ในช่วงเวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก TikTok แอพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียชื่อดังที่กำลังนิยมไปทั่วโลก ด้วยฟีเจอร์การให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นครีเอเตอร์คอนเทนต์ ด้วยการโพสต์วีดีโอระยะเวลาสั้นๆ ไม่จำกัดเรื่องราว ซึ่งตอบโจทย์การรับสารของผู้คนที่มีเวลาจำกัด จึงไม่แปลก TikTok จะกลายเป็นโซเชียลมีเดียดาวรุ่ง ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความที่ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นออกเป็นวงกว้างนี้เอง ทำให้เกิดประเด็นความน่ากังวล ที่ตอนนี้เริ่มมีกระแสต่อต้านแอพลิเคชั่นดังกล่าวจากฝั่งสหรัฐ เพราะ TikTok นั้นถือสัญชาติจีน ประเทศที่มีการกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยีกับทางสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง
จากมุมมองของชาวโลกคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า จีนนั้น เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ มีระบบ Social Credit ให้คะแนนความประพฤติเพื่อควบคุมประชาชนให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของความดีงามตามมาตรฐานของทางรัฐบาลจีน ซึ่งหนึ่งในวิธีการดังกล่าวก็คือ การสอดส่องข้อมูลส่วนตัวของชาวจีนผ่านชุดข้อมูล หรือ Data ในโลกออนไลน์ ฉะนั้น แอพลิเคชั่นของทางจีน มีแนวโน้มที่จะมอบอำนาจการตรวจสอบให้กับทางรัฐบาล ซึ่งให้ความสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในสัดส่วนที่น้อยกว่าเรื่องของความปลอดภัย ตามคำนิยามของประเทศที่เน้น Security มากกว่า Privacy
ด้วยภาพลักษณ์ของจีนข้างต้นนั้น ทำให้ทางสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในโซนยุโรป ที่จัดว่าเป็นฝั่งเสรีนิยม ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล มองว่าแอพลิเคชั่นจากจีนอย่าง TikTok นั้น ส่อแววลักลอบดูข้อมูลและละเมิดใน Privacy ของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐจับตาดูอย่างจริงจังถึงขนาดที่ Director ของ FBI อย่าง Chris Way นั้นได้ออกมาแสดงความกังวลของแอพดังกล่าวว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
หากยังจำกันได้ ในสมัยที่ “โดนัล ทรัมป์” ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปีที่แล้ว เขาได้ประกาศแบน TikTok โดยกดดันให้ TikTok ขายให้กับบริษัทของทางสหรัฐ อย่างทาง Microsoft หรือ Walmart ที่ติดต่อขอซื้อ แต่ทาง ByteDance หรือบริษัทแม่ของ TikTok นั้นไม่ยอมขายให้ใครทั้งนั้น แต่เลือกดีลเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับ Oracle บริษัทสัญชาติสหรัฐ ที่ให้บริการเกี่ยวกับ Software Database ซึ่งฐานข้อมูลผู้ใช้ TikTok ชาวอเมริกันจะไม่ได้อยู่ที่ทางจีน แต่ถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูลของ Oracle Server ที่สหรัฐ เป็นการพบกันครึ่งทางของทั้ง 2 ฝ่าย และพอถึงสมัยที่ “โจ ไบเดน” ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ได้ยกเลิกคำสั่งแบน TikTok รวมถึง WeChat และแอพลิเคชันอื่นๆสัญชาติจีนทั้งหมดในสมัยการแบนของทรัมป์
แต่ถึงแม้จะเอา Database ของผู้ใช้คนอเมริกันไว้ในฐานข้อมูลที่สหรัฐ แต่บริษัทแม่จากทางจีน ก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อยู่ดี ซึ่งทาง FBI ได้ออกมาแสดงถึงข้อกังวลดังกล่าว เพราะถ้าหากบริษัททางจีนเข้ามาดูข้อมูลได้ รัฐบาลจีนก็เข้ามาดูข้อมูลได้เช่นกัน ซึ่งด้วยความที่ 2 ประเทศถือว่าอยู่กันคนละขั้วการเมือง และมีประเด็นกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา รัฐบาลจีนอาจนำข้อมูลที่เข้าถึงได้เหล่านี้ไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบกับสหรัฐได้ จึงมีการจั่วหัวเอาไว้ว่า “TikTok คือ ภัยทางความมั่นคงของชาติ”
การแสดงออกถึงความกังวลอย่างชัดเจนและจริงจังนี้ ต้นเหตุหนึ่งก็มาจากการเติบโตของยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างที่กล่าวไปตอนต้น โดยช่วงปี 2021 TikTok มียอดผู้ใช้งานที่เป็น Active User อยู่ที่ 1 พันล้านคน ในขณะที่ Facebook พี่ใหญ่สื่อโซเชียลมีเดีย มี Active User อยู่ที่ 2.9 พันล้านคน ซึ่ง TikTok เป็น Candidate ที่ไล่ตาม Facebook มาอย่างกระชั้นชิดเลยทีเดียว และในโซเชียลมีเดียอื่นอย่าง Instagram หรือ Twitter ไส้ในอย่างระยะเวลาของการใช้แอพ TikTok ได้ทำการแซงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และในปีนี้ ยอดผู้ใช้ TikTok ก็เดินทางไปถึง 1.7 พันล้านคนเข้าไปแล้ว มากกว่า Instagram (1.25 พันล้านคน) และ Twitter ( 397 ล้านคน) ไปอย่างขาดลอย ส่วน Facebook แม้จะยังครองยอด Active User เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 2.9 พันล้านคน แต่ก็มีทิศทางขาลงเทียบจากปีที่แล้ว ผกผันกับ TikTok ที่มียอดไต่สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นหากเทียบผู้ใช้งาน TikTok ทั่วโลก จะพบว่าจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ใช้งานทั้งหมดนั้นอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งเท่ากับว่า เพดานการเติบโตของผู้ใช้งานต่างแดนยังมีโอกาสสูงขึ้นมากอย่างมหาศาลนับจากนี้ ขณะที่แอพลิเคชันจากทางฝั่งของสหรัฐไม่สามารถเข้ามายังจีนได้ เรียกได้ว่าแอพมาแรงจากทางจีนนี้มีแต้มต่อมากกว่าแอพจากทางฝั่งประเทศเสรีอยู่มากเลยทีเดียว
ไม่เพียงแค่ยอดผู้ใช้เติบโตเท่านั้น แต่รายได้หล่อเลี้ยงจากโฆษณาก็เติบโตอย่างสดใสไม่แพ้กัน ซึ่งในปีนี้รายได้โฆษณาของ TikTok นั้นสูงกว่ารายได้โฆษณาของ Twitter กับ Snapchat รวมกัน โดย TikTok มีรายได้เติบโตถึง 184.5% ซึ่งมีการเติบโตเป็น 3 เท่าตัวเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา
ความร้อนแรงของ TikTok ที่ดูท่ากำลังจะกลายมาเป็นสื่อโซเชียลกระแสหลักแทน Facebook และสื่อโซเชียลของทางสหรัฐ อาจกลายเป็นนัยสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจตามมาก็เป็นได้ เพราะใครก็ตามที่คุมสื่อได้ ก็จะสามารถชักจูงและชี้นำสังคมให้ไปในทิศทางที่คนคุมนั้นต้องการ ฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่ทางฝั่งสหรัฐเริ่มมีการแสดงท่าทีไม่ไว้วางใจ และเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง FBI ออกโรงเตือน ไปจนถึงขนาดที่ Brendan Carr คณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสาร หรือ The Federal Communications Commission ส่งจดหมายถึง Tim Cook CEO ของ Apple และ Sundar Pichai CEO ของ Alphabet ให้ถอดถอน TikTok ออกจาก App Store และ Google Play ซึ่งถัดจาก Movement นี้ ก็เป็นไปได้ว่ากระแสการต่อต้าน TikTok จะยิ่งเข้มข้นมากกว่าเดิม ตามยอดผู้ใช้งานที่พุ่งสูงขึ้น
ข่าวเด่น