จับสมาร์ทโฟนขึ้นมา เปิดแอพ TikTok หรือเข้า YouTube Shorts กะว่าจะหาอะไรดูฆ่าเวลาเล่นๆตอนไม่มีอะไรทำ รู้ตัวอีกทีก็ไถดูวีดีโอสั้นๆเหล่านั้นเพลินจนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นกับแทบทุกคนบนโลกที่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง เพราะตั้งแต่การมาของ TikTok โซเชียลมีเดียสำหรับการถ่ายวีดีโอสั้นสัญชาติจีน Short Video หรือวีดีโอรูปแบบสั้นแนวตั้งที่มีสัดส่วนฟิตเข้ากับหน้าจอสมาร์ทโฟน ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก และก้าวมาเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดาวรุ่งอันดับ 1 ที่คนทั่วโลกให้การยอมรับอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่น ขณะที่วีดีโอที่มีระยะเวลายาวกว่ากลับกำลังได้รับความนิยมน้อยลงไป การ Disruptive ของวีดีโอสั้นนี้เอง ทำให้ในวงการวีดีโอ แอพสตรีมมิ่ง และสื่อโซเชียลมีเดียเจ้าอื่นๆ ต่างต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับสารของผู้คนที่วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป
แต่ก่อนสื่อที่เป็นเนื้อหาในรูปแบบวีดีโอ เราต้องรับสารผ่านทางช่องทางสื่ออย่างโทรทัศน์ ทั้งละคร สารคดีรายการบันเทิงต่างๆ หรือการดูภาพยนตร์ในโรงหนังเป็นสิ่งที่คุ้นชินกันมาอย่างยาวนาน เรารู้สึกเพลิดเพลินและสามารถโฟกัสกับเนื้อหาในระยะยาวได้อย่างไม่รู้เบื่อ แต่ต่อมาเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและดิจิทัลเดินทางมาถึงจนก่อเกิดยุคอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นช่องทางใหม่อันแรกในการรับสื่อ อีกทั้งยังสร้างบทบาทใหม่ในยุคนี้ให้ผู้รับสารกลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ในขณะเดียวกัน ทั้ง YouTube และแพลตฟอร์มการให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งต่างๆ ต่างได้รับความนิยมและเข้ามามีอิทธิพลแทนที่สื่อจากทางโทรทัศน์ เพราะเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้มากกว่า สามารถกดหยุดคลิป ดูซ้ำ เลือกดูเนื้อหาของวีดีโอในช่วงเวลาไหนก็ได้มีคอนเทนต์หลากหลายให้เลือกสรรมากกว่า อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆที่ติดต่อสื่อสารกันไปมาได้อีกด้วย
โดยการถ่ายวีดีโอในยุคดังกล่าว จะใช้กล้องดิจิทัลในการถ่ายทำ โดยลักษณะวีดีโอจะเป็นการบันทึกในแบบมุมกว้าง หรือขนาด 16:9 ที่เป็นวีดีโอแนวนอนขนานไปกับจอ คอมพิวเตอร์ สมาร์ททีวี หรือจอมอนิเตอร์ต่างๆ และต่อมาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งก็มาถึง เมื่อโทรศัพท์มือถือที่แต่ก่อนมีคุณสมบัติเพียงแค่การโทรติดต่อสื่อสาร ได้วิวัฒน์กลายเป็นสมาร์ทโฟน ที่ใช้ถ่ายวีดีโอ และใช้ท่องโลกอินเตอร์เน็ตได้
ปัจจุบันมีคนที่เสพสื่อจากสมาร์ทโฟนทั่วโลกอยู่ที่ 76.9% ใช้เวลาเฉลี่ยถึงวันละ 4 ชั่ว โมง 48 นาที และมีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 11.42 GB ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย สาเหตุที่คนทั่วโลกนิยมใช้เวลาไปกับสมาร์ทโฟนมากกว่า Smart Things ที่เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้เหมือนกันอื่นๆ เป็นเพราะสมาร์ทโฟนเปรียบได้กับช่องทางการรับสารเฉพาะบุคคล เทียบได้กับทีวีหรือคอมพิวเตอร์ แต่ย่อส่วนลงมาเป็นของใช้ส่วนตัวที่สามารถติดตัวเอาไปได้ทุกที่ ฉะนั้นเปอร์เซ็นต์ใน การเสพสื่อเลยมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับธรรมดาของมนุษย์นั้นมีความกลัวการตกข่าว หรือ Fear of Missing Out (FOMO) เพราะเป็นสัตว์สังคมที่มีการสื่อสารกันตลอดเวลา ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเกิดการไถหน้าจอฟีดอย่างไม่รู้เบื่อใน Facebook หรือ Twitter และเมื่อถึงยุค TikTok ได้ก้าวเข้ามาดังกล่าว การถ่ายวีดีโอจึงเปลี่ยนไปโดยปริยาย เราหันมาถ่ายกล้องจากสมาร์ทโฟน และรูปแบบการถ่ายจากการถ่ายแนวนอน ก็เปลี่ยนมาถ่ายแนวตั้งในขนาด 9:16 ที่ฟิตเข้ากับหน้าจอสมาร์ทโฟน อีกทั้งฟีเจอร์ในการไถฟีดวีดีโอได้เช่นเดียวกับสื่อโซเชียล ทำให้พฤติกรรมการรับสื่อวีดีโอของคนได้เปลี่ยนแปลงไป พวกไม่อยากเสียเวลาที่จะพลิกจอให้เป็นแนวนอนเพื่อดูวีดีโอต่างๆ เหมือนแต่ก่อน และนิยมเสพวีดีโอที่มีคอนเทนต์สั้นๆ ย่อยง่าย แต่เลื่อนดูหลายๆคลิป ตามการไถ่ฟีด ทำให้ TikTok ได้เข้ามาครองใจเป็นอันดับ 1 แทนแพลตฟอร์มที่ให้ บริการวีดีโอสตรีมมิ่งอื่นๆ และช่วงชิงเวลาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอีกด้วย
โดยข้อมูลจาก Hootsuite รายงานว่า ในปี 2021 มียอดการดาวน์โหลดกว่า 700 ล้านครั้ง ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาแอพลิเคชั่นทั้งหมด มียอดผู้ใช้งานในปี 2022 ยอดผู้ใช้อยู่ที่ 1.7 พันล้านคน มากกว่า Instagram (1.25 พันล้านคน) และ Twitter ( 397 ล้านคน) ไปอย่างขาดลอย ส่วน Facebook แม้จะยังครองยอด Active User เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 2.6 พันล้านคน แต่ก็มีทิศทางขาลงเทียบจากปีที่แล้ว ผกผันกับ TikTok ที่มียอดไต่สูงขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลของ SensorTower ที่รายงานว่า ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2022 TikTok ก็ยังครองอันดับ 1 ที่มียอดการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก โดยครองอันดับ 1 มาได้ถึง 8 ครั้ง จาก 10 ไตรมาสที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2020 ที่ TikTok ได้ถือกำเนิดขึ้น
การโดน Disruptive จาก TikTok นี้ ทั้ง YouTube รวมถึง Facebook Twitter และ Instagram รับรู้ถึงภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ต่างออกฟีเจอร์ใหม่อย่าง YouTube Shorts วีดีโอสั้นแบบตั้งที่เลื่อนไถ่ได้เหมือนกับ TikTok Instagram ก็เริ่มทำสิ่งเดียวกันโดยเรียกตัวเองว่า Reels หรือสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ก็เปลี่ยนอัลกอริทึมใหม่ เปิดฟีเจอร์วีดีโอสั้นๆในแนวตั้งให้ผู้ใช้งานได้ไถหน้าจอฟีดเหมือนกับเนื้อหาที่เป็นตัวอักษรเช่นกัน การปรับตัวนี้เป็นตัวสะท้อนชั้นดีว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการรับสารของคนบนโลกออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก่อนที่มักดูวีดีโอในระยะเวลายาวๆ ตอนนี้ Engagement กลับลดลง อีกทั้งบางคนก็ไม่สามารถดูอะไรที่กินระยะเวลานานๆได้อีกต่อไป กลับหันมาดูวีดีโอที่มีระยะเวลาสั้นๆกันมากกว่า เพราะทั้งเสพง่าย ย่อยง่าย แถมติดหนึบจนหยุดดูไม่ได้ ฉะนั้นหากผู้อ่านคนไหนกำลังอยากลองผลิตคอนเทนต์วีดีโอการถ่ายทำโดยเล่าเรื่องที่จะสื่อให้กระชับ เข้าใจง่ายในระยะเวลาสั้นๆ ก็อาจจะทำให้คอนเทนต์ของเรามีโอกาสเป็นที่นิยมในโลก ออนไลน์ได้มากกว่าการถ่ายทำวีดีโอในแบบเก่าๆที่กำลังได้รับความนิยมน้อยลงไป
ข่าวเด่น