องเสรีภาพของตัวเองจากการถูกคุมขังไม่ให้ขยับตัวไปไหน เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในตอนนี้ สถานการณ์ภายในประเทศนั้นเกิดความตึงเครียดในทุกๆ ด้าน เกินจะทนได้อีกต่อไป
ชนวนเหตุการเกิดการประท้วงครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากกระแสความไม่พอใจต่อการเสียชีวิตของประชาชน 10 คน จากเหตุไฟไหม้อาคารพักอาศัยในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการติดตั้งรั้วกั้นไว้รอบอาคารเพื่อล็อกดาวน์ไม่ให้ประชาชนออกนอกพื้นที่ตามมาตรการ Zero Covid ทำให้การช่วยเหลือคนในอาคารเป็นไปได้อย่างล่าช้าและเกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าครั้งนี้ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้ผู้คนเริ่มเกิดการตั้งคำถามกับมาตรการที่หักดิบมากเกินไป และลุกฮือต่อต้านลามมายังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ ก็เกิดกลุ่มประท้วงที่แสดงความไม่พอใจต่อ นโยบาย Zero Covid ของรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวมีความตึงเครียดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไม่เกรงกลัว แสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างการชูกระดาษเปล่าที่เป็นการต่อต้านการเซ็นเซอร์ (ทางการจีนมักจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ) อันสื่อถึงการปิดปากกลุ่มผู้เห็นต่าง รุนแรงไปจนถึงมีผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่ตะโกนข้อความอย่าง “ขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์และสีจิ้นผิง” ซึ่งเป็นการท้าทายรัฐบาลจีนอย่างซึ่งหน้าอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ระดับความตึงเครียดที่ลุกลามมาถึงขั้นนี้ เป็นตัวสะท้อนชั้นดีว่า ณ ตอนนี้สถานการณ์ด้านต่างๆ ของจีนอาจกำลังดำเนินมาถึงจุดวิกฤติ และแน่นอนว่าในด้านเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นพาร์ทใหญ่นั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากมาตรการดังกล่าว อย่างบริษัทฟ็อกซ์คอน บริษัทผลิตไอโฟนที่มีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจวของจีน เป็นเมืองที่ถูกล็อกดาวน์เช่นกัน พนักงานของฟ็อกซ์คอนกว่า 200,000 คน ต่างถูกกักตัวนานเกือบเดือนจนทนไม่ไหว หนีออกจากโรงงานโดยการเดินเท้า ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การผลิตไอโฟนเกิดการรวน เพราะโรงงานดังกล่าวในเจิ้งโจวถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตไอโฟนที่กินสัดส่วน 4 ใน 5 จากโรงงานทั้งหมด ทางแอปเปิ้ลจึงพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอินเดียหรือเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการดังกล่าว
ไม่เพียงแค่โรงงานผลิตไอโฟนเท่านั้น แต่โรงงานอื่นๆ ที่เคยตั้งฐานการผลิตอยู่ในจีน (จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก เนื่องจากมีแรงงานที่ถูก) ก็ต่างแห่ย้ายโรงงานออกจากจีน เพราะมาตรการ Zero Covid ส่อแววที่จะกระทบกับธุรกิจในระยะยาว โดยย้ายฐานไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลับไปตั้งฐานการผลิตในประเทศของตัวเอง ยิ่งเฉพาะในฟากของสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ก็เริ่มพยายามลดการพึ่งพาจากจีน ดึงการผลิตกลับมายังประเทศหลักมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงที่เงินทุนจำนวน “มหาศาล” จะไหลออกไปจากประเทศจีนก็มีมากเช่นกัน
นอกจากทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เรื้อรังตั้งแต่การเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด อันทำให้ตัวเลขหนี้มีการเติบโตสูงขึ้น และเกิดสภาวะเงินเฟ้อแล้ว แต่จีนยังมีปัญหาเฉพาะตัว อย่างวิกฤติด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มาตรการ Zero Covid เป็นตัวเร่งให้ปัญหาดังกล่าวนั้นแย่ลง ตัวเลข GDP (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีการเติบโตอยู่เพียง 4.9% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.2% และต่ำกว่าปกติที่จะเติบโตอยู่ที่หลัก 10% ขึ้น ซึ่งตัวเลข 4.9% นี้ ก็ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาลมาแล้วอีกด้วย
ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เริ่มมีการเปิดเมือง และมี Mindset ที่จะพยายามอยู่ร่วมกับไวรัสโควิดให้ได้ สถานการณ์ในประเทศนั้นๆ ก็เริ่มดีขึ้น เห็นได้ชัดโดยเฉพาะประเทศที่มีจุดเด่นทางด้านภาคการท่องเที่ยว ก็ได้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ทำให้เงินทุนต่างประเทศเริ่มโอนถ่ายกันกลับเข้ามา แต่กลับมาทางฝั่งจีนที่ยังไม่ปลดล็อกมาตรการ Zero Covid ก็มีความเสี่ยงที่ว่า เศรษฐกิจของจีนอาจจะยิ่งเติบโตตกต่ำต่อไปในสิ้นปีนี้ไปจนถึงปีหน้า หากยังไม่มีการผ่อนคลายที่จะบรรเทาความร้อนระอุของสถานการณ์ในประเทศได้
ข่าวเด่น