ผู้อ่านจำได้หรือไม่ว่า ในช่วงปี 2021 กระแสหลักของเรื่อง Metaverse ได้ถือกำเนิดขึ้นสู่ระดับสาธารณะเป็นครั้งแรกของโลก เนื่องจาก Mark Zuckerberg ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทของตนจาก Facebook ไปเป็น “Meta” เพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีโลกเสมือนโดยเฉพาะ ซึ่งมาร์คได้นิยามว่า Metaverse นั้นเป็นสิ่งแวดล้อมเสมือนที่เชื่อมโยงชุมชนเสมือนจริงต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกัน ผู้ใช้งานในโลกแห่งนี้สามารถพบปะ มี Interact กับคนอื่น ทำงาน ซื้อของออนไลน์ หรือเข้าสื่อสังคมออนไลน์ได้ ซึ่งจะเป็นอีกเขตแดนหนึ่งที่ผู้คนจะต้องก้าวเข้าไปอย่างมีนัยสำคัญ และได้คาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ Metaverse นี้ จะเข้าถึงผู้คนได้ถึงประมาณ 1 พันล้านคน และกลายเป็นระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ที่จะเกิดขึ้น
ในช่วงปีดังกล่าว เราได้เห็นว่าทุกคนต่างตื่นตาตื่นใจกับ Concept ของ Metaverse อย่างมาก ยิ่งในโลกของ Digital Asset ตลาดต่างรู้สึก Hyped กับโลกเสมือนนี้ เกิดการ FOMO (Fear of Missing Out) หรือกลัวการตกขบวน แห่เข้าไปลงทุนกับเหรียญคริปโตและเหรียญดิจิทัลโทเค่นที่ทำโปรเจคเกี่ยวกับ Metaverse กันอย่างยกใหญ่ เช่นโปรเจค Decentraland ที่มีสกุลเหรียญอย่าง $MANA ราคาของเหรียญได้พุ่งทะยานขึ้นไปทันที ข้อมูลจากกระดานเทรดของ Coinbase กราฟแท่งวันราคาพุ่งขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1.69 ดอลลาร์สหรัฐ และราคา All Time High สูงสุดอยู่ที่ 5.91 ดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นกว่า 600% จากที่ทั้งเดือนตุลาคม 2564 ราคาทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 0.8 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่วนโปรเจค The Sandbox แพลตฟอร์มเกมโลกเสมือนที่สร้างขึ้นบนเครือข่าย Ethereum และมีการขายที่ดินเช่นกันเหมือนกับ Decentraland โดยมีสกุลเหรียญที่ชื่อ $SAND นั้น ทันทีที่มีข่าวของ Meta ก็ทำให้ราคาของเหรียญเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 0.739 ดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นสูงสุดไปยัง 3.537 และทำ All Time High อยู่ที่ระดับราคา 8.49 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีโปรเจค NFT อีกมากมายที่ทำการตลาดด้วยการนำเสนอว่าโปรเจคของพวกเขามีเอี่ยวกับเรื่องของ Metaverse จนทำให้ราคาของ NFT นั้นเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่เช่นกัน และดูเหมือนเพดานของราคาจะไม่มีที่สิ้นสุดเลยเพราะมีคนซื้อต่อๆ กันด้วยมูลค่าที่มีแต่จะสูงขึ้นๆ
แต่แล้วในปี 2022 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นสงครามทางด้านพลังงานก็ได้ถือกำเนิดช่วงเดือน ก.พ. ทั้งโลกเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างมีราคาแพงขึ้นจากสงครามดังกล่าว จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ต้องทำการดึงเงินออกจากระบบ และขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภาพลวงตาที่เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะดีหลังปี 2020 (ที่เกิดจากการที่รัฐบาลทั่วโลกเข้าอุดหนุนชดเชยความเสียหายตอนเกิดปัญหาไวรัสโควิด-19) นั้นหยุดชะงักไปถนัดตา ทุกคนต่างกอดกระแสเงินสดไว้กับตัว ดึงเงินที่ตัวเองลงทุนออกไปกันเกือบหมด เพื่อพยุงสถานะการเงินตัวเอง ทำให้ตลาดคริปโตนั้นโดนผลกระทบไปเต็มๆ ซึ่งโปรเจค Metaverse ต่างๆก็หนีไม่พ้น ผู้คนในโลก Digital Asset ต่างแย่งกันขายเหรียญและ NFT ของตัวเอง ซึ่งเมื่อความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อ ก็ทำให้ราคาของสินทรัพย์เหล่านี้ต่างมีมูลค่าลดลงอย่างน่าใจหาย ตลาด NFT ราคาติดลบกว่า 90% รวมถึงเหรียญและ Land ของโปรเจค Metaverse ลดลงกว่า 85% เช่นกัน อย่างราคาเหรียญ $MANA ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 0.69 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วน $SAND ตอนนี้ราคาลงมาอยู่ที่ 0.73 ดอลลาร์สหรัฐ
เรียกได้ว่าโปรเจค Metaverse ต่างๆนั้นมูลค่าได้เดินทางกลับมายังฐานราคาเก่า ส่วน NFT ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นโลกเสมือนก็ต่างล้มหายตายจากกันไปหลายโปรเจค ประสบปัญหากับการติดดอย หรือไม่มีทีท่าว่าจะได้เงินที่ลงทุนเหล่านั้นกลับมาเลย สถานการณ์ของ Metaverse ตอนนี้จึงดูเหมือนเข้าขั้นวิกฤต เพราะเอาตามความจริงแล้ว ในขณะนี้ก็ยังไม่มี Use Case จริงๆว่า Metaverse จะสามารถทำอะไรได้จริงบ้าง หรือเห็นเป็นรูปเป็นร่างว่ามันจะเกิดขึ้น 100% ไหม บวกกับที่ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังไม่กลับมาดีดังเดิม ตลาดคริปโตกำลังอยู่ในช่วง Bear Market หรือสภาวะตลาดหมี เป็นช่วงเวลาที่ฟืดเคืองกับทุกๆสินทรัพย์ คนจึงไม่อยากเสี่ยงที่จะลงทุนในเวลานี้นัก
แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้เต็มปากว่า “Metaverse ถึงคราวอวสานแล้ว” หรือ “Metaverse ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงแน่นอน” เพราะอย่างแรก ถ้าจะพิจารณาให้ดี สถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้เกิดนโยบายการเงินที่ตึงตัว จนกระทบกับตลาดลงทุนโดยรวม รวมถึงในตลาด Digital Asset ที่ราคาโปรเจคต่างๆซบเซาลงไป มันก็เป็นการหมุนเวียนตามวัฏจักรขาขึ้นขาลง หรือตลาดกระทิง-ตลาดหมีเวียนสับเปลี่ยนกัน เป็นเรื่องธรรมชาติของโลกลงทุน จริงอยู่ที่มันก็เหมือนการฉายภาพซ้ำของตลาดหุ้นที่บางตัวก็ล้มหายไปจากหน้ากระดานตลอดกาล แต่ถ้ามองสภาพแวดล้อมรอบตัว เจ้าใหญ่อย่าง Meta ก็ยังคงหมายมั่นปั้นมือที่จะพัฒนาโลก Metaverse ต่อไป อย่างล่าสุด Meta ก็ได้เข้าซื้อกิจการของ บริษัท Within ผู้สร้างแอปออกกำลังกายเสมือนจริง “Supernatural” หลังจากพยายามดีลซื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อพัฒนาโลกเสมือนของตนด้วยการเชื่อมเข้ากับระบบ VR และ AR ในเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกาย
หรือจากทางประเทศไทยเอง บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทยก็เปิดตัวอาณาจักร Meaverse ของตัวเอง ซึ่งมีชื่อว่า “Idyllias Metaverse” เป็นการต่อยอดเชิงนวัตกรรมของ MQDC เพื่อนำองค์กรเดินหน้าไปสู่ความเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน ทั้งมีแผนจะขายโครงการอสังหาริมทรัพย์บนโลกเสมือน (Virtual Real Estate) และสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานที่จะเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริง (โครงการอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC) เข้ากับโลก Idyllias และยังแสดงท่าทีที่จะลงทุนเพิ่มในโลก Metaverse เพื่อการพัฒนาเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งVirtual Real Estate, Gamification, Direct-to-Avatar Commerce และ Immersive Learning เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการไปต่อของโลก Metaverse ก็ยังมีให้เห็น จากตัวอย่างของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ยังมุ่งพัฒนาโลกเสมือนจริงนี้ต่อไป แม้ตลาด Digital Asset จะซบเซาและไม่ถูกพูดถึงมากนักในเวลานี้ก็ตาม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็คงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านแล้วว่าจะคิดเห็นอย่างไรกับโลกอนาคตที่ยังมองไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างนี้
ข่าวเด่น