ในช่วงปี 2565 หรือปีที่แล้ว ทั้งโลกต้องประสบปัญหากับสภาวะเงินเฟ้อที่หนักหน่วง และสงครามด้านพลังงานระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆมีราคาแพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด กระทบกับจำนวนเงินในกระเป๋าของผู้คนที่อำนาจการจับจ่ายใช้สอยลดลง และการแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการดึงเงินออกจากระบบผนวกกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด สิ่งที่ต้องแลกมาคือ ทำให้คนต่างกอดเงินสดไว้กับตัวเอง ตลาดลงทุนในทุกๆสินทรัพย์จึงประสบกับวิกฤติที่นักลงทุนต่างดึงเงินออกจากสินทรัพย์ที่ตัวเองถืออยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
EIC Outlook Q4/2022
โดยตลาดหุ้นสหรัฐปิดลบในวันสุดท้ายของปี 2565 และเฉลี่ยทั้งปีติดลบมากที่สุดในรอบ 14 ปี ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า ดัชนี S&P 500 ติดลบ 17% (ล่าสุดสิ้นปี19.4%) มูลค่าตลาดหายไปกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี Nasdaq ติดลบ 28% และสินทรัพย์ทางเลือกที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2564 อย่าง Bitcoin นั้นมูลค่ากลับลดลงสูงสุดในบรรดาสินทรัพย์ทั้งหมดถึง 64%(ล่าสุดสิ้นปี 75%) รวมถึงเหรียญคริปโตสกุลอื่นๆอีกด้วย
ก้าวเข้ามาในปี 2566 นี้ แม้สภาวะเงินเฟ้อของทางสหรัฐจะลดลงแล้ว โดยที่ดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI ล่าสุดอยู่ที่ 6.4% แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ทางเฟดวางไว้ที่ 2% ฉะนั้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังคงมีอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามแรงกดดันการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นลดลงอย่างมาก การปรับขึ้นในปีนี้จึงมีแนวโน้มการขยับขึ้นในอัตราที่ต่ำ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง เพราะนักลงทุนที่เคยแห่กันมาซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปีที่แล้ว ในตอนนี้ Fund Flow หรือเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ จึงเริ่มไหลออกไปลงทุนยังที่อื่นที่มีค่าเงินที่แข็งค่ามากกว่า
ผนวกกับล่าสุดนี้สหรัฐอยู่ในสภาวะขาดดุลทางการค้า คิดเป็น 10.5% หรือ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ยอดส่งออกตกต่ำลงในรอบ 10 เดือน ซึ่งหากคิดจากยอดทั้งปี 2565 แล้ว สหรัฐนั้นมียอดการขาดดุลทางการค้าพุ่งสูงถึง 9.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นการขาดดุลครั้งที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐ ขณะที่จีนและแคนาดา เป็น 2 ประเทศที่ได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นตัวฉุดให้ดุลการค้าของพี่ใหญ่ของโลกลดลงไปอีก
อธิบายง่ายๆว่า หากรายได้การส่งออกมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าการนำเข้าสินค้า ส่วนต่างที่ไม่สมดุลนี้ก็จะไปแสดงผลเป็นหนี้ อีกทั้งในประเทศก็ยังคงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่จากข้อมูลข้างต้น ทำให้การบริโภคภายในประเทศก็ค่อนข้างต่ำลงไปด้วย ผู้คนมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยไม่ได้ดีเหมือนก่อน เพราะต้องกอดเงินเอาไว้กับตัวเอง
และล่าสุด ในเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ยอดขาดดุลงบประมาณ (Deficit) ของสหรัฐอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่อุ้ม Pension Fund กองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งทั้งทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับกองทุนนี้อยู่ เพราะผลตอบแทนของกองทุนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ คนที่จบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ทำให้ไม่มีเงินใหม่ๆเข้ามาในกองทุน อีกทั้งภาระที่ต้องดูแลคนเกษียณอายุก็เติบโตมากยิ่งขึ้น (ทั้งโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ) แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาของปีที่แล้ว ทาง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐได้เลือกที่จะ Bailout หรือทำการพยุง Pension Fund เป็นการทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งบางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าทางโจ ไบเดน กำลังใช้ภาษีของประเทศในการหาเสียง เพราะการอุ้ม Pension Fund ครั้งนี้ โจ ไบเดนประกาศใช้งบกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีบทวิเคราะห์จากมูลนิธิ Heritage Foundation สถาบันวิจัยฝ่ายอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ ว่าหากมีการอุ้ม Pension Fund ทั้งหมด อาจทำให้หนี้สาธารณะอาจพุ่งสู่เพิ่มอีก 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตอนนี้หนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 31.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ชี้ได้ชัดว่าตอนนี้เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐกำลังมีปัญหา ทั้งการขาดดุลทางการค้า และเรื่องของ Pension Fund อีกทั้งนโยบายทางการเงินที่ยังไม่คงที่นัก และสภาวะ Recession หรือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังเริ่มขึ้น ทำให้ตลาดลงทุนยังตกอยู่ในความกังวล ไม่สามารถเลือกข้างได้แน่นอนว่าจะออกหัวหรือก้อย แม้ช่วงนี้หุ้นหลายตัว รวมถึงตลาดคริปโตจะกลับมาเติบโตบ้างแล้ว แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าราคาหุ้นสหรัฐอาจร่วงแรงได้อีก 30% ต่อจากนี้ ทำให้ตลาดกลับมาตกอยู่ในสภาวะความกลัวอีกครั้ง ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างยิ่งยวด
ข่าวเด่น