สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 ธ.ค. นี้ ตลาดส่วนใหญ่ต่างมองว่า จะมีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง จากที่ขึ้นมา 0.75% มา 4 ครั้งติดต่อกัน ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 8 นี้ คาดจะปรับขึ้นในอัตรา 0.50% สู่ระดับ 4.25%-4.50% และมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ เนื่องจากค่า CPI บ่งบอกว่า เงินเฟ้อสหรัฐมีการปรับลดลงมากกว่าคาด โดย ณ ตอนนี้ ลดต่ำลงมาตลอดตั้งแต่จุดพีกในเดือนมิ.ย. เหลืออยู่ที่ 7.7% ซึ่งถึงแม้ Fed ยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้เงินเฟ้อเหลืออยู่ที่ 2% ตามเป้าหมาย แต่ทิศทางการลดระดับความร้อนแรงในการเดินหน้านโยบายการเงินดังกล่าว ก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และเป็นปัจจัยบวกให้กับภาคเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
จากที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างน่ากลัวไปอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทาง Fed ที่ทำให้เงินทุนไหลออกไปยังดอลลาร์สหรัฐแทน ในตอนนี้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดกลับมาอยู่ที่ระดับ 34.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากที่สถานการณ์เงินเฟ้อและบรรยากาศของทาง Fed เริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งหมายความว่า เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐกลับกลายมาอ่อนค่า ก็ส่งผลให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทยแทน ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังมีปัจจัยภายในเป็นบวกที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น ก็คือภาคการท่องเที่ยวที่ที่เป็นพาร์ทใหญ่ของ GDP ไทย ได้กลับมาผงาดอีกครั้งจากการเปิดประเทศ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวเข้าไทยสูงถึง 20 ล้านคนในปีหน้า
ส่วนทางด้านเงินเฟ้อของไทยจากที่พุ่งขึ้นสูงตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ในตอนนี้กลับลดลงอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ลดลงมาตลอด โดยจากค่า CPI ของไทยล่าสุดในรอบเดือนพ.ย.นั้นลดลงมาเหลือที่ระดับ 5.55% (ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 5.85%) และลงมาจากจุดพีก 7.86% ในรอบเดือนส.ค. ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% มา 3 ครั้งเท่านั้น ผิดกับทางพี่ใหญ่อย่างสหรัฐที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงและมีความถี่มากกว่า จึงมีแนวโน้มว่าในปีหน้า เรื่องของเงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัญหาของทางเศรษฐกิจไทยต่อไปแล้ว
ด้านตลาดหุ้นของไทยก็กลับมาสดใสไม่แพ้กัน อันเป็นผลจากที่ไทยไม่ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปดังกล่าว ซึ่งแรงกดดันค่อนข้างน้อยกว่าทางฝั่งสหรัฐ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจึงกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า หากดูในส่วนของ SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดประเทศร่วมด้วย
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ คือเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเป็นปัญหาในฝั่งของทางสหรัฐและยุโรป ซึ่งการที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลเสียให้กับภาคการส่งออกได้ อีกทั้งยังมีการเลือกตั้งในปีหน้า ที่การแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐบาลปัจจุบัน อาจทำให้บรรยากาศการลงทุนเกิดความซบเซาลงได้
ข่าวเด่น