Special Report : แบงก์รายใหญ่ "SVB" ล่มสลาย จะเป็นจุดเริ่มต้นของ "วิกฤตระบบการเงินโลก" หรือไม่?


Sillicon Valley Bank หรือที่เรียกกันว่า SVB เป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1983 โดยมีชื่อมาจากย่านที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่าง Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงไม่แปลกที่ SVB จะดำเนินกิจการหลักด้วยการปล่อยเงินกู้ และทำ Venture Capital ลงทุนและร่วมทุนกับบรรดาบริษัท Start Up และเหล่าบริษัทร่วมทุนในอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทคริปโตเคอร์เรนซีอีกหลายแห่งอีกด้วย

SVB นั้นมีการเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามการเติบโตของบริษัท Start Up และกระแสของเรื่องเทคโนโลยีที่เฟื่องฟู ซึ่งสอดคล้องกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่เป็นเทรนด์การลงทุนในช่วงไม่กี่ปีนี้ แต่พอบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากตลาดตกต่ำลง บริษัทเหล่านี้ก็ต้องหันหน้ามาพึ่งพาเงินทุนมากขึ้น ซึ่ง SVB ต้องแบกรับความเสี่ยงเอาไว้กับตัวเองแทน (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ลักษณะของบริษัทเหล่านี้ประสบกันแทบจะทั้งวงการ เนื่องจากเป็นการลงทุนด้านนวัตกรรม เป็นเรื่องแห่งอนาคต พอเกิดวิกฤตอย่างสถานการณ์สงครามและเงินเฟ้อระดับโลก นักลงทุนจึงเลือกที่จะถอนทุนออกมาจากสินทรัพย์เสี่ยงดังกล่าว) แต่เรื่องของสภาวะเงินเฟ้อนี้เอง ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมก็พุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จนในที่สุด SVB ก็ไม่สามารถพยุงได้ไหวอีกต่อไป แผนระดมทุนจากนักลงทุนเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ SVB เสนอมีแต่คนส่ายหน้า ประกอบกับรายงานผลขาดทุนจำนวนมากของธนาคารเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ราคาหุ้น SVB ดิ่งลงอีกทันที 60% ในวันที่ 9 มี.ค.และการซื้อขายหุ้นต้องหยุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา

และอีกประเด็นที่สำคัญก็คือ เมื่อเกิดการล้มของ SVB เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แน่นอนว่าหุ้นของ SVB ก็มีแต่ร่วงลงเป็นธรรมดา แต่ซีอีโอของ SVB อย่าง Greg Becker ได้ทยอยขายหุ้นที่รวมแล้วเป็นมูลค่าเกือบ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเขาได้ขายหุ้นมูลค่าอีก 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพียงไม่กี่วันก่อนที่ SVB จะรายงานผลขาดทุนจำนวนมาก (ขายก่อนหุ้นร่วงจากการรับรู้ของตลาด) ไม่เพียงแค่นั้น ผู้บริหารคนอื่นๆ ของ SVB อย่างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ก็ได้ทยอยขายหุ้นหลายล้านดอลลาร์สหรัฐมาตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่แล้วเช่นกัน ทำให้เกิดประเด็นร้อนในหมู่นักลงทุนถึงการขายหุ้นด้วยการใช้ข้อมูลวงใน และและความไม่โปร่งใสของการจัดการของธนาคาร 

การล่มสลายของ SVB ทำให้เหล่าบริษัท Start Up นั้นได้รับผล กระทบตามไปด้วย เนื่องจากเป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัท Start Up กว่า 50% เมื่อแหล่งเงินทุนหายไป บริษัทก็ทยอยล้มลง อีกทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพหลายรายที่ได้มีการฝากเงินไว้กับ SVB ก็ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีตนเองได้ ซึ่ง 1 ใน 3 ของ Start Up ที่ใช้ SVB เป็นบัญชีธนาคารเพียงบัญชีเดียวก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีเงินสดเพื่อดำเนินการจ่ายเงินเดือนในอีก 30 วันข้างหน้า หรือดำเนินการในแง่อื่นๆที่ต้องใช้กระแสเงินสดได้ ซึ่งปัญหานี้ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบกว่า 10,000 บริษัทเลยทีเดียว

การล่มสลายนี้ทำให้ตลาดเกิดความกังวลในระยะสั้นไปในวงกว้าง และการตั้งคำถามถึงความแข็งแรงของสถาบันการเงินต่างๆ จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในสินทรัพย์เสี่ยงก่อนหน้านี้ และราคาทองที่พุ่งสูงขึ้น แต่จากข้อมูลของ SCB EIC ได้รายงานว่า เหตุการณ์ของ SVB มีแนวโน้มทำให้สภาพคล่อง และความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกปรับตัวลงในระยะสั้นเท่านั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดการลุกลามจนเป็นวิกฤตการเงินโลกเช่นในอดีตยังมีน้อยมาก ธนาคารไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เพราะมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินนอกสหรัฐนั้นมีความเข้มงวดกว่า และไทยเองก็ไม่ได้มีการลงทุนกับ SVB ส่วนความเสี่ยงที่จะลุกลามไปจีน ที่จะมีช่องทางกระทบมายังไทยนั้นมีจำกัด เพราะ SCD ของ SVB ที่เป็น Joint Venture กับธนาคารจีน มีงบดุลที่เป็นอิสระจาก SVB อีกทั้งสาขาในต่างประเทศของ SVB มีขนาดเล็ก ผลทางตรงจากการปิดธนาคารจึงมีน้อย แต่อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวสามารถลุกลามได้ ก็คือ ความเชื่อมั่นต่อภาคธนาคารที่แย่ลงมากจนนำไปสู่การแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน และการช่วยเหลือสภาพคล่องจากธนาคารไม่เพียงพอ จนกดดันให้ธนาคารต้องเร่งเทขายสินทรัพย์ในราคาต่ำเพื่อหา สภาพคล่องชดเชย ทำให้ขาดดุลและความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลง ซึ่งเป็น Expected Risks ที่ต้องจับตามองต่อไป

ส่วนด้านของความคิดเห็นนักลงทุนระดับ Heavyweight อย่าง Ray Dalio ผู้จัดการกองทุนเฮดฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดของโลก ได้ออกมาแสดงความกังวลกับเรื่องดังกล่าว โดยมองว่าความล้มเหลวของ SVB นั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าภัยของระบบการเงินของโลกกำลังจะมาถึง ซึ่งจะเป็นภัยอันตรายที่ใหญ่กว่านี้ เพราะระบบการเงินต้องพึ่งพาสินเชื่อส่วนบุคคล และต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในส่วนของการลงทุนก็จะกระตุ้นให้นักลงทุนนั้นยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้น จนนำไปสู่การแบกภาระหนี้ และจะทำให้บริษัทประเภทที่ไม่แข็งแรง แต่สามารถอยู่รอดได้ด้วยเครดิตราคาถูกจะแตกตัวเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยพวกนี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อระบบการเงิน เพราะความล้มเหลวของบริษัทใหญ่แค่แห่งเดียว มันสามารถส่งผลกระทบแบบโดมิโน่ไปทั้งตลาดได้ 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การล้มครั้งใหญ่ของ SVB แม้ตอนนี้จะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในระยะสั้น ก่อนสินทรัพย์เสี่ยงจะปรับตัวขึ้นมาอย่างเดิม แต่หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในลักษณะนี้อีกหลายๆครั้ง อย่างเช่นสถานการณ์ Credit Suisse ธนาคารเก่าแก่เกือบ 200 ปีที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องนั้น แม้จะมีเหตุมาจากการบริหารภายในที่ผิดพลาด แต่อย่างไรแล้วก็เป็นปัจจัยที่ทยอยสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและคนภายนอกในระดับสาธารณะ ถึงความมั่นคงของสถาบันการเงิน อีกทั้งการอยู่รอดในระยะยาวของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะหลายบริษัทไม่สามารถทำกำไร และต้องพึ่งพาเงินทุนที่กู้มาค่อนข้างเยอะ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงถึงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมในอนาคต และการใช้ Blockchain เข้ามาดูแลสถาบันต่างๆเพื่อเป็นระบบกระจายอำนาจของการทำงาน อาจเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดการยอมรับในเร็วๆนี้ เนื่องจากคนส่วนมากยังเรียกร้องให้หน่วยงานมากับกำกับดูแลและควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า
 

 


LastUpdate 20/03/2566 10:56:25 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 12:53 am