Special Report : เงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 เดือน จากเศรษฐกิจไทยเติบโต จีนเปิดประเทศ


 
จากที่เงินบาทไทยเคยอ่อนค่าสูงสุดแตะระดับที่ 38.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงปีที่แล้ว เนื่องจากผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทางธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ที่ทำให้เงินทุนต่างชาติต่างหลั่งไหลออกไปยังสหรัฐ ในตอนนี้เศรษฐกิจของไทยกลับมาทรงตัวได้ และมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เงินบาทไทยในปัจจุบัน จึงมีการแข็งค่าสูงสุดในรอบ 9 เดือน (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 32.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) มี Fund Flow เข้ามาทั้งการลงทุนในพันธบัตร หุ้นไทย โดยปัจจัยบวกอย่างภาคการท่องเที่ยวที่โดดเด่น และการเปิดประเทศ ของจีน

ปัจจัยบวกจากภายนอกคือ Fed มีแนวโน้มชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยลง เพราะค่าเงินเฟ้อมีทิศทางปรับตัวลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเศรษฐกิจในอเมริกากำลังเข้าสู่สภาวะ ถดถอย หรือ Recesstion ทำให้มีการทยอยเลิกจ้าง ปลดพนักงาน สะท้อนจากค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย (AHE) ขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่อง จากระดับ +5.6% y/y ชะลอลงเป็น +4.6% y/y ซึ่งเมื่อเกิดสภาวะที่คนเริ่มตกงานก็ทำให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นลดลง และเมื่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อดูมีเค้าลางว่าจะใกล้สิ้นสุดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากที่เคยแข็งค่าตามนโยบายของ Fed ดังกล่าว ที่นักลงทุนต่างเทเงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็ได้ถูกโยกย้ายไปยังที่พักเงินใหม่ที่จะสร้างโอกาสในการทำกำไรต่อไป

โดย 1 ในตลาดที่น่าสนใจในปี 2566 นี้ก็คือ”ประเทศไทย”เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ตรงกับข้อมูลของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 3.4% (ปีที่แล้ว 3.2%) ในขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ก็ได้ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า GDP ไทยปีนี้จะโตภายในกรอบ 3.0-3.5% โดยได้แรงขับเคลื่อนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่จะมาเป็นพระเอกพยุงเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสดใส เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กและเปิดอย่างไทยนั้น อาศัยแค่การบริโภคภายในประเทศ หรือ Private Consumption อย่างเดียวไม่ได้ แต่จำเป็นต้องพึ่งพาเม็ด เงินจากต่างชาติในระดับสูง อย่างภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 11% ของ GDP หรือทำเงินได้มากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในตอนนั้นมียอดอยู่ที่ 40 ล้านคน ทำให้เมื่อมีการกลับมาเปิดประเทศในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมาปีที่แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจไทยได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ และค่าเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นมาเรื่อยๆตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย.เป็นต้นมา เพราะตลาดลงทุนเริ่มเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัว จึงมีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย รวมถึงหุ้นไทยต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจีนได้มีการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid โดยได้ประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมภาค การท่องเที่ยวไทยอย่างมาก เพราะประเทศไทยถือเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวจีน อ้างอิงจากข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้ให้เห็นว่าในช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวจีน 11.1 ล้านคน มีเม็ดเงินสะพัด 5.31 แสนล้านบาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนนั้นกินสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามายังไทยเลยทีเดียว และยังถือว่าเป็นชาติที่ใช้เงินเที่ยวไทยมากที่สุดอีกด้วย สอดคล้องกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร.ได้ให้ทัศนะว่า นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าชาติอื่นๆที่เดินทางมายังไทย การมาไทยครั้งนี้หลังจากปิดประเทศไป 3 ปี มีแนวโน้มว่าจะเป็นแรงผลักดันให้กับ GDP ไทยอย่างยิ่งยวด โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามายังไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ประมาณ 300,000 คน (ม.ค.60,000 คน ก.พ.90,000 คน มี.ค.150,000 คน) และทั้งปีนี้ยังคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

นอกจากนี้ การที่จีนมีการเปิดประเทศนั้น มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้ถึง 5% ซึ่งนอกจากจะเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจโลกไม่ให้ชะลอตัวลงมากเกินไปแล้ว ก็ยังเป็นผลดีให้กับเศรษฐกิจในแถบเอเชียด้วย เพราะการที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ เบอร์ 2 ของโลกในฝั่งเอเชีย ก็ย่อมมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นเอเชียในทิศทางบวกค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยบวกที่หนุนนำเศรษฐกิจไทยให้เป็นดาวเด่นของปี 2566 ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก อีกทั้งสภาวะเงินเฟ้อของไทยก็อยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งการคาดการณ์จากกระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายวิจัย ASPS ก็รายงานอีกด้วยว่า เงินเฟ้อไทยในระยะถัดไปจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่มีอะไรผิดคาด เงินเฟ้อของไทยมี แนวโน้มที่จะเหลือ 0 ในช่วงกลางปีนี้ แสดงถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความผันผวน เงินบาทจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดลงทุน ซึ่งเมื่อ Demand มีมาก เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น โดยทางสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ระดับการแข็งค่าของเงินบาทมีโอกาสแตะสูงสุดถึง 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

LastUpdate 15/01/2566 21:13:28 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:52 am