เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดอย่างประเทศไทย จำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก เพราะไม่อาจยืนอยู่ได้ด้วยการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยง เศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากการเปิดประเทศในครึ่งหลังของปี 2022 ที่ ผ่านมานี้ การท่องเที่ยวได้กลับเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ยืนขึ้นได้อีกครั้ง และกลายเป็นพระเอกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเทียบเท่ากับช่วง Pre Covid หรือมี GDP ตีขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนการเกิดไวรัส Covid-19 แพร่ระบาดในช่วงปี 2023 นี้
แต่ถึงอย่างนั้น การฝากความหวังไว้กับภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่ได้ยั่งยืนเหมือนเคยอีกต่อไป จากวิกฤติ Covid-19 ที่การเดินทางระหว่างประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ก็ทำให้เงินทุนต่างประเทศนั้นไหลออกไปจากไทยจำนวนมหาศาล เพราะไม่สามารถเหนี่ยวรั้งเม็ดเงินดังกล่าวเอาไว้ได้อีกหากปราศจากการท่องเที่ยว ฉะนั้นไทยจึงต้องหาเส้นทางใหม่ที่จะเป็นฐานที่แข็งแรงให้กับเศรษฐกิจไทย อย่างการพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อการขนส่งและการค้าพาณิชย์ ซึ่ง 1 ในโครงการที่กำลังเป็นที่สนใจในระดับโลก และกำลังอยู่ในช่วงระยะของการศึกษาโครงการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์
โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน โดยจะมีการสร้างท่าเรือบนพื้นที่แหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง (ฝั่ง อันดามัน) และสร้างท่าเรือบนพื้นที่แหลมริ่ว จังหวัดชุมพร (ฝั่งอ่าวไทย) มีการสร้างรถไฟทางคู่ (Meter Gauge) ซึ่งมีรถไฟขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเรือจาก 2 ฝั่ง และทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) ที่มีระยะทาง 89.35 กม. ผ่านแนวเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และมีอุโมงค์ที่มีระยะทางรวม 21 กม. กระจายอยู่ 3 แห่ง ตามแนวเส้นทางดังกล่าว โครงการที่มีการสร้างทั้งท่าเรือ ทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์นี้ จึงจัดได้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีการประมาณการว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นถึงประมาณ 400,000 ล้านบาท โครงการนี้จึงต้องเปิดให้เอกชนลงทุน ทั้งเอกชนต่างชาติ ร่วมกับเอกชนไทย
โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยล่าสุดว่า ได้มีผู้ประกอบการสายเดินเรือรายใหญ่ของโลก เช่น Maersk Line, กลุ่มบริษัท CMA จาก ฝรั่งเศส รวมไปถึงสายเรือของประเทศจีน แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน โครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งที่มีทั้งท่าเรือและทางรถไฟที่สำคัญ ที่จะเชื่อมฝั่งตะวันตกไปยังจีนและกลุ่มตะวันออกเฉียงใต้ได้ ขยายความง่ายๆ คือ ตรงทางฝั่งอันดามัน หรือระนอง ท่าเรือนี้จะกลายเป็นจุดขนส่งสินค้าจากทางยุโรปตะวันออกกลาง แทนที่ปกติ สินค้าเหล่านี้จะถูกนำไป Drop ไว้ที่สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย แต่เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ เส้นทางการขนส่งสินค้าดังกล่าวก็จะถูกเปลี่ยนเส้นทางมา Drop ไว้ที่ท่าเรือระนองได้ กล่าวคือ ภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะกลายมาเป็น จุดศูนย์กลางการขนส่งและการค้าพาณิชย์ ที่จะเชื่อมฝั่งตะวันตกไปยังจีนและกลุ่มตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับการมาเป็นตัวแทนของโครงการขุดคอคอดกระในอดีต ซึ่งเป็นโครงการที่จะขุดคลองเพื่อเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยเช่นกัน หรือก็คือเป็นเส้นทางเดินเรือทะเลและการค้าพาณิชย์ ที่จะทำให้ ไทยกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก แต่ได้ถูกล้มเลิกอยู่หลายครั้งจนต้องพับโครงการเก็บเอาไว้ ทั้งสาเหตุด้านการเมือง ความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นการแบ่งแยกดินแดนของไทย และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ การเกิดขึ้นของโครงการแลนด์บริดจ์ จึงเสมือนเป็น Solution ที่เข้ามาแทนที่โครงการเก่า (พึ่งเม็ดเงินจากเอกชนร่วมด้วย) ที่จะเข้ามา สร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของไทยที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้อย่างมหาศาล นอกเหนือไปจากภาคการท่องเที่ยว
โดยในตอนนี้โครงการยังอยู่ในเฟสของระยะเวลาการศึกษา โดยมีการศึกษาทั้งความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม การออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และวิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน พร้อมกับกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการในช่วงเดือนม.ค. 2023 และหลังจาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าในไตรมาสแรกของปีนี้จะเสนอโครงการต่อนักลงทุนเอกชนต่างประเทศ (RoadShow) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ที่สนใจ ส่วนไตรมาส 2 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะนำประเด็นและข้อเสนอแนะจากผู้สนใจลงทุนมาดำเนินการปรับปรุงรายละเอียด ปรับรูปแบบโครงการ และเมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอข้อมูลโครงการต่อ ครม. อีกครั้ง เพื่อขออนุมัติโครงการได้ในเดือน มิ.ย.2023 จากนั้นจะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยจะเปิดประมูลภายในไตรมาสแรก ของปี 2025 และคาดว่าจะลงนามสัญญาผู้ร่วมลงทุนได้ภายในไตรมาส 3 และเริ่มการก่อสร้างภายในปีเดียวกัน ซึ่งประมาณการณ์ว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี และเปิดให้บริการในปี 2030
ข่าวเด่น