หลายปีมานี้ สินค้าจากจีนนั้นเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแทบจะทุกแง่มุม ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน วัตถุดิบต่างๆ รถยนต์ ไปจนถึง Soft Power ที่เป็นสื่อ Entertainment และรูปแบบการใช้ชีวิต ก็เข้ามามีอิทธิพลกับคนในประเทศไทยมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไทยดูจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีทุนจีนขนาดใหญ่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมหาศาลจนถึงขนาด Disrupt พ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่เคยนำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย และร้านค้าในไทยหลากหลายแห่งต่างสู้ไม่ไหวจนต้องปิดตัวลงไป
แต่ก่อนรูปแบบการนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายที่เป็นที่นิยมในไทยนั้น มีตั้งแต่การพรีออเดอร์สินค้า การนำเข้าแล้วนำสินค้านั้นมา Markup ขึ้นราคาเอากำไร เมื่อนำมาตั้งขายในร้านของตน หรือการเอาสินค้าจากจีนเหล่านั้นมาทำเป็นแบรนด์ของตัวเอง ไม่ว่าจะอยากขายสินค้าชนิดใด ก็จะมีโรงงานผู้ผลิตจากทางจีนเป็น Supply ให้เสมอ ซึ่งด้วยแรงงานและของที่มีราคาถูก ผู้ค้าชาวไทยจึงสามารถสั่งซื้อได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการสั่งผลิตเองในประเทศ
แต่ตอนนี้ทุนจากจีนมีช่องทางในการสร้างกำไรมากกว่าการเป็นแค่ผู้ผลิต อย่างการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยและจีน ที่หากเจ้าของร้านเป็นบุคคลชาวจีน สั่งสินค้าเข้าจากจีนเข้ามาขายในไทย ตามกฎหมายกำหนด หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษี และผู้ค้าชาวจีนที่ถือเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ต้องจ่ายค่า VAT นั้นเอง ส่วนโครงการ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก็เอื้อให้ไทยกลายเป็นพื้นที่ปลอดภาษีอากรที่คนจีนสามารถเข้ามาขายสินค้าด้วยราคาที่ถูก อีกทั้งเครืออาลีบาบา (Alibaba) จากจีน เข้ามาลงทุนในเขตปลอดภาษีอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ EEC ดังกล่าว ก็ทำให้พื้นที่กว่า 232 ไร่ ที่ลงทุนไปนั้นกลายมาเป็นศูนย์กระจายสินค้าของจีน ที่มีบริการสินค้าขนส่งไปยังทั่วประเทศ
ผู้ผลิตชาวจีนจึงกลายมาเป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีแต้มต่อสูงกว่าสถานะการเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางชาวไทยที่รับของเขาเข้ามาขาย เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าชาวไทยได้โดยตรง และเสนอราคาขายที่ถูกกว่า เพียงแค่เข้ามาเช่าโกดังเพื่อสต๊อกของในไทย และทำการจัดส่งออกจากโกดังให้กับลูกค้าชาวไทยได้โดยตรง เมื่อตัดผู้ค้าคนกลางออกไปได้ ก็ทำให้ผู้ผลิตจากจีนขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนคนไทยเองหากนำเข้าสินค้ามาขายต้องเสียทั้ง ภาษีอากรหรือภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีมีหน้าที่ต้องจด VAT และเสีย 7% จากยอดขาย และยังต้องเสียภาษีเงินได้อีก
และล่าสุดโครงการ “ซามาเนีย พลาซ่า” ย่านบางนาที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความน่ากลัวของทุนจีนขึ้นไปอีก เพราะที่แห่งนี้คือห้างที่เป็นศูนย์รวมสินค้านำเข้าจากจีน มีการรวมกลุ่มจากทุนจีนขนาดใหญ่อย่าง ซามาเนียกรุ๊ป จัดเป็นโครงการค้าปลีกค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในพื้นที่ขนาด 200 ไร่ ที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์รวมการค้าขายสินค้าจีนที่ครบวงจร มีทั้งร้านค้า พื้นที่เป็นคลังสินค้า อาคารสำนักงาน รวมถึงโรงแรมและคอนโดมิเนียม ถึงแม้จะชอบด้วยกฎหมาย เนื่องด้วยโครงการนี้จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจด้วยนิติบุคคลไทยอย่าง บริษัท ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และบริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ถือหุ้นนิติบุคคลสามรายเป็นคนไทยก็ตาม แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าการใช้ Nominee เป็นคนไทยเพื่อการลงทุนเป็นกระบวนท่าที่เห็นกันมาระยะหนึ่งแล้ว จากทั้งร้านอาหาร ร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตจีน อาคารพาณิชย์ ที่เจ้าของล้วนเป็นคนจีนทั้งสิ้น โดยจะกระจุกตัวอยู่บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญมีอาคารพาณิชย์ทั้งสองฝั่งเรียงรายเปิดกิจการร้านค้าด้วยป้ายภาษาจีนตลอดทาง
และอีกย่านที่ได้รับผลกระทบคือ ย่านการค้าสำเพ็ง เขตสัมพันธ์วงศ์ โดยอยู่ในรูปแบบของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาราคาค่าเช่าอาคารพาณิชย์ก็พุ่งทะยานจากระดับ 5 หมื่น ไปยัง 2-4 แสนบาทเช่นกัน โดยในปี 2562 นั้นพบว่าตามร้านรวงส่วนใหญ่นั้นมีเจ้าของเป็นชาวจีนที่เจ้าของมาเช่าที่อาคารพาณิชย์ และซอยแบ่งย่อยห้องเช่าให้คนจีนด้วยกันเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดเป็นร้านค้า ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อราคาค่าเช่าที่แพงเกินตามกลไกของตลาด ผลกระทบจึงตกไปอยู่ยังคนไทยที่มีทุนน้อยกว่า ร้านค้าที่เป็นของคนไทยจริงๆต่างต้องปิดตัวลงและย้ายไปยังที่อื่นเนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว
ยังไม่รวมในส่วนของที่อยู่อาศัย จากร่างกฎกระทรวงที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เปิดไฟเขียวเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่อนุมัติให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินได้ 1 ไร่สำหรับการอยู่อาศัยได้ นอกจากชาวจีนจะเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในไทย ที่เราได้เห็นการเติบโตของราคาค่าเช่าของอสังหาริมทรัพย์ย่านห้วยขวาง ชุมชนที่คนจีนนิยมอาศัยอยู่กระโดดขึ้นไป จากประมาณ 5 หมื่นบาทในปี 2558 กลายเป็นราคาค่าเช่าอยู่ที่ 3-4 แสนบาทแล้ว ตอนนี้ทุนจากจีนยังไหลเข้ามาในรูปแบบที่จะสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เสียเองเพื่อขายให้กับคนจีนในไทย ในรูปแบบของการจ้าง Nominee ไทยจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อให้ถูกกฎหมาย แต่เงินลงทุนมาจากจีน 100% และรูปแบบการขายให้คนจีนส่วนใหญ่จะเป็นแบบออนไลน์อีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการชำระที่ไม่ได้คืนประโยชน์กลับเข้ามาให้กับภาครัฐและเศรษฐกิจของไทยเลย
ฉะนั้นแล้วทุนจากจีนขนาดใหญ่ที่กระหน่ำเข้ามายังประเทศไทย แทบไม่ได้มีบทบาทที่จะเข้ามาหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลดีต่อ GDP บ้านเราเลย แต่อาศัยช่องทางของกฎหมายและข้อตกลงทางการค้าทำประโยชน์ให้กลับคืนไปอยู่ในมือของคนจีนด้วยกันเอง ขณะที่ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ ทั้งเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการซื้อสินค้ากับทางผู้ผลิตจีนโดยตรง (ที่มีราคาถูกกว่าคนไทยขาย) การเข้าถึงที่อยู่อาศัยในทำเลดีๆได้ยากขึ้น และต้นทุนทำการประกอบธุรกิจที่มากกว่าเดิม ใครสู้ไม่ไหวก็จะถูกบีบบังคับให้ไปต่อไม่ได้ ส่งผลเสียต่ออัตราการจ้างงาน และลุกลามส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ข่าวเด่น